BEM ประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน ได้รับการตอบรับอย่างน่าประทับใจจากนักลงทุนมากกว่า 2.6 เท่า

5 กันยายน 2565

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้ดำเนินการออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน ให้กับผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ (Institutional Investors and/or High Net Worth Investors) มูลค่าเสนอขายรวม 4,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่บริษัทตั้งเป้าหมายในการเสนอขายหุ้นกู้ที่ 3,000 ล้านบาท เนื่องจากได้รับความสนใจ จากนักลงทุนอย่างมาก โดยมียอดจองทะลุเป้าหมายกว่า 2.6 เท่า

การออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองของบริษัทฯ หลังจากที่บริษัทฯ ออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนครั้งแรกในเดือนเมษายน ปี 2564 โดยจะนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหุ้นกู้ไปใช้เพื่อชำระคืนหนี้เดิม และ/หรือ เงินลงทุน (Refinance) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นธุรกิจขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเดินทางโดยรถยนต์และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานได้สะดวก ลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแก้ไขปัญหาจราจรบนท้องถนน ท่ามกลางวิกฤตมลภาวะ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของโลก

หุ้นกู้แต่ละชุดได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ที่ระดับ “A-” เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565  แสดงให้เห็นถึงสถานะทางการเงินและธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัท โดยในครั้งนี้บริษัทเสนอขายหุ้นกู้ทั้งหมด 4 ชุด ประกอบด้วย หุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.76% ต่อปี มูลค่า 1,000 ล้านบาท หุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.33% ต่อปี มูลค่า 1,500 ล้านบาท หุ้นกู้ชุดที่ 3 อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.01% ต่อปี มูลค่า 1,000 ล้านบาท และหุ้นกู้ชุดที่ 4 อายุ 12 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.15% ต่อปี มูลค่า 1,000 ล้านบาท และกำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยมีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสิน ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้

[ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ] บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กล่าวว่า บริษัทฯ ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน โดยได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากนักลงทุน อาทิ กลุ่มบริษัทประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนาคาร และสหกรณ์ การตอบรับจากนักลงทุนที่ดีในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อธุรกิจ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของตลาด ภาวะเงินเฟ้อ และสภาวะเศรษฐกิจถดถอย อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการสนับสนุนโครงการที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยความสำเร็จในการออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนในครั้งนี้ยังตอกย้ำพันธกิจของบริษัทในการส่งมอบ “เส้นทางแห่งความสุขเพื่อวิถีการเดินทางที่ดีกว่า”

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "กรุงศรีมีความตั้งใจในการสร้างการเติบโตด้าน ESG Finance อย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งสู่การเป็นพันธมิตรที่ลูกค้าไว้วางใจ และในครั้งนี้กรุงศรีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับ BEM อีกครั้ง โดยในครั้งนี้ BEM ยังได้ขยายอายุหุ้นกู้เป็น 12 ปี เพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุนในการสนับสนุนการออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน ซึ่งหุ้นกู้อายุ 12 ปี ได้รับความสนใจและการตอบรับเป็นอย่างสูง สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพและความแข็งแกร่งของ BEM ทั้งในด้านผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงิน เราพร้อมสนับสนุนและร่วมมือกับ BEM เพื่อส่งเสริมการสานต่อพันธกิจของบริษัทฯ ในการขับเคลื่อนธุรกิจบริการคมนาคมขนส่งที่มีความสำคัญของประเทศไทยสู่ความยั่งยืนสืบไป"

คุณวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า “ธนาคารออมสินมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นผู้จัดการการจัดจําหน่ายร่วมในการออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนในครั้งนี้ จะนำเงินที่ได้ไปใช้เพื่อชำระคืนหนี้เดิม และ/หรือ เงินลงทุน (Refinance) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งถือว่าเป็นโครงการการขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด (Clean Transportation) และโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Affordable Basic Infrastructure) ซึ่งการเข้าร่วมเป็นผู้จัดจำหน่ายครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมให้ผู้ออกตราสารหนี้และนักลงทุน เห็นความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสอดคล้องกับการดําเนินงานของธนาคารออมสินตามกรอบแนวคิด ESG ที่คำนึงถึงปัจจัยด้านการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม และดำเนินงานอย่างมีธรรมาภิบาล โดยเน้น Social Mission Integration เชิงลึกในกระบวนการที่สำคัญของธนาคาร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยเหลือสังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถนำพาองค์กรและสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามกระแสโลกในปัจจุบัน
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา