วางแผนลงทุน บริหารภาษี เสริมความมั่งคั่งไปพร้อมกัน
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

วางแผนลงทุน บริหารภาษี เสริมความมั่งคั่งไปพร้อมกัน

icon-access-time Posted On 25 พฤศจิกายน 2564
By นิ้วโป้ง อธิป กีรติพิชญ์
เข้าสู่ช่วงปลายปีกันแล้ว ภาพรวมของปี 64 จัดว่าเป็นปีที่”ไม่ปกติ” อีกปี เพราะมีทั้งโรคระบาด และการปิดเมืองปิดประเทศ ข่าวดีก็คือ นับตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา สถานการณ์ต่าง ๆ กำลังดีขึ้นเป็นลำดับ ทั้งในด้านการควบคุมความรุนแรงของโรคระบาด การระดมฉีดวัคซีนในอัตราเร่ง การเปิดเมืองเปิดประเทศ และการเตรียมอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยส่งท้ายปี

ปี 2564 ปีแห่งความไม่แน่นอน

เข้าสู่ช่วงปลายปีกันแล้ว ภาพรวมของปี 64 จัดว่าเป็นปีที่ “ไม่ปกติ” อีกปี เพราะมีทั้งโรคระบาด และการปิดเมืองปิดประเทศ ข่าวดีก็คือ นับตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา สถานการณ์ต่าง ๆ กำลังดีขึ้นเป็นลำดับ ทั้งในด้านการควบคุมความรุนแรงของโรคระบาด การระดมฉีดวัคซีนในอัตราเร่ง การเปิดเมืองเปิดประเทศ และการเตรียมอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยส่งท้ายปี

ปีแห่งการปรับตัว.. อาชีพที่สอง การงานที่สาม

มองในมุมหนึ่ง จัดว่าเป็นปีแห่งการ “ปรับตัวใหญ่” ของใครหลาย ๆ คนที่เริ่มวางแผนชีวิตและบริหารจัดการภาษีเพื่อสำรองการเงินในอนาคต โดยเฉพาะในแง่อาชีพการงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ จนทำให้ผู้คนจะต้องมองหาอาชีพที่สอง การงานที่สาม มาทำเสริมอาชีพหลักกัน เพราะความมั่นคงในงานเดียวไม่เคยมีอยู่จริง และการมีรายได้หลายทางย่อมดีกว่ามีรายได้ทางเดียว จะเห็นได้จากมนุษย์เงินเดือนจากสารพัดอุตสาหกรรม การบิน การโรงแรม การท่องเที่ยว โรงงาน ฯลฯ ที่เคยมีรายได้ดีมากในยามปกติ ต่างก็ได้รับผลกระทบในปีแห่งการปรับตัว และจำเป็นต้องสร้างทักษะใหม่เพื่อสร้างอาชีพใหม่ พยายามสร้างรายได้ ในช่วงปีที่ผ่านมา
เมื่อวิกฤตผ่านไป กลับเข้าสู่โลกปกติอีกครั้ง อาชีพที่สองและการงานที่สามจะยังคงอยู่ และจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มในอัตราเร่ง เหมือนเครื่องบินไอพ่น 3 เครื่องยนต์ ที่บินได้เร็วกว่าและไกลกว่าเครื่องยนต์เดียว ทำให้เรามั่งคั่งได้เร็วขึ้นกว่าทำงานประจำเพียงอย่างเดียวแน่นอน ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่า หลังจากผ่านวิกฤตครั้งนี้ ผู้คนจำนวนไม่น้อยจะได้ทักษะใหม่ ๆ อาชีพการงานใหม่ ๆ มาเสริมเพิ่มให้ชีวิตกันไม่น้อย

ปลายปี ต้องวางแผนลงทุนและบริหารภาษีไปพร้อมกัน

นอกจากมุมมองการเพิ่มรายได้แล้ว ยังมีอีกมุมมองทางการเงินที่อยากชวนปรับแพลนชีวิตให้ไปต่อได้อย่างดี ด้วยการวางแผนลงทุน บริหารภาษีและสร้างความมั่งคั่งไปพร้อมกัน เพื่อเป็นการผ่อนแรง วางแผนการเงินระยะยาวในที่ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูง และยังได้จัดการภาษีไปพร้อมกันอีกด้วย
ผมคิดว่า นี่เป็นช่วงเวลาดีที่มนุษย์เศรษฐกิจในยุคนี้ทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนหุ้น นักลงทุนกองทุน มนุษย์เงินเดือน หรืองานไม่ประจำทั้งหลาย จะได้มองตรึกตรองวางแผนการเงิน เพื่อเป้าหมายเกษียณด้วยหุ้น เกษียณด้วยกองทุน แบบที่มีการบริหารความเสี่ยง และบริหารภาษี เพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวท่านเอง
การที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีรายได้จากการลงทุน เปรียบเสมือนกับการปลูกไม้ยืนต้น ถ้าไม่เริ่มปลูกแต่เนิ่น ๆ พอแก่ตัวลง จะเอาต้นไม้ใหญ่ที่ไหนพักพิง การลงทุนก็เช่นกัน มันต้องเกิดการ “ทยอยลงทุนระยะยาว” มาตั้งแต่วัยเริ่มทำงาน จนกระทั่งถึงวัยเกษียณ วางแผนและจัดการภาษีตลอดทั้งปี และทำทุกปี... ทำไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวรวยเอง
วางแผนลงทุน บริหารภาษีและมั่งคั่งไปพร้อมกัน

ปี 2564 ตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีหายไปหลายรายการ

โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2564 นี้ ที่เราจำเป็นต้องวางแผนภาษีให้ดี เพราะปี 64 คือปีที่ตัวช่วยลดหย่อนเพื่อการบริหารภาษีมีน้อยลงกว่าปีก่อน ๆ เป็นสำคัญ
  • ไม่มีกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) ที่เคยอนุญาตให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ลงทุนได้สูงสุดปีละ 15% ของรายได้และไม่เกิน 500,000 บาท (หมดเขตไปแล้วตั้งแต่สิ้นปี 62)
  • ไม่มีกองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (Super Savings Fund Extra: SSFX) ที่เคยอนุญาตให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ลงทุนได้ไม่เกิน 200,000 บาท (หมดเขตไปแล้วตั้งแต่ มิ.ย. 63)
  • ไม่มีโครงการ “ช้อปดีมีคืน” หรือค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืน 2563 หรือที่เรียกว่าเต็ม ๆ ว่า “ค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ” ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 30,000 บาท
รายการลดหย่อนภาษีเดิม ๆ หายไป ดังนั้นเราเองยิ่งต้องใส่ใจลงทุนและบริหารภาษีกับรายการลงทุนที่ยังอนุญาตให้ใช้สิทธิ์อย่างเต็มที่

ลงทุนไปด้วย บริหารภาษีไปด้วย

เครื่องมือการลงทุนที่สามารถทำการลงทุนไปพร้อมกับการจัดการภาษี ยังมีอีกหลากหลายชนิด มีทั้งเครื่องมือการลงทุนที่ให้มนุษย์เงินเดือนและคนที่ทำธุรกิจสามารถลงทุนไปด้วยและบริหารภาษีไปด้วยพร้อมกัน เช่น
  1. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(เอกชน) หรือ กบข.(ราชการ) ผมถือว่ากองทุนนี้เป็นกองทุนตัวช่วยบริหารภาษีที่ต้องห้ามพลาด สำหรับลูกจ้าง ทั้งภาครัฐและเอกชน นี่คือการลงทุนที่ไร้พ่าย มีแต่ประตูชนะลูกเดียว เพราะมนุษย์เงินเดือนสามารถลงทุนทุกเดือน และนายจ้างก็จะสมทบให้ในจำนวนที่เท่ากันด้วย เช่น เราใส่ 5% นายจ้างเติมให้ (ฟรี) 5% ลงทุนไปเรื่อย ๆ พอเกษียณก็รับทั้งหมดไปเลย บางองค์กรฝั่งนายจ้างสมทบให้สะใจมาก สมทบให้เกิน 10% ก็มีครับ อ้อ! ความสุดยอดอีกอย่างคือ เงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถหักลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย กองทุนนี้ขึ้นกับองค์กรที่เราทำงานอยู่ บางแห่งมี บางแห่งไม่มี ดังนั้นถ้าเปิดโอกาสให้ลงทุน ก็ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

  2. กองทุน SSF (Super Savings Fund) คือ กองทุนรวมที่นิยมลงทุนเพื่อบริหารภาษี เพราะสามารถนำไปใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้แทน Long Term Fund (LTF) ที่หมดอายุไปเมื่อสิ้นปี 2562 โดยจุดประสงค์ของ SSF คือ เพื่อส่งเสริมการออมเงินระยะยาวและมีการพัฒนาปรับปรุงทั้งนโยบายการลงทุน เงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีของ SSF ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ผู้ลงทุนใน SSF สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ต้องถืออย่างน้อย 10 ปี (วันชนวัน) ขึ้นไป ทั้งนี้ เมื่อนำ SSF นับรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ อย่างกองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
วางแผนลงทุน บริหารภาษีและมั่งคั่งไปพร้อมกัน
  1. กองทุน RMF หรือกองทุนรวมเพื่อการเกษียณอายุ เป็นการลงทุนเพื่อบริการ จัดการภาษีด้วยการลดหย่อน ลงทุนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ถือครองถึงอายุ 55 ปี และต้องไม่ต่ำกว่า 5 ปี นี่จึงเป็นกองทุนกึ่งบังคับตัวเองของผู้ลงทุน เพราะต้องลงทุนนานถึงอายุ 55 ปี ซึ่งเป็นอายุที่ใกล้กำหนดเกษียณ แต่ท่านเชื่อหรือไม่ ว่ารูปแบบนี้แหละที่เป็นประโยชน์ต่อการเกษียณอายุอย่างแท้จริงเพราะกึ่งบังคับอยู่ยาว อีกทั้งนักลงทุนยังมีทางเลือก เพราะมีสินทรัพย์ให้เลือกหลากหลาย ทั้งพันธบัตร ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ อสังหาฯ และทองคำ ซึ่งนักลงทุนสามารถสับเปลี่ยนกองได้ เพื่อประโยชน์สูงสุด เหมือนเราเป็นผู้จัดการกองทุนชีวิตตัวเอง ทั้งนี้ เมื่อนำ RMF นับรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ อย่างกองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) กองทุน SSF (Super Savings Fund) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

  2. ประกันชีวิต ในส่วนนี้เป็นเรื่องความ “มั่นคง” เพราะชีวิตเป็นเรื่องของการดีลกับความไม่แน่นอน รัฐบาลก็สนับสนุนให้คนในชาติทำประกันชีวิตเพื่อดูแลตัวท่านเอง ต้องเป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป โดยลดหย่อนภาษีได้ปีละ 100,000 บาท

  3. ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นประกันชีวิตในรูปแบบสะสมเงินเพื่อนำมาจ่ายเป็นบำนาญให้กับเราในยามเกษียณ เงื่อนไขลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีคือลงทุนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อนำมานับรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ อย่างกองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) องทุน SSF (Super Savings Fund) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
สรุป
การลงทุนทั้ง 5 อย่างที่ว่ามา เป็นการลงทุนไปด้วยบริหารภาษีไปด้วย เม็ดเงินที่ท่านผู้อ่านนำไปลงทุน มีโอกาสงอกเงยในระยะยาว และจะกลับมารับใช้เราอย่างซื่อสัตย์ในยามที่เราเกษียณ แถมยังช่วยลดหย่อนภาษีในปีที่ลงทุนได้อีกด้วย

เรื่องการออมลงทุนนี้ เป็นกฎแห่งกรรมโดยแท้จริง เราหว่านพืชสิ่งใด ได้ผลสิ่งนั้น หว่านไว้มาก ๆ ก็จะรวยตอนเกษียณมาก ๆ ผมจึงอยากชวนมาปรับแพลน วางแผนลงทุนและบริหารภาษี เพื่อความมั่งคั่งไปพร้อมกันครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา