ไขข้องใจ ได้เงินจากประกันบำนาญ หลังเกษียณแล้วต้องเสียภาษีหรือไม่
เพื่อยามเกษียณ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ไขข้องใจ ได้เงินจากประกันบำนาญ หลังเกษียณแล้วต้องเสียภาษีหรือไม่

icon-access-time Posted On 24 มกราคม 2566
by Krungsri The COACH
เป็นความจริงที่ว่าเราไม่สามารถทำงานได้ไปตลอดชีวิต หรือถ้าเราสามารถทำงานได้ บริษัทหรือองค์กรส่วนมากก็ไม่ต้องผู้สูงอายุมาทำงานประจำแล้ว ในประเทศไทยถ้าไม่มีกำหนดเกษียณอายุไว้ก็ถือว่าคนทำงานนั้น ๆ เกษียณอายุที่ 60 ปี (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับที่ 6 พ.ศ. 2560)

เมื่อถึงช่วงเวลาที่เราต้องเกษียณอายุ เราก็จะขาดรายได้ และต้องใช้เงินเก็บที่สะสมไว้จนกว่าเราจะเสียชีวิต ดังนั้น ในขณะที่เรายังคงมีรายได้อยู่เราก็ควรแบ่งเงินมาเก็บไว้เพื่อการเกษียณด้วย ซึ่งถ้าเราเก็บเงินไว้มากพอ และเราเสียชีวิตในขณะที่เงินยังไม่หมดก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าหากว่าเราโชคร้ายที่เราอายุยืนกว่าเงินที่เก็บเอาไว้ ปัญหาการเงินมีไม่พอใช้ ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน สำหรับบางคนมีลูกหลานแม้ว่าจะถูกมองว่าเป็นภาระลูกหลาน ก็ยังโชคดีที่มีลูกหลานเลี้ยงดู  
ออมเงินเพื่อการเกษียณ สร้างบำนาญให้ตัวเอง

การสร้างบำนาญให้ตัวเองนั้น เพื่อความไม่ประมาท และไม่ให้ลูกหลานเดือดร้อน เราก็จำเป็นจะต้องเก็บเงินให้มากขึ้น หรือต้องใช้เครื่องมือทางการเงินมาช่วย ซึ่งบทความในวันนี้จะเป็นการนำประกันชีวิตแบบบำนาญมาช่วยเรา โดยเราจะต้องเข้าใจประโยชน์ และข้อจำกัดของประกันชีวิตแบบบำนาญก่อนที่จะเลือกนำมาใช้ให้เหมาะสมด้วย

ประกันชีวิตแบบบำนาญ

“ประกันชีวิตแบบบำนาญ” คือ ประกันที่การันตีเงินได้ เมื่อเราชำระเบี้ยประกันครบ และเกษียณอายุตามข้อกำหนดในสัญญาประกัน และบริษัทประกันจะทยอยจ่ายเงินประกันคืนให้กับเราเป็นรายงวดเป็นการการันตีว่าเราจะมีเงินใช้แน่นอนหลังเกษียณ นอกจากนี้หากเราเสียชีวิตก่อนที่จะครบกำหนดสัญญาก็จะมีการให้ทุนประกันคืนกับผู้รับผลประโยชน์แทนที่จะให้เราด้วย โดยประกันชีวิตแบบบำนาญจะแบ่งช่วงเวลาสำคัญออกเป็น 2 ช่วงระยะเวลาคือ

ระยะเวลาก่อนเกษียณ

ระยะเวลาก่อนเกษียณ จะเป็นช่วงที่เราต้องเก็บออมไว้ใช้ในยามเกษียณ ผ่านการชำระเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งอาจจะชำระเป็นงวดรายเดือน รายปี ในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งโดยส่วนมากจะชำระเบี้ยจนถึงอายุ 55 หรือ 60 ปี (ก่อนเกษียณพอดี) แต่ก็จะมีประกันชีวิตแบบบำนาญบางประเภทที่เอาใจคนที่ไม่ต้องการเก็บเงินยาว ๆ แต่เปลี่ยนเป็นเก็บเงินบำนาญก้อนใหญ่ ในระยะเวลาสั้น ๆ แทน เช่น ชำระค่าเบี้ยฯ สั้นเพียง 5 หรือ 10 ปี

ซึ่งไม่ว่าจะเก็บเงินระยะสั้น ๆ หรือเก็บเงินทีละน้อยในระยะยาว ๆ ผลตอบแทนสำหรับประกันชีวิตประเภทนี้มักจะใกล้เคียงกัน แต่ข้อดีของการเก็บเงินทีละน้อยในระยะยาว ๆ คือ เราสามารถนำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เพื่อสร้างความมั่งคั่งเพิ่มได้ นอกจากนี้ถ้าหากเราเสียชีวิตก่อนเกษียณอายุเราก็ไม่จำเป็นต้องชำระค่าเบี้ยจนครบอายุสัญญา และยังได้ทุนประกันคืนเป็นมรดกให้ลูกหลานได้อีกด้วย

ระยะเวลาหลังเกษียณอายุ

ระยะเวลาหลังเกษียณอายุ จะเป็นช่วงเวลาที่บริษัทประกันจะต้องจ่ายเงินเราเป็นรายงวดให้เป็นไปตามที่สัญญากำหนด ช่วงระยะเวลานี้ก็จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะเวลาย่อยอีก คือ
  • ช่วงหลังเกษียณอายุที่บริษัทประกันภัยยังจ่ายเงินกับให้เรา โดยการทยอยนำทุนประกันชีวิตของเรามาจ่ายให้กับเรา ซึ่งในช่วงเวลานี้ทุนประกันชีวิตจะค่อยๆ ถูกหักไปตามเงินรายงวดที่บริษัทประกันจ่ายให้กับเรา จนหมดช่วงเวลานี้ทุนประกันชีวิตจะมีค่าเท่ากับ 0 ซึ่งระหว่างช่วงเวลานี้หากเราเสียชีวิต เราก็จะได้รับทุนประกันชีวิตที่เหลืออยู่ (หากยังหักไม่หมด) เป็นมรดกให้กับผู้รับผลประโยชน์นั่นเอง
  • ช่วงหลังเกษียณอายุที่บริษัทประกันยังจ่ายเงินกับให้เรา โดยที่ไม่มีทุนประกันชีวิตแล้ว ซึ่งบริษัทประกันจะจ่ายเงินให้กับเราจนกว่าจะถึงอายุที่เรากำหนดตามสัญญา ซึ่งถ้าหากเรายิ่งมีอายุที่ยืนยาวมากเท่าไหร่ เราจะได้รับผลประโยชน์ส่วนนี้มากขึ้นเท่านั้น เพราะว่าบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับความเสี่ยงที่เราจะอายุยืนยาวนี้เอง
 
ประโยชน์ทางภาษีของประกันบำนาญ
 

เกษียณแล้วยังต้องเสียภาษีหรือไม่

คำตอบก็คือ ใช่ ผู้เกษียณอายุยังต้องจ่ายภาษีอยู่ การเสียภาษีหลังเกษียณขึ้นอยู่กับรายได้ที่คุณได้รับหลังจากเกษียณอายุการทำงานในประเทศไทย, รายได้ของบุคคลธรรมดาจะต้องเสียภาษีหากเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ดังนั้น หากคุณมีรายได้หลังเกษียณที่เกิดจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ดอกเบี้ยจากการออม, รายได้จากการลงทุน, เงินปันผล, เช่าทรัพย์สิน หรืออื่น ๆ ที่เกินเกณฑ์ยกเว้นภาษี คุณจะต้องเสียภาษีตามจำนวนรายได้ที่ได้รับ

ตัวอย่าง เกณฑ์ยกเว้นภาษีในประเทศไทย (อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายภาษีล่าสุด) คือ บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ไม่เกินจำนวนที่กำหนดในแต่ละปีจะไม่ต้องเสียภาษี หากรายได้เกินกว่านี้ จะต้องเสียภาษีตามอัตราที่กำหนดตามช่วงรายได้

นอกจากนี้สำหรับคนไทยที่มีรายได้ต้องเสียภาษีก็สามารถนำค่าเบี้ยประกันบำนาญมาหักลดหย่อนได้อีกด้วย ทำให้เกิดประโยชน์ทางภาษี เป็นประโยชน์ที่ดีกว่าการเก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณในรูปแบบเงินออมตามปกติ

อย่างไรก็ตาม การรับทราบข้อมูลล่าสุดและรายละเอียดเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีและอัตราภาษีจะช่วยให้คุณวางแผนการเงินหลังเกษียณได้อย่างเหมาะสม

จากรูปแบบของประกันชีวิตแบบบำนาญ เราสามารถสรุปได้ว่า ช่วงเวลาที่เก็บออมหรือช่วงที่เราชำระเบี้ยอยู่ เราจะได้รับความคุ้มครองชีวิตด้วย ในขณะที่ช่วงหลังเกษียณอายุทุนประกันชีวิตของเรายังถูกนำมาจ่ายให้เราหมดจะเป็นการนำเงินเก็บของเรามาทยอยจ่ายให้เรา ซึ่งในช่วงเวลานี้เปรียบเทียบกับการที่เราเก็บเงินไว้ใช้เองจะไม่เห็นความแตกต่างกัน (ยกเว้นผู้ที่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี) แต่ช่วงสำคัญที่สุด คือช่วงเวลาหลังจากเงินที่เราเก็บไว้ในทุนประกันชีวิตหมดลง บริษัทประกันภัยจะเป็นผู้รับความเสี่ยง จ่ายเงินให้เราไปเรื่อย ๆ จนครบกำหนดนั่นเอง

สำหรับบทความนี้หวังว่าจะเป็นแนวทางให้ผู้อ่านทุกท่านได้เข้าใจถึงข้อดี และข้อจำกัดสำหรับประกันชีวิตแบบบำนาญ และหากผู้อ่านสนใจประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ทางธนาคารกรุงศรีมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินที่สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรี ติดต่อกลับ

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา