ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คุณภาพชีวิตหลังเกษียณจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่ใช่เรื่องไกลตัว และคนวัยทำงานทุกคนควรเตรียมพร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อวางรากฐานคุณภาพชีวิตที่ดีหลังเกษียณให้ครบถ้วนทั้งด้านสุขภาพร่างกายและสุขภาพการเงิน จะได้ไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงกับวงจร “แก่-จน-เจ็บ” ในชีวิตบั้นปลาย
แล้วเราจะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีหลังเกษียณได้อย่างไร?
บทความนี้
Plan Your Money มีคำตอบเกี่ยวกับแนวทางและปัจจัยต่างๆ ที่คุณควรรู้ เพื่อใช้วางแผนสร้างคุณภาพชีวิตวัยเกษียณที่ดีในระยะยาว
1. สุขภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
คนวัยทำงานในวัยหนุ่มสาวหลายคนมักโหมทำงานหนักเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว เก็บออมเงินไว้ใช้ในบั้นปลายชีวิตให้ได้มากๆ จนหลงลืมเรื่องสุขภาพ กว่าจะเห็นคุณค่าและความสำคัญของการดูแลสุขภาพก็เมื่ออายุมากขึ้นจนใกล้วัยเกษียณเสียแล้ว ซึ่งในเวลานั้นร่างกายก็เริ่มเสื่อมถอยลงตามอายุ เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้เวลาในการรักษาพยาบาลนานขึ้น
ด้วยเหตุนี้การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อายุยังน้อยจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญ เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายหรือโรคเรื้อรังในอนาคต
วิธีการเหล่านี้นอกจากจะช่วยให้คุณมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลายแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพ ทำให้คุณมีเงินเหลือไว้ใช้เติมเต็มความสุขด้านอื่นๆ ให้กับชีวิตหลังเกษียณได้อย่างเต็มที่อีกด้วย ดังคำกล่าวที่ว่า “Health is Wealth.” การมีสุขภาพที่ดีคือความมั่งคั่งที่แท้จริง
2. ทำประกันลดความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม ถึงจะมั่นใจว่าดูแลสุขภาพตัวเองดีแล้ว ก็อย่าลืมทำ
ประกันสุขภาพและประกันชีวิตติดตัวไว้ให้อุ่นใจด้วย เพราะในอนาคตคุณอาจประสบอุบัติเหตุหรือมีโรคอุบัติใหม่ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเหมือนโควิด-19
การมีประกันสุขภาพและประกันชีวิตจะช่วยลดความเสี่ยงด้านการเงิน ให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมการสูญเสียและแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับคุณและครอบครัวได้แม้จะเข้าสู่วัยเกษียณแล้วก็ตาม
3. วางแผนชีวิตหลังเกษียณ
เป้าหมายของการวางแผนเกษียณอายุคือการที่คุณหยุดทำงานหารายได้แล้ว แต่ยังมีเงินเพียงพอที่จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ตามที่ต้องการ โดยหลักการเบื้องต้นมีสิ่งที่คุณควรคำนึงถึงในการวางแผนทางการเงินก่อนเกษียณอายุ ดังนี้
- กำหนดเป้าหมายและระยะเวลาการเกษียณ
- ต้องการเกษียณตอนอายุเท่าไร เช่น 50, 55, 60 หรือ 65ปี
- คิดว่าจะต้องใช้ชีวิตหลังจากเกษียณไปอีกกี่ปี โดยอาจประเมินจากอายุขัยเฉลี่ยของคนในครอบครัวรุ่นก่อนๆ ร่วมกับสุขภาพร่างกายและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเอง
- กำหนดคุณภาพชีวิตหลังเกษียณ ลองจินตนาการว่าคุณอยากมีไลฟ์สไตล์หรือคุณภาพชีวิตหลังเกษียณแบบไหน เช่น
- คุณภาพชีวิตหลังเกษียณแบบพอเพียง (S): เน้นพักผ่อนอยู่บ้าน เลี้ยงหลาน ทำอาหารทานเอง ใช้เงินแบบประหยัด เวลาเจ็บป่วยเข้ารักษาโรงพยาบาลของรัฐ เป็นต้น
- คุณภาพชีวิตหลังเกษียณแบบมาตรฐาน (M): กินอยู่สุขสบาย ท่องเที่ยวบ้างเป็นครั้งคราว เวลาเจ็บป่วยเข้ารักษาโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนได้
- คุณภาพชีวิตหลังเกษียณแบบอยู่ดีมีสุข (L): กินหรู อยู่สบาย มีเวลาเข้าสังคม และท่องเที่ยวได้บ่อยตามที่ต้องการ เวลาเจ็บป่วยเข้ารักษาโรงพยาบาลเอกชนห้องพิเศษได้
- ประเมินแหล่งรายได้หลังเกษียณ เช่น เงินกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินบำเหน็จบำนาญ เงินประกันสะสมทรัพย์ เงินรายได้จากการลงทุนและอื่นๆ เพื่อใช้คำนวณเบื้องต้นว่าคุณจะมีรายได้หลังจากหยุดทำงานประจำแล้วอยู่ที่เท่าไร เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่
- คำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ โดยประมาณการค่าใช้จ่ายรายเดือนให้ครอบคลุมและใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด รวมทั้งต้องสอดคล้องกับเป้าหมายและระดับคุณภาพชีวิตที่คุณต้องการด้วยสูตรการคำนวณเบื้องต้น คือ
ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ x 12 เดือน x จำนวนปีหลังเกษียณ = จำนวนเงินที่ต้องเตรียมก่อนเกษียณ
เมื่อได้ผลลัพธ์แล้ว อย่าลืมบวกอัตราเงินเฟ้อเพิ่มเข้าไปอีกประมาณ 3% หรือถ้าใครไม่ถนัดในเรื่องคำนวณ เราขอแนะนำให้ลองใช้
เครื่องคำนวณเงินเพื่อใช้หลังเกษียณ
4. รู้จักเก็บออมและต่อยอดเงินด้วยการลงทุน
ในปัจจุบัน มีการคาดการณ์ว่าทุกคนควรเก็บเงินเพื่อเตรียมเกษียณอายุให้ได้คนละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งลำพังแหล่งรายได้หลังเกษียณจากเงินบำเหน็จบำนาญหรือเงินสมทบจากองทุนต่างๆ คงยังไม่เพียงพอที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีหรือเอาชนะค่าเงินเฟ้อในอนาคตได้
ด้วยเหตุนี้ การวางแผนการออมและการลงทุนในระยะยาวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำตั้งแต่อายุยังไม่มากตามหลักการง่ายๆ ดังนี้
- เริ่มต้นเก็บออม ใครออมก่อนคนนั้นมีโอกาสรวยกว่า เพราะยิ่งออมนานยิ่งเห็นถึงพลังของดอกเบี้ยทบต้น ในทางกลับกันถ้าคุณเริ่มเก็บเงินช้า จำนวนเงินที่ต้องออมต่อเดือนก็จะยิ่งสูงขึ้น
- ต่อยอดด้วยการลงทุน แบ่งเงินบางส่วนออกมาลงทุนในกองทุนรวม พันธบัตร หุ้นกู้ ฯลฯ เพื่อให้เงินทำงานแทนคุณ พร้อมรับผลตอบแทนที่งอกเงยเหนือกว่าดอกเบี้ยเงินฝากแถมเอาชนะค่าเงินเฟ้อได้ด้วย ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงผลตอบแทนและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ทุกครั้งก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อไม่ให้เงินก้อนสุดท้ายของชีวิตต้องสูญไปจากการตัดสินใจลงทุนที่ผิดพลาด
5. วางแผนส่งต่อมรดกให้ลูกหลาน
หากคุณเป็นคนวัยเกษียณที่สามารถเตรียมความพร้อมได้อย่างมั่งคั่ง นอกจากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีสมความปรารถนาแล้ว ยังมีเงินเหลือเก็บเหลือใช้ พร้อมทรัพย์สมบัติมากมายที่เหลือเผื่อแผ่ได้จนถึงรุ่นลูกหลานด้วย
การวางแผนจัดการมรดกคืออีกสิ่งหนึ่งที่คุณควรทำ เพราะยิ่งคุณมีทรัพย์สินมากเท่าไร ยิ่งต้องแจกแจงรายละเอียด และเตรียมทำพินัยกรรมไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ทายาทสามารถจัดการมรดกได้อย่างราบรื่น ไม่มีปัญหาความขัดแย้งในวันที่คุณลาจากโลกนี้ไปแล้ว
สรุป
การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเกษียณอายุทั้งด้านสุขภาพร่างกายและสุขภาพการเงินจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาและการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นวางแผนชีวิตและบริหารจัดการเงินตั้งแต่วันนี้ยังไม่สาย เพื่อวัยเกษียณที่มั่นคงและมีความสุข ไม่เป็นภาระของลูกหลาน ยิ่งคุณเริ่มต้นได้เร็วเท่าไร ก็จะยิ่งสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีหลังเกษียณให้กับคุณได้มากเท่านั้น
อ่านมาถึงตรงนี้ ถ้าคุณสนใจอยากเริ่มต้นวางแผนเพื่อชีวิตหลังเกษียณของตัวเอง สามารถติดต่อที่ปรึกษาด้านการลงทุน ผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น.
บทความโดย
ขวัญชัย รุ่งเรืองกอสว่าง AFPT™
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา