ความรู้เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ควรรู้เตรียมตัวไว้ก่อนวัยเกษียณ
เพื่อยามเกษียณ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ความรู้เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ควรรู้เตรียมตัวไว้ก่อนวัยเกษียณ

icon-access-time Posted On 31 ตุลาคม 2558
By Krungsri the COACH
คำว่า “เกษียณ” ถ้าแปลตามพจนานุกรม จะแปลว่า “สิ้นไป, หมดไป ขีดขั้นอายุ เช่น ปลดเกษียณ คือ ปลดจากงาน เมื่ออายุครบ 60 ปี” เวลาของช่วงวัยเกษียณน่าจะเป็นวัยที่มีความสุขที่สุด เพราะเป็นการปลดเปลื้องการงานที่รับผิดชอบมาเกือบทั้งชีวิต การวางแผนชีวิตในวัยหลังเกษียณมีความสำคัญ เพราะจะทำให้ชีวิตหลังเกษียณมีความสุข มีอายุยาวนานอย่างมีคุณภาพ
คำว่า “เกษียณ” ถ้าแปลตามพจนานุกรม จะแปลว่า “สิ้นไป, หมดไป ขีดขั้นอายุ เช่น ปลดเกษียณ คือ ปลดจากงาน เมื่ออายุครบ 60 ปี” เวลาของช่วงวัยเกษียณน่าจะเป็นวัยที่มีความสุขที่สุด เพราะเป็นการปลดเปลื้องการงานที่รับผิดชอบมาเกือบทั้งชีวิต การวางแผนชีวิตในวัยหลังเกษียณมีความสำคัญ เพราะจะทำให้ชีวิตหลังเกษียณมีความสุข มีอายุยาวนานอย่างมีคุณภาพ
ผมขอแนะนำเทคนิคการจัดการเงินทองเพื่อเตรียมตัวก่อนวัยเกษียณให้สบายใจ ดังต่อไปนี้

ประมาณช่วงเวลาหลังเกษียณ

เช่น 20 ปี 25 ปี หรือ 30 ปี เพื่อให้รู้ว่าเราจะต้องใช้เงินหลังเกษียณไปอีกกี่ปี ปัจจุบันช่วงชีวิตโดยเฉลี่ยของผู้ชาย คือ 72 ปี และของผู้หญิง คือ 75 ปี ซึ่งเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นอาจทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาว และเมื่อมีอายุยืนยาวขึ้น จำนวนเงินที่ต้องใช้ยามเกษียณอายุก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

คำนวณค่าใช้จ่าย

ทั้งหมดคร่าว ๆ ในวัยเกษียณพอคำนวณแล้วก็ลองบวกเพิ่มไปสัก 25% หรือจะลองใช้สูตรคำนวณดังนี้ครับ
 
เงินที่ควรมีหลังเกษียณอายุ = ค่าใช้จ่ายต่อเดือน X 12 เดือน X จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ เช่น หากประเมินว่าหลังเกษียณจะใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่จนอายุ 90 ปี
จำนวนเงินที่ต้องมี ณ วันเกษียณ = 20,000 บาท x 12 เดือน x 30 ปี = 7,200,000 บาท​ ซึ่งก็ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ประเมินอัตราเงินเฟ้อ

ที่คาดว่าน่าจะเป็นไปในช่วงเวลาของการเกษียณอายุ เพราะเงินเฟ้อทำให้เงินออมที่หามาด้วยความยากลำบากกว่าจะเก็บออมได้นั้นต้องด้อยค่าลงไป เพราะเมื่อระดับอัตราเงินเฟ้อสูงมากขึ้นเท่าใด เงินออมของเราก็ด้อยค่าลงมากเท่านั้น

ประมาณการรายได้หลังเกษียณ

ว่าจะมีรายได้เข้ามาทางใดบ้าง เช่น เงินบำเหน็จบำนาญ เงินรับจากกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รายได้จากการลงทุน การประกันชีวิต

วางแผนการออม

จากการประมาณค่าใช้จ่ายและรายได้หลังเกษียณที่คำนวณไว้ เราจะรู้ว่าต้องเก็บเงินเพิ่มอีกเท่าไหร่ ถึงจะสามารถวางแผนการออมและการลงทุนอย่างเหมาะสม ผมแนะนำให้ลองลงทุนออมเงินในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF (Retirement Mutual Fund) โดย RMF คือ กองทุนรวมประเภทหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากกองทุนรวมทั่วไป คือ เป็นกองทุนที่มีลักษณะผสมระหว่างการเป็นกองทุนรวม กับการเป็นเครื่องมือสะสมเงินไว้ใช้ในยามชราภาพ ที่รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุนเพื่อเป็นแรงจูงใจ โดยให้เงินลงทุนใน RMF ได้รับยกเว้นภาษีตามที่ลงทุนจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในแต่ละปี และเมื่อนับรวมกับเงินที่ผู้ลงทุนถูกหักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แล้ว ต้องไม่เกิน 300,000 บาท นอกจากนั้น เงินผลประโยชน์ที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital gain) ก็ยังไม่ต้องเสียภาษีอีกนะครับ เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลย นอกจากนี้ RMF ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีสวัสดิการสะสมเงินเพื่อวัยเกษียณ เช่น ผู้ที่ประกอบวิชาชีพอิสระที่ไม่มีนายจ้าง หรือผู้ที่มีสวัสดิการอยู่แล้วแต่ต้องการสะสมเพิ่มเติม ได้มีโอกาสสะสมเงินเพื่อวัยเกษียณด้วย

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน

ข้อนี้ผมคิดว่าสำคัญมาก เพราะการมีที่ปรึกษาทางการเงินที่ดี จะเหมือนเรามีแผนที่นำทางที่ดีที่พาเราไปถึงจุดหมายได้อย่างมั่นคงและปลอดภัยนะครับ ซึ่งผมอยากจะขอแนะนำให้เพื่อนลองเข้าไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการวางแผนเกษียณที่นี้ดูนะครับ
หากเรารู้จักเตรียมตัววางแผนการเงินตามเทคนิคที่ผมได้แนะนำไว้ เราก็จะสามารถใช้ชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีความสุขได้อย่างแน่นอน
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา