ต้องอายุ 60 เลยหรอถึงจะเข้าสู่วัยเกษียณ?
… แค่ได้ยินก็รู้สึกนานเกินไปแล้ว
ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ Generation คนยุคใหม่ตอนนี้ที่ทำให้เราได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ก่อนวัย จึงส่งผลทำให้เรามองถึงการ
เกษียณก่อนกำหนด ไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะอยากเกษียณก่อนอายุ แต่การวางแผนเกษียณให้ดี คือสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นบทความนี้ เราจะพาคุณไปวางแผนเกษียณก่อนกำหนดที่ใช่ตามสไตล์ที่คุณต้องการ
มีกลุ่มคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่อยากเกษียณก่อนอายุจึงโหมเก็บเงิน พร้อมทั้งวางแผนเกษียณไว้ก่อนแล้ว โดยกลุ่มคนเหล่านี้ถูกเรียกว่า กลุ่ม “FIRE” หรือมาจากคำว่า “Financial Independence,
Retire Early” ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มักจะเริ่มวางแผนเกษียณตั้งแต่อายุยังน้อย
แล้วถ้าหากว่าเราอยากจะเป็นกลุ่ม FIRE และอยากเกษียณก่อนอายุแบบนี้เราต้องทำอะไรบ้าง?
ก่อนอื่นเลยเราอาจจะต้อง
เช็กความพร้อมสำหรับวัยเกษียณของเรา
- ประเมินอายุที่เราต้องการจะเกษียณ ตัวอย่างเช่น เราต้องการเกษียณในช่วงวัย 50 ปี และตอนนี้เราอายุ 30 ปี = เรามีเวลา 20 ปีในการเก็บเงินเพื่อเกษียณอายุ
- รายรับ รายจ่ายหลังเกษียณ เราต้องคำนวณว่าเมื่อเราเกษียณอายุไปแล้ว ค่าใช้จ่ายของเราแต่ละเดือนจะตกอยู่ที่เท่าไหร่ รวมถึงมองไปถึงเงินที่ต้องสำรองฉุกเฉินไว้ด้วย
- ทรัพย์สิน และหนี้สิน เราอาจจะต้องลองมองถึงทรัพย์สินว่าเรามีอะไรอยู่บ้าง สามารถต่อยอดเงินหลังเกษียณของเราได้อย่างไรบ้าง รวมไปถึงถ้าเกิดเรายังมีหนี้สินในการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เราอาจจะต้องเก็บเงินเพิ่มมากขึ้นไปอีกเพื่อที่จะปลดหนี้ และเกษียณก่อนกำหนด
- สุขภาพของเรา เราอาจจะต้องมองหาประกันสุขภาพไว้ เพราะเมื่อเราเกษียณไปแล้วสิทธิการรักษาพยาบาลของเราอาจจะถูกยกเลิก และยังเปลี่ยนไปตามอาชีพของเราด้วย
- เงินออม และการลงทุนหลังเกษียณ หากเราเกษียณไปแล้ว เราจะออมเงิน หรือลงทุนกับอะไร อาทิ กองทุนรวม, หุ้น, ประกันเงินออม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถช่วยต่อยอดการเงินของเราในวัยเกษียณไปได้อีกด้วย
- หลังเกษียณเราจะอาศัยอยู่ที่ไหน สำหรับคนที่มีบ้านมีทรัพย์สินที่ไม่เป็นหนี้สินอยู่แล้ว ข้อนี้อาจทำให้เราสบายขึ้นโดยไม่ต้องกังวลถึงที่อยู่อาศัยว่าเกษียณอายุไปจะอาศัยอยู่ที่ไหน แต่สำหรับคนที่ยังคงไม่มั่นใจ ก็อาจจะต้องไตร่ตรองในส่วนตรงนี้ให้ดี
เมื่อเราเช็กความพร้อมทั้งหมดเสร็จแล้ว
ต่อมาเรามาลองวางแผนเกษียณด้วย 5 ข้อง่าย ๆ กันก่อน
1. คำนวณค่าใช้จ่ายยามเกษียณ
เราไม่อาจคำนวณเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ แต่เราอาจจะสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ ของเราได้ และเมื่อเกษียณอายุเราจำเป็นต้องใช้เงินมากแค่ไหน เช่น ถ้าตอนนี้อายุ 30 ปี ตั้งใจเกษียณตอนอายุ 50 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 80 ปี โดยตั้งใจจะมีเงินใช้จ่ายที่ 25,000 บาทต่อเดือน ซึ่งต้องคำนวณเผื่ออัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย สมมติว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% ต่อปี เมื่อคำนวณแล้วจะได้ค่าใช้จ่ายที่เราต้องเตรียมในยามเกษียณทั้งหมด 9,500,000บาท (คำนวณเผื่อค่าใช้จ่ายฉุกเฉินรวมไปด้วย) ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลย
2. ตรวจสอบเงินออมที่มีอยู่
เมื่อเราได้จำนวนเงินซึ่งเป็นเป้าหมายแล้ว สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับถัดไป คือ สำรวจว่าปัจจุบันเรามีเงินออมเพื่อเกษียณจากอะไรบ้าง เช่น บัญชีเงินฝาก เงินทุนประกันสังคม
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันออมทรัพย์ หรือเงินลงทุนในหุ้น และกองทุนรวมต่าง ๆ การตรวจสอบเงินออมที่มีอยู่ก็เพื่อให้เราสามารถคำนวณได้ว่าเรายังขาดเงินที่ต้องออมเพิ่มอีกเท่าไหร่ เช่น ปัจจุบันมีเงินออมจากแหล่งต่าง ๆ รวมกันอยู่ที่ 1,000,000 บาท เท่ากับว่า เราต้องออมเพิ่มอีก 8,500,000บาท เพื่อให้ได้จำนวนเงินตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
3. วางแผนลงทุน สร้างเงินออม
เมื่อรู้จำนวนเงินที่ยังขาดแล้ว ก็ให้เรานำตัวเลขนั้นมาวางแผน โดยเริ่มจากการทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้เกิดเงินออมในแต่ละเดือน ซึ่งเราจะนำเงินออมเหล่านั้นมาวางแผนการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่รับได้ เช่น ถ้าปัจจุบันเราอายุ 30 ปี เท่ากับว่าเรายังอยู่ในวัยเริ่มต้นทำงาน มีระยะเวลาในการลงทุนนาน รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูง ดังนั้น ควรจัดสรรพอร์ตลงทุนแบบเชิงรุกที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย
4. มองหาอาชีพเสริมที่ทำให้เรามีทั้งความสุข
และสร้างรายได้ไปด้วย เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว เราได้ลองกลับมาใช้ชีวิตตัวเองมากขึ้น เราชอบทำอะไร อยากทำสิ่งไหน เราอาจจะดัดแปลงสิ่งเหล่านั้นให้กลายมาเป็นรายได้เสริม อาทิ หากเราชอบปลูกต้นไม้มงคล เราก็อาจจะปลูกต้นไม้มงคลขาย เพื่อสร้างรายได้หลังเกษียณ โดยสิ่งเหล่านี้จะเป็นรายได้เสริมที่สามารถสร้างความสุขของเราไปด้วย
5. ทบทวนเป้าหมายสม่ำเสมอ
เมื่อเราได้แผนการลงทุนที่เหมาะสมแล้ว ก็เริ่มต้นออมเงินได้เลย ที่สำคัญต้องตรวจสอบแผนการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย บริหารพอร์ตลงทุนให้ได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวัง รวมทั้งเมื่อเวลาผ่านไปต้องพิจารณาว่าระดับความเสี่ยงที่เรารับได้เปลี่ยนไปหรือไม่ เพื่อประเมิน และปรับเปลี่ยนแผนการออมให้เหมาะสมกับตัวเองมากยิ่งขึ้น
ท้ายที่สุดแล้วเราจะเห็นได้ว่า… หากเราต้องการเกษียณก่อนกำหนด เราก็จะต้องแลกมาด้วยการทำงานหนักและหักโหมขึ้นเพื่อเก็บเงิน เพราะฉะนั้นหากเราต้องการเกษียณก่อนกำหนดจึงต้องวางแผนล่วงหน้าให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องแผนการเกษียณคืออะไร การคำนวณเงินที่จำเป็นต้องใช้ต้องคำนวณจากอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายใดบ้างที่เราอาจจะไม่ต้องจ่ายแล้ว
เราจึงอยากให้คุณได้ชมเรื่องราวต่อไปนี้จากนี้กับ Krungsri The COACH เพื่อให้การวางแผนเกษียณเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น