กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไร ควรจัดการอย่างไรเมื่อตัดสินใจลาออก
เพื่อยามเกษียณ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไร ควรจัดการอย่างไรเมื่อตัดสินใจลาออก

icon-access-time Posted On 18 ตุลาคม 2565
by Krungsri The COACH
สำหรับผู้ที่ทำงานบริษัทหรือมนุษย์เงินเดือนคงคุ้นเคยกับ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” กันมาบ้างแล้ว แต่บางคนที่เพิ่งเริ่มชีวิตทำงานใหม่ ๆ อย่างเด็กจบใหม่ อาจจะไม่เข้าใจสิทธิประโยชน์หรือความสำคัญของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นเรามาทำความรู้จัก “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ก่อนเป็นอันดับแรกกันเลย
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อการเกษียณ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คืออะไร?

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund (PVD) เป็นกองทุนที่นายจ้าง และลูกจ้างจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เงินลูกจ้างหลังเกษียณอายุงาน ทุพพลภาพ หรือกรณีลูกจ้างเสียชีวิต เพื่อเป็นหลักประกันให้กับครอบครัว

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประกอบด้วยอะไรบ้าง?

ส่วนประกอบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
 
  • ส่วนลูกจ้าง จะเป็นเงินสะสม คือ เงินที่สมาชิกสมทบเข้ากองทุน จำนวนเงินตามกฎหมายกำหนดในช่วง 2% ถึง 15% ของเงินเดือน สามารถปรับเพิ่มหรือลดอัตราสะสมและเลือกแผนการลงทุนได้
  • ส่วนนายจ้าง จะเป็นเงินสมทบ คือ นายจ้างจ่ายเงินให้กับลูกจ้างเป็นเงินสมทบ จำนวนตามกฎหมายกำหนดในช่วง 2% ถึง 15% ของเงินเดือน อัตราสะสมขึ้นอยู่กับนโยบายของนายจ้าง
 

ผลตอบแทนของเงินสะสมและเงินสมทบ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น เกิดจากเงินสะสมและเงินสมทบที่จัดการโดยบริษัทจัดการ หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) นำเงินไปลงทุนในเครื่องมือทางการเงิน หรือหลักทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับกองทุน จากนั้นจะแบ่งดอกเบี้ยเฉลี่ยให้สมาชิกตามจำนวนเงินที่แต่ละคนมีอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเราควรทำความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทนของกองทุนเบื้องต้นก่อนเสมอ

คำถามที่มักจะพบบ่อยก็คือ เราจะถอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมาเลยได้ไหม? คุ้มไหม คำตอบคือ ทำได้ สามารถถอนออกมาได้ แต่เฉพาะคนที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินเท่านั้น เพราะจะมีผลที่ตามมานั่นก็คือ “จะมีภาระทางภาษีทันที” จากเดิมที่ Provident Fund (PVD) ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีหากไม่ได้ถอนออกมาใช้ก่อน แต่ถ้าตัดสินใจถอนออกมาใช้ก่อนจะต้องนำเงินก้อนนี้ไปยื่นเสียภาษีประจำปี ตามเกณฑ์ของ Provident Fund และเกณฑ์ของสรรพากรที่กำหนดไว้อีกด้วย

โดยสมาชิกจะได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืนหลังจากออกจากงาน หรือเมื่อสิ้นสุดการเป็นสมาชิก ได้แก่ เสียชีวิต เกษียณอายุ หรือโอนย้ายกองทุน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
  1. จะได้รับส่วนหนึ่งของเงินสะสมเต็มจำนวนพร้อมกับผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับเงินสะสม
  2. เงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเงินสมทบ จะได้รับตามเงื่อนไขที่กำหนด ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงาน และระยะเวลาการเป็นสมาชิกกองทุน
 

วิธีการไหนบ้างที่เราสามารถได้สิทธิ์ทางภาษีเลย?

พูดแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็คือมีวิธีไหนบ้างที่จะไม่ต้องเสียภาษีจากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ Provident Fund วิธีง่าย ๆ เลยคือ ณ เมื่อวันถอนเงินออกจากบัญชีจะต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และมีอายุกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี ทริคจำง่าย ๆ คือ “555

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็อย่าลืมวางแผนหลังเกษียณกันให้ดี ๆ นะ และถ้าไม่อยากพลาดเราขอแนะนำ “Krungsri The COACH Ep.36 ทางออกสวยๆ ของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อต้องออกจากงาน” เข้าไปดูกันแบบยาว ๆ รวดเดียวได้เลยที่นี่

 

สรุปวิธีจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund (PVD)

1. เมื่อตัดสินใจออกจากงาน สามารถฝากไว้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานเดิมหรือคงเงินไว้ในกองทุนก่อนได้

โดยการฝากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้กับที่ทำงานเดิมหรือการคงเงินไว้ในกองทุนนั้น จะต้องแจ้งระยะเวลาในการคงเงินไว้กับ บลจ. ว่าเราต้องการคงเงินไว้ระยะเวลาเท่าไหร่? ซึ่งเราจะยังคงได้รับผลประโยชน์จากกองทุนต่อเหมือนเดิม แต่จะไม่ได้มีเงินสมทบเพิ่ม เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อรอ ให้พร้อมสำหรับการโอนไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่ หรือเลือกโอนไปยังกองทุนรวม RMF ก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้มีค่าธรรมเนียม 500 บาทต่อปี ในการคงเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกด้วย
 

2. วิธีการปิดบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

การปิดบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือออกจากโครงการกองทุน สมาชิกต้องยืนยันความถูกต้องขององค์ประกอบ 4 ประการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เริ่มจาก
  • ความถูกต้องของเงินสะสม
  • เงื่อนไขการยกเว้นภาษีของผลประโยชน์เงินสะสม
  • ความถูกต้องของเงินสมทบ
  • ผลประโยชน์เงินสมทบ

เมื่อสมาชิกเกษียณอายุเมื่ออายุ 55 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาอย่างน้อย 5 ปี เงิน 3 ส่วนสุดท้ายมักจะปลอดภาษีโดยสิ้นเชิง
 
คุณภาพหลังเกษียณกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
 

3. เลือกโอนย้ายไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่ หรือ ให้โอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)

โดยโอนย้ายเข้าไปที่ RMF: กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ก็คือ “RMF for PVD”

ข้อดีคือ
  • สามารถนับอายุต่อไปเปรียบเสมือนการคงเงินไว้ใน PVD แถมยังไม่ถูกหักภาษีอีก แต่เมื่อใดที่โอนมาแล้วจะต้องถือต่ออีกสักระยะหนึ่งตามเงื่อนไข เมื่อโอนจาก PVD ไป RMF อายุกองทุนรวมกันควรที่จะไม่น้อยกว่า 5 ปี เพียงเท่านี้ก็ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีทันทีในตอนขายคืน
  • ไม่มีค่าธรรมเนียมค่าโอนย้ายกองทุน
  • ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม เพราะเพียงแค่คงเงินของ PVD เอาไว้ตามเกณฑ์ที่กล่าวไปข้างต้นคือ “555” (เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และอายุกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี)

แต่หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าการที่จะซื้อกองทุน RMF จะต้องซื้อ ปีต่อปี ซึ่งนั่นไม่ถูกต้องไปซะทั้งหมด เพราะถ้าเราอยากที่จะซื้อกองทุน RMF เพื่อที่จะใช้สิทธิทางภาษีเพื่อที่จะเอาไปลดหย่อนภาษีประจำปีแบบนั้น จะต้องเปิดบัญชีกองทุนรวมแยกไปเลย

เราสามารถใช้แผนการลงทุน “RMF for PVD” ในการจัดแผนการลงทุนเพื่อเสริมสร้างโอกาสให้ได้ผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้นไปอีกด้วย เพราะว่า “RMF for PVD” มีความยืดหยุ่นมาก เพราะจะมีกองทุนหลากหลายให้เลือกครอบคลุมทุกนโยบาย

การที่ออกจากงานก็มีความกลุ้มใจอยู่แล้ว แต่อย่าได้กังวลใจไปเพราะยังมีทางเลือกอีกหลากหลายให้เลือกและหนึ่งในนั้นก็คือ “RMF for PVD” เพราะคุณภาพชีวิตหลังเกษียณที่ดี สร้างได้ด้วยตัวคุณเองวันนี้
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา