7 สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจ Early Retire
เพื่อยามเกษียณ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

7 สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจ Early Retire

icon-access-time Posted On 23 กุมภาพันธ์ 2565
by Krungsri The COACH
60 ปี คือ อายุเกษียณเฉลี่ยของผู้คนในสังคมไทย มีคนมากมายเลือกจะทำอาชีพของตัวเองต่อไปเรื่อยๆ แต่ก็มีคนไม่น้อยที่ตัดสินใจเกษียณก่อนกำหนดหรือ Early Retire ทั้งจากความเหน็ดเหนื่อย ความก้าวหน้าในสายอาชีพ รวมถึงปัจจัยต่างๆ แต่ก่อนคุณจะตัดสินใจ Early Retire นั้น เราขอให้พิจารณา 7 หัวข้อนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีหลังการเกษียณก่อนกำหนดของคุณเอง
 

สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อน Early Retire

  1. ประเมินอายุเกษียณและอายุขัย
    ปัจจุบันนี้ การเกษียณไวไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยสนับสนุนและเหตุผลอีกมากมาย มีคนจำนวนไม่น้อยที่อายุขึ้นเลข 4 ก็เริ่มเกษียณตัวเองแล้ว ดังนั้น ก่อน Early Retire คุณต้องคิดก่อนว่าคุณจะ Early Retire “เมื่อไร” 40 ปี 50 ปี หรือ 55 ปี? หลังจากนั้น ก็ต้องลองคิดต่อว่าเมื่อเราเกษียณเร็ว เราคาดว่าจะอยู่ถึงอายุกี่ปี

    อายุขัยเป็นอีกปัจจัยถัดมาที่หลายคนเลี่ยงจะพูดถึง ทว่า ในมุมของการบริหารเงินแล้ว “อายุ” เป็นสิ่งที่สำคัญลำดับต้นๆ ไม่ว่าคุณจะ Early Retire ไวขนาดไหนก็ตาม ควรมั่นใจได้ว่าจะมีเงินใช้ไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต และจะดียิ่งกว่านั้นหากสามารถส่งต่อความมั่งคั่งสู่ลูกหลานหรือคนที่คุณต้องการได้

    ทั้งนี้ อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยเพศชายอยู่ที่ 73 ปี เพศหญิงอยู่ที่ 80 ปี คุณสามารถนำตัวเลขดังกล่าวมาเป็นมาตรฐานการคำนวณการใช้จ่ายและเก็บเงินล่วงหน้าเพื่อใช้สำหรับการ Early Retire โดยไม่ต้องกังวลว่าเงินคุณจะหมดก่อนเวลาอันควร
 
7 สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจ Early Retire
 
  1. รายรับ-รายจ่ายหลัง Early Retire
    เมื่อคาดคะเนอายุเกษียณแล้ว สิ่งต่อมาที่ควรใส่ใจ คือ รายรับ-รายจ่ายว่าสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้หรือไม่ รายรับพอดีกับรายจ่ายหรือเปล่า แน่นอนว่าคุณภาพชีวิตต้องดี ไม่ด้อยไปกว่าตอนที่กำลังทำงานมากนัก โดยคุณสามารถคำนวณรายจ่ายหลังเกษียณได้ง่ายๆ ด้วยการอ้างอิงจากค่าใช้จ่ายต่อเดือนของตนเอง
     
    7 สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจ Early Retire
     
    การคำนวณดังกล่าวยังไม่รวมอัตราเงินเฟ้อ 3-5% ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งจากตารางจะเห็นได้ชัดเลยว่า หากคุณใช้เงินเดือนละ 30,000 บาท ต้องการ Early Retire ในช่วงอายุ 50 ปี แล้วคาดว่าจะอยู่ถึง 30 ปีหลังเกษียณ คุณอาจต้องเตรียมเงินขั้นต่ำหลัก 10 ล้านขึ้นไป ซึ่งหากคำนวณอัตราเงินเฟ้อไปด้วยล่ะก็ เงินที่คุณต้องเตรียมอาจมากขึ้นกว่าเดิมหลายบาทเลยทีเดียว

    เมื่อคำนวณรายจ่ายแล้ว ก็ต้องหันกลับมาคำนวณรายรับว่า รายรับหลังจากการ Early Retire จะหามาจากไหน เป็นการใช้จากเงินเก็บในธนาคารหรือไม่หรือมีธุรกิจระยะยาวหรือเงินเกษียณคอยค้ำจุนอยู่เพื่อให้คุณภาพชีวิตหลังเกษียณของคุณสุขสบายที่สุด

  2. ทรัพย์สินและหนี้สินอื่นๆ ที่มีในปัจจุบัน
    บ้าน รถ ที่ดิน ธุรกิจต่างๆ ที่มีมูลค่านอกจากเงินฝากในธนาคารไปจนถึงหนี้คงค้างล้วนส่งผลต่อชีวิตหลังเกษียณด้วยกันทั้งสิ้น การบริหารทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดคุณประโยชน์สูงสุดเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ขาดไม่ได้สำหรับการ Early Retire

    การมีรถหลายคันหรือบ้านหลายหลังอาจทำให้มีค่าดูแลจิปาถะมากขึ้น รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ ที่อาจต้องการการดูแลเป็นพิเศษ คุณอาจเลือกได้ว่าจะมีการจัดสรรอย่างไร มีการส่งต่อให้ลูกหลานหรือไม่ จะเก็บไว้หรือขายต่อเพื่อนำเงินกลับเข้ามาหนุนรายรับรายจ่ายให้สมบูรณ์

    เหนือสิ่งอื่นใดก่อน Early Retire ขอแนะนำให้คุณเคลียร์หนี้สินที่ติดตัวทั้งหมดอยู่ก่อน เพื่อการใช้ชีวิตแบบสุขกายสบายใจในอนาคต

  3. การลงทุนก่อนและหลัง Early Retire
    ก่อนเกษียณคุณลงทุนอะไร หลังเกษียณคุณจะลงทุนแบบไหน เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการถือครองทรัพย์สินใดๆ เนื่องจากทุกๆ ปี อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจัยต่างๆ เงิน 100 บาทในอนาคตอาจซื้อของได้น้อยกว่าเงิน 100 บาทในปัจจุบัน ดังนั้น อย่างน้อยควรมีการคำนวณการลงทุนต่างๆ เพื่อให้ชนะเงินเฟ้อ (ประมาณ 3-5% ต่อปี)

    แน่นอนว่า การลงทุนยอดฮิตสำหรับคนทั่วโลกยังคงเป็นหุ้นและกองทุนที่ยังคงเติบโตอยู่พอสมควรโดยเฉพาะในหมวดหมู่ของเทคโนโลยีที่มีการปรับเปลี่ยนตามกระแส New Normal สำหรับท่านที่สนใจว่าการลงทุนในสองหมวดหมู่นี้เหมือนและต่างกันอย่างไร สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองทุน VS หุ้น เพื่อความเข้าใจที่ครบถ้วนยิ่งขึ้น
 
7 สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจ Early Retire
 
  1. สุขภาพ
    ไม่ว่าคุณจะอยาก Early Retire ในช่วงอายุใด 30, 40 หรือ 50 ปี เรื่องของสุขภาพก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะการไม่มีรายรับหลังเกษียณแล้วเกิดโรคขึ้นมา ตั้งแต่โรคเบาๆ อย่างปวดหลัง ปวดไหล่ ไปจนถึงโรคร้ายแรง ซึ่งอาจทำให้เงินเก็บของคุณมลายหายไปโดยที่คุณไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

    สำหรับคนที่ต้องการ Early Retire ขอแนะนำว่าควรทำประกันสุขภาพและประกันชีวิตเพื่อความอุ่นใจ ช่วยบรรเทาความเสี่ยงเรื่องสุขภาพเพิ่มเติมจะดีที่สุด แน่นอนว่า ต้องเสริมด้วยการออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อเสริมสร้างให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงอย่างยั่งยืนตลอดวัยเกษียณ

  2. ที่อยู่หลัง Early Retire
    Early Retire แล้วจะไปอยู่ที่ไหน? การเกษียณตัวเองที่ดีต้องมีที่อยู่อาศัยที่รองรับสำหรับตัวเองด้วย และสำหรับคนที่มีครอบครัวก็อาจต้องคำนึงถึงสมาชิกในบ้านว่าจะอยู่อาศัยกันอย่างไรอย่างยั่งยืน

    สำหรับใครที่คิดเรื่องเกษียณ เราขอแนะนำว่าการมีที่อยู่ถาวรอย่างการซื้อบ้านหรือคอนโดเอาไว้จะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการเช่า เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่อยู่กับเราระยะยาว อีกทั้งสามารถต่อยอดได้ เช่น ปล่อยเช่า ปล่อยให้ซื้อต่อ หรือถ้าบ้านมีบริเวณก็อาจทำอาชีพเสริมเล็กๆ เพื่อหารายได้ต่อยอดในอนาคตได้อีกด้วย

    สำหรับใครที่อยู่คนเดียวและเริ่มก้าวเข้าสู่วัยเกษียณจริงๆ ก็ไม่ต้องกังวลไป ในปัจจุบัน ธุรกิจบ้านพักคนชราหรือบริการที่ใกล้เคียงกันเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งมีทั้งสถานที่และกิจกรรมสำหรับคนวัยเกษียณด้วย
 
7 สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจ Early Retire
 
  1. Early Retire แล้วจะทำอะไรต่อ
    “เกษียณแล้วทำอะไรต่อ?” เป็นคำถามยอดฮิตที่เกิดขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ด้วยรสนิยมของแต่ละคนที่แตกต่างกันทำให้การอยู่เฉยๆ หรือการไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ อาจไม่ตอบโจทย์สำหรับทุกคนได้ ดังนั้น เราจึงขอแนะนำว่าก่อนจะ Early Retire แบบจริงจัง ควรคิดถึงกิจกรรมต่างๆ ที่อยากทำหลังเกษียณด้วยจะดีกว่า

    ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนด้วยเงินเก็บที่ถูกจัดสรรปันส่วนเอาไว้ การส่งต่อธุรกิจให้ลูกหลานโดยมีเราดูอยู่ห่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เราต้องวางแผนไว้ทั้งสิ้น

    สำหรับท่านที่ต้องการวางแผนเกษียณตั้งแต่วันนี้ เราขอแนะนำโปรแกรมคำนวณการวางแผนเกษียณ ที่ทำให้คุณสามารถรู้ปัจจัยต่างๆ เพื่อการเกษียณอย่างคุณภาพที่ โปรแกรมคำนวณการวางแผนการเกษียณ

สรุป
ถ้าอยาก Early Retire เพื่อความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า สิ่งที่คุณจะขาดไม่ได้เลย คือ การวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างมีคุณภาพ เพื่อตอบสนองทุกปัจจัยที่เกื้อหนุนให้ชีวิตของคุณมีความสุขได้ยิ่งขึ้นหลังเกษียณ ดังนั้น เราขอแนะนำให้คุณคำนวณเงินเกษียณ รวมถึงการลงทุนของตัวเองให้พร้อมก่อนตัดสินใจ Early Retire อย่างเป็นทางการ

หากคุณต้องการคำแนะนำสำหรับการเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ การบริหารเงินเพื่อ Early Retire อย่างเป็นระบบแล้วล่ะก็ เรามีทีมที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุนยินดีให้คำปรึกษา โดยสามารถติดต่อผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับที่ บริการที่ปรึกษาทางการเงิน

บทความโดย
ขวัญชัย รุ่งเรืองกอสว่าง AFPT™
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา