7 วิธี วางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือน ก่อนสายเกินไป
เพื่อยามเกษียณ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

7 วิธี วางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือน ก่อนสายเกินไป

มาวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือนกันเถอะ!

เพราะไม่ว่าชีวิตหลังเกษียณที่คุณใฝ่ฝันจะเป็นอย่างไร ก็จำเป็นต้องเริ่มวางแผนทางการเงินตั้งแต่ตอนนี้ เนื่องจากชีวิตหลังเกษียณ คุณจะไม่ได้รับเงินเดือนหรือมีรายได้ประจำมากเท่าเดิมอีกต่อไป แต่ยังมีรายจ่ายที่ต้องใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นอายุขัย ดังนั้น ถ้าต้องการมีอิสรภาพทางการเงินและคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงบั้นปลายชีวิต คุณจำเป็นต้องวางแผนการออมและการลงทุนเพื่ออนาคตโดยเร็วที่สุด

ถ้ายังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง บทความนี้มีคำตอบ  
7 วิธี การวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือน
 

7 วิธี การวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือน

แม้ว่าตอนนี้วันเกษียณอายุของคุณจะยังดูห่างไกล แต่เวลาทุกวินาที มีค่าเป็นเงินเป็นทอง ยิ่งคุณเริ่มต้นวางแผนการออมและการลงทุนอย่างรอบคอบตั้งแต่เนิ่นๆ เป้าหมายชีวิตหลังเกษียณที่คุณใฝ่ฝันก็จะเป็นจริงได้ไม่ยาก

ต่อไปนี้คือ 7 วิธี การวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือนที่เราอยากให้ลองทำดู คุณทำได้!
 

วิธีที่ 1: กำหนดอายุเกษียณของคุณ

การกำหนดอายุเกษียณเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะเป็นตัวชี้วัดว่าคุณเหลือเวลาก่อนเกษียณอีกนานแค่ไหนและต้องเตรียมเงินสำรองไว้เท่าไรถึงจะพอ ทั้งนี้ อายุเกษียณโดยทั่วไปอยู่ที่ 60 ปี แต่มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจต้องการเกษียณก่อนหรือหลังอายุ 60 ปีก็ได้

ตัวอย่างเช่น นาย A อายุ 25 ปี และต้องการเกษียณตอนอายุ 50 ปี ดังนั้น ระยะเวลาก่อนเกษียณของนาย A คือ 50-25 = 25 ปี

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการกำหนดอายุเกษียณ คือ อายุขัย หรือจำนวนปีโดยประมาณ ที่คุณคาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ โดยพิจารณาจากอายุ ปัญหาสุขภาพ ประวัติโรคภัยไข้เจ็บของสมาชิกในครอบครัว และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ตัวอย่างเช่น นาย B คาดว่าจะมีอายุขัย 75 ปี และต้องการเกษียณอายุเมื่ออายุ 60 ปี แสดงว่า นาย B ต้องวางแผนเกษียณเตรียมความพร้อมด้านการเงินให้เพียงพอสำหรับที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณไปอีก 15 ปีจนสิ้นอายุขัย
 

วิธีที่ 2: เริ่มต้นวางแผนการเงินก่อนเกษียณอายุให้เร็วที่สุด

ส่วนใหญ่มนุษย์เงินเดือนที่อายุ 20 ปี ต้น ๆ และเพิ่งเริ่มมีรายได้ มักคิดว่าการเกษียณอายุเป็นเรื่องไกลตัว จึงให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตในปัจจุบันให้เต็มที่มากกว่าที่จะรีบวางแผนเกษียณตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ในความเป็นจริง ยิ่งคุณเริ่มต้นวางแผนเกษียณอายุได้เร็วเท่าไร คุณยิ่งมีโอกาสได้รับประโยชน์จากพลังของเวลาและดอกเบี้ยทบต้นมากเท่านั้น

ดังนั้น อย่าชะลอการวางแผนเกษียณอายุให้ผ่านพ้นไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีเป้าหมาย มิฉะนั้นคุณอาจต้องยอมลดระดับคุณภาพชีวิตและความใฝ่ฝันหลังเกษียณด้วยความจำใจในภายหลัง รวมทั้งอาจกลายเป็นภาระที่ต้องพึ่งพาด้านการเงินจากลูกหลานในครอบครัวอีกด้วย

ถ้าคุณยังมีเวลาอีกหลายปี ในการทำงานหารายได้ รีบเก็บออมและลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้คุณมีเงินสำรองมากเพียงพอที่จะไม่ต้องเครียดหรือกังวล เรื่องปัญหาการเงินในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุ
 

วิธีที่ 3: กำหนดจำนวนเงินที่คุณต้องการหลังเกษียณอายุ

ก่อนอื่นให้ตรวจสอบค่าใช้จ่ายประจำปีของคุณในปัจจุบัน เพื่อนำมาประมาณการจำนวนเงินที่คุณต้องการใช้หลังเกษียณอายุให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายและการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพตามที่คุณต้องการ เช่น ค่าใช้จ่ายประจำวันภายในครัวเรือน ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงและการท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายสำหรับบุตรหลาน เป็นต้น

จากนั้น นำอัตราเงินเฟ้อประมาณ 3% มาคำนวณว่าค่าใช้จ่ายในปัจจุบันของคุณ จะกลายเป็นมูลค่าเงินในอนาคตเท่ากับกี่บาทเมื่อเกษียณอายุ หากคุณไม่มั่นใจว่าจะประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอายุด้วยตัวเองได้อย่างแม่นยำ ที่ปรึกษาทางการเงินสามารถช่วยคุณได้ตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย วางแผนการออมและการลงทุนที่เหมาะสมในสินทรัพย์แต่ละประเภท หรือจะลองใช้ เครื่องคำนวณเงินเพื่อใช้หลังเกษียณอายุ ในเบื้องต้นก่อนก็ได้
 
วางแผนการออม เพื่อใช้หลังเกษียณ
 

วิธีที่ 4: คำนวณเงินออมในปัจจุบันและเปรียบเทียบกับมูลค่าเงินในอนาคต

การออมเงิน มีบทบาทสำคัญในการวางแผนเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ วิธีที่ดีที่สุด คือ การจัดสรรเงินเดือนส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินออม เพื่อการเกษียณอายุโดยเฉพาะ หลังจากนั้น นำมาประเมินจำนวนเงินในแต่ละปี ที่คุณจะสามารถเก็บออมได้ จนถึงวันเกษียณ เพื่อคำนวณหามูลค่าเงินทั้งหมดในอนาคตว่าเพียงพอสำหรับเป้าหมายหลังเกษียณอายุของคุณหรือไม่ ทั้งนี้ หากมีการนำเงินออมไปลงทุนต่อยอด ต้องคำนึงถึงอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่คาดหวังไว้ด้วย
 

วิธีที่ 5: ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

หากคุณต้องการเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีอิสรภาพทางการเงินหลังเกษียณอายุ และไม่ได้มีรายได้จากหลายทางควรเริ่มต้นหาวิธี ลด-ละ-เลิก ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นบางอย่าง เช่น การปาร์ตี้สังสรรค์ การซื้อของฟุ่มเฟือย การรับประทานอาหารหรูนอกบ้าน การไปเที่ยวต่างประเทศ ฯลฯ เพื่อนำเงินส่วนดังกล่าวมาใช้ลงทุนต่อยอดและช่วยพาคุณไปสู่เป้าหมายชีวิตหลังเกษียณอายุตามที่วาดฝันไว้ได้เร็วยิ่งขึ้น
 

วิธีที่ 6: วางแผนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ

คุณควรวางแผนจัดพอร์ตการลงทุนที่หลากหลายในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ โดยคำนึงถึงอายุและระดับความเสี่ยงที่คุณสามารถรับได้ เพราะสินทรัพย์บางประเภท เช่น ตราสารทุน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงแต่สามารถให้ผลตอบแทนที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อได้ดีกว่าตราสารหนี้ ซึ่งมีความมั่นคงและปลอดภัยมากกว่าแต่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ทุกประเภทอาจไม่ได้เหมาะกับสไตล์การลงทุนของคุณ ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรลงทุนแบบฝากความหวังไว้ในสินทรัพย์ประเภทเดียวมากเกินไป

เนื่องจากการวางแผนเกษียณอายุเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญ การใช้บริการที่ปรึกษาทางการเงินจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ทั้งนี้ ควรเลือกที่ปรึกษาทางการเงินที่ซื่อสัตย์ เป็นกลาง มีความสามารถและคุณสมบัติที่เชื่อถือได้ เพื่อช่วยวางแผนจัดการสินทรัพย์และพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องตามเป้าหมายการเกษียณอายุของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

วิธีที่ 7: ติดตามและตรวจสอบแผนเกษียณอายุอยู่เสมอ

แผนเกษียณอายุของคุณควรได้รับการตรวจสอบและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์อยู่เป็นระยะ อย่างน้อยปีละครั้ง เช่น การเปลี่ยนแปลงเรื่องรายได้ ค่าใช้จ่าย พอร์ตการลงทุน อายุเกษียณ ฯลฯ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณยังอยู่ในเส้นทางของการบรรลุเป้าหมายทางการเงินหลังเกษียณอายุ รวมทั้งการปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ อย่าลืมทำประกันสุขภาพและประกันชีวิต เพื่อลดความเสี่ยงด้านการเงินและแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล แถมเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับคุณและครอบครัวในระยะยาวได้อีกทางหนึ่งด้วย
 

สรุปจากกล่าวมาข้างต้น

ยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้น หากคุณต้องการที่จะวางแผนจะเกษียณอายุภายใน 20-30 ปี ข้างหน้า ลองทำตาม 7 วิธี การวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือน ที่เราแนะนำไปข้างต้น ตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะมีความมั่นคงทางการเงินและคุณภาพชีวิตที่ดี ตามที่ใฝ่ฝันไว้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต

หากคุณสนใจอยากเริ่มต้นวางแผนชีวิตหลังเกษียณอายุของตัวเอง สามารถติดต่อที่ปรึกษาด้านการลงทุน ผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น.

บทความโดย
ขวัญชัย รุ่งเรืองกอสว่าง AFPT™
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา