เด็กดุจดั่งผ้าขาวบริสุทธิ์ที่ซึมซับแนวคิดความเชื่อจากผู้ใหญ่ตั้งแต่เล็กจนโต ทั้งการเรียนรู้จากคำสั่งสอนซ้ำแล้วซ้ำเล่าและลอกเลียนการประพฤติปฏิบัติของผู้ใหญ่โดยไม่รู้ตัว แนวคิดความเชื่อเหล่านี้ถูกปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่นจึงมักเห็นพฤติกรรมของบุตรหลานคล้ายคลึงกับผู้ใหญ่ในครอบครัวเดียวกัน หรือที่สุภาษิตว่าไว้ “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” นั่นเอง เบ้าหลอมสำคัญมีอยู่ 2 แห่งคือ บ้านกับโรงเรียน ซึ่งผมเชื่อว่ามีอิทธิพลกับเด็กเท่ากัน และมักมีแรงดึงดูดให้เลือกเจอสถานที่ปลูกฝังแนวคิดความเชื่อแบบเดียวกัน
ดังนั้น ถ้า
อยากรวยเปลี่ยนชีวิตก็ต้องศึกษาแนวคิดความเชื่อของคนรวยแล้วนำมาปฏิบัติตาม ขอย้ำว่าเลือกคนรวยตัวจริงเสียงจริงนะครับ ไม่เอาประเภทรวยฉาบฉวยมาอวดโชว์กันตามสื่อโซเชียล เพราะเราไม่รู้ว่าเขารวยจริงหรือสร้างภาพมาหลอกลวง
ลองพิจารณาแนวคิดความเชื่อของคนส่วนใหญ่ว่าถูกต้องหรือไม่ “พ่อแม่มักเคี่ยวเข็ญให้ลูกตั้งใจเรียนหนังสือจะได้สอบเข้าโรงเรียนดังมีชื่อเสียง และได้เกรดดีเป็นที่เชิดหน้าชูตาของวงศ์ตระกูล ต้องเรียนหนักทั้งวิชาคณิต วิทย์ สังคม ภาษา คอมพิวเตอร์ และวิชาอื่นๆ อีกสารพัด ท่องจำให้หมดตอบคำถามได้ทุกอย่าง เพื่อเป็นใบเบิกทางเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยและต่อจากนั้นก็เข้าสู่โลกของการทำงานโดยได้งานที่ดีมีรายได้เริ่มต้นสูง ต้องทุ่มเททำงานอย่างหนักวันแล้ววันเล่าจะได้มี
รายได้สูงขึ้นมากพอเปลี่ยนฐานะให้ร่ำรวย” ซึ่งดูแล้วมีเหตุผลน่าเชื่อถือแต่ทำไมคนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่รวย มิหนำซ้ำช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยยังห่างมากขึ้นทุกทีแบบ “รวยกระจุกจนกระจาย” บางคนโทษว่าเกิดมาจนไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด บางคนโทษว่าเศรษฐกิจไม่ดีค้าขายขาดทุน บางคนโทษว่าคนรวยเป็นคนไม่ดีชอบเอารัดเอาเปรียบ บางคนโทษว่ากรรมเก่าชาติที่แล้วคงทำอะไรไม่ดีไว้จึงต้องอยู่อย่างลำบาก ทุกคนมีเหตุผลมากมายที่จะโทษอย่างอื่นแต่มักลืมโทษตัวเอง จากประสบการณ์ของผมเชื่อว่ารากเหง้าของปัญหาเกิดจากแนวคิดความเชื่อเรื่องเงินไม่ถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่เงินอยู่ในกระเป๋าใช้อยู่ทุกวันจนเคยชินแต่ไม่รู้ตัวเลยว่ายังไม่รู้จักเงินดีพอ
ข่าวคราวในสังคมมีให้เห็นกันบ่อย คนถูกแก๊งทวงหนี้นอกระบบทำร้าย คนถูกหวยรวยชั่วข้ามคืนแต่ไม่นานก็กลับมาจน คนรายได้สูงแต่ผ่อนไม่ไหวจนต้องโดนยึดบ้านยึดรถ คนเรียนหนังสือเก่งแต่ประสบความสำเร็จสู้คนที่เรียนไม่เก่งไม่ได้ เพราะแนวคิดความเชื่อเรื่องเงินบางอย่างไม่ถูกต้องทำให้เสียเวลาเสียโอกาสในชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย จริง ๆ แล้วการศึกษาไทยควรบรรจุวิชาการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) เป็นวิชาภาคบังคับให้เด็กได้เรียนตั้งแต่ชั้นประถมเพื่อให้ติดเป็นนิสัยการใช้เงินที่ดีครับ โดยการศึกษาต้องเปลี่ยนจากเน้นท่องจำมาลงมือปฏิบัติให้เห็นของจริงจนเกิดทักษะความชำนาญในวิชาที่ช่วยให้เอาชีวิตรอดได้ (Skillset) และปลูกฝังแนวคิดความเชื่อเรื่องเงินที่ถูกต้อง (Mindset) ซึ่งต้องมีทั้งสองอย่างคู่กันถึงจะประสบความสำเร็จด้านการเงิน แต่คนส่วนใหญ่มักมีปัญหา Mindset อย่างที่กล่าวไปตอนต้น เพราะเรื่องเงินไม่เกี่ยวกับเกรด ไม่เกี่ยวกับการทำงานหนัก แต่เกี่ยวกับการ
หารายได้มั่นคง ออมใช้น้อยกว่าที่หาได้ ลงทุนให้เงินงอกเงย และควบคุมหนี้สินไม่ฟุ่มเฟือย
ขอแจกแจงองค์ประกอบที่สำคัญตามความคิดของผมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในชีวิต โดยทักษะความชำนาญ (Skillset) ที่จำเป็นต้องมีอยู่ 4 ด้านคือ
- Financial Literacy ความรู้เรื่องการเงินส่วนบุคคล เช่น เข้าใจรายรับรายจ่าย กระแสเงินสด การคิดดอกเบี้ย ผลตอบแทนจากการลงทุน การจัดพอร์ตทรัพย์สิน เป็นต้น
- Economics ความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ เช่นเข้าใจ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในและต่างประเทศ วัฏจักรเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ของตัวแปรทางเศรษฐกิจ การจัดการความเสี่ยง เป็นต้น
- International Language ความรู้เรื่องภาษาสากล ได้แก่ ภาษาอังกฤษกับภาษาจีนกลาง เป็นโอกาสในการติดต่อทำธุรกิจกับผู้คนได้เกือบทั้งโลก
- Advance Technology ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของมนุษย์ ต้องเข้าใจและรู้จักนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิต
และแนวคิดความเชื่อ (Mindset) ในจิตใจต้องใช่ด้วยเป็นเหมือนเข็มทิศนำทางไปทิศที่ถูกต้อง โดยแบ่งจำแนกได้เป็น 4 ข้อ ดังนี้
- Money Lover รักเงินมีความสุขในการหาเงินได้มากกว่าจ่ายเงินไป ซึ่งปกติแล้วคนส่วนใหญ่จะทำตรงข้ามคือทำงานเครียดก็อยากใช้เงินซื้อหาความสุข หากรักเงินจริงต้องอยากเก็บไว้กับตัวเองมากกว่านำไปใช้จ่าย โดยการเปลี่ยนจุดโฟกัสความสุขอยู่ที่ตัวเลขในบัญชีธนาคารเพิ่มขึ้นแทน
- Think Big คิดใหญ่ตั้งเป้าหมายเป็นขนาดทรัพย์สินที่มีขนาดใหญ่พอใช้ได้ตลอดชีวิตหลังเกษียณ สำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่ารักษาพยาบาล สำรองเผื่อฉุกเฉิน และใช้ลงทุนสร้างความมั่งคั่ง หากใครท้อว่าตัวเลขช่างห่างไกลจากปัจจุบันที่มี ขอแนะนำว่าให้ตั้งเป้าหมายย่อยเป็น ปี ๆ แล้วลงมือทำ พอทำสำเร็จจะมีกำลังใจทำต่อจนถึงเส้นชัย
- Passionate Desire ปรารถนาอย่างแรงกล้าว่าต้องบรรลุเป้าหมายให้ได้แม้ว่าจะผ่านอุปสรรคมากมายสักเพียงไหน มองความล้มเหลวเป็นบทเรียนล้ำค่าทำให้เราแกร่งขึ้น ยิ่งผ่านอุปสรรคมากยิ่งสร้างความภาคภูมิใจเมื่อทำสำเร็จ หากขาดแรงจูงใจที่จะก้าวเดินต่อไปให้นึกถึงคนข้างหลังที่ร่วมเดินทางไปกับเราแล้วจะมีกำลังใจทำต่อไป
- Wealth in Mild ความมั่งคั่งในจิตใจแทนที่ความร่ำรวย เพราะเป็นการมองในหลายมิติมากกว่าเรื่องจำนวนทรัพย์สินเงินทองที่มีเพียงอย่างเดียว ในชีวิตคนเรายังต้องมีความมั่งคั่งเรื่องอื่นประกอบด้วย ได้แก่ ความมั่งคั่งเวลา สุขภาพ และครอบครัว เป็นต้น หมายถึงมีเวลาอิสระทำตามใจต้องการ มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ และมีครอบครัวอบอุ่นอยู่กันพร้อมหน้า ตามลำดับ หากมีไม่ครบ เช่น ร่ำรวยแต่สุขภาพไม่ดีนอนติดเตียง เงินทองที่หามาได้ก็ต้องจ่ายเป็นค่ารักษาหมด
แนวคิดความเชื่อสมองเงินล้าน (Millionaire Mindset) จะทำให้เรามั่งคั่งได้ด้วยหนึ่งสมองและสองมือของตนเอง นอกจากนี้ยังเป็นกำลังหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าอีกด้วย เพราะฐานะการเงินของคนในชาติจะดีขึ้น คนจำนวนมากหลุดพ้นกับดักความยากจนด้วยปัญญาของตนเอง