ยังเหลือกันอยู่บ้างไหมครับ? สำหรับคนที่ได้รับเงิน
โบนัสประจำปี สำหรับคนที่ใช้จ่ายจนหมดไปแล้ว อ่านบทความนี้จบ คุณอาจเริ่มต้นวางแผนสำหรับเงินโบนัสก้อนใหญ่ในปีหน้าแทน ก็ยังไม่สายจนเกินไป แต่สำหรับคนที่ยังมีเงินโบนัสเหลืออยู่บ้าง หรือบางคนที่ยังไม่ได้ใช้เงินโบนัสเลยมาฟังทางนี้
โบนัสที่ได้จากการทำงานจะต้องหักภาษีส่งกรมสรรพากร เช่นเดียวกับเงินเดือน โบนัสของแต่ละบริษัทก็จะมากน้อยต่างกันไป บางแห่งการันตีที่ 1 เดือน บางองค์กรก็อาจสูงถึง 6 - 7 เดือนกันเลย แต่ไม่ว่าคุณจะได้รับโบนัสมากหรือน้อยแค่ไหน คุณก็สามารถจัดสรรบริหารเงินโบนัสอย่างกูรูทางการเงินได้เหมือนกันครับ
เทคนิคจัดการบริหารเงินโบนัสแบบกูรูการเงิน
ถ้ายังไม่รู้จะเริ่มต้นวางแผนการเงิน หรือจัดสรรอย่างไรดี แนะนำให้เริ่มต้นด้วยวิธีง่าย ๆ แต่จัดการได้แบบกูรูทางการเงิน โดยการแบ่งเงินโบนัสออกเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังต่อไปนี้
25% เงินเพื่อเป้าหมายระยะยาว แบ่งเงิน 25% จากเงินโบนัสที่ได้รับมาเพื่อใช้สำหรับเป้าหมายระยะยาว ซึ่งแต่ละคนก็มีเป้าหมายในชีวิตและการใช้เงินแตกต่างกันไป โดยเป้าหมายระยะยาวคือระยะเวลาตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปที่คุณจะใช้เงินส่วนนี้ จริง ๆ แล้วก็คือโครงการใช้เงินในระยะยาวของคุณนั่นเอง เช่น เงินเก็บไว้เพื่อดาวน์บ้าน เพื่อดาวน์คอนโด เงินเก็บเพื่อการศึกษาต่อ สำหรับคนที่มีครอบครัวก็คือเงินเก็บสำหรับการศึกษาของลูก และยังรวมไปถึงเงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ
25% เงินจัดการหนี้สิน หลาย ๆ คนได้เงินโบนัสมาแล้วมักเทไปปิดบัตรเครดิต โปะสินเชื่อ หรือเคลียร์หนี้ที่มีจนหมด แต่จริง ๆ แล้ว เราอยากให้คุณจัดสรรการเงินใหม่ โดยแบ่งเงินโบนัสออกมา 25% ถ้าภาระ
หนี้สินของคุณมากเกินกว่าเงินโบนัสที่ได้รับ คุณควรเลือกเคลียร์หนี้ที่ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงที่สุดก่อน เช่น พวกหนี้นอกระบบ หนี้บัตรกดเงินสด หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต แล้วควรลดภาระหนี้ด้วยการลดเงินต้น ก็จะช่วยลดดอกเบี้ยลงได้ด้วย สำหรับใครที่มีหนี้ผ่อนบ้าน การโปะหนี้บ้านก็จะช่วยลดภาระหนี้เงินต้นและลดระยะเวลาในการผ่อนบ้านลงได้ด้วย
25% เงินสำหรับเก็บ เงินเก็บนี้เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน เราแนะนำว่าคุณควรมีเงินเก็บฉุกเฉินหรือเงินสำรองในส่วนนี้ เป็นจำนวนเงิน 6-8 เท่าของเงินเดือน เช่น คุณได้รับเงินเดือน ๆ ละ 20,000 บาท เงินเก็บฉุกเฉินหรือเงินสำรองของคุณ คือ 120,000 - 160,000 บาท สามารถนำมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น ตกงานกะทันหัน เป็นต้น
25% เงินสำหรับโปรเจ็คในฝัน แน่นอนที่ว่าทุกคนต้องมี Bucket List หรือรายการในฝันด้วยกันทั้งนั้น เพราะก็ทำงานกันมาหนักทั้งปีเนอะ ย่อมต้องอยากพักผ่อน ใช้เงินกันทั้งนั้น โปรเจ็คในฝันของคุณอาจจะมีเล็ก ๆ ตั้งแต่ซื้อคอร์สทรีตเม้นท์ทำสปา หรือแต่งรถในฝัน ไปจนถึงโปรแกรมท่องเที่ยวตามฝัน เงินเก็บ 25% นี่ละที่จะเติมเต็มโปรเจ็คในฝันของคุณได้
โบนัสก้อนใหญ่ ลงทุนยังไงให้ได้เยอะ
เมื่อจัดสรรเงินเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว คุณก็จะได้เงินก้อนในแต่ละส่วน ต่อให้คุณใช้ส่วน 25% ของเงินจัดการหนี้สิน หรือ 25% ของเงินสำหรับโปรเจ็คในฝันไปแล้ว คุณก็ยังเหลือในส่วนของเงินสำหรับเก็บ และเงินเพื่อเป้าหมายระยะยาวอยู่ดี ขั้นตอนต่อไปจะเป็นขั้นที่ยากขึ้นมาอีกนิด และหลายคนก็เริ่มหันมาทำกันแล้วด้วย นั่นคือการนำเงินโบนัสก้อนใหญ่นี้มาลงทุน โดยคุณสามารถนำเงินส่วนที่เหลือมาจัดสรรเพื่อการลงทุนก็ได้ ซึ่งรูปแบบการลงทุนก็มีให้เลือกหลายแบบด้วยกัน
ลงทุนแบบมีความเสี่ยง
ใครที่เป็นมือใหม่เพิ่งเริ่มต้นลงทุน ต้องศึกษาเรื่องการ
ลงทุนแบบมีความเสี่ยงนี้เอาไว้ให้ดี เพราะมีด้วยกันหลายประเภท ควรดูว่าคุณเหมาะกับการลงทุนแบบมีความเสี่ยงประเภทใด
- ลงทุนแบบมีความเสี่ยงต่ำ การลงทุนแบบที่มีความเสี่ยงต่ำ โอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนอาจไม่สูงนัก แต่เงินต้นที่ใช้ในการลงทุนก็จะยังคงอยู่ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ กองทุนรวมตราสารหนี้
- ลงทุนแบบมีความเสี่ยงปานกลาง การลงทุนประเภทนี้มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง แต่ก็เสี่ยงจะขาดทุนเช่นกัน ผลตอบแทนจะอยู่กลาง ๆ ไม่สูง ไม่ต่ำจนเกินไป ได้แก่ กองทุนรวมผสมที่ลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน (หุ้น) ความเสี่ยงไม่สูงไม่ต่ำ ได้แก่ หุ้น
- ลงทุนแบบมีความเสี่ยงสูง การลงทุนแบบมีความเสี่ยงสูง มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีโอกาสขาดทุนสูงเช่นกัน ได้แก่ หุ้น กองทุนรวมหุ้น เป็นต้น
ออมเงินจากโบนัส
การ
ออมเงิน ก็มีให้เลือกหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความต้องการ บางคนอาจมีเหตุให้ต้องใช้เงินบ่อย ๆ อาจเลือกออมระยะสั้น แต่บางคนชอบเก็บเงิน ไม่ชอบใช้เงินจุกจิก ก็ควรเลือกออมเงินระยะยาว แบบไหนที่เหมาะกับคุณ ลองเลือกดูครับ
- ออมระยะสั้น ไม่เกิน 3 ปี คุณจะเลือกเป็นฝากประจำ 3 ปี หรือเลือกลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงไม่มาก แต่ก็อาจได้เงินไม่มากเช่นกัน
- ออมระยะกลาง 3-5 ปี การออมประเภทนี้ คุณจะมีเป้าหมายที่จริงจังมากขึ้น โดยเป้าหมายอาจเก็บเพื่อการศึกษาของลูก หรือเพื่อการลงทุนในธุรกิจในอนาคตก็ได้ แนะนำกองทุนผสม
- ออมระยะยาว 5 ปีขึ้นไป แนะนำลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เพราะถ้าเลือกที่มีความเสี่ยงต่ำเพียงอย่างเดียว จะทำให้ผลตอบแทนที่ได้ต่ำกว่าเงินเฟ้อ ทำให้มูลค่าเงินลดลงในอนาคตไปด้วย
อ่านมาถึงตอนจบแล้ว น่าจะช่วยชี้แนะการบริหารเงินโบนัสของคุณได้บ้างไม่มากก็น้อย สำหรับใครที่ปีนี้โบนัสหมดไปแล้ว หรือใครที่โบนัสยังมาไม่ถึง การมีแผนการเงินเตรียมพร้อมไว้แบบนี้ ก็ช่วยให้คุณอุ่นใจได้เลยว่า เงินโบนัสก้อนต่อไปยังไงก็เหลือเก็บ เหลือเที่ยว เหลือไปลงทุนแน่นอน