บริหารเงินและชีวิตคู่ ฉบับครอบครัวใหม่ป้ายแดง
เพื่อคุ้มครองคุณและครอบครัว
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

บริหารเงินและชีวิตคู่ ฉบับครอบครัวใหม่ป้ายแดง

icon-access-time Posted On 14 มิถุนายน 2562
By Krungsri The COACH

กว่าที่คู่รักหลาย ๆ คู่จะตัดสินใจขยับสถานะจากการคบหาเป็นแฟนกัน แล้วมาใช้ชีวิตคู่ร่วมกันนั้น ต้องผ่านการพิจารณา การวางแผน การตัดสินใจ การทำความเข้าใจ และการสร้างข้อตกลงร่วมกันอยู่หลายตลบทีเดียว กว่าที่จะจบลงด้วยการจูงมือกันเข้าประตูวิวาห์ และเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่

กว่าที่คู่รักหลาย ๆ คู่จะตัดสินใจขยับสถานะจากการคบหาเป็นแฟนกัน แล้วมาใช้ชีวิตคู่ร่วมกันนั้น ต้องผ่านการพิจารณา การวางแผน การตัดสินใจ การทำความเข้าใจ และการสร้างข้อตกลงร่วมกันอยู่หลายตลบทีเดียว กว่าที่จะจบลงด้วยการจูงมือกันเข้าประตูวิวาห์ และเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่

แต่ทราบไหมว่า? ทำไมหลังจากใช้ชีวิตคู่ร่วมกันไม่นาน หลายคู่ทีเดียวที่ไปกันไม่รอด ซึ่งสาเหตุกลับไม่ได้เกิดจากปัญหาเรื่องการปรับตัวเข้าหากันไม่ได้ แต่กลับเกิดจากปัญหาการจัดการการเงินภายในครอบครัวไม่ลงตัว เพราะไม่ได้วางแผนหรือตกลงร่วมกันก่อนจะใช้ชีวิตคู่นั่นเอง
เลยอยากจะมาแนะวิธีบริหารเงินสำหรับคู่สามีภรรยามือใหม่ป้ายแดง ที่ถึงแม้จะไม่ได้วางแผนการเงินร่วมกันก่อนแต่งงาน แต่ก็สามารถเริ่มต้นวางแผนร่วมกันในตอนนี้ได้ แต่ต้องดูว่าคู่ของคุณเหมาะกับการบริหารเงินสำหรับชีวิตคู่แบบไหนใน 4 แบบต่อไปนี้ครับ

แบบที่ 1 ทุกอย่างหาร 2 กระเป๋าใครกระเป๋ามัน

แบบที่ 1 ทุกอย่างหาร 2 แยกกระเป๋ากันให้ชัดเจน กระเป๋าใครกระเป๋ามัน แบบนี้จะเหมาะกับครอบครัวรุ่นใหม่ Gen Y สักหน่อยครับ ส่วนใหญ่คู่รักที่ใช้วิธีการบริหารเงินภายในครอบครัวแบบนี้ จะติดมาจากตั้งแต่ตอนคบกันเป็นแฟน ต่างคนต่างทำงาน ต่างมีรายได้เป็นของตัวเอง อย่างเช่นเวลาออกไปทานอาหารนอกบ้าน บิลค่าอาหารมาก็หารครึ่งแบ่งกันจ่าย สบายใจดี หรือถ้าไปเดินช้อปปิ้งเลือกซื้อของด้วยกัน เธออยากได้เครื่องสำอางก็จ่ายเอง คุณผู้ชายอยากได้ขาตั้งกล้องก็ควักกระเป๋าซื้อเอง จะเป็นอะไรประมาณนี้
ดู ๆ แล้วก็น่าจะลงตัวยุติธรรมดีเมื่อครั้งคุณเป็นแฟนกัน แต่พอมาใช้ชีวิตร่วมกันมันมีรายละเอียดมากกว่านั้น ค่าใช้จ่ายที่ต้องหารร่วมกัน มีตั้งแต่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าอาหาร ค่าจิปาถะ ปัญหาที่จะเกิดก็คือว่า ถ้าของที่ซื้อหามานั้นเกิดโอนเอนไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากกว่า อีกฝ่ายจะรับได้ไหม เช่น ภรรยาอยากได้เครื่องดูดฝุ่นโรบอต แต่สามีไม่เห็นด้วย ถ้าจะมาหารเงินกันก็อาจจะเกิดเป็นปัญหาได้ แต่ถ้าภรรยาเลือกที่จะซื้อด้วยเงินตัวเอง แยกกระเป๋าไปเลย ปัญหาการเงินก็จะไม่เกิดขึ้น แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องของจิตใจตามมาหรือไม่ แบบนี้ต้องเคลียร์กันให้ดี ๆ ครับ

แบบที่ 2 กองกลาง กระเป๋าเดียวกันไปเลย

สำหรับแบบที่ 2 นี้ อาจจะฟังดูเป็นวิธีที่โบราณนิด ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นคน Gen X ที่ใช้เงินกระเป๋าเดียวกัน สามีภรรยาหาเงินมาได้เท่าไหร่ก็นำมารวมกันไว้ที่บัญชีกลาง ส่วนใหญ่ฝั่งสามีมักมีรายได้มากกว่า แต่โดยมากมักเป็นฝ่ายภรรยาที่ถือเงินกองกลางนี้ไว้ และคนที่ถือเงินก็จะมีหน้าที่ชำระค่าใช้จ่ายทั้งหมดภายในบ้าน
จริง ๆ แล้วแบบที่ 2 นี้ เหมาะกับคู่สามีภรรยาที่ทำธุรกิจร่วมกัน เพราะจะได้มีความเชื่อมั่นในกันและกันทั้งในเรื่องธุรกิจและเงินภายในครอบครัว แม้การบริหารเงินแบบนี้จะหมดปัญหาเรื่องการบริหารค่าใช้จ่ายภายในบ้าน เพราะทุกอย่างใช้เงินกองกลาง แต่ก็ต้องระวังปัญหาในระยะยาว เกิดระหองระแหงต้องแยกทางกัน จึงควรทำข้อตกลงเรื่องเงินหรือสัญญาแต่งงานเอาไว้ด้วย

แบบที่ 3 มีมากจ่ายมาก มีน้อยจ่ายน้อย

ไม่มีครอบครัวไหนที่เพอร์เฟ็คครับ บางครอบครัวสามีหรือภรรยาอาจมีรายได้ต่างกันลิบลับ เช่น สามีมีรายได้แสนบาทต่อเดือน ขณะที่ภรรยามีรายได้ 25,000 บาท ความเหลื่อมล้ำทางการเงินภายในครอบครัวจึงเกิดขึ้นแล้ว แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา ถ้าคุณเลือกใช้วิธีการบริหารเงินที่ถูกต้อง ซึ่งแบบที่ 3 นี้ น่าจะเหมาะกับครอบครัวประเภทนี้ และยังรวมไปถึงครอบครัวที่ภรรยาไม่ได้ทำงานเป็นแม่บ้าน อยู่บ้านเลี้ยงลูก รายจ่ายทั้งหมดก็จะเป็นหน้าที่สามีไปโดยปริยายครับ
ต้องบอกว่าครอบครัวจำนวนไม่น้อยใช้วิธีนี้นะครับ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะคุยหรือตกลงกันตั้งแต่ก่อนแต่งงานแล้วว่า คนมีรายได้มากก็รับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ไป เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าเทอมลูก คนมีรายได้น้อยกว่า ก็รับผิดชอบค่าใช้จ่ายภายในบ้าน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร แบบนี้ก็จะลงตัวไม่เกิดปัญหาตามมาที่หลังครับ

แบบที่ 4 กองกลาง 50% ใช้ส่วนตัว 50%

แบบที่ 4 นี้คือการบริหารเงินในฝันของทุกครอบครัวเลยครับ และครอบครัวยุคใหม่นิยมใช้การบริหารเงินแบบที่ 4 นี้มากที่สุด เพราะเป็นกลางและอะลุ่มอล่วยที่สุดแล้ว โดยต่างคนต่างแบ่งเงินรายได้ครึ่งหนึ่งมาเข้าบัญชีกองกลางก้อนหนึ่งที่ใช้เป็นทั้งเงินเก็บ เงินลงทุน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ขณะที่เงินรายได้อีกครึ่งหนึ่งก็แบ่งเก็บไว้กับตัวเองเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว
วิธีนี้ค่อนข้างใช้ได้ผลกับหลาย ๆ ครอบครัว เพราะยังมีพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละฝ่ายที่จะใช้เงินที่ตัวเองหามาได้ เนื่องจากบางคู่ความชอบต่างกันลิบลับ จะให้มาใช้เงินร่วมกันหรือซื้อของเหมือน ๆ กัน ก็จะฝืนใจกันเกินไป ทำให้ชีวิตคู่เก็บกด และขาดความสุขได้
วางแผนการเงินร่วมกัน
แม้ว่าการวางแผนการเงินแต่ละครอบครัวอาจไม่มีสูตรสำเร็จ ครอบครัวคุณอาจเลือกแบบที่ 1 หรือแบบที่ 4 หรืออาจจะเลือกแบบอื่น ๆ ที่คุณคิดว่าเหมาะสมกับครอบครัวของคุณก็ได้ เพราะไม่มีอะไรที่ตายตัว แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นและจำเป็นที่จะต้องมีคือ การวางแผนการเงินร่วมกัน เมื่อคุณตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแล้ว ต้องปรึกษากันและหาทางออกร่วมกัน จากนั้นจึงขยับมาอีกขั้นในการวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบ
ทำรายการจัดสรรรายจ่ายให้ลงตัว ใน 3-4 เดือนแรกที่ใช้ชีวิตร่วมกัน คุณก็จะเห็นแล้วว่าค่าใช้จ่ายมีอะไรบ้าง ทำรายการค่าใช้จ่ายร่วมกัน เช่น ค่าผ่อนคอนโด ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร เพื่อแจกแจงและทราบว่าแต่ละเดือนครอบครัวคุณมีรายจ่ายเท่าไหร่ มีเงินเหลือเก็บเท่าไหร่
ลงทุนร่วมกัน เมื่อจัดสรรบัญชีรายรับรายจ่ายของครอบครัวลงตัวแล้ว คุณก็จะเห็นจำนวนเงินที่เหลือ จากนั้นเป็นขั้นตอนวางแผนนำเงินนั้นมาใช้ให้งอกเงย อาจจะด้วยการลงทุน หรือการขยับขยายครอบครัว เช่น จากที่อยู่คอนโดด้วยกัน ก็ขยับขยายเป็นลงทุนซื้อบ้านเพื่อเตรียมขยายครอบครัว หรือลงทุนซื้อรถอีกคัน เป็นต้น หรือถ้าคุณมีบ้านมีรถพร้อมแล้ว อาจนำไปลงทุนในกองทุนเพื่อวัยเกษียณ หรือออมเงินในรูปแบบของเงินฝากประจำปลอดภาษี นอกจากเป็นการสร้างวินัยในการออมแล้ว ยังเป็นการออมเงินในระยะสั้นที่ได้ผลตอบแทนดี และที่สำคัญคือปลอดจากการเสียภาษีอีกด้วย
เงินเก็บฉุกเฉิน นอกจากบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีเงินลงทุน อีกหนึ่งบัญชีที่ควรต้องทำร่วมกันไว้คือบัญชีเงินฉุกเฉิน ความจริงแล้วก็ไม่ได้ต่างจากบัญชีเงินเก็บฉุกเฉินเมื่อครั้งที่คุณยังโสด ที่ควรต้องเก็บไว้ 6 เท่าของรายได้ เพื่อใช้กรณีฉุกเฉิน เช่น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตกงาน หรือเจ็บไข้ได้ป่วยกะทันหัน เป็นต้น
คำพูดที่ว่า “ชีวิตคู่ไม่มีสูตรสำเร็จ” นั่นคือความจริง แต่ถ้าเป็นเรื่องการบริหารจัดการการเงินในครอบครัวแล้ว แต่ละครอบครัวควรต้องมีสูตรการบริหารการเงินนะครับ เพื่อให้การเงินภายในครอบครัวลื่นไหลไม่สะดุด ไม่เกิดปัญหาค่าใช้จ่ายเดือนชนเดือน และที่สำคัญไม่นำไปสู่ปัญหาครอบครัวที่เกิดจากการบริหารการเงินไม่ลงตัวด้วยนะครับ
 
ขอบคุณข้อมูลจาก: naibann.com/, posttoday.com/, aommoney.com/#kf6rl3i180, sanook.com/
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา