6 เช็คลิสต์ เตรียมความพร้อมวางแผนการเงินสำหรับคนอยากมีลูก
เพื่ออนาคตลูก
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

6 เช็คลิสต์ เตรียมความพร้อมวางแผนการเงินสำหรับคนอยากมีลูก

icon-access-time Posted On 15 พฤศจิกายน 2564
by Krungsri The COACH

“มีลูกหนึ่งคน จนไปสิบปี” อาจจะเป็นสำนวนที่เป็นจริงในอดีต แต่ไม่ใช่กับในปัจจุบันที่การวางแผนการเงินช่วยให้คาดการณ์สถานการณ์การเงินล่วงหน้าได้นานนับสิบปี และทำให้คุณเตรียมตัวทางการเงินให้สอดคล้องกับความต้องการและความน่าจะเป็นในการใช้จ่ายเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อคุณต้องการจะมีลูกซึ่งเท่ากับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นยี่สิบปีเป็นอย่างน้อย


บทความนี้จะพาคุณไปดูว่าการมีลูกหนึ่งคนจำเป็นที่จะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง และจะวางแผนทางการเงินอย่างไรให้พร้อมรับกับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เพื่อให้คุณและครอบครัวของคุณมีสุขภาพทางการเงินที่ดีและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
 
เตรียมเงินเพื่อสิ่งที่คุณจำเป็นจะต้องจ่าย
  

1. เตรียมเงินเพื่อสิ่งที่คุณจำเป็นจะต้องจ่าย

สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับบทบาทของการเป็นพ่อแม่แทบจะในทันที คือ ภาระทางการเงินที่จำเป็นต้องจ่ายอย่างสม่ำเสมอและหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของครอบครัว โดยเฉพาะหากคุณต้องการที่จะมีลูกมากกว่าหนึ่งคน ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็จะคูณเพิ่มเข้าไปตามจำนวนจนกลายเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ในที่สุด ซึ่งค่าใช้จ่ายในกลุ่มนี้ประกอบไปด้วย
 

1.1. การฝากครรภ์และคลอดบุตร

ค่าใช้จ่ายจำเป็นอย่างแรกที่ต้องจ่ายแทบจะทันที คือ ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์กับแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งโดยปกติแล้วแพทย์จะนัดตรวจครรภ์เฉลี่ย 9-12 ครั้งตามแต่สุขภาพของแม่และเด็กในครรภ์ โดยการฝากครรภ์อาจจะแบ่งได้เป็นสองทางเลือกหลักๆ คือ การฝากครรภ์กับโรงพยาบาลของรัฐที่ค่าใช้จ่ายถูกกว่า เฉลี่ยแล้วประมาณ 4,000 - 8,000 บาท แต่ไม่สะดวกสบายและยืดหยุ่นด้านเวลาเท่ากับอีกทางเลือกหนึ่ง คือ การฝากครรภ์กับโรงพยาบาลเอกชนที่คิดเป็นแพ็กเกจเหมาจ่ายตั้งแต่ 15,000 บาท ไปจนถึง 50,000 บาท
 
การฝากครรภ์และคลอดบุตร
 
เมื่อถึงเวลาคลอดบุตรที่ส่วนใหญ่แล้วมักจะทำคลอดที่โรงพยาบาลเดียวกับที่ได้ฝากครรภ์ไว้ ซึ่งการคลอดจะมีสองตัวเลือก คือ การคลอดแบบธรรมชาติและการผ่าคลอดสำหรับกรณีที่มีความจำเป็น เช่น เด็กมีขนาดตัวที่ใหญ่หรืออยู่ในท่าที่ไม่สามารถคลอดได้ตามธรรมชาติ ซึ่งค่าใช้จ่ายจะแตกต่างกันพอสมควร โดยค่าใช้จ่ายในการคลอดแบบธรรมชาติจะอยู่ที่ 5,000 - 15,000 บาทในโรงพยาบาลรัฐ และ 30,000 - 90,000 บาทในโรงพยาบาลเอกชน ส่วนค่าใช้จ่ายในการผ่าคลอดจะอยู่ที่ 15,000 - 30,000 บาทในโรงพยาบาลรัฐและ 50,000 - 150,000 บาทในโรงพยาบาลเอกชน
 

1.2. การศึกษา

ค่าใช้จ่ายจำเป็นในส่วนที่สองที่สำคัญไม่แพ้กันกับในส่วนแรกและอาจเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุด คือ ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นสี่ส่วนหลักๆ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายสำหรับโรงเรียนอนุบาล ค่าใช้จ่ายสำหรับโรงเรียนประถมศึกษา ค่าใช้จ่ายสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา และค่าใช้จ่ายสำหรับมหาวิทยาลัย
 
การศึกษา
 
โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่มีออปชั่นให้เลือกมากมาย ตั้งแต่โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนสาธิต โรงเรียนเอกชน โรงเรียนคาทอลิก โรงเรียนนานาชาติ ไปจนถึงการส่งลูกเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งแต่ละออปชั่นจะต้องจ่ายไม่เท่ากัน รวมไปถึงการที่ค่าเทอมมักจะปรับตัวตามเงินเฟ้ออย่างน้อยที่ 5% ต่อปี หรือบางโรงเรียนอาจจะขึ้นค่าเทอมเฉลี่ยปีละ 10% โดยหากคำนวณคร่าวๆ แล้ว หากส่งลูกเรียนแบบทั่วไป ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะอยู่ที่ประมาณ 2,000,000 บาทต่อคนซึ่งอาจจะดูเหมือนสูงมาก แต่แท้จริงแล้วค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะทยอยจ่ายในช่วง 15 – 20 ปี หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาทต่อคนต่อปี
 

1.3 ค่าเลี้ยงดูเฉลี่ยต่อเดือน

 
ค่าเลี้ยงดูเฉลี่ยต่อเดือน
 
ค่าใช้จ่ายส่วนที่สามเรียกรวมๆ ว่าเป็นค่าเลี้ยงดูเฉลี่ยต่อเดือนนั้นเริ่มตั้งแต่ค่าอาหาร ค่านมลูก ค่าวัคซีนรายปี ค่าขนม ค่าอุปกรณ์เลี้ยงเด็กไม่ว่าจะเป็นขวดนม ผ้าอ้อม ชุดเด็ก ค่าของใช้ในชีวิตประจำวันอย่างสบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าหนังสือ ค่าของเล่นเสริมพัฒนาการ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่พ่อแม่จำเป็นต้องจ่ายอย่างสม่ำเสมอในทุกๆ เดือน ซึ่งค่าใช้จ่ายก้อนนี้สามารถตีคร่าวๆ เฉลี่ยประมาณ 15,000 – 30,000 บาทต่อเดือน โดยที่อาจจะต้องคิดตามอัตราเงินเฟ้อที่ 3-5% ต่อปีเข้าไปด้วย
 

1.4 ค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ

 
ค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ
 
ค่าใช้จ่ายส่วนสุดท้ายอาจจะเป็นค่าใช้จ่ายที่มีแนวโน้มที่พ่อแม่จะต้องจ่ายในช่วงใดช่วงหนึ่งอย่างค่าเรียนพิเศษ ค่าซัมเมอร์แคมป์ ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวกันทั้งครอบครัว หรืออาจจะเป็นของชิ้นใหญ่ที่พ่อแม่จะซื้อให้ลูกอย่างคอมพิวเตอร์ จักรยาน หรือกล้องดูดาว และอาจรวมไปถึงค่าใช้จ่ายสำหรับเนอร์สเซอรี่และพี่เลี้ยงในกรณีที่มีลูกหลายคน การวางแผนเงินในส่วนนี้ล่วงหน้าจะช่วยให้สามารถใช้จ่ายในส่วนนี้ได้คล่องตัวขึ้น
 

2. เตรียมเงินเผื่อในสิ่งที่คุณอาจจะต้องจ่าย

ค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่งอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการมีลูกโดยตรง แต่มีแนวโน้มสูงที่จะจำเป็นต้องจ่ายเมื่อคุณมีลูก ซึ่งค่าใช้จ่ายสองส่วนนี้ คือ ค่าใช้จ่ายเรื่องบ้านและเรื่องรถนั่นเอง
 

2.1. บ้าน

แม้ว่าคอนโดหนึ่งห้องนอนอาจจะเพียงพอต่อการอยู่อาศัยของสองชีวิต แต่เมื่อคุณมีลูกเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคน คอนโดห้องเดิมอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของทั้งสามคนอีกต่อไป นำมาสู่ความจำเป็นที่จะต้องขยับขยายที่อยู่อาศัยไปเป็นคอนโดที่ใหญ่ขึ้น ทาวน์เฮ้าส์ หรืออาจเป็นบ้านเดี่ยวที่มีพื้นที่ให้ลูกของคุณสามารถทำกิจกรรมนอกบ้านหรือเลี้ยงสัตว์เพิ่มได้
 
เตรียมเงินเผื่อในสิ่งที่คุณอาจจะต้องจ่าย
 
ไม่ว่าจะเป็นบ้านมือหนึ่งหรือบ้านมือสอง การซื้อบ้านก็นับว่าเป็นภาระทางการเงินก้อนใหญ่ที่จำเป็นต้องจ่ายอย่างสม่ำเสมอไปไม่ต่ำกว่า 20 – 30 ปี ไม่เพียงแค่นั้น การมีบ้านยังหมายถึงการมีภาระในการตกแต่งและซ่อมบำรุงอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเหตุที่คุณอาจจำเป็นต้องปรับปรุงบ้านให้ปลอดภัยมากขึ้นสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัย รวมไปถึงความซนของเด็กในบางครั้งที่เปลี่ยนบ้านกลายเป็นสนามเด็กเล่นและอาจทำให้บ้านของคุณเลอะเทอะหรือมีบางส่วนเสียหายไปบ้าง
 

2.2. รถยนต์

เช่นเดียวกับบ้าน แม้ว่ากิจวัตรประจำวันในปัจจุบันอาจไม่จำเป็นที่จะต้องมีรถยนต์ แต่รถยนต์ก็อาจจำเป็นมากขึ้นเมื่อคุณมีลูก ไม่ว่าจะเป็นการรับส่งลูกไปโรงเรียน การพาลูกไปหาหมอในยามฉุกเฉิน การพาทั้งครอบครัวไปเที่ยวในวันหยุดยาว หรือแม้แต่การซื้อของใช้ทั่วไปที่มีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะหากระบบขนส่งสาธารณะอาจจะไม่เอื้ออำนวยในบางกรณี เช่น ในกรณีที่คุณอยู่แถบชานเมืองหรือต่างจังหวัด เป็นต้น

ในขณะที่การซื้อรถยนต์จะเป็นภาระทางการเงินในระยะสั้นกว่าการซื้อบ้านอย่างเห็นได้ชัด แต่สิ่งที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายแฝงในการใช้รถยนต์เริ่มตั้งแต่ค่าเชื้อเพลิง ค่าจดทะเบียนและประกันภัยรายปี รวมไปถึงค่าบำรุงรักษารถยนต์ที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมออีกด้วย การวางแผนค่าใช้จ่ายส่วนนี้แยกมาต่างหากจะทำให้คุณมีเงินใช้จ่ายอย่างครบถ้วนและเพียงพอ
 

3. ทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพ

อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องเตรียมหากคุณวางแผนจะมีลูก คือ ประกันชีวิตและประกันสุขภาพให้กับตัวคุณเองและลูกของคุณ ในกรณีของประกันชีวิต ประโยชน์ที่จะได้หลักๆ สองส่วนคือการลดหย่อนภาษีของผู้ปกครองโดยตรงซึ่งสามารถนำเงินจากการลดหย่อนไปใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ อีกส่วนหนึ่ง คือ ความคุ้มครองในกรณีที่พ่อแม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยจะได้เงินก้อนมาไว้เป็นหลักประกันทางการเงินให้กับครอบครัวต่อไป รวมไปถึงการที่พ่อแม่สามารถออมเงินให้ลูกล่วงหน้าผ่านการซื้อประกันชีวิตให้กับลูกได้ด้วยเช่นกัน

ส่วนของประกันสุขภาพ ประโยชน์สำคัญคือการแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาล โดยเฉพาะในเด็กเล็กซึ่งมีแนวโน้มที่จะต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นประจำและอาจจำเป็นจะต้องแอดมิทเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งประกันสุขภาพจะช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาลเหล่านี้บางส่วน นอกจากนี้ ประกันสุขภาพบางรูปแบบอาจจะมีการจ่ายเงินชดเชยเมื่อเจ็บป่วยเพิ่มเติม ซึ่งเงินส่วนนี้อาจจะจำเป็นโดยเฉพาะในกรณีที่พ่อแม่เจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานหรือเลี้ยงลูกได้ชั่วคราว
 

4. เตรียมเงินไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน

เพราะเหตุการณ์ฉุกเฉินอาจเกิดขึ้นได้เสมอ และในบางครั้งเหตุการณ์ฉุกเฉินทั้งของตัวคุณเองหรือของลูกๆ อาจนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายมหาศาลที่อาจกระทบต่อเนื่องไปถึงค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ได้เช่นกัน เพื่อป้องกันค่าใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็นต้องจ่าย เช่น ค่าเทอมหรือค่าผ่อนบ้าน ดังนั้น ควรมีเงินเก็บฉุกเฉินไว้อย่างน้อย 3-6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือนไว้เสมอ โดยเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงหรือกองทุนรวมตลาดเงิน
 
เตรียมเงินไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน
 

5. อย่าลืมมีเงินเก็บเพื่อยามเกษียณ

อีกสิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มักลืมนึกถึง คือ การใช้ชีวิตหลังเกษียณ โดยพ่อแม่หลายคนมักวางแผนการออมเงินให้กับลูกอย่างเต็มที่ แต่กลับลืมที่จะออมเงินไว้ให้ตัวเองใช้เมื่อหลังเกษียณ และเมื่อพ่อแม่เข้าสู่วัยเกษียณแล้ว กลับกลายเป็นว่าลูกๆ ต้องมาดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แทน หรือในบางกรณีที่พ่อแม่เกษียณแล้วแต่ยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก ก่อให้เกิดความยุ่งยากทางการเงินกับพ่อแม่ในวัยเกษียณขึ้นมาอีก

เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น การวางแผนการเงินสำหรับการเกษียณจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อวางแผนการเงินเพื่อการมีลูก โดยที่คุณสามารถคิดคำนวนคร่าวๆ ได้ว่าคุณต้องการที่จะมีชีวิตหลังเกษียณอย่างไร และแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับการออมเพื่อวัยเกษียณโดยเฉพาะ
 

6. เหลือเงินส่วนหนึ่งไว้ลงทุน

ส่วนสุดท้ายที่เราแนะนำให้คุณวางแผนร่วมด้วย คือ เงินออมเพื่อการลงทุนโดยแยกออกมาเป็นพิเศษอีกก้อนหนึ่งสำหรับลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้นอย่างหุ้น ซึ่งจะทำให้มีโอกาสได้รับกำไรโดยไม่ส่งผลกระทบกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น กำไรที่ได้จากส่วนนี้อาจผันไปเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนก่อนหน้า หรืออาจมีไว้ให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ กับตัวคุณเองได้เช่นกัน

สรุป
การวางแผนการเงินสำหรับคนมีลูกถือเป็นความท้าทายสำคัญอย่างมาก เพราะค่าใช้จ่ายที่จะเลี้ยงเด็กคนหนึ่งจนโตนั้นไม่ใช่เงินที่น้อยเลย เช็คลิสต์ทั้งหกข้อถือเป็นแนวทางคร่าวๆ เท่านั้น แต่ละครอบครัวจะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งคุณพ่อคุณแม่มือใหม่อาจต้องวางแผนลงทุนในระยะยาวควบคู่กันไป เพื่อสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้นให้กับครอบครัว

หากคุณมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการวางแผนการเงินสำหรับมีลูกหรือมีข้อสงสัยเรื่องการเงินและการลงทุน ทางธนาคารกรุงศรีมีทีมที่ปรึกษาด้านการออมและการลงทุน ยินดีที่จะเป็นผู้ช่วยในการวางแผนการเงินของคุณโดยเฉพาะ สามารถติดต่อเราผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ 9.00 น. - 17.00 น.

บทความโดย
ขวัญชัย รุ่งเรืองกอสว่าง AFPT™
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา