ประกาศธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เรื่อง จรรยาบรรณคู่ค้า

14 ธันวาคม 2565

กรุงศรีและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน (“กรุงศรี กรุ๊ป”) มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี บนพื้นฐานแห่งความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กรุงศรี กรุ๊ปตระหนักดีว่าการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของกรุงศรี กรุ๊ป มีความเกี่ยวข้องกับผู้จัดหาสินค้าและ/หรือบริการ หรือ คู่ค้า ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรม บริการ และทรัพยากรต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนความต่อเนื่องทางธุรกิจและเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของกรุงศรี กรุ๊ป

ด้วยเหตุนี้ กรุงศรี กรุ๊ป จึงกำหนดแนวปฏิบัติต่อคู่ค้าทุกกลุ่ม รวมถึงผู้รับจ้าง ตัวกลาง และตัวแทน บนมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ อีกทั้งยังมีการจัดทำ “จรรยาบรรณคู่ค้า” เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้คู่ค้าทุกกลุ่มมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีและมีมาตรฐานทางจริยธรรมในการปฏิบัติงานสอดคล้องกับกรุงศรี กรุ๊ป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลกิจการของตน อาทิ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการห้ามให้สินบนและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ กฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน กฎหมายด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในที่ทำงาน ตลอดจนส่งเสริมให้คู่ค้าดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบโดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจของธนาคาร บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน และคู่ค้าเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน

กรุงศรี กรุ๊ป เชื่อมั่นว่าการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้าในระยะยาวและการบริหารจัดการคู่ค้าอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยส่งเสริมให้การบริหารต้นทุนในกระบวนการธุรกิจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนลดความเสี่ยงของการหยุดชะงักของการดำเนินธุรกิจอันเนื่องมาจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมร่วมกันให้สอดรับกับสภาพ แวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง กรุงศรี กรุ๊ปจะปฏิบัติตาม“จรรยาบรรณคู่ค้า” เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ กรุงศรี กรุ๊ปขอสงวนสิทธิ์ในการทบทวนความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับคู่ค้า หากพบว่าคู่ค้ามีการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับจรรยาบรรณคู่ค้าฉบับนี้ โดยพิจารณาจากผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ

จรรยาบรรณคู่ค้าของกรุงศรี กรุ๊ป ที่กำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คู่ค้าดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี นอกจากจะสอดคล้องกับกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังอ้างอิงตามข้อปฏิบัติและมาตรฐานสากล โดยมีหลักการดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่

1. จริยธรรมทางธุรกิจ (Business Integrity)
  • ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัด และดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
  • ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และห้ามให้หรือรับสินบนใดๆ เพื่อเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ หรือเพื่อให้ได้เปรียบทางการค้า และ/หรือการแข่งขัน หลีกเลี่ยงการดำเนินธุรกิจที่มีความขัดแย้งในผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
  • ปฏิบัติต่อคู่แข่งขันทางการค้าด้วยความเป็นธรรม โดยงดเว้นพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับหลักจริยธรรม  เช่น หลีกเลี่ยงการโจมตีคู่แข่งขัน กล่าวถึงผลิตภัณฑ์หรือนโยบายของคู่แข่งขันในแง่ลบ  เปรียบเทียบคู่แข่งขันอย่างไม่ยุติธรรม   
  • ไม่เปิดเผยหรือนำข้อมูลความลับของธนาคาร บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ลูกค้า คู่ค้า และผู้เกี่ยวข้องไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นใดโดยไม่ได้รับความยินยอม เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด รวมทั้งเคารพในสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของธนาคาร บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ลูกค้า คู่ค้า และผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนระมัดระวังไม่ให้มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา*
  • ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ที่ได้รับทราบจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยจัดให้มีมาตรการรักษาความมั่งคงปลอดภัยที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการสูญหาย เข้าถึง ใช้ เปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยปราศจากอำนาจหรือโดยมิชอบ*
    * ทั้งนี้สามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการเก็บ รวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ได้ทางประกาศการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามช่องทางดังนี้
    • กรุงศรี กรุ๊ป www.krungsri.com
    • บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด www.krungsriproperty.com
    • บริษัท รักษาความปลอดภัย สยามเรียลตี้แอนด์เซอร์วิส จำกัด สอบถามได้ที่ สำนักงานของบริษัท
  • จัดให้มีช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือเรื่องร้องเรียน (Whistleblowing channels) จากพนักงาน ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ
  • คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสนับสนุนผลิตภัณฑ์และ/หรือบริการของกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprises) และ/หรือวิสาหกิจชุมชน (Community Enterprises) เพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจชุมชนและสังคม รวมทั้งสนับสนุนผลิตภัณฑ์และ/หรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์ฉลากเขียว ฉลากลดคาร์บอน เป็นต้น

2. สิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงาน (Human Rights and Labor Practices)
  • ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและเคารพในสิทธิความเป็นส่วนตัว แม้ว่าพนักงานจะมีความแตกต่างของเชื้อชาติ ศาสนา เพศ อายุ การศึกษา หรือเรื่องอื่นใดก็ตาม
  • ปฏิบัติตามกฎหมายด้านแรงงานอย่างเคร่งครัด อาทิ
    • ไม่กระทำหรือสนับสนุนให้มีการบังคับใช้แรงงาน รวมถึงการล่วงละเมิด การขู่เข็ญ การกักขัง การคุกคามข่มขู่ การค้ามนุษย์ หรือการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ
    • การว่าจ้างแรงงานเด็ก คนพิการและแรงงานต่างด้าว  การใช้แรงงานสตรีมีครรภ์  ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
  • จัดสรรค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสมและไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด อาทิ
    • ไม่ให้พนักงานทำงานเป็นเวลานานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด กรณีมีการทำงานล่วงเวลาต้องเป็นไปตามความสมัครใจ
    • จัดให้มีวันหยุดและวันลาไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด
    • การเลิกจ้างต้องดำเนินการในแต่ละขั้นตอนตามกฎหมายแรงงาน และต้องไม่เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
  • ส่งเสริมให้พนักงานสามารถเข้าร่วมสมาคมและการเจรจาต่อรองอย่างเสรีเพื่อผลประโยชน์พนักงาน

3. อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในที่ทำงาน (Occupational Health & Safety Working Environment)
  • ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในที่ทำงานอย่างเคร่งครัด
  • จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ และเอื้อต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิผล รวมถึงลดและควบคุมความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ และผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน ตลอดจนมีแนวทางในการควบคุมและบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อลดความสูญเสีย
  • จัดให้มีการอบรมและให้ความรู้ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแก่พนักงาน  

4. สิ่งแวดล้อม (Environment)
  • ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด
  • ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสนับสนุนธุรกิจและ/หรือกิจกรรมที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม
  • ส่งเสริมวัฒนธรรมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในองค์กร โดยคำนึงถึงการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เช่น การใช้ไฟฟ้า นํ้า นํ้ามัน กระดาษ เป็นต้น โดยใช้หลัก 3R  คือ การลดปริมาณการใช้ (Reduce) การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่โดยผ่านกระบวนการรีไซเคิล (Recycle) เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
 
 
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา