เปิดประเทศไทยอย่างไรให้พ้นภัยเศรษฐกิจและโควิด-19
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มดีขึ้นในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ส่วนหนึ่งจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด การฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น และพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและด้านสุขภาพที่เข้มงวดไม่เพียงช่วยควบคุมการระบาด แต่ยังส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจมหาศาล การลดลงของทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจึงเป็นสัญญาณว่าประเทศไทยจะต้องเริ่มพิจารณาหาขั้นตอนการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันความสูญเสียทางเศรษฐกิจและลดความเสี่ยงของการระบาดรอบใหม่
วิจัยกรุงศรีจึงคำนวณหาความเข้มงวดของมาตรการที่เกิดขึ้นจริง (Implied stringency) จากแบบจำลอง เพื่อพิจารณาว่าแต่ละมาตรการที่ใช้มีความสามารถในการควบคุมการระบาดและมีผลต่อเศรษฐกิจแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งผลการศึกษาบ่งชี้ว่ามาตรการการใช้หน้ากากอนามัย การนำเสนอข่าวต่อสาธารณชน และมาตรการห้ามการรวมกลุ่มเป็นมาตรการที่ช่วยลดการระบาดได้ดีที่สุด ในขณะเดียวกัน มาตรการปิดสถานที่ทำงาน มาตรการควบคุมการเดินทางข้ามประเทศ และการบังคับให้อยู่บ้านเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากที่สุด โดยมาตรการที่มีความสามารถในการควบคุมการระบาดน้อยแต่มีผลเสียต่อเศรษฐกิจสูงควรเป็นมาตรการที่ถูกยกเลิกก่อน ได้แก่ มาตรการบังคับให้อยู่บ้าน การปิดสถานที่ทำงาน และการปิดขนส่งสาธารณะ ผลการศึกษายังบ่งชี้ว่าการคลายล็อกดาวน์ควรแบ่งออกเป็น 4 ช่วงนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2021 และควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยเฉพาะในช่วงสองเดือนแรก การปรับตัวเพื่อที่จะอยู่กับโลกที่มีโควิด-19 และย่นระยะเวลาเปลี่ยนผ่านจาก Pandemic เป็น Endemic จะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งยังช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวม ภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการเติบโตต่อไปได้
มาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 การเร่งฉีดวัคซีนและการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนเป็นสามปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จดังกล่าวต้องแลกมาด้วยความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เห็นได้จากการหดตัวของเศรษฐกิจไทยถึง 6.1% ในปี 2020 ดังนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตที่เริ่มปรับลดลงแล้วจึงนำไปสู่คำถามที่สำคัญว่าประเทศไทยจะสามารถถอนมาตรการเหล่านี้อย่างไร เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้เสียหายมากเกินจำเป็น ทั้งยังลดความเสี่ยงของการระบาดของโควิด-19 ในวงกว้างระลอกใหม่ วิจัยกรุงศรีจึงศึกษาความสัมพันธ์ของมาตรการควบคุมการระบาด ความสามารถในการควบคุมการระบาด และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมเพื่อหาว่าการทยอยถอนมาตรการควบคุมการระบาดที่เหมาะสมเป็นอย่างไรทั้งในแง่ของระยะเวลาและความเข้มงวดของมาตรการ
จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มีแนวโน้มลดลง
จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของโลกระลอกที่ 3 เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวจากระดับสูงสุดที่ 6 แสนคนต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าระดับสูงสุดของการระบาดในระลอก 2 ที่ระดับสูงกว่า 8 แสนคนต่อวัน แสดงให้เห็นว่าหลายประเทศสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการควบคุมจำนวนผู้เสียชีวิตที่ลดลงอย่างชัดเจน (รูปที่ 1)
การระบาดในประเทศไทยก็มีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกัน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันลดลงจากระดับสูงสุดที่ 23,418 คนเมื่อกลางเดือนสิงหาคมมาอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 1.3 หมื่นคนในเดือนกันยายน (รูปที่ 2) ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตกลับมาลดลงต่ำกว่า 200 รายต่อวัน การลดลงของทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตส่วนหนึ่งมาจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด การฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น และพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไปความเสี่ยงของโควิด-19 ที่ลดลงนำไปสู่การทยอยถอนมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันความเสียหายด้านเศรษฐกิจ ดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด อาทิ อังกฤษและสวีเดนที่แบ่งระดับการคลายล็อกดาวน์ออกเป็น 4-5 ขั้นตอน ซึ่งกินระยะเวลาประมาณ 4-5 เดือน อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก็กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ดังนั้น จึงกลายเป็นคำถามที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยว่าควรถอนมาตรการควบคุมการระบาดเหล่านี้อย่างไรเพื่อที่จะลดความเสี่ยงของการระบาดรอบใหม่และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในเวลาเดียวกัน
นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 ประเทศไทยใช้มาตรการควบคุมการระบาดทั้งด้านการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและด้านสุขภาพ ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา
ประเทศไทยใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดทั้งในด้านจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Activity-controlled measures) และด้านสุขภาพ (Health-controlled measures) สะท้อนจากดัชนีความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาด (Containment Stringency Index) ที่ University of Oxford คำนวณไว้จากมาตรการต่างๆ ทั้งหมด 14 มาตรการ (ตามรูปที่ 3 แบ่งเป็นมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 8 มาตรการและมาตรการด้านสุขภาพ 6 มาตรการ) ล่าสุด (19 กันยายน 2021) โดยดัชนีความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาดอยู่ที่ 60.77% ลดลงจากช่วงล็อกดาวน์ในเดือนกรกฎาคมที่อยู่ 71.43% (ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงล็อกดาวน์ในเดือนเมษายนปีก่อนที่อยู่ที่ 69.35%)
ประเทศไทยเลือกใช้มาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความเข้มงวดมากกว่ามาตรการด้านสุขภาพ อาทิ การยกเลิกการจัดกิจกรรมสาธารณะ การจำกัดการรวมกลุ่ม และมาตรการจำกัดการเดินทางในประเทศ ขณะเดียวกันการเดินทางข้ามประเทศยังถูกควบคุมเป็นพิเศษ ส่วนมาตรการควบคุมด้านสุขภาพของไทยยังมีความเข้มงวดค่อนข้างน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ อาทิ ระบบการตรวจและการตามผู้ป่วย (Test and trace system) และนโยบายการฉีดวัคซีน (รูปที่ 3) โดยความเข้มงวดของมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูงถึง 88.5% ส่วนมาตรการด้านสุขภาพมีความเข้มงวด 75.0% ในช่วงล็อกดาวน์
ที่ผ่านมามาตรการเหล่านี้ช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ผ่านการลดการเคลื่อนไหว การพบปะและการปรับตัวของผู้คน จากรูปที่ 4 จะเห็นได้ว่า มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นช่วยลดการเดินทางของประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งสะท้อนจาก Google Mobility Index อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของความเข้มงวดของมาตรการกับการเดินทางของผู้คน แปรผันตามเวลาที่เปลี่ยนไป ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากพฤติกรรมของคนที่ปรับตัวตามมาตรการและมีความเคยชินกับการระบาดมากขึ้น
เพื่อทำการศึกษาพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป วิจัยกรุงศรีคำนวณดัชนีความเข้มงวดที่เกิดขึ้นจริง (Implied stringency index) ซึ่งได้จากแบบจำลองการประมาณการจำนวนผู้ติดเชื้อของไทย โดยดัชนีที่คำนวณได้บอกถึงความสามารถในการลดการระบาดจากมาตรการและการปรับพฤติกรรมของคน หากความเข้มงวดที่เกิดขึ้นจริงมากกว่าความเข้มงวดของมาตรการ แสดงว่าผู้คนปฏิบัติเข้มงวดกว่ามาตรการที่ทางการประกาศใช้ ดังนั้น ส่วนต่างระหว่างดัชนีความเข้มงวดที่เกิดขึ้นจริงและดัชนีความเข้มงวดตามเกณฑ์ประกาศบ่งบอกถึงการตอบสนองของประชาชนต่อมาตรการควบคุม ซึ่งวิจัยกรุงศรีพบว่าประชาชนมีความผ่อนคลายมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ ความเคยชินของคนต่อการระบาดของโควิด-19 และการสื่อสารด้านสุขภาพที่ยังไม่ชัดเจน เห็นได้จากการคลายล็อกดาวน์ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาที่ผู้คนผ่อนคลายมากขึ้นจนเกือบแตะระดับสูงสุด แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะยังอยู่ในระดับที่สูง
นอกจากมาตรการที่ใช้มีประสิทธิภาพลดลงแล้ว แต่ละมาตรการควบคุมการระบาดก็ให้ผลไม่เหมือนกัน จากการศึกษาความสัมพันธ์ของการใช้แต่ละมาตรการกับดัชนีความเข้มงวดที่เกิดขึ้นจริงด้วยวิธี Constrained regression พบว่า มาตรการการใช้หน้ากากอนามัย การนำเสนอข่าวต่อสาธารณชน และมาตรการห้ามการรวมกลุ่มที่เข้มงวดมากขึ้นส่งผลอย่างมากต่อดัชนีความเข้มงวดที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งทำให้การควบคุมการระบาดทำได้ดีขึ้น (รูปที่ 6)
นอกจาก 14 มาตรการที่กล่าวไปข้างต้น ความรวดเร็วของการฉีดวัคซีนและประสิทธิภาพของวัคซีนจะช่วยลดการติดเชื้อได้มาก วิจัยกรุงศรีประเมินว่าการเร่งฉีดวัคซีนในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถคลายความเข้มงวดจากการใช้มาตรการต่างๆ ได้เร็วขึ้น
มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดช่วยลดการติดเชื้อ แต่ก็สร้างความสูญเสียให้ระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด การปิดสถานประกอบการ การลดการเดินทาง และความกังวลของประชาชนต่อโรคระบาดล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจผ่านการหดตัวของทั้งอุปสงค์และอุปทาน และทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง วิจัยกรุงศรีได้ประเมินผลกระทบของมาตรการควบคุมการระบาด 14 มาตรการต่อเศรษฐกิจไทยผ่านตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การค้าปลีก (Retail sales) ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial production) และจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ (The number of foreign tourists) พบว่าแต่ละมาตรการส่งผลต่อเศรษฐกิจไม่เท่ากัน ดังนี้
- การค้าปลีก: การค้าปลีกสะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความต้องการใช้จ่าย และภาคบริการ โดยการศึกษาพบว่ามาตรการการจำกัดการรวมกลุ่ม มาตรการบังคับให้อยู่กับบ้าน และการปิดการขนส่งสาธารณะส่งผลต่อการค้าปลีกมากที่สุด โดยเฉพาะการค้าและบริการที่ยังต้องมีการติดต่อกันแบบ face-to-face อาทิ ร้านอาหาร ร้านตัดผม ฟิตเนสและห้างสรรพสินค้า
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม: ผลผลิตอุตสาหกรรมแสดงถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคการผลิต โดยการศึกษาพบว่ามาตรการปิดสถานที่ทำงาน มาตรการจำกัดการเดินทาง และมาตรการบังคับให้อยู่กับบ้านส่งผลต่อผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมากที่สุด ซึ่งผลกระทบต่อภาคการผลิตจะอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องใช้แรงงานในสัดส่วนที่สูง เนื่องจากไม่สามารถเปลี่ยนไปทำงานที่บ้านได้และมีความเสี่ยงต่อการระบาดสูง
- การท่องเที่ยว: มาตรการควบคุมการเดินทางข้ามประเทศเป็นมาตรการควบคุมการระบาดที่มีผลต่อการท่องเที่ยวมากที่สุด รองลงมาคือมาตรการจำกัดการเดินทางในประเทศ
เมื่อรวมผลกระทบเชิงเศรษฐกิจทั้งสามด้านด้วยวิธี Principal Component Analysis (PCA) วิจัยกรุงศรีพบว่า มาตรการที่กระทบต่อเศรษฐกิจสูงสุด ได้แก่ มาตรการปิดสถานที่ทำงาน มาตรการควบคุมการเดินทางข้ามประเทศ และมาตรการบังคับให้อยู่บ้าน ส่วนมาตรการที่มีผลต่อเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย ได้แก่ มาตรการป้องกันผู้สูงอายุ การนำเสนอข่าวต่อสาธารณชน และมาตรการการตรวจโควิดที่ครอบคลุม (รูปที่ 7)
โควิด-19 ดูเหมือนจะอยู่กับสังคมไทยไปอย่างยาวนานคล้ายไข้หวัดใหญ่ การเรียนรู้ที่จะปรับตัวและปรับมาตรการควบคุมโรคให้เข้ากับบริบทข้างหน้าจึงเป็นปัจจัยสำคัญ
อัตราการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ค่อนข้างสูง ทำให้วัคซีนอาจไม่สามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) ได้ในอนาคตอันใกล้ อัตราการระบาดของโควิด-19สายพันธุ์เดลต้าสะท้อนได้จากค่า Basic reproductive rate ที่อยู่ประมาณ 4-6 (ไข้หวัดใหญ่ 0.9-2.1, SARS 1.0-2.8, อีโบล่า 1.5-2.5) หมายความว่าในหนึ่งช่วงเวลา ผู้ติดเชื้อโควิด 1 คนอาจแพร่เชื้อให้ผู้ป่วยมากถึง 4-6 คน ดังนั้น หากวัคซีนมีประสิทธิภาพสามารถป้องกันการติดเชื้อประมาณ 85% เราจะต้องการอัตราการฉีดครอบคลุมสูงถึง 94.1% ของประชากรทั้งหมดเพื่อทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ภายใต้สมมติฐานว่าไม่มีการกลายพันธุ์หรือมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้มีประสิทธิภาพในระดับนั้น
นอกจากนี้ ไวรัสโควิด-19 สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะบางอย่างทำให้สามารถหนีการตรวจจับของภูมิต้านทานได้ จึงคาดว่าการระบาดของโควิด-19 จะคงอยู่ต่อไปในรูปแบบของโรคประจำถิ่น (Endemic) ในปัจจุบันโควิด-19 ที่ระบาดมีสี่สายพันธุ์หลัก ได้แก่ แอลฟา เบต้า แกมมา และเดลต้า แสดงให้เห็นความสามารถในการเปลี่ยนแปลงลักษณะพันธุกรรม ซึ่งทำให้การป้องกันโรคด้วยวัคซีนทำได้ยากขึ้นและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ (Reinfection) นอกจากนั้น อาการของโรคก็มีความแตกต่างกันจึงทำให้การวินิจฉัยและควบคุมโรคทำได้ยากขึ้นด้วย ดังนั้น วิจัยกรุงศรีจึงมองว่าโควิด-19 จะมีแนวโน้มกลายเป็นโรคประจำถิ่นต่อไป โดยที่ภูมิคุ้มกันหมู่อาจจจะไม่เกิดขึ้น แต่วัคซีนและการรักษาที่ก้าวหน้าขึ้นจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่อาการหนักและผู้เสียชีวิตได้มาก
ภายใต้บริบทของโลกที่ต้องอยู่กับโควิด-19 ต่อไป การหาจุดที่เหมาะสมของการใช้มาตรการที่เข้มงวดและความเสี่ยงของการระบาดที่สังคมไทยรับได้จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องรีบทำ ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดและจำกัดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มมีแนวโน้มลดลงแล้ว การใช้มาตรการที่เข้มงวดมากและนานเกินไปจะเพิ่มผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ประเทศ แต่หากทางการถอนมาตรการควบคุมเหล่านี้เร็วเกินไปก็จะทำให้การระบาดระลอกใหม่กลับมาอีกครั้ง
การคลายล็อกดาวน์ควรทำอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนแรก
เพื่อหาขั้นตอนการถอนมาตรการควบคุมการระบาดที่เหมาะสม วิจัยกรุงศรีได้ประเมินผลของการถอนมาตรการรูปแบบต่างๆ ต่อเศรษฐกิจและการระบาด โดยมีข้อสมมติฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับวัคซีน ดังนี้ วัคซีนที่ฉีดสามารถกันการติดเชื้อได้ประมาณ 50-60% และสามารถกันการเสียชีวิตได้ 80-85% โดยมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ 4.6 แสนโดสต่อวัน ซึ่งทำให้มีประชากรไทย 37.3 ล้านคนได้วัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม และประชากรอีก 15.7 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก ณ สิ้นปี 2021 และหากผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้น มาตรการที่ใช้จะต้องมีความเข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมการระบาด ดังนั้น การศึกษาจะกำหนดให้อัตราการแพร่เชื้อที่เกิดขึ้นจริงหรือ Effective reproductive rate ตลอดทุกช่วงเวลาที่ทำการศึกษาจะมีค่าน้อยกว่า 1 (จำนวนผู้ที่ยังป่วยจะไม่เพิ่มขึ้น)
จากการจำลองขั้นตอนการถอนมาตรการควบคุมการระบาดจำนวน 500 แบบ (Simulation) (รูปที่ 9) การคลายล็อกดาวน์แต่ละแบบส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและด้านสาธารณสุขแตกต่างกันไป โดยการคลายล็อกดาวน์ที่ช้าเกินไปจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสูง และในทางกลับกัน การคลายล็อกดาวน์ที่เร็วเกินไปจะทำให้ผู้ติดเชื้อกลับมาระบาดใหม่ ทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการที่เข้มงวดอีกครั้ง ซึ่งจะซ้ำเติมและสร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ดังนั้น การคลายล็อกดาวน์ที่เร็วเกินไปก็จะไม่ช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยวิจัยกรุงศรีมองว่า ขั้นตอนการถอนมาตรการควบคุมที่เหมาะสมคือมาตรการที่มีผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสุขภาพต่ำสุด ซึ่งขึ้นกับการให้น้ำหนักผลกระทบด้านเศรษฐกิจและด้านสุขภาพอย่างไร โดยวิจัยกรุงศรีให้น้ำหนักทั้งสองด้านเท่ากัน จึงได้ว่าขั้นตอนการลดความเข้มงวดของมาตรการที่เหมาะสมจะอยู่ที่จุดสีส้มในรูปที่ 9 อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้น้ำหนักกับด้านสุขภาพมากกว่า ขั้นตอนที่เหมาะสมก็จะเปลี่ยนแปลง (อาทิ ขยับมาที่จุดสีเหลืองตามรูป ซึ่งจะเห็นว่าผลกระทบเชิงสุขภาพจะลดลง แต่ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจจะมากขึ้น)
ผลการศึกษาพบว่า ขั้นตอนการคลายล็อกดาวน์ที่เหมาะสมคือการทยอยลดความเข้มงวดของมาตรการควบคุมต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม ซึ่งแสดงให้เห็นตามเส้น Optimal stringency index ในรูปที่ 10 จะเห็นได้ว่า มาตรการควรค่อยๆ ลดความเข้มงวดลงในช่วงแรก และอาจจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ลดลงเร็วมากนัก (Effective reproductive rate เพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำกว่า 1) จากนั้นจึงสามารถยกเลิกมาตรการควบคุมหลายมาตรการได้มากขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด (Effective reproductive rate ต่ำลง) อย่างไรก็ตาม มาตรการบางอย่างยังคงต้องดำเนินไปจนกระทั่งปี 2022 ซึ่งในช่วงนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มทรงตัวในระดับต่ำ (Effective reproductive rate ต่ำกว่า 1 เล็กน้อย)
ความเข้มงวดของมาตรการจะส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อในอีก 6-9 วันถัดมา ดังนั้นการคลายล็อกดาวน์ควรต้องถูกนำมาพิจารณาอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มงวดของมาตรการและจำนวนผู้ติดเชื้อ พบว่า ความเข้มงวดของมาตรการจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้สูงสุดเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 6-9 วัน (รูปที่ 12) และผลของความเข้มงวดต่ออัตราการระบาดจะค่อยลดลงเรื่อยๆ ในทางกลับกัน หากรวมกับระยะฟักตัวของโควิด-19 ที่มีระยะเวลาประมาณ 7-14 วัน หมายความว่า การพิจารณาผลของการคลายล็อกดาวน์อาจต้องรอมากกว่า 2-3 สัปดาห์หลังจากเริ่มใช้มาตรการที่เข้มงวดน้อยลง
มาตรการที่ควรลดความความเข้มงวดก่อนเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูง แต่ความเข้มงวดมีผลต่อการควบคุมโรคน้อย จากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยสามารถค่อยๆ ลดความเข้มงวดของมาตรการได้อย่างเป็นลำดับ โดยวิจัยกรุงศรีมองว่า มาตรการที่ควรลดความเข้มงวดก่อนจะเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูง แต่มีผลต่อการควบคุมโรคต่ำ ซึ่งรวมถึงมาตรการบังคับให้อยู่บ้าน การปิดสถานที่ทำงาน และการปิดขนส่งสาธารณะ (ซ้ายบนของรูปที่ 13) ตามมาด้วยกลุ่มมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและให้ผลการควบคุมโรคสูง (ขวาบนของรูป 13) ส่วนมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่ำ แต่มีผลต่อการควบคุมโรคสูงอาจยังต้องดำเนินต่อไปจนกระทั่งปี 2022 เพื่อจำกัดความเสี่ยงทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการระบาดของโควิด-19
ความเข้มงวดของมาตรการที่ใช้จะลดลงตามลำดับ
จากการศึกษาข้างต้น วิจัยกรุงศรีแบ่งการคลายความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาดออกเป็น 4 ขั้นตอนใหญ่ๆ ดังนี้
ช่วงที่ 1 (กันยายนถึงกลางตุลาคม 2021)
- มาตรการที่คลายความเข้มงวดแล้วหรือสามารถคลายความเข้มงวดได้ในช่วงนี้: ลดความเข้มงวดของมาตรการปิดโรงเรียน มาตรการห้ามการรวมกลุ่ม และมาตรการปิดขนส่งสาธารณะ
- เงื่อนไขที่เหมาะสม:
- จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลงจากระดับสูงสุด
- มีประชากรมากกว่า 40% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม
- ตัวอย่าง
- การเปิดให้ลูกค้านั่งรับประทานที่ร้านได้
- การเปิดกิจการบางอย่างที่มีผู้ใช้บริการต่อครั้งน้อย เช่น ร้านตัดผม ร้านนวด เป็นต้น
- การเปิดเรียนบางระดับชั้น
- การเปิดการขนส่งสาธารณะบางประเภท เช่น รถไฟ รถทัวร์ เป็นต้น
ช่วงที่ 2 (กลางตุลาคมถึงกลางพฤศจิกายน 2021)
- มาตรการที่ควรคลายความเข้มงวดในช่วงนี้: มาตรการห้ามการรวมกลุ่ม มาตรการปิดสถานที่ทำงานและข้อกำหนดให้อยู่กับบ้าน
- เงื่อนไขที่เหมาะสม:
- จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันต่ำกว่า 10,000 คน และจำนวนผู้เสียชีวิตต่ำกว่า 150 คน
- จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดต่ำลงต่อเนื่องแม้คลายล็อกดาวน์ไปแล้วในช่วงที่ 1 โดยอัตราการแพร่เชื้อที่เกิดขึ้นจริงต่ำกว่า 0.8
- สถานที่ทำงานเตรียมความพร้อมสำหรับการให้พนักงานเข้าทำงาน ได้แก่
- การเตรียมสถานที่ทำงานให้เหมาะสม เช่น มีระบบระบายอากาศ มีการเว้นระยะ
- มีสัดส่วนการฉีดวัคซีนเกิน 80% สำหรับพนักงานที่จะเข้าไปทำงาน
- การจัดการระบบการตรวจโควิด-19 อย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งระบบเตือนและจัดการหากมีผู้ติดเชื้อ
- ตัวอย่าง
- เปิดให้สามารถมีการรวมกลุ่มได้ไม่เกิน 100 คน (จาก 50 คน) ซึ่งจะทำให้สามารถเปิดกิจการบางอย่างได้มากขึ้น เช่น ให้คนสามารถเข้าร้านอาหาร สนามกีฬาที่เปิดโล่ง สวนธารณะได้มากขึ้น
- เปิดให้สถานที่ทำงานสามารถเปิดได้ แม้ว่ายังคงคำแนะนำทำงานที่บ้าน (Work-from-home) ต่อไป
- การยกเลิกข้อกำหนดให้อยู่กับบ้าน แต่ยังคงคำแนะนำลดการเดินทางไปยังพื้นที่ที่แออัดหรือสถานที่ปิด
ช่วงที่ 3 (กลางพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2021)
- มาตรการที่ควรคลายความเข้มงวดในช่วงนี้: มาตรการปิดโรงเรียน มาตรการยกเลิกการจัดกิจกรรมสาธารณะ มาตรการห้ามการรวมกลุ่ม มาตรการจำกัดการเดินทางในประเทศ และมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ
- เงื่อนไขที่เหมาะสม:
- มีประชากรทั้งหมด 65% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส และ 35% ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนครบโดสมากกว่า 80%
- จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดต่ำลงต่อเนื่องแม้คลายล็อกดาวน์ไปแล้วในช่วงที่ 2 โดยอัตราการแพร่เชื้อที่เกิดขึ้นจริงเฉลี่ยยังคงต่ำกว่า 0.8
- ไม่มีการระบาดอย่างรุนแรงหรือเกิดคลัสเตอร์การระบาดขนาดใหญ่ในกิจการหรือพื้นที่ที่คลายล็อกดาวน์ในสองขั้นตอนแรก
- ตัวอย่าง
- อนุญาตให้เปิดสถานศึกษาได้ แต่ยังคงคำแนะนำเรียนที่บ้านต่อไป
- อนุญาตให้จัดกิจกรรมสาธารณะได้ภายใต้ข้อจำกัด โดยเฉพาะกิจกรรมในสถานที่ปิด เช่น โรงหนัง การจัดคอนเสิร์ต เป็นต้น
- เปิดให้สามารถมีการรวมกลุ่มได้โดยไม่จำกัดจำนวน (จาก 100 คน) ซึ่งจะทำให้สามารถเปิดกิจการบางอย่างได้มากขึ้น
- ยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด
- ยกเลิกการห้ามนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงเดินทางเข้าประเทศ แต่ยังคงมาตรการ Quarantine อย่างเข้มงวด
ช่วงที่ 4 (มกราคม 2022 เป็นต้นไป)
- มาตรการที่ควรคลายความเข้มงวดในช่วงนี้: มาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด มาตรการการฉีดวัคซีน การบังคับใส่หน้ากาก
- เงื่อนไขที่เหมาะสม:
- มีประชากรทั้งหมด 70% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส และ 50% ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนครบโดสมากกว่า 85%
- จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดต่ำลงต่อเนื่องแม้คลายล็อกดาวน์ไปแล้วในช่วงที่ 3 โดยอัตราการแพร่เชื้อที่เกิดขึ้นจริงเฉลี่ยยังคงต่ำกว่า 1 ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตต่ำกว่า 50 คน
- ไม่มีการระบาดอย่างรุนแรงหรือเกิดกลุ่มการระบาดขนาดใหญ่ในกิจการหรือพื้นที่ที่คลายล็อกดาวน์ในสามขั้นตอนแรก
- ตัวอย่าง
- กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กลับมาเปิดได้ตามปกติ แต่ยังคงข้อกำหนดและคำแนะนำบางอย่าง เช่น ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมควรฉีดวัคซีนเกิน 80% ปฏิบัติตามคำแนะนำด้าน Social distancing เป็นต้น
- การเดินทางระหว่างประเทศยังคงจำกัด และยังคงใช้มาตรการ Quarantine ต่อไป
- มาตรการดูแลสุขภาพ เช่น การใส่หน้ากากอนามัย การตรวจโควิด-19 และการให้ข่าวสาร เป็นต้น ยังต้องดำเนินต่อไป โดยเฉพาะสำหรับสถานที่ปิดและมีคนแออัด เนื่องจากยังคงเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะทำให้เกิดการระบาดได้อีก
ในช่วงเปลี่ยนผ่านจาก Pandemic เป็น Endemic ผลกระทบทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับสูง การย่นระยะเวลาของช่วงเปลี่ยนผ่านจะช่วยจำกัดความสูญเสียให้ลดลงได้
จากขั้นตอนการทยอยคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่ประเมินข้างต้น วิจัยกรุงศรีคำนวณหาความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น (รูปที่ 15) พบว่า การล็อกดาวน์เดือนกรกฎาคมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูงสุดในช่วงปลายสิงหาคมถึงต้นกันยายน และความสูญเสียทางเศรษฐกิจจะลดลงตามการยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ โดย ณ ช่วงสิ้นปี มาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะถูกยกเลิกเกือบทั้งหมดแล้ว แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ถึง 40% เมื่อเทียบกับความสูญเสียในช่วงล็อกดาวน์เดือนกรกฎาคม ขณะที่เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะที่โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะเหลือเพียง 18% เมื่อเทียบกับความสูญเสียในช่วงล็อกดาวน์เดือนกรกฎาคมเท่านั้น
ดังนั้น การเข้าสู่ช่วงสุดท้ายหรือช่วงที่โควิค-19 กลายมาเป็น Endemic ได้เร็วยิ่งช่วยจำกัดการสูญเสียทั้งในแง่ของสาธารณสุขและเศรษฐกิจได้มากขึ้น จะเห็นได้ว่า แม้ประเทศไทยดำเนินขั้นตอนการคลายล็อกดาวน์ที่เหมาะสม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็ยังคงสูง โดยเฉพาะในช่วงที่เปลี่ยนผ่านจาก Pandemic เป็น Endemic (จากในช่วงล็อกดาวน์เดือนกรกฎาคมสู่ช่วงที่ 4 ของการคลายมาตรการ) ซึ่งหากเราสามารถย่นระยะเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ได้ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะน้อยลง ซึ่งการปรับตัวเข้าสู่ New norms จะเป็นปัจจัยสำคัญ โดยวิจัยกรุงศรีมองว่าการที่จะไปถึงจุดนั้น เราต้องเตรียมตัว 6 อย่าง ดังนี้
- การสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง จากการศึกษาข้างต้นจะเห็นได้ว่าความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาดและพฤติกรรมของคนในสังคมที่เกิดขึ้นจริงไม่ไปในทางเดียวกันเสมอไป นอกจากนี้ การตอบสนองของคนในสังคมต่อมาตรการควบคุมการระบาดมีส่วนช่วยจำกัดการระบาดได้มีประสิทธิภาพมากกว่า และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่า ดังนั้น การสื่อสารที่เหมาะสมและการให้ข้อมูลที่ถูกต้องจะช่วยให้การใช้มาตรการควบคุมการระบาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีผลข้างเคียงต่อเศรษฐกิจลดลง
- การเร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และการเตรียมความพร้อมของวัคซีนทางเลือก การฉีดวัคซีนเป็นปัจจัยสำคัญโดยตรงที่ช่วยลดอัตราการติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิต (จากแบบจำลองประมาณการจำนวนผู้ติดเชื้อ) อีกทั้ง ความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงจะช่วยเร่งให้ระยะเปลี่ยนผ่านเร็วมากขึ้น
- การสร้างมาตรการป้องกันการระบาดในโรงเรียน สถานที่ทำงาน และร้านค้า เมื่อโลกหลังจากนี้เป็นโลกที่เราต้องอยู่กับโควิด-19 การเตรียมความพร้อมและมาตรการป้องกันการระบาดในสถานที่เสี่ยงจึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะสถานที่ทำงานและร้านค้า ซึ่งผลการศึกษาบ่งชี้ว่า การปิดสถานที่เหล่านี้แม้มีส่วนช่วยลดการระบาด แต่ก็สร้างความเสียหายเชิงเศรษฐกิจสูง ดังนั้น การหามาตรการป้องกันกันระบาดในสถานที่เหล่านี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง อาทิ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเพื่อลดความแออัด การลงทุนสร้างสุขลักษณะในที่ทำงานใหม่
- การสร้างระบบป้องกันและเตือนความเสี่ยงของการระบาด การคลายล็อกดาวน์แม้จะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปก็อาจสร้างความเสี่ยงให้การระบาดกลับมาใหม่ได้ การสร้างระบบป้องกันและเตือนความเสี่ยงของการระบาดที่มีประสิทธิภาพจะช่วยสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้
- การเพิ่มความสามารถในการรองรับการระบาดครั้งใหม่ การรองรับการระบาดครั้งใหม่หมายรวมถึงการรักษาที่ดีขึ้นด้วย จะลดอัตราการเสียชีวิตได้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการเข้าสู่ช่วง Endemic โดยวิจัยกรุงศรีมองว่าความสามารถในการรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก การรักษาที่ดีไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว การเข้าถึงการรักษาที่ง่าย และค่าใช้จ่ายต่ำล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถปรับตัวอยู่กับโควิดได้ง่ายขึ้น
- การปรับตัวของภาคธุรกิจในโลกที่ต้องอยู่กับโควิด-19 เมื่อโควิดจะยังคงอยู่กับโลกนี้ไปอีกสักระยะ การปรับตัวของธุรกิจก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เริ่มตั้งแต่วิถีการทำงาน เช่น ความปลอดภัยของพนักงาน การลดความแออัดของผู้เข้าใช้บริการ เป็นต้น ไปจนกระทั่งรูปแบบของความต้องการสินค้าและบริการที่ไม่เหมือนเดิม อาทิ การเปลี่ยนจากช่องทางออฟไลน์มาเป็นออนไลน์ กระแส Digitalization การปรับตัวของภาคธุรกิจนี้ไม่เพียงช่วยย่นระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านและความสูญเสียทางเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้ภาคธุรกิจสามารถฟื้นตัวและเติบโตต่อไปได้ในโลกที่ต้องอยู่กับโควิด-19