แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2562-2564: ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

รับเหมาก่อสร้าง

รับเหมาก่อสร้าง

แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2562-2564: ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

05 มิถุนายน 2562
  • ในช่วงปี 2562-2564 ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีแนวโน้มเติบโตในอัตราเร่งขึ้นตามลำดับ ในปี 2562 คาดว่ามูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมจะเติบโตไม่มากนักในอัตรา 3.5-5.0% ผลจากนักลงทุนรอความชัดเจนภายหลังมีคณะรัฐบาลชุดใหม่ ในปี 2563 และปี 2564 ธุรกิจมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 5-7% และ 7.5-9.5% ตามลำดับ ตามการเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโตตามความเชื่อมั่นและภาวะเศรษฐกิจ โดยโครงการที่โดดเด่นยังเป็นโครงการที่พัฒนาในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โครงการรถไฟฟ้า และโครงการ Mix used
  • การก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มเติบโตตามเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมือง ทำให้ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้รับเหมาก่อสร้างไทยสามารถขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น

 

ข้อมูลพื้นฐาน


ในช่วงปี 2552-2561 มูลค่าการลงทุนก่อสร้างมีสัดส่วนเฉลี่ย 8.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) มีผลต่อการจ้างงานและมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจต่อเนื่องที่หลากหลาย เช่น ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง และธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น


งานก่อสร้างในประเทศ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะผู้ว่าจ้างงาน ได้แก่ งานก่อสร้างของภาครัฐและงานก่อสร้างของภาคเอกชน โดยมีสัดส่วนของมูลค่าการลงทุนเฉลี่ย 53:47

  • งานก่อสร้างของภาครัฐ: ส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 80% ของมูลค่าก่อสร้างงานภาครัฐทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นโครงการก่อสร้างอาคารของหน่วยงานรัฐ และที่พักของข้าราชการ ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่มักจะได้เปรียบในการรับงานภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เนื่องจากมีประสบการณ์ มีความชำนาญเฉพาะด้าน มีศักยภาพทางการเงิน และมีการพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีในงานก่อสร้างมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้รับเหมา SMEs จะมีโอกาสรับงานภาครัฐในลักษณะของผู้รับเหมาช่วง (Sub-contractors)
  • งานก่อสร้างของภาคเอกชน: กระจุกตัวในงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยเฉลี่ย 56% ของมูลค่าก่อสร้างงานภาคเอกชนทั้งหมด ที่เหลือเป็นงานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมสัดส่วน 10% พาณิชยกรรม 10% และอื่นๆ อีก 24% เช่น โรงแรม และโรงพยาบาล (NESDC, 2018) โดยงานก่อสร้างภาคเอกชนมักผันแปรตามความเชื่อมั่นในการลงทุนซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจ เสถียรภาพการเมือง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ ทั้งนี้ผู้รับเหมารายใหญ่ที่เน้นรับงานก่อสร้างภาคเอกชนโดยส่วนใหญ่มักมีอัตรากำไร (Margin) มากกว่ารายที่เน้นรับเหมางานภาครัฐ แต่โครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐส่วนมากมีมูลค่าสูงกว่าโครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชน ส่วนด้าน ผู้รับเหมา SMEs กลุ่มงานก่อสร้างภาคเอกชน โดยทั่วไปเป็นโครงการที่มีมูลค่าก่อสร้างน้อยและมีขั้นตอนการก่อสร้างไม่ซับซ้อน


 
 
นอกจากงานก่อสร้างในประเทศ ผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยยังขยายฐานลูกค้าออกไปรับงานในต่างประเทศ (ส่วนมากเป็นผู้รับเหมารายใหญ่) ซึ่งปัจจุบันเน้นรับงานก่อสร้างในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา (CLM) เนื่องจากประเทศเหล่านี้กำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น โครงข่ายถนน รถไฟ และโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีโอกาสรับงานก่อสร้าง ซ่อมแซม และตกแต่งอาคาร/ที่อยู่อาศัย เนื่องจากแรงงานก่อสร้างไทยมีฝีมือ ทำให้ลูกค้าในประเทศเพื่อนบ้านไว้วางใจ
 



 
 
ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในไทยทั้งหมดมีจำนวนประมาณ 80,000 ราย (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, 2561) โดยผู้ประกอบการรายใหญ่มีจำนวนน้อย (ราว 55 ราย) แต่มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 50% ของมูลค่าตลาดรวม (พิจารณาจากขนาดรายได้) โดยรายใหญ่ส่วนมากเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 อันดับแรกได้แก่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดิเวลอปเมนต์  บมจ.ช.การช่าง และบมจ. ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น มีส่วนแบ่งตลาดรวม 24% ของกลุ่มธุรกิจนี้ แต่ครองส่วนแบ่งตลาดมากถึง 63% ของกลุ่มบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Bloomberg, 2018)
 

 
 
โดยทั่วไป การประเมินภาวะธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จะพิจารณา
 
1) ด้านตลาด:หมายถึงโอกาสการรับรู้รายได้ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจ การเมือง แผนและความก้าวหน้าของการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงกฎระเบียบการลงทุนในแต่ละประเทศที่อาจเอื้อหรือเเป็นอุป สรรคต่อธุรกิจ

2)ด้านต้นทุน:หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาวัสดุก่อสร้างและค่าจ้างแรงงาน (ปัจจุบันธุรกิจก่อสร้างไทยประสบปัญหาแรงงานทั้งด้านปริมาณและทักษะที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานมักต่ำกว่าค่าจ้าง) ซึ่งจะมีผลต่อกำไรของธุรกิจ โดยโครงสร้างต้นทุนของธุรกิจก่อสร้าง ประกอบด้วย ค่าวัสดุก่อสร้างที่สำคัญ ได้แก่ 1) เหล็ก คอนกรีต และปูนซีเมนต์ ซึ่งรวมกับค่าวัสดุก่อสร้างประเภทอื่นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของต้นทุนรวม 2) ค่าจ้างแรงงาน 20% และ  3) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 20% [1]  (ภาพที่ 3)
 

 
 

สถานการณ์ที่ผ่านมา

ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในปี 2561 มีมูลค่า 1,264.4 พันล้านบาท พลิกกลับมาขยายตัว 4.3% YoY จากที่หดตัว 0.9% ในปี 2560 เนื่องจากงานก่อสร้างโครงการใหม่มีความก้าวหน้ามากขึ้น ด้านโครงการต่อเนื่องมีการเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตของโครงการแต่ละประเภท พบว่างานภาครัฐ (ซึ่งมีสัดส่วน 56% ของมูลค่าก่อสร้างรวม) ขยายตัวน้อยกว่างานภาคเอกชนซึ่งมีมูลค่าก่อสร้างเติบโตในอัตราเร่งในรอบสี่ปีที่ผ่านมา ผลจากการเร่งก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย (คิดเป็น 56% ของค่าก่อสร้างภาคเอกชน) นอกจากนี้ยังเป็นปีแรกที่ภาครัฐและภาคเอกชนลงทุนโครงการขนาดใหญ่ร่วมกัน (Public-Private Partnership: PPP) โดยภาคเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบค่าก่อสร้าง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพู (มีนบุรี-บางแค) และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สำหรับสถานการณ์ของงานก่อสร้างภาครัฐและภาคเอกชนมีรายละเอียดดังนี้

 

  • งานก่อสร้างภาครัฐมีมูลค่า 707.3 พันล้านบาท ขยายตัว 3.2% เทียบกับที่หดตัว 2% ในปี 2560 โดยโครงการที่ขยายตัวมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (คิดเป็นประมาณ 80% ของค่าก่อสร้างภาครัฐโดยรวม) ซึ่งการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เช่น มอเตอร์เวย์ (บางปะอิน-นครราชสีมา)  และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) มีความก้าวหน้าเร่งขึ้น 49.3% และ 24.6% เทียบกับสิ้นปี 2560 งานก่อสร้างก้าวหน้า 24.1% และ 4.7% ตามลำดับ (ตารางที่ 5) ด้านการลงทุนในโครงการขนาดเล็กซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานซ่อมแซมถนนมีความล่าช้า สะท้อนจากงบลงทุนก่อสร้างภาครัฐในปี 2561 หดตัว 6.5% (ภาพที่ 5) ขณะที่งานประเภทอื่นได้แก่ ที่พักอาศัยและอาคารของหน่วยงานของรัฐ ค่าก่อสร้างหดตัว 1.5% และขยายตัวเพียง 0.9% ตามลำดับ (NESDC, 2018) ผลจากพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่ทำให้การเบิกจ่ายของหน่วยงานรัฐต่างๆ ช้ากว่าที่คาดไว้



 
  • งานก่อสร้างภาคเอกชนในปี 2561 มีมูลค่า 557.1 พันล้านบาท ขยายตัวเร่งขึ้น 5.8% YoY (ภาพที่ 6) อานิสงส์จากผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีความเชื่อมั่นลงทุนโครงการใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตามแนวโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ที่ขยายออกจากกรุงเทพมหานครไปในพื้นที่ปริมณฑลมากขึ้น หนุนโครงการที่อยู่อาศัยเติบโตในอัตราเร่ง 5.3% (คิดเป็น 56% ของมูลค่าก่อสร้างภาคเอกชน) เทียบกับปี 2560 ขยายตัวเพียง 1.4% ผลจากการลงทุนที่อยู่อาศัยแนวราบในปี 2561 ขยายตัวดีขึ้น เห็นได้จากสถิติพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบในปี 2560 เพิ่มขึ้นสูง (โดยปกติผู้ประกอบการมักขอใบอนุญาตก่อสร้างก่อนจะลงทุนจริงใน 6-12 เดือนถัดไป, ภาพที่ 7) ส่วนอาคารที่มิใช่ที่อยู่อาศัย (คิดเป็น 29% ของมูลค่าก่อสร้างภาคเอกชน) ขยายตัว 2.9% ตามการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) โดยในกลุ่มหลังนี้มีโครงการที่เติบโตดี ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรมและโรงแรม พิจารณาจากสถิติพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างของโรงงานอุตสาหกรรมและโรงแรมในปี 2560 ฟื้นตัวดีขึ้น (ภาพที่ 8-9) ขณะที่กลุ่มพาณิชยกรรม เช่น ห้างสรรพสินค้า พบว่าการก่อสร้างหดตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 เทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปี 2560 สำหรับโครงการก่อสร้างประเภทอื่นมีงานลักษณะที่เป็นโครงการ PPP ขนาดใหญ่ที่ภาคเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายมากขึ้น ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพู (มีนบุรี- แคราย) และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ซึ่งมีมูลค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นสูง 14.6% และคาดว่าจะมีโครงการ PPP อื่นเพิ่มขึ้นอีกในระยะข้างหน้า





 
ราคาวัสดุก่อสร้างในปี 2561 เพิ่มขึ้น 2.6% เทียบกับปี 2560 ที่ขยับขึ้น 1.9% ตามภาคก่อสร้างที่ขยายตัวและราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น โดยเหล็กก่อสร้าง (มีสัดส่วน 23% ของวัสดุก่อสร้างทั้งหมด) ราคาสูงขึ้น 7.6% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าวัสดุก่อสร้างประเภทอื่น ส่วนปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์คอนกรีต ราคาเพิ่มขึ้น 2.6% และ 2.1% ตามลำดับ (มีสัดส่วนรวม 29% ของวัสดุก่อสร้างทั้งหมด)
 

ต้นทุนแรงงานยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากแรงงานที่มีฝีมือได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว จึงได้รับผลกระทบไม่มากจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในปี 2561 (เป็นอัตรา 308-330 บาท/วัน (ค่าจ้างทั่วประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด) เฉลี่ยอยู่ที่ 315.97 บาท/วัน สูงขึ้น 5% จากปี 2560) นอกจากนี้แรงงานก่อสร้างส่วนมากยังเป็นต่างด้าว เนื่องจากแรงงานไทยสนใจรับจ้างในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างน้อยลง สำหรับผู้รับเหมารายใหญ่มักไม่มีปัญหาด้านกำลังแรงงาน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้รับเหมาหลายรายมีการใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่เพื่อทดแทนการใช้แรงงานมากขึ้น


แนวโน้มอุตสาหกรรม

วิจัยกรุงศรีคาดว่ามูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมในปี 2562 ปี 2563 และปี 2564 จะเติบโต 3.5-5.0%, 5-7% และ 7.5-9.5% YoY ตามลำดับ (ภาพที่ 11) ผลจากการเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐและการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องตามความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น


 

  • งานก่อสร้างภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น หลังมีคณะรัฐบาลใหม่

มูลค่าก่อสร้างภาครัฐในปี 2562 คาดว่าจะเติบโตไม่สูงนักในอัตรา 3-5% ผลจากการรอนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลชุดใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม ปี 2563-2564 มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นที่ 5-7% และ 8-10% ตามลำดับ เนื่องจากโครงการใหม่ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่น่าจะเพิ่มขึ้นหลายโครงการ โดยเฉพาะ 1) โครงการในกรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) 2) โครงการใน EEC อาทิ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน สนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และ 3) โครงการในจังหวัดหลัก (ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ต และพิษณุโลก) เช่น รถไฟฟ้ารางเบาและการขยายสนามบิน นอกจากนี้ยังมีแผนการลงทุนของภาครัฐ ในโครงการขนาดกลางและย่อมภายใต้งบประมาณประจำปี โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการขยายและปรับปรุงโครงข่ายถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท

ทั้งนี้ ในระยะ 3 ปีข้างหน้า คาดว่าโครงการภาครัฐหลายโครงการที่มีความพร้อมและได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วจะเริ่มลงทุนทั้งในส่วนของการก่อสร้าง ระบบการเดินรถ และการบำรุงซ่อมแซม โดยโครงการที่จะเริ่มก่อสร้างได้ก่อนเป็นโครงการที่เข้าข่ายเงื่อนไขดังนี้ 1) กำลังอยู่ในขั้นตอนการคัดเลือกผู้รับเหมาแล้ว 2) กำลังเตรียมขายซองเพื่อเปิดประกวดราคา และ 3) โครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ลงทุนโดยผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแล้วในด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ในระยะต่อไปจะมีโครงการ PPP มากขึ้น  โดยในส่วนของค่าใช้จ่ายด้านการก่อสร้างจะมีทั้งรูปแบบโครงการที่ภาครัฐรับผิดชอบและโครงการที่ภาคเอกชนรับผิดชอบ ทั้งนี้การกำหนดรูปแบบ PPP ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐและการเจรจาผลประโยขน์ที่จะเกิดขึ้นจากปริมาณผู้โดยสารตามที่คาดการณ์ไว้ แต่มีแนวโน้มที่โครงการ PPP ส่วนมากจะอยู่ในรูป PPP Net Cost มากกว่า PPP Gross Cost เนื่องจากเอกชนจะได้รับสิทธิในการจัดเก็บรายได้และช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานของภาครัฐ



 

  • งานก่อสร้างภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจและแรงเหนี่ยวนำที่มาจากผลของการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ (Crowding in effects)

มูลค่าก่อสร้างของภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 4-5% ในปี 2562 ชะลอลงเล็กน้อยจากปี 2561 (ภาพที่ 11) การขยายตัวที่ชะลอลงดังกล่าวสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่แผ่วลง การรอความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ตลอดจนความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย รวมถึงผลกระทบจากเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ที่มีผลบังคับใช้ในเมษายน 2562 ที่อาจทำให้งานก่อสร้างที่อยู่อาศัยในภาพรวมขยายตัวได้ในกรอบจำกัด ในปี 2563 และปี 2564 มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น 5-7% และ 7-9% ตามลำดับ อานิสงส์จาก 1) การเดินหน้าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมที่เร่งตัวขึ้นจะเหนี่ยวนำงานก่อสร้างภาคเอกชน เช่น ที่อยู่อาศัย ให้ทยอยเพิ่มขึ้น รวมถึงที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าในบางพื้นที่ (อาทิ รัชดาฯ-ลาดพร้าว พหลโยธิน รามคำแหง)  2) โครงการ EEC หนุนให้เกิดการก่อสร้าง เช่น อาคารพาณิชย์ นิคมอุตสาหกรรมและโรงแรม และ 3) โครงการก่อสร้างอื่นของภาคเอกชน อาทิ โครงการพัฒนา Mix-used (เช่น One Bangkok และ The Grand Rama 9) ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รูปแบบใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง (ภาพที่ 13 และตารางที่ 7)




 

แนวโน้มผลประกอบการของผู้รับเหมาก่อสร้างโดยรวมระยะ 3 ปีข้างหน้าจะเติบโตต่อเนื่อง โดยผู้รับเหมาที่เน้นรับงานก่อสร้างโครงการภาครัฐจะมีงานในมือ (Backlog) เพิ่มขึ้น ในปี 2562 รายได้กลุ่มนี้จะขยับขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่ต้องรอคณะรัฐบาลใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง และจะเร่งขึ้นในช่วงปี 2563-2564 ตามการลงทุนโครงการขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่จะก่อสร้างพร้อมกันตามแผนหลายโครงการ ด้านผู้รับเหมาก่อสร้างที่เน้นรับงานภาคเอกชน ในปี 2562 รายได้มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจากผลของการชะลอตัวทั้งเศรษฐกิจ การรอความคืบหน้าของโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ที่เข้มงวดขึ้นที่อาจมีผลต่อผู้ประกอบการในการตัดสินใจลงทุนโครงการใหม่ และในช่วงปี 2563-2564 รายได้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามแรงหนุนของอุปสงค์การลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ




 

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการจำแนกตามขนาดผู้ประกอบการ ผู้รับเหมารายใหญ่มีโอกาสรับงานเพิ่มขึ้นจากโครงการภาครัฐและโครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชน รวมถึงโครงการก่อสร้างในต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ซึ่งมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง แต่ในปี 2562 รายได้ของผู้รับเหมากลุ่มนี้อาจเติบโตไม่มากนัก ผลจากการเบิกจ่ายค่างวดงานของโครงการภาครัฐที่อาจล่าช้าจากการเลือกตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 แต่จะมีทิศทางขยายตัวดีขึ้นในช่วงปี 2563-2564 ตามความชัดเจนทางการเมืองและการเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่  ด้านผู้รับเหมารายกลางและรายย่อยจะได้อานิสงส์จาก 1) งานรับเหมาช่วงต่อจากรายใหญ่ที่มีงานในมือ (Backlog) จำนวนมากแม้จะมี Margin ต่ำ และ 2) การรับเหมางานโดยตรงจากโครงการภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้รับเหมารายกลางและรายย่อยบางกลุ่มอาจมีข้อจำกัดด้านการบริหารจัดการทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถสต็อกวัสดุก่อสร้างในปริมาณมาก หรือมีการพึ่งพากำลังแรงงานคนมากกว่าเครื่องจักร ส่งผลให้มีต้นทุนดำเนินการสูงกว่าผลประกอบการจึงเติบโตได้ไม่มาก

นอกจากปริมาณงานก่อสร้างในไทยที่มีโอกาสเติบโต งานก่อสร้างในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา) ระยะ 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวเช่นกัน (พิจารณาจากที่ผ่านมาในช่วงปี 2555-2560 มูลค่าก่อสร้างต่อ GDP เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยกัมพูชาเป็นประเทศที่ภาคก่อสร้างขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 25% ต่อปี รองลงมาคือ เมียนมา สปป.ลาว และเวียดนาม เติบโต 19% 12% และ 10% ต่อปี, ภาพที่ 16) ซึ่งเป็นโอกาสของผู้รับเหมาไทยที่จะเข้าไปรับงานก่อสร้างมากขึ้น ทั้งนี้ ประเภทโครงการที่ผู้รับเหมาไทยมีความเชี่ยวชาญและเป็นโครงการก่อสร้างที่คาดว่าจะมีโอกาสขยายตัวตามแผนการลงทุนของภาครัฐและเอกชนใน CLMV ในระยะข้างหน้า สามารถสรุปได้ดังตารางที่ 8 (กดเพื่ออ่านต่อฉบับเต็มและดาวน์โหลดบทวิเคราะห์ ธุรกิจก่อสร้างใน CLMV: โอกาสของผู้ประกอบการไทย)





 

ปัจจัยหลักที่อาจมีผลต่อต้นทุนการก่อสร้างในระยะ 3 ปีข้างหน้า ได้แก่ แนวโน้มวัสดุก่อสร้าง (คิดเป็น 60% ของต้นทุนรวม) และแรงงาน (คิดเป็น 20% ของต้นทุนรวม)

  • ด้านวัสดุก่อสร้าง คาดว่าราคาโดยรวมจะทรงตัวในปี 2562 และทยอยขยับขึ้นในช่วงปี 2563-2564 ตามความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มปูนซีเมนต์ ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1-2% ต่อปี ผลจากอุปสงค์เติบโตตามโครงการภาครัฐและภาคเอกชนที่จะลงทุนพร้อมกันหลายโครงการ ขณะที่สินค้ากลุ่มเหล็กก่อสร้าง ราคามีทิศทางปรับลดลงที่ -1.5% ถึง -3.5% ในช่วงปี 2562-2563 ตามราคาเหล็กในตลาดโลกซึ่งอาจมีผลให้เหล็กวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าปรับราคาลงกดดันให้ราคาเหล็กในไทยปรับลดลงตาม อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาเหล็กจะเพิ่มขึ้น 2-4% ในปี 2564 เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กก่อสร้างในประเทศมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นจากที่จะมีการก่อสร้างโครงการรถไฟพร้อมกันหลายโครงการ ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนให้ใช้เหล็กก่อสร้างในประเทศมากขึ้นเพื่อลดการนำเข้า
  • ด้านแรงงาน ปัญหาการขาดแคลนแรงงานคาดว่าจะกระทบเฉพาะกลุ่มผู้รับเหมารายกลางและรายย่อย ผลจาก 1) กลุ่มนี้ยังใช้แรงงานก่อสร้างเป็นหลักเนื่องจากเทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ที่ช่วยลดกำลังแรงงานต้องลงทุนสูง และ 2) แรงงานไทยส่วนมากจะไม่นิยมทำงานในไซต์ก่อสร้าง ทำให้ยังต้องใช้แรงงานต่างด้าวซึ่งกฎระเบียบการใช้แรงงานต่างด้าวระยะข้างหน้าอาจเข้มงวดมากขึ้น ส่วนด้านต้นทุนแรงงานคาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้างมากนัก ผลจากค่าจ้างแรงงานก่อสร้างในกลุ่มที่มีฝีมือส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว


มุมมองวิจัยกรุงศรี:

รายได้ของผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งกลุ่มที่เน้นรับงานภาครัฐและภาคเอกชนในปี 2562 คาดว่าจะเติบโตไม่มาก เนื่องจากการลงทุนน่าจะเริ่มชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี ภายหลังที่มีคณะรัฐบาลชุดใหม่ และในปี 2563-2564 รายได้ของทั้งสองกลุ่มจะขยายตัวดีขึ้น

  • รายได้ของผู้รับเหมางานก่อสร้างโครงการวิศวกรรมโยธาขนาดใหญ่ คาดว่าจะขยายตัวตามโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นในช่วงปี 2563-2564 โดยรายใหญ่และรายกลาง รายได้จะขยายตัวดีเนื่องจากมีศักยภาพในการรับผิดชอบงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ทั้งของภาครัฐ อาทิ รถไฟฟ้า และของภาคเอกชน เช่น สนามบินบางแห่งที่ลงทุนโดยสายการบินเอกชน สำหรับรายเล็ก คาดว่ารายได้จะกระเตื้องขึ้น อานิสงส์จากการรับเหมาช่วงในโครงการขนาดใหญ่จากผู้รับเหมารายใหญ่และรายกลางที่แบ่งสัดส่วนงานก่อสร้างต่อให้อีกทอดหนึ่ง
  • รายได้ของผู้รับเหมางานก่อสร้างภาคเอกชนในกลุ่มที่อยู่อาศัยและอาคารทั่วไป และกลุ่มอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่มีแนวโน้มขยายตัวแต่ในอัตราที่ไม่สูงนัก โดยเฉพาะปี 2562 ซึ่งภาวะเศรษฐกิจชะลอลง  แต่มีทิศทางปรับดีขึ้นในปี 2563-2564 ตามความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นตามการเร่งตัวของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หากพิจารณาตามขนาดรายได้ของผู้ประกอบการ รายใหญ่และรายกลาง รายได้โดยรวมคาดว่าจะเติบโตดี โดยเฉพาะกลุ่มที่เน้นรับงานโครงการ Mixed Use น่าจะมี Backlog เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้รับเหมาที่รับงานก่อสร้างในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ยังมีช่องทางเพิ่มรายได้จากทั้งโครงสร้างพื้นฐาน โครงการที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชยกรรม และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งกำลังขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับรายเล็ก รายได้รวมมีทิศทางชะลอตัว ผลจากงานก่อสร้างโครงการขนาดเล็กน่าจะยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับมีข้อจำกัดด้านการบริหารจัดการต้นทุนจึงส่งผลให้อัตรากำไรอาจหดตัว

 

[1] คำนวณจากโครงสร้างต้นทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่และตารางปัจจัยการผลิตผลผลิต, NESDC 2010 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา