พ่อแม่คือครูสอนลูกเรื่องเงิน
หากเราลองไปถามนักธุรกิจ นักลงทุน หรือผู้คนที่ประสบความสำเร็จในการออมการลงทุน ส่วนใหญ่จะบอกว่าทักษะความรู้เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ นั้น พวกเขาเรียนรู้ตั้งแต่อายุยังน้อย และไม่ได้เรียนรู้ผ่านโรงเรียน มหาวิทยาลัยหรือหลักสูตรพิเศษใด ๆ แต่เป็นการเรียนรู้จากพ่อแม่ ผ่านการซึมซับนิสัยทางการเงินจากรุ่นสู่รุ่นนั่นเอง “พ่อแม่หาเงินอย่างไร พ่อแม่ใช้เงินอย่างไร พ่อแม่ออมเงินอย่างไร พ่อแม่ลงทุนอย่างไร” กระบวนการเหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังทัศนคติเรื่องเงินให้ลูกอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การสอนลูกหลานเรื่องการเงินไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป ในยุคสมัยที่เร่งรีบและแข่งขันในปัจจุบัน พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่จึงมักจะเพียงแค่ ”หยิบยื่น” เงินกับลูก ๆ ทุกครั้งที่พวกเขาร้องขอ โดยไม่ได้สอบถามถึงความคุ้มค่า หรืออธิบายคุณค่า ที่มาของการทำงานหนักเพื่อให้ได้เงินมา
ความเข้าใจเรื่องเงินคือหนึ่งใน “ภูมิชีวิต”
คนเป็นพ่อแม่ทุกคนต่างรู้ดีว่า เราไม่ได้อยู่กับลูกไปตลอดชีวิต ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็ให้กับลูกได้เหมือนกัน คือ ”ภูมิชีวิต” คล้ายการฉีดวัคซีนสร้างภูมิต้านทานโรค แต่ต่างตรงที่คนฉีดวัคซีนไม่ใช่คุณหมอหรือคุณพยาบาลที่ไหน แต่คือ “มนุษย์พ่อ มนุษย์แม่” ที่ให้ลูกด้วยใจรัก ไม่หวังอะไรตอบแทน ทั้งทัศนคติ วิธีคิด และแนวทางการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง ลูกต้องการการถ่ายทอดจากพ่อแม่อย่างมาก โดยเฉพาะ “ความเข้าใจเรื่องเงิน” นี่คือวัคซีนโดสสำคัญ
ดังนั้น หนึ่งในหน้าที่พ่อแม่ที่สำคัญยิ่ง คือ การเป็นครูการเงินที่ดีให้กับลูก เพราะ เด็กเรียนรู้เรื่องเงินจากคนใกล้ตัว จากพ่อแม่ นิสัยใช้จ่าย การออม หาเงิน และลงทุน และไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม พ่อแม่ทุกคน คือต้นแบบการเงินของลูก มีส่วนอย่างยิ่งที่จะกำหนดอนาคตทางการเงินของลูก ๆ ได้ นี่จึงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญ ที่พ่อแม่ควรต้องเป็นแบบอย่างทางการเงินที่ดีให้แก่ลูกด้วย
ยิ่งเริ่มต้นเร็วยิ่งได้เปรียบ
พ่อแม่ยุคใหม่จำนวนมาก ทราบดีว่าการเริ่มต้นดี (และเร็ว) มีชัยไปกว่าครึ่ง จึงเริ่มต้นสอนทักษะหลาย ๆ อย่างให้กับลูกตั้งแต่อายุยังน้อย บางคนเริ่มสอนทักษะภาษาที่ 2 ให้กับลูกตั้งแต่เด็กเริ่มพูด หรือบางคนเริ่มสอนดนตรีและกีฬาที่ลูกดูมีแววสนใจให้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ เพราะในวัยเด็กมีแนวโน้มที่จะเรียนรู้ และคงไว้ซึ่งแนวคิดพื้นฐานหลักการสำคัญ และเมื่อเด็กเข้าใจพื้นฐานแล้ว ก็สามารถเรียนรู้ต่อยอดได้เร็วยิ่งขึ้น สิ่งนี้จะทำให้ลูกหลานได้เปรียบในระยะยาว ซึ่งพ่อแม่สามารถทำเช่นเดียวกัน กับเรื่องความรู้ทางการเงิน ที่จะส่งมอบให้กับลูกน้อยได้ตั้งแต่อายุยังน้อย
สอนลูกเรื่องเงิน มี 4 เรื่องสำคัญ
เรื่องการเงินสำหรับเด็ก ไม่ได้ถูกตีความแค่ “หยอดเหรียญลงหมูออมสิน” เท่านั้น แต่มันครอบคลุมอย่างน้อย 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่
หนึ่ง..ออมเงินได้ (Saving)
สอง..ใช้เงินเป็น (Spending)
สาม..หาเงินเก่ง (Earning)
สี่..ต่อเงินงอกเงย (Investing)
นี่คือความรู้เรื่องการเงิน 4 ด้านที่สำคัญที่สุดที่จะปลูกฝังความรู้พื้นฐานต่าง ๆ ให้กับลูกหลาน สามารถสอนผ่านการปลูกฝังเป็นขั้นตอนตั้งแต่วัยอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย โดยตั้งเป้าหมายเมื่อลูกเรียนจบมหาวิทยาลัย เขาจะได้ความรู้พื้นฐานด้านการเงินมาผนวกกับวิชาในสายอาชีพที่เรียนมาจากมหาวิทยาลัย เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพที่พร้อมดูแลชีวิตของตนเองอย่างมั่นใจ
อันที่จริงยังมีความรู้เรื่องการเงินขั้นที่สูงกว่าด้านอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง เช่น ค่าเสียโอกาส (opportunity cost) การทำงบประมาณเพื่อประเมินสภาพคล่อง (Budgeting) หรือการเรียนรู้สินค้าทางการเงินชนิดต่าง ๆ (Investment Product) ฯลฯ แต่ผมคิดว่าการสอนลูกหลานเรื่องการเงินโดยพ่อแม่ เราควรทำให้เป็นธรรมชาติ และเรียบง่ายที่สุด ซึ่ง “ออมเงิน ใช้เงิน หาเงิน และต่อเงิน” คือความรู้จำเป็นขั้นพื้นฐาน เหมือนปัจจัยสี่นั่นเลยทีเดียว
หนึ่ง..ออมเงินได้ (Saving)
คือการสอนให้ลูกรู้ว่า จงอย่ารีบใช้เงินทั้งหมดที่มีในทันที เราสามารถเก็บออมมันไว้สำหรับอนาคต และมันเป็นเรื่องดีงามที่ลูกมีเงินออม
พ่อแม่สามารถเริ่มสร้างความเข้าใจพื้นฐานให้กับลูกตั้งแต่วัยอนุบาล ด้านการมัธยัสถ์อดออม รู้คุณค่าของเงิน เช่น พ่อแม่สอนให้เด็กเล็กเริ่มนำเหรียญหยอดกระปุกและเก็บรักษากระปุกนั้นให้ดีด้วยตัวเอง ดูเหมือนจะไม่มีอะไร ไม่ได้สอนอะไร ... แต่ที่จริงแล้วมันมีความหมายทางการเงินสูงกว่านั้น และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
เพราะเด็กเล็กจะเริ่มเรียนรู้และจดจำว่า เงินเป็นสิ่งมีคุณค่า กระปุกคือทรัพย์สินชิ้นใหญ่ของเขา และกระปุกที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ คือทรัพย์สินที่เพิ่มมูลค่า การออมเงินหยอดเหรียญลงกระปุกคือการสร้างคุณค่า สร้างได้ทุกวันและเห็นความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม นี่คือวินัยการออมเริ่มต้น ที่ควรเริ่มจากที่บ้าน
และเมื่อลูกโตขึ้นสู่วัยประถม พ่อแม่ควรแนะนำ “ธนาคาร” ให้ลูกรู้จัก พาลูกไปเปิดบัญชีออมทรัพย์ที่ธนาคาร ให้เขาแคะกระปุก นับเหรียญ แลกแบงก์ แล้วยื่นฝากเงินเอง การได้เห็นสมุดบัญชีเงินฝากที่มีตัวเงินเพิ่มขึ้น จะให้ความรู้สึกก้าวหน้า สร้างความภูมิใจ และยังสอนเรื่องของดอกเบี้ยเงินฝากได้อีกทางหนึ่งด้วย
สอง..ใช้เงินเป็น (Spending)
คือการสอนให้ลูกรู้ว่า การใช้เงินคือการนำเงินสด ไปแลกสินค้า/บริการกลับมา ในเมื่อเงินเป็นสิ่งมีค่า ดังนั้น สินค้า/บริการ ที่ลูกตัดสินใจซื้อต้องมีคุณค่าและเหมาะสมคุ้มค่าต่อทุกการใช้จ่ายด้วย
- “ละเอียดในการใช้เงิน” เช่น พ่อแม่เปรียบเทียบราคาสินค้าทุกครั้งก่อนซื้อ ใช้คูปองลดราคาอย่างชาญฉลาด มีการนับเงินทอนทุกครั้งก่อนเก็บใส่กระเป๋า สิ่งเหล่านี้คือความละเอียดพื้นฐานในการใช้เงินทั้งสิ้น
- “อย่าใช้เงินเกินตัว” ไม่ใช่อยากได้อะไรแล้วพ่อแม่ต้องซื้อให้ทั้งหมด และแน่นอนว่า เด็กเล็กอาจจะยังไม่เข้าใจ ว่าของเล่นที่เขาอยากได้ ทำไมพ่อแม่ไม่ซื้อให้ ดังนั้นการสอนเรื่อง “รู้จักการยับยั้งชั่งใจ” เป็นสิ่งจำเป็น พ่อแม่อาจจะต้องอธิบายถึงความไม่คุ้มค่าในการซื้อของชิ้นนั้น หรืออาจจะสร้างทางเลือกในการใช้ เช่น อาจจะเล่นของเล่นชิ้นอื่นที่มี หรืออาจจะแลกของเล่นที่มีกับเพื่อน ๆ ลูกต้องเห็นภาพของทางเลือกต่าง ๆ แทนการใช้เงินแก้ปัญหา รวมถึงประโยชน์ของการใช้เงินอย่างมีคุณค่า
- “ลองให้ลูกบริหารเงินเอง” เมื่อเด็กโตขึ้นสู่วัยประถมปลายถึงมัธยม การให้เงินลูกใช้เป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือนเป็นอีกวิธีหนึ่งในการสอนเรื่องการบริหารและความรับผิดชอบทางการเงิน เมื่อเขาได้ตัดสินใจใช้เงินนี้ไปกับอาหารกลางวัน ขนม การ์ตูน กิฟท์ หรือของเล่นหน้าโรงเรียน พ่อแม่ควรสอนแนะนำลูกถึงความคุ้มค่าไปพร้อม ๆ กัน และเมื่อลูกอยากได้ของชิ้นใหญ่อะไรซักอย่าง เราอาจให้เขาทำแผนการใช้จ่ายเงิน ว่าจะใช้เงินอย่างไรให้เหมาะสม ที่จะมีเงินเหลือเก็บออมไว้ซื้อของที่ต้องการได้
สาม..หาเงินเก่ง (Earning)
คือการสอนให้ลูกรู้ว่า ถ้าการใช้เงินคือการนำเงินสดไปแลกสินค้า/บริการ...การหาเงินก็คือการที่ตัวเราต้องทำงานสร้างสินค้า/บริการที่มีผู้คนต้องการ ไปขายเพื่อแลกเงินกลับมาเช่นกัน
เด็กเล็กต้องเรียนรู้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่าเงินไม่ใช่สิ่งที่งอกได้เองบนต้นไม้ และไม่ได้ไหลออกมาจากตู้ ATM แต่เงินเป็นสิ่งที่ต้องทำงานสร้างสินค้าและบริการขึ้นมาขายแลกเงิน หมอให้บริการทางการแพทย์ ทนายความให้บริการทางกฎหมาย วิศวกรโยธาให้บริการสร้างบ้าน เชฟสร้างสินค้าที่เป็นอาหาร ฯลฯ มีอาชีพเป็นร้อยเป็นพันอาชีพที่สร้างเงินได้ บางอาชีพต้องใช้วุฒิการศึกษา บางอาชีพไม่ต้องใช้ บางอาชีพได้เงินน้อย บางอาชีพได้เงินมาก บางอาชีพคือเทรนด์อนาคต บางอาชีพกำลังถูกดิสรัปชั่น ฯลฯ ให้ข้อมูลลูกเรื่องการหาเงินและอาชีพการงานไว้ สุดท้ายเขาจะเชื่อมโยงความสนใจกับการศึกษาและเลือกในสิ่งที่ต้องการได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ พ่อแม่เล่าให้ลูกฟังได้เสมอ
สี่ ...ต่อเงินงอกเงย (Investing)
คือการสอนให้ลูกรู้ว่า การลงทุนคือการวางเงินลงในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเพิ่มมูลค่าในระยะยาว การลงทุนที่ดีจะช่วยผ่อนแรงในการสร้างมั่งคั่งได้
- คนสมัยก่อน เมื่อมีเงินออมจำนวนหนึ่งเขาจะนำไปลงทุนซื้อ “ทองคำ” เก็บเอาไว้ เพราะทองคำเป็นสินทรัพย์ที่เพิ่มมูลค่าในระยะยาว และยังสามารถใช้งานเป็นเครื่องประดับได้อีกด้วย เราจะเห็นชุมชนเก่าหลายแห่งมักจะมีร้านขายทองตั้งอยู่กลางชุมชนเลย และวันเงินเดือนออก คือ วันที่คนแน่น
- ในสมัยต่อมา เมื่อมีเงินออมมากขึ้นจำนวนหนึ่งเขาจะนำไปลงทุนซื้อ “ที่ดิน” เก็บเอาไว้ เพราะที่ดินเป็นสินทรัพย์ที่เพิ่มมูลค่าในระยะยาว และยังสามารถใช้งานต่อยอดสร้างเป็นโกดังให้เช่า หรืออพาร์ทเม้นท์ให้เช่า รับรายได้เป็นเงินไหล (Passive Income) ได้อีกทางหนึ่งด้วย
- ในยุคสมัยนี้ สินทรัพย์เพื่อการลงทุนมีมากมาย นอกจากทองคำและอสังหาฯ ก็ยังมีหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ หุ้นธีมเทคโนโลยี หุ้นธีมการแพทย์ กองรีท กองโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ในวัยมัธยมถึงมหาวิทยาลัย พ่อแม่สามารถปลูกฝังไอเดียในการลงทุน โดยเริ่มจากสิ่งที่เข้าใจง่ายและเป็นหลักการขั้นพื้นฐาน เช่น การมีทัศนคติที่ดีต่อการลงทุน ไม่เน้นเก็งกำไรในสินทรัพย์เสี่ยงสูง แต่ให้เน้นทยอยลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์ที่เติบโต เข้าใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยทบต้น เข้าใจเรื่องเงินปันผลที่ได้จากหุ้นและกองทุน เข้าใจเรื่องความเสี่ยงของสินทรัพย์ลงทุนชนิดต่าง ๆ ฯลฯ โดยที่ยังไม่เน้นการนำเงินจริงไปลงทุนก็ได้เช่นกัน
“ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น” หัวใจของการสอนลูกเรื่องเงินที่ดีที่สุด คือ การที่พ่อแม่เป็นตัวอย่างทางการเงินที่ดี เพราะลูกจะซึมซับพฤติกรรมและทัศนคติทางการเงินจากพ่อแม่โดยไม่รู้ตัว แม้การพร่ำสอนนั้นสำคัญ แต่การกระทำเป็นตัวอย่างที่ดีนั้น ชัดเจนและน่าจดจำในหัวใจลูก ยิ่งกว่าสิ่งใดเสมอครับ