หลาย ๆ คนที่เพิ่งจะเข้ามาเป็นมนุษย์เงินเดือนหน้าใหม่ อาจจะสงสัยว่า ทำไมเงินเดือนที่เราได้รับในแต่ละเดือนนั้นไม่ตรงกันกับสลิปเงินเดือนหรือสัญญาว่าจ้างงานเลย แล้วเงินของเราหายไปไหนล่ะ? เมื่อลองมาตรวจสอบดูในสลิปเงินเดือนของเราดี ๆ ก็จะพบว่า เงินเดือนของเรานั้นโดนหักทั้งค่าประกันสังคม ภาษี รวมไปถึงเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยที่บางคนก็ไม่เคยรู้เลยว่าบริษัทหักเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปทำอะไร?
ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกันก่อนดีกว่าว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คืออะไร?
เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund คือกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ โดยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีข้อดีตรงที่สามารถเก็บเป็นเงินสำรองไว้ให้ลูกจ้างใช้จ่ายยามเกษียณอายุ ออกจากงาน ทุพพลภาพ หรือเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัว ในกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิต
โดยเงินจำนวนนี้จะมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสะสม” และเงินที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนให้อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสมทบ” แล้วนำไปฝากไว้ให้กับมืออาชีพอย่าง “บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน” (บลจ.) ช่วยบริหารจัดการและนำเงินไปลงทุน เพื่อให้เงินในกองทุนของเรานั้นงอกเงย
จะหักเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด?
หลายคนอาจเคยสงสัยว่า เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องหักกี่เปอร์เซ็นต์ ในการหักเงินสมทบนั้น กฎหมายได้กำหนดให้ลูกจ้างสะสมได้ตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน และนายจ้างสมทบเข้าเป็นประจำทุกครั้งที่จ่ายเงินเดือนให้อีกในอัตราตั้งแต่ 2-15% ตามข้อบังคับของแต่ละบริษัท เพราะฉะนั้นถ้ามองในแง่ของการลงทุนแล้ว ยิ่งเราสะสมมากเท่าไหร่ เรายิ่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น และที่สำคัญเราสามารถนำ “เงินสะสม” ที่เราสะสมในแต่ละปี ไปหักลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
จะได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืนเมื่อไหร่?
โดยปกติแล้วสมาชิกกองทุนมีสิทธิได้รับเงินคืนจากกองทุนเมื่อความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ทั้งลาออกจากงาน เกษียณอายุ โอนย้ายกองทุน หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต โดยจะได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมทั้งจำนวน ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจะได้รับตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน
จะจัดการกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไรดี เมื่อลาออกจากงาน?
เป็นธรรมดาสำหรับมนุษย์เงินเดือนหน้าใหม่อย่างเราที่เมื่อทำงานมาสักพักหนึ่งแล้ว ก็เริ่มที่จะมองหาความก้าวหน้าในชีวิต รวมถึงการเติบโตในหน้าที่การงานด้วย เพราะฉะนั้นการตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อมองหาความท้าทายใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่ก่อนที่จะเปลี่ยนงาน อย่าลืมที่จะรักษาสิทธิต่าง ๆ ที่เราควรได้รับจากที่ทำงานเดิม โดยเฉพาะการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากบริษัทไหนมีกองทุนนี้ให้กับพนักงาน ไม่อย่างนั้นตัวเราเองนี่แหละที่อาจจะเสียประโยชน์ได้ ซึ่งวันนี้เราได้สรุปมาให้ทุกคนทั้งหมด 3 ทางเลือกด้วยกัน
วิธีแรก ฝากไว้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานเดิมได้
โดยจะได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนต่อไป แต่จะไม่มีเงินสมทบ เพื่อรอให้เราพร้อมสำหรับการโอนย้ายไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่ หรือกองทุนรวม RMF ก็ได้ แต่มีค่าธรรมเนียมการคงเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ที่ 500 บาทต่อปี
วิธีที่สอง โอนย้ายไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่ หรือกองทุนรวม RMF
ทั้งสองกรณีนี้ไม่ต้องเสียภาษีหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ แต่ถ้าหากที่ทำงานใหม่ ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็จะต้องนำเงินก้อนนี้ไปไว้ที่กองทุนรวม
RMF for PVD แทน ซึ่งตรงนี้ก็ต้องมาศึกษากันว่ามี บลจ. ที่ไหนเปิดรับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบ้าง
เมื่อโอนย้ายกองทุน PVD เข้า RMF for PVD ก็สามารถสับเปลี่ยนกองทุนได้แต่ต้องเป็นกองทุน RMF for PVD ด้วยกันเท่านั้น
วิธีที่สาม นำเงินออกมาลงทุนต่อเอง หรือนำไปใช้จ่ายอย่างอื่น
หากมนุษย์เงินเดือนคนไหนลาออกจากงานแล้ว และอยากจะสร้างความท้าทายด้วยการนำเงินไปเริ่มต้นลงทุน หรือนำไปใช้จ่ายในเรื่องที่ต้องการ ก็ต้องมาคำนวณดูว่าเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้มาจะยื่น
ภาษีอย่างไร และเท่าไหร่ ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- ถ้าอายุงานน้อยกว่า 5 ปี หรือลาออกจากกองทุน แต่ไม่ได้ลาออกจากงาน : ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี โดยจะต้องนำเงินที่ได้ทั้ง 3 ส่วน (เงินสมทบ ผลประโยชน์ของเงินสะสม และผลประโยชน์ของเงินสมทบ) มารวมเป็นเงินได้เพื่อคำนวณภาษี
สมมติว่า ณ ตอนนี้เราเป็นสมาชิก PVD โดยมียอดเงินสะสมอยู่ที่ 500,000 บาท เงินสมทบ 500,000 บาท ผลประโยชน์เงินสะสม 50,000 บาท และผลประโยชน์เงินสมทบ 50,000 บาท หากเราลาออกจากงานในตอนนี้ เราจะต้องนำเงินได้ทั้ง 3 ส่วน คือ เงินสมทบ ผลประโยชน์เงินสะสม และผลประโยชน์เงินสมทบ >> 500,000 + 50,000 + 50,000 = 600,000 บาท มารวมกับรายได้ของเราในปีนั้น เพื่อยื่นภาษีด้วย
- ถ้าอายุงาน 5 ปีขึ้นไป แต่อายุไม่เกิน 55 ปี : สามารถเลือกได้ว่าจะนำไปคำนวณรวมกับเงินได้ทั้งปี หรือแยกคำนวณภาษีต่างหาก โดยไม่ต้องไปรวมกับเงินได้ประจำปีก็ได้
ในกรณีที่แยกคำนวณภาษี เราสามารถนำรายได้ส่วนนี้ไปหักค่าใช้จ่ายแบบพิเศษได้ 7,000 บาทต่ออายุงาน 1 ปี ส่วนที่เหลือสามารถหักออกได้อีกครึ่งหนึ่ง ก่อนที่จะนำไปรวมเป็นรายได้สุทธิ
สมมติว่า ณ ตอนนี้เราเป็นสมาชิก PVD โดยทำงานมาแล้ว 5 ปี และมียอดเงินสะสมอยู่ที่ 500,000 บาท เงินสมทบ 500,000 บาท ผลประโยชน์เงินสะสม 50,000 บาท และผลประโยชน์เงินสมทบ 50,000 บาท หากเราลาออกจากงานในปีนี้ จะต้องนำเงินได้ทั้งหมดมาคำนวณภาษีดังต่อไปนี้
- นำเงินที่ได้จากกองทุน (เงินสมทบ + เงินผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบ) หักค่าใช้จ่ายพิเศษ จำนวน 7,000 บาท คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน >> 600,000 – (7,000 x 5) = 565,000 บาท
- เหลือเงินได้เท่าไหร่ ให้นำไปหักออกอีกครึ่งหนึ่ง >> 565,000 – 282,500 = 282,500 บาท
- สุดท้ายจึงนำเงินได้ที่เหลือ 282,500 บาท ไปเป็นรายได้สุทธิ เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ โดยจะไม่ได้สิทธิยกเว้นภาษีสุทธิขั้นแรก 150,000 บาท
- ถ้าอายุสมาชิกกองทุน 5 ปีขึ้นไป และอายุ 55 ปีขึ้นไป : ไม่ต้องเสียภาษี
สุดท้ายแล้วทางเลือกสำหรับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเราต้องเปลี่ยนงานนั้นก็มีหลากหลายวิธี แตกต่างกันไป และการวางแผนเกษียณผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็มีความสำคัญและมีหลากหลายตัวเลือกให้ตัดสินใจเช่นกัน หากเราจะเลือกวิธีใดก็ควรศึกษาและวางแผนการลงทุน รวมถึงสิทธิประโยชน์ของแต่ละวิธีนั้นให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และเพื่อให้เราสามารถรักษาผลประโยชน์ของเราได้อย่างสูงที่สุด
หากต้องการปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติม ทางธนาคารกรุงศรีมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะ ที่สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้
ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรี ติดต่อกลับ
บทความโดย
สิรภัทร์ เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา