คำถามหนึ่งที่ถูกถามบ่อย ๆ ว่า “ถ้าอยากมีเงินมากขึ้น เราควรหารายได้เพิ่มหรือประหยัดเงินดีกว่ากัน” นี่เป็นคำถามที่ค่อนข้างตอบยาก เพราะการจะประหยัดหรือหารายได้ให้มากขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์ ข้อจำกัดของชีวิตและความรู้ความสามารถของแต่ละคน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีคำตอบเสียทีเดียว
ก่อนที่จะเริ่ม “อดออม” หรือ “หารายได้” เพิ่มได้นั้น สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ถามตัวเองให้ได้ก่อนว่า “การหาเงินเพิ่ม 100 บาทกับการประหยัดเงิน 100 บาท” แบบไหนทำง่ายกว่ากัน?
สูตรง่าย ๆ ก่อนเริ่มต้นรวย
สูตรที่ 1 “เพิ่มรายได้” ทำได้หรือเปล่า
บางคนมองหาโอกาสเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ในการเพิ่มรายได้ รวมถึงมีความรู้ความสามารถและช่องทางที่จะต่อยอดสิ่งต่าง ๆ ให้กลับมาเป็นเงินได้ ความมั่นใจจะมากขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้เราใช้จ่ายอย่างสนุกสนานเพราะคิดว่าสามารถดูแลรายจ่ายและหนี้สินที่สร้างขึ้นมาได้เป็นอย่างดี
แต่เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นก็ควรแบ่งมาเก็บออมเพื่อไว้ใช้จ่ายในช่วงชีวิตขาลงด้วย นอกจากนี้ยังมีสภาพเศรษฐกิจขึ้นลงที่เราต้องรับมือให้อยู่หมัด เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ อาจจะส่งผลกระทบทำให้เงินในกระเป๋าเราลดลง หรือมีรายได้ที่น้อยลง ดังนั้น สิ่งสำคัญที่เราควรทำจะเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมตลอดเวลา เราจึงต้องมี “เงินออมฉุกเฉิน” ที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงที่เราต้องการใช้เงินอย่างเร่งด่วน เช่น ตกงาน เจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วน เป็นต้น
“ยิ่งรายได้มากขึ้น ยิ่งต้องออมเงินมากขึ้น”
สูตรที่ 2 “ประหยัดอดออม” ทำได้ไหม
บางคนมีวินัยในการประหยัดและอดออม หากจะจ่ายเงินซื้อของสักชิ้นก็ต้องเปรียบเทียบความคุ้มค่าที่จะซื้อ เช่น ราคา ปริมาณ คุณภาพ ไปจนถึงประโยชน์ใช้สอยอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจซื้อ มากไปกว่านั้นยังศึกษาข้อมูลอีกด้วยว่าควรซื้อที่ไหน และซื้ออย่างไรถึงจะคุ้มค่าที่สุด เรียกง่าย ๆ ว่าใช้จ่ายแต่ละบาทให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเอง
วิธีประหยัดรายจ่ายนั้นจะต้องใช้การจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่เราอยากได้เข้ามาตัดสินใจด้วย เพราะเราไม่สามารถซื้อทุกอย่างที่เราอยากได้พร้อมกันทีเดียว เราควรเลือกว่าอะไรที่มีความสำคัญที่สุด ถ้าไม่จ่ายก็จะทำให้ชีวิตเราและครอบครัวเดือดร้อน เช่น หนี้สินต่าง ๆ ก็จะต้องจ่ายก่อน แล้วสิ่งของฟุ่มเฟือยอื่น ๆ ค่อยมาในช่วงที่เรามีเงินเหลือเฟือแล้ว
แต่อีกด้านหนึ่งของการประหยัด ก็มีอีกแง่มุมหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ นั่นคือ “การประหยัดจนเกินเหตุ” เพราะบางครั้งอาจจะไปเบียดเบียนผู้อื่นจนเรากลายเป็นคนงกได้โดยไม่รู้ตัว มีบางคนนำสิ่งของที่เป็นส่วนรวม เอามาเป็นของส่วนตัวเพื่อให้ตนเองประหยัดรายจ่ายหรือการเอาเปรียบคนใกล้ตัว รวมถึงการประหยัดที่มากเกินไปจนทำให้ชีวิตไม่มีความสุข จากการใช้ของราคาถูกที่ด้อยคุณภาพจนเกิดความเสียหายแก่ร่างกาย เช่น การทำศัลยกรรมเถื่อน การใช้เครื่องสำอางปลอม เป็นต้น
“ใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่า ประหยัดอดออมและไม่เบียดเบียนผู้อื่น”
สูตรที่ 3 มิกซ์แอนด์แมตช์ (ผสมทั้งสองสูตรเข้าด้วยกัน)
บางคนถนัดที่จะผสมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน เพื่อจะทำให้ชีวิตเรามีเงินออมมากยิ่งขึ้น ลองนึกภาพตามนะคะ จากแต่ก่อนเราหาเงินได้ 100 บาท เราขยันทำให้มีรายได้เพิ่มเป็น 120 บาท ส่วนฝั่งรายจ่ายเราก็เข้มงวดกับการซื้อของอย่างเคร่งครัด แม้ว่ามีรายได้มากขึ้นแต่ก็ยังมีรายจ่ายคงเดิมอยู่ที่ 60 บาท เราจะคิดเป็นสัดส่วนการออมเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 40% กลายเป็น 50% แต่ถ้าเราประหยัดรายจ่ายให้ลดลงเหลือ 55 บาท ทำให้สัดส่วนการออมเพิ่มเป็น 54.16%
ถ้าเรามีรายได้มากขึ้น แล้วเพิ่มรายจ่ายตามไปด้วยก็จะทำให้สัดส่วนการออมเงินไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าต้องการให้มีเงินออมมากขึ้น เราควรปรับพฤติกรรมอีกนิดว่าเมื่อรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ก็ควรปรับลดรายจ่ายเป็นตัวช่วยก็จะทำให้เรามีเงินออมมากขึ้นด้วย ถือเป็นกำไรสองต่อที่ช่วยให้เรามีเงินออมมากขึ้นด้วย
“เราเรียนหนังสือเพื่อหารายได้ แต่เรารู้จักการออมเพื่อรักษารายได้”
ผู้อ่านสามารถนำแนวคิดเหล่านี้ไปปรับใช้ให้เข้ากับความถนัดของตนเองว่าจะ “เพิ่มรายได้” “ประหยัดอดออม” หรือว่าจะใช้สูตรผสมทั้งสองอย่าง แม้ว่าจะยากหน่อยในช่วงเริ่มต้น แต่เราทุกคนสามารถทำได้ โดยเริ่มจากสิ่งที่เราทำได้ง่าย ๆ ก่อน เพื่อให้รู้สึกฮึกเหิมให้ตนเอง แล้วค่อยลงมือทำสิ่งที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไป ถ้าทำได้แบบนี้เป้าหมายการมีเงินออมก็จะไปถึงได้อย่างสบาย ๆ เลยค่ะ
5 เคล็ดลับปรับนิสัยให้รักการออม
- ฝึกจดบัญชี รายรับ-รายจ่าย
- ออมก่อนใช้ทุกครั้ง (ออม 10%, 20%)
- ตัดบัญชีอัตโนมัติ รัดกระเป๋าก่อนเงินรั่ว
- ตั้งเป้าหมายก่อนออม ไม่ให้พลาดเป้าหมาย
- เอาเงินไปลงทุนให้งอกเงย