การออมเงินจนเป็นนิสัยของเรานั้น สามารถนำพาไปสู่การลงทุนที่จะช่วยให้เงินออมของเราออกดอกออกผลให้ประโยชน์ กับเราได้มากมายต่อไปในอนาคต เราสามารถได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในอนาคต หรือเป็นการออมรูปแบบหนึ่งที่จะทำให้ได้รับผลตอบแทนมากขึ้น แม้ว่าจะต้องยอมรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนเช่นกัน ดังนั้นการศึกษาข้อมูล และการพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนใด ๆ ก็ตาม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนนั่นเอง
ทำไมต้องบริหารความเสี่ยงก่อนลงทุน?
ความเสี่ยง คือ โอกาสที่มูลค่าของเงินลงทุนของเราจะลดลง ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราควรรู้ คือ ความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเองก่อน โดยเราสามารถประเมินความเสี่ยงได้จากความรู้ ประสบการณ์ การยอมรับผลการขาดทุน และทัศนคติเกี่ยวกับการลงทุนของเรา และนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการพิจารณาว่าเราควรจะลงทุนในการลงทุนรูปแบบไหนที่มีความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวเองนั่นเอง (
อ่านเป็นเศรษฐีได้ไม่ยากด้วย สูตรการออม)
โดยสามารถแบ่งระดับความเสี่ยงออกเป็น 3 กลุ่มได้ดังต่อไปนี้
- กลุ่มผู้รับความเสี่ยงน้อย เป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีความระมัดระวังสูง เชื่อในสุภาษิตช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม ทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้สูญเงินต้นที่ได้ลงทุนไป อยู่ในกลุ่มที่ลงทุนรูปแบบปลอดภัยไว้ก่อน ทำให้อัตราส่วนกำไร-ขาดทุนไม่สูงมากนัก คือ ถ้าเสียก็เสียไม่เยอะ ถ้าได้ก็ได้ไม่เยอะเช่นกัน
- กลุ่มผู้รับความเสี่ยงปานกลาง เป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองพอสมควร อาจจะทำการบ้านมาเยอะ มีความมั่นใจในตัวเองมากพอสมควร มีประสบการณ์บ้าง เน้นความมั่นคงก็จริง แต่ว่าสามารถยอมรับผลขาดทุนได้บ้างพอสมควร
- กลุ่มผู้รับความเสี่ยงสูง เป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีความเชื่อมั่นสูงที่สุดในสามกลุ่ม คือ เห็นว่าหากมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงในการลงทุน ก็พร้อมที่จะรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
วิธีการออมเพื่อบริหารความเสี่ยงอย่างง่าย ๆ
1.
สร้างอัตราการออมเงินที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
สูตรการคำนวณอัตราการออมเงิน = (1 – ค่าใช้จ่าย/รายได้) x 100
ตัวอย่างเช่น หากคุณมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนที่ประมาณ 20,000 บาท เท่ากับว่าคุณจะมีอัตราการออมเงินอยู่ที่ (1 – 20,000/30,000) x 100 = 33% 5 ปีต่อมา คุณมีรายได้เพิ่มเฉลี่ยเป็น 50,000 บาท และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 45,000 บาทต่อเดือน เท่ากับคุณมีอัตราการออมเงินอยู่ที่ 10% เป็นต้น
จากสูตรข้างต้น คุณมีอัตราการออมเงินเป็นบวกเพราะว่าคุณสามารถหารายได้ได้มากกว่ารายจ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ว่าคุณมีอัตราการออมเงินที่ลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะหากปล่อยไว้นาน คุณอาจจะไม่มีเงินออมเพิ่มนั่นเอง
หมายเหตุ : คิดจากรายได้สุทธิหลังหักภาษีเงินได้แล้วเท่านั้น ควรศึกษาวิธีการลดหย่อนภาษีที่ถูกต้อง การคำนวณค่าใช้จ่ายให้คิดเฉพาะเงินที่ใช้กับการบริโภคเท่านั้น (ไม่รวมเงินออมและเงินลงทุน)
2.
จัดสมดุลการออมเงิน
ปัจจุบันนี้ มีช่องทางการใช้เงินอนาคตอย่างมากมาย สามารถซื้อสินค้า บริการที่เราอาจจะยังไม่มีเงินพอ ไม่ว่าจะเป็นบัตรกดเงินสด บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อในระบบ นอกระบบต่าง ๆ โดยเราจะต้องทำการชำระเงินที่ใช้ไปคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งก็จะมาจากเงินออมในอนาคตของคุณนั่นเอง (
อ่าน 5 นิสัยเสียทำลายรากฐานความรวย)
3.
เรียนรู้วิธีการออมเงินหลาย ๆ รูปแบบ
แบ่งเงินออมเป็นหลาย ๆ ส่วน ดังนี้
เงินออมทั้งหมด = เงินใช้จ่าย + เงินฉุกเฉิน + เงินลงทุน
โดยเงินออมแต่ละกองก็มีหน้าที่แตกต่างกันเหมือนตามชื่อ
- เงินใช้จ่าย เป็นเงินส่วนที่จะช่วยสร้างสภาพคล่องให้เรามีเงินใช้จ่ายตามต้องการ ดังนั้นเราจะต้องสามารถเข้าถึงเงินส่วนนี้ได้ทุกเมื่อ และควรจะสะสมให้มีมูลค่าเท่ากับค่าใช้จ่ายที่เราใช้ประจำเป็นเวลา 3-6 เดือน
- เงินฉุกเฉิน ปกติแล้วควรจะเก็บเงินจำนวนเทียบเท่ากับรายจ่ายรายเดือนเป็นจำนวน 3-6 เดือนเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เพราะอย่างน้อยเราจะมีเงินสำรองสามารถนำมาใช้จ่ายได้ในระยะเวลาหนึ่งนั่นเอง สามารถดำเนินชีวิตได้เกือบเหมือนปกติ เราไม่ควรจะต้องใช้เวลามากนักที่จะเข้าถึงเงินจำนวนนี้
- เงินลงทุน เป็นเงินกองที่เราเก็บออมเอาไว้เพื่อนำไปลงทุนต่อยอด ให้เงินออมของเราออกดอกออกผลเพิ่มขึ้นนั่นเอง โดยจะต้องเป็นเงินก้อนเงินเย็นที่เราสามารถนำไปลงทุนโดยไม่มีการแตะต้องเอาออกมาใช้จ่ายได้เป็นระยะเวลานาน ๆ