Personal Trainer อาชีพสุดเฟิร์ม เติมไฟให้คนรักสุขภาพ

Personal Trainer อาชีพสุดเฟิร์ม เติมไฟให้คนรักสุขภาพ

By Krungsri Plearn Plearn

“ต้องการลดน้ำหนัก 10 กิโล ใน 3 เดือน” “อยากเพิ่มกล้ามเนื้อ แต่ไม่อยากอ้วน” “อยากมีซิกแพคต้องออกกำลังกายแบบไหน” คำถามที่เรามักจะเจอบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน บางคนเลือกที่จะถามเพื่อน หรือหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต คำตอบที่ได้ก็หลากหลายมาก จนไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง ยิ่งคนที่ตั้งเป้าว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีรูปร่างดีขึ้นอย่างชัดเจน แน่นอนว่าต้องการคำแนะนำจากผู้มีความรู้และประสบการณ์ แล้วเราจะหันไปปรึกษาใครดีล่ะ ถ้าไม่ใช่ “Personal Trainer” หรือที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า “เทรนเนอร์” ผู้ที่มีหน้าที่หลักคือการดูแลการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับความต้องการของบุคคลนั้น ๆ โดยไม่ทำให้บาดเจ็บหรือเสียสุขภาพ

ค้นหาความถนัดด้านกีฬา

แน่นอนว่าอาชีพเทรนเนอร์ ถ้ามีรูปร่างดีก็เป็นต่อ แต่ความรู้ที่มีก็ต้องแน่นไม่แพ้กล้าม เส้นทางการเป็นเทรนเนอร์ของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือเป็นคนรักสุขภาพ เริ่มแรกควรถามตัวเองก่อนว่าเราถนัดกีฬาอะไรมากที่สุด แล้วก็หมั่นฝึกฝน และเอาดีทางด้านนั้นไปเลย เพราะเทรนเนอร์แต่ละคนอาจมีความเชี่ยวชาญต่างกันตามเป้าหมายของการออกกำลังกาย เช่น เสริมสร้างสุขภาพ (Fitness Training), เสริมสร้างสรีระ (Physique Training) หรือการฝึกสำหรับกีฬาเฉพาะประเภท (Athletes Training) นอกจากนี้อาจการันตีความรู้ความสามารถด้วยการเรียนต่อในสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา หรือเข้าอบรมหลักสูตรครูฝึกสอนส่วนบุคคล เพื่อให้มีความรู้ครอบคลุมด้านสรีระวิทยา กายวิภาคศาสตร์ และโภชนาการ สามารถสอนลูกค้าได้อย่างถูกต้อง

ต้องไม่ละเลยหน้าที่

หน้าที่สำคัญของเทรนเนอร์คือการออกแบบและสอนโปรแกรมการดูแลสุขภาพให้กับลูกค้าในทุกระดับตามความสามารถ เพราะความต้องการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เทรนเนอร์ต้องคอยเสริมสร้างกำลังใจและเสริมวินัยให้ลูกค้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงสุขภาพของตัวเอง ซึ่งเทรนเนอร์แต่ละคนต้องมีวิธีรับมือกับวินัยของสมาชิก ในกรณีที่ลูกค้าต้องการลดน้ำหนักและอยากมีหุ่นเฟิร์มขึ้น เริ่มแรกเลยเทรนเนอร์จะต้องสอบถามข้อมูลว่าไลฟ์สไตล์เป็นอย่างไร มีนิสัยแบบไหน เพื่อจะวางโปรแกรมให้เราไปถึงจุดมุ่งหมายได้โดยไม่ฝืนร่างกายจนเกินไป จากนั้นจึงค่อยออกแบบโปรแกรมออกกำลังกายให้ โดยนัดเจอลูกค้าครั้งละ 1 ชั่วโมง หากลูกค้าเป็นคนไม่ค่อยออกกำลังกายมาก่อน เทรนเนอร์อาจจะให้ลองทำแค่ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ให้ร่างกายปรับตัว แล้วพอร่างกายเริ่มชิน ก็เพิ่มเป็น 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยโปรแกรมออกกำลังก็จะมีทั้งคาร์ดิโอ และเวท เทรนนิ่ง แบ่งเป็นวันที่เล่นให้ขาเฟิร์มกับวันช่วงบน เล่นเซ็ทละ 15 ครั้ง 4 เซ็ต และคาร์ดิโอ เช่น ปั่นจักรยาน วิ่ง หรือเดิน การคิดจำนวนครั้ง ก็ขึ้นอยู่กับร่างกายแต่ละคนด้วย ไม่ใช่ว่าเทรนเนอร์จะให้ทุกคนทำเหมือนกันหมด หากเล่นผิดคือบาดเจ็บ และไม่เกิดประโยชน์

นอกจากนี้อาจจัดตารางอาหารให้ เพราะลูกค้าบางคนอาจเข้าใจว่าถ้าออกกำลังกายแล้ว จะทานอะไรก็ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เทรนเนอร์ควรให้ความรู้เรื่องโภชนาการที่ถูกต้อง จากนั้นควรมีการประเมินร่างกายลูกค้าเป็นระยะ ๆ เพื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลง

เมื่อดูแลลูกค้าแล้ว เทรนเนอร์ก็ต้องไม่ลืมที่จะดูแลตัวเองด้วย ต้องฟิตร่างกายให้เฟิร์มเปรี๊ยะ! อยู่ตลอดเวลาเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกค้า ไม่เพียงแต่การฝึกฝนร่างกายเท่านั้น ต้องมีความสามารถที่จะรักษาลูกค้าไว้ได้ในระยะยาว โดยเฉพาะที่ประจำอยู่ในฟิตเนส อาจอาศัยทักษะของอาชีพเซลล์ร่วมด้วย เพราะต้องทำยอดตามเป้าที่วางไว้

สร้างจุดเด่นให้ตัวเอง

อาชีพเทรนเนอร์มีการแข่งขันสูงมาก ต้องรู้จักสร้างจุดขายให้ตัวเอง ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือช่วยให้คนรู้จักมากขึ้น อาจสร้างเว็บบล็อก เขียนบทความให้ความรู้เรื่องสุขภาพ แชร์ประสบการณ์ตัวเอง หรือทำวิดีโอสอนออกกำลังกาย หมั่นพัฒนาตัวเองตลอดเวลา อัปเดตความรู้ใหม่ ๆ เรียนรู้ทักษะการสื่อสาร ยิ่งถ้าพูดได้หลายภาษา ก็มีโอกาสในการทำงานมากขึ้น เป็นผลดีต่อตัวเทรนเนอร์และลูกค้าด้วย ปัจจุบันเทรนเนอร์อาจทำงานประจำอยู่ตามฟิตเนส หรือเป็นเทรนเนอร์อิสระก็ได้ ยิ่งในยุคที่สื่อโซเชียลมาแรงมาก เทรนเนอร์สามารถสอนลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ไม่จำเป็นต้องสอนกันตัวต่อตัวหรือในฟิตเนสอีกต่อไป เมื่อสั่งสมประสบการณ์ในอาชีพมาสักระยะ บางคนอาจต่อยอดไปเป็นครูฝึกสอนเทรนเนอร์ ในสายธุรกิจอาจเติบโตเป็นระดับผู้จัดการของฟิตเนส ถ้ามีทุนเยอะหน่อยก็สามารถเปิดฟิตเนสเป็นของตัวเอง

สุขภาพดี รายได้งาม

เทรนเนอร์จัดว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้ดีทีเดียวครับ ถ้าทำงานประจำอยู่ตามฟิตเนส จะรับเงินเดือนประจำบวกกับค่าคอมมิชชั่นที่ได้จากการทำยอดหาลูกค้า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน ว่าสามารถดึงลูกค้าให้อยู่ในมือได้เท่าไหร่ ฟิตเนสบางที่อาจกำหนดว่าเทรนเนอร์ต้องมีลูกค้าอยู่ในมือ 10 คนขึ้นไปต่อเดือน รายได้ก็จะอยู่ที่ 30,000 บาทขึ้นไป ถ้าเป็นเทรนเนอร์ฟรีแลนซ์ ก็จะได้ค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมง ค่าเฉลี่ยชั่วโมงละ 800-2,000 บาท เทรนเนอร์คนไหนมีลูกค้าประจำวัน 4-5 ราย อาจมีรายได้พุ่งไปถึงหลักแสนต่อเดือนเลยทีเดียว

จรรยาบรรณคือสิ่งสำคัญ

เทรนเนอร์เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะทางร่างกายและมีใจรักงานบริการด้วย ซึ่งนี่เป็นจรรยาบรรณของอาชีพที่ไม่ควรละเลย ต้องดูแลลูกค้าโดยไม่ก้าวล้ำความเป็นส่วนตัว ไม่ฝืนร่างกายของลูกค้าจนเกินไป ปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเท่าเทียม หลีกเลี่ยงคำพูดที่ทำให้เสียกำลังใจ ไม่ออกกำลังกายในชั่วโมงที่ต้องสอนลูกค้า รวมไปถึงการแต่งกายต้องสุภาพและเหมาะสม เช่น เทรนเนอร์ผู้ชายไม่ควรถอดเสื้อ หรือเทรนเนอร์ผู้หญิงไม่ควรแต่งตัวโป๊ เพราะอาจไปขัดขวางสมาธิของลูกค้า เทรนเนอร์ที่ดีย่อมไม่เน้นการขายคอร์สเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างแรงกระตุ้นการออกกำลังกาย เพื่อให้ผู้ฝึกสามารถทำตามได้เอง

เห็นมั้ยครับว่ากว่าจะเป็นเทรนเนอร์ได้ ไม่ใช่หมู ๆ เลย ต้องมีความสามารถมาโชว์มากกว่าแค่อวดกล้ามใหญ่ หุ่นฟิต เอาใจใส่ดูแลตัวเองให้ดีพอ ๆ กับดูแลลูกค้าเลยทีเดียว และในปัจจุบันที่เทรนด์รักสุขภาพกำลังมาแรงมาก ทำให้นิยามของคำว่าเซ็กซี่คือคนที่มีร่างกายแข็งแรง ฟิตแอนด์เฟิร์ม โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ดาราเซเลบหลายคนชอบอัพรูปออกกำลังกาย มีเทรนเนอร์ดูแล และโชว์กล้ามเนื้อหน้าท้องกันมากขึ้น ยิ่งเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนอยากลองใช้บริการเทรนเนอร์ส่วนตัวดูบ้าง เผื่อจะได้เฟิร์มแบบดาราคนโปรด เทรนเนอร์จึงกลายเป็นอาชีพที่มาแรง เติบโตเร็วที่สุดในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการออกกำลังกาย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของอาขีพ Personal Trainer ถ้ามั่นใจว่าจะมาทางนี้แล้ว ก็ลุยเลย! แล้วทำให้เต็มที่!

ขอบคุณข้อมูล
bangkokbiznews.com,,
honestdocs.co,,
fitthai.com,,
tonkit360.com,,
sanook.com,,
theptdc.com
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow