รู้ไหมครับว่าคุณมีความมั่งคั่งเท่าไหร่? แล้วเคยสำรวจดูไหมครับว่าความมั่งคั่งของคุณเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ๆ หรือไม่?
"จิตใจที่มุ่งมั่นกับความมั่งคั่ง สักวันคุณก็จะเป็นคนมั่งคั่งได้เอง"
ผมเชื่อว่าเป็นคำถามที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ไม่สนใจด้วยซ้ำคิดว่าเป็นเรื่องที่ปล่อยไปตามกาลเวลา แต่มันเป็นสิ่งสำคัญพาให้คุณไปสู่ความมั่งคั่งได้นะครับ เพราะการให้ความสำคัญกับสิ่งไหน สิ่งนั้นจะเข้าหาคุณในไม่ช้า จิตใจที่มุ่งมั่นกับความมั่งคั่ง สักวันคุณก็จะเป็นคนมั่งคั่งได้เอง ซึ่งเครื่องพิสูจน์ว่าคุณให้ความสำคัญกับความมั่งคั่งก็คือ การลงมือทำและคิดถึงเรื่องนี้อยู่เสมอ
ไม่ได้หมายถึงเงินเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึง ทรัพย์สินทั้งหมดที่คุณมี และหนี้สินทั้งหมดที่คุณก่อไว้ ดังนั้นการบริหารความมั่งคั่ง คือ การเพิ่มพูนทรัพย์สินสุทธิหลังหักหนี้สินภายใต้ความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้ ในส่วนต่อไปผมจะบอกเคล็ดลับที่ผมปฏิบัติมา 10 กว่าปีตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มทำงานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้ผมมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งแตกต่างจากคนอื่น ๆ ครับ
ผมบันทึกการเงินของตัวเองอย่างสม่ำเสมอทุกปี จึงอยากแนะนำให้เพื่อน ๆ ลองทำดู โดยบันทึกใส่ใน Microsoft Excel เพื่อความสะดวกในการคำนวณตัวเลขครับ แบ่งเรื่องละหน้าเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน ได้แก่ หน้ารายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมด หน้ารายได้ค่าใช้จ่ายและเงินออม หน้ารายการภาษีเงินได้ หน้าสถิติบันทึกเทียบปีต่อปีให้เห็นพัฒนาการตัวชี้วัดที่สำคัญ หน้าเป้าหมายในปีถัดไปเขียนออกมาเป็นข้อ ๆ หน้าเป้าหมายทรัพย์สินที่ต้องทำให้ได้ในแต่ละปีเพื่อไปสู่อิสรภาพทางการเงิน เป็นต้น การบันทึกแบบนี้จะช่วยชี้จุดบกพร่องให้เรารีบแก้ไขและนำทางไปสู่ความมั่งคั่งแบบไม่หลงทาง ซึ่งผมเองบันทึกแค่เพียงปีละครั้งช่วงสิ้นปี แต่ใจนึกถึงตัวเลขเหล่านี้อยู่ตลอดจนติดเป็นนิสัยแล้ว
ผมขอชี้แนะ 5 จุดสำคัญบริหารความมั่งคั่งอย่างถูกวิธี ถ้าคุณทำได้ครบทุกข้ออนาคตเศรษฐีอยู่ไม่ไกล แต่ถ้าไม่ครบก็สำเร็จได้ครับเพียงแต่ในข้ออื่นต้องโดดเด่นขึ้นมา มาดูกันเลยครับว่ามีอะไรบ้าง
(เกรดทางการเงินคืออะไร และวัดได้อย่างไร?)
รายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 15% ต่อปี และมีรายได้ทั้งแบบเหงื่อแลกเงิน (Active Income) และทรัพย์สินสร้างเงิน (Passive Income)
รายจ่ายเพิ่มขึ้นช้ากว่ารายได้ และประเภทรายจ่ายควรเป็นรายจ่ายจำเป็นมากกว่ารายจ่ายฟุ่มเฟือย
ออมเงินอย่างน้อย 30% ของรายได้ และอัตราการออมเพิ่มตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี
หนี้สินทั้งหมดไม่เกิน 2 เท่าของทรัพย์สินทั้งหมด และประเภทหนี้สินควรเป็นหนี้สินเพื่อการลงทุนมากกว่าหนี้สินเพื่อการบริโภค
ลงทุนให้ทรัพย์สินที่มีได้รับผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ และเงินลงทุนควรกระจายไปลงทุนหลายประเภทบนความเสี่ยงที่รับได้