เมื่อลูกเข้าสู่วัยเรียนสิ่งที่ตามมาก็คือ ค่าใช้จ่ายในการเรียน หรือค่าเทอม ถ้าเป็นสมัยก่อนค่าเทอมถือว่าไม่แพงมาก แต่อย่าลืมว่า เงินเดือน รายได้ของคนสมัยก่อนไม่เท่ากับในสมัยนี้ แถมสมัยก่อนค่าของเงินก็มีมากกว่าในปัจจุบัน
ในปัจจุบันแม้ค่าครองชีพจะสูงขึ้น แต่รายได้ก็เพิ่มตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีรายได้ประจำ จะเพิ่มขึ้นทุกปี และแน่นอนที่สุดว่า ค่าใช้จ่ายก็ต้องเพิ่มตามไปด้วย เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “ภาวะเงินเฟ้อ” แต่สิ่งที่อาจจะ “โตเร็ว” กว่าภาวะเงินเฟ้อ ก็คือ “ค่าเทอม” ค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนหนังสือ ดูเหมือนมันจะเติบโตเร็วขึ้นทุก ๆ วัน เรามาดูแนวคิดการจัดการกับค่าเทอมแสนแพง จัดสรรงบอย่างไรไม่กระทบการเรียนลูก มาดูกันครับ
แนวคิดแรก แบ่งเงินมาเก็บรายเดือน
เมื่อเราเริ่มมีลูกเล็ก ๆ ระยะเวลากว่าจะเริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาลใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี หากเราคิดจะจัดสรรเงินสำหรับค่าเทอมลูกในอนาคต ควรเริ่มเก็บตั้งแต่เนิ่น ๆ ข้อแนะนำก็คือ การเก็บเงินรายเดือน ยกตัวอย่างเช่น หากเราคิดว่าค่าเทอมลูกปีละ 1 แสนบาท เราจะหมุนเวียนเผื่อไว้ 3 ปี = เราต้องเก็บเงิน 3 แสนบาท หากเราคิดว่าจะเก็บเงินเป็นทุนการศึกษาลูกปีละ 1 แสนบาท เราจะต้องเก็บเงินดังนี้
1 แสนบาท / 12 เดือน = 8,333 บาทต่อเดือน
เราอาจคิดว่าเงินจำนวนนี้ค่อนข้างสูง เพราะรายได้แต่ละครอบครัวไม่เท่ากัน สำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อยจะทำอย่างไร ลองมาดูแนวคิดที่สองกันครับ
แนวคิดที่สอง เก็บเงินเพื่อลงทุนต่อ
การนำเงินเก็บไปฝากธนาคารด้วยภาวะดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบัน ถ้าเงินต้น 1 แสนบาท จะได้ดอกเบี้ยปีละไม่ถึงพันบาทเท่านั้นเอง ถ้าเราคิดว่าการเก็บเงินฝากธนาคารดอกเบี้ยน้อยนิดเหลือเกินลองดูวิธีอื่นกันครับ
- นำเงินไปซื้อฉลากประเภทต่าง ๆ การนำเงินเก็บไปซื้อฉลากประเภทต่าง ๆ ข้อดีก็คือ เราได้ลุ้นรางวัลไปด้วย และได้เก็บเงินไปด้วย แต่เราควรดูระยะเวลาในการขายคืนฉลากให้ดี ยกตัวอย่างเช่น ฉลากออมสินที่มีระยะเวลาการขายคืนภายใน 3 ปี ก็จะเหมาะสมกับ Timing หรือระยะเวลาที่เราจะถอนเงินมาเพื่อใช้เป็นทุนการศึกษา ทำแบบนี้จะช่วยบังคับให้เราซื้อฉลากออมสินสะสมไปเรื่อย ๆ จะสะสมเป็นเดือนต่อเดือนก็ได้ และที่สำคัญเราไม่สามารถถอนเงินออกมาก่อนได้นั่นเอง
- นำเงินไปลงทุนในกองทุนรวม LTF สำหรับกองทุนรวม LTF นั้นมีข้อจำกัดเล็กน้อยก็คือ การขายคืนหน่วยลงทุนนั้นต้องไม่ต่ำกว่า 5 ปี แต่หากเราไม่ได้นำมูลค่ากองทุนที่เราซื้อไปหักลดหย่อนภาษี เราจะขายคืนกองทุนเมื่อไรก็ได้ครับ การลงทุนในกองทุนรวมเราสามารถซื้อแบบตัดเงินจากบัญชีอัตโนมัติทุกเดือน ทำให้มีวินัย และสะสมไปเรื่อย ๆ เมื่อเราต้องการใช้ก็นำหน่วยกองทุนไปขายคืนกับบริษัทจัดการหลักทรัพย์
- นำเงินไปซื้อหุ้นกู้ การนำเงินไปซื้อหุ้นกู้เราจะสามารถคำนวณผลตอบแทนในการลงทุนได้ค่อนข้างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น เราซื้อหุ้นกู้บริษัทรถไฟฟ้าที่มีระยะเวลาการขายคืน 3 ปี ผลตอบแทน 3% ต่อปี แบบนี้เราจะรู้ผลตอบแทนชัดเจน ที่สำคัญเราต้องซื้อหุ้นกู้ที่มีระยะเวลาการขายคืนที่เหมาะสมกับเวลาที่เราต้องใช้เงินนั่นเอง
- นำเงินไปลงทุนในทองคำ การลงทุนในทองคำเป็นแนวคิดที่ดี และมีสภาพคล่อง เราสามารถเก็บสะสมทองคำไปเรื่อย ๆ หากเราต้องใช้ก็ขายทองคำเปลี่ยนเป็นเงินได้ทันทีไม่ยากเลยครับ ที่สำคัญในระยะยาวการลงทุนในทองคำสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้อย่างสบาย ๆ
แนวคิดสุดท้าย มองหาทุนการศึกษา
สำหรับผู้ที่มีรายรับน้อย และไม่สามารถแบ่งเงินมาเก็บรายเดือน ไม่มีเงินเหลือพอที่จะนำไปลงทุน ก็ต้องมองหาทุนการศึกษาสำหรับลูกของเรา ในปัจจุบันทุนการศึกษามีมากมาย แต่อย่างไรก็ตามในช่วงระยะแรกของการเรียน (ช่วงอนุบาล) จะไม่มีทุนการศึกษามากนัก ผู้ปกครองก็ควรเก็บเงินให้ได้อย่างน้อยสำหรับช่วงเวลานี้ หรือหากมีเงินไม่มากก็สามารถเรียนในสถานศึกษาที่มีค่าเล่าเรียนที่เหมาะสมก็เป็นทางเลือกที่ดีครับ
อย่างไรก็ตามที่เราจะแบ่งเงินมาเก็บเพื่อเป็นทุนการศึกษาของลูก การจัดสรรและบริหารเงินส่วนบุคคลของเราควรจะ “เข้มข้น” มากขึ้น บางครั้งเราคิดว่าค่าใช้จ่ายจำเป็นเยอะแยะ แต่ลองเจาะดูค่าใช้จ่ายของเราดี ๆ อาจจะพบว่า เราสามารถ “ประหยัด” รายจ่ายบางอย่าง แบ่งมาเก็บเพื่อลูกก็เป็นไปได้ เป็นกำลังใจให้คุณพ่อ-คุณแม่ทุกท่านเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นคนดีของสังคมนะครับ