บริหารเงินอย่างฉลาดตั้งแต่เริ่มทำงานปีแรก
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

บริหารเงินอย่างฉลาดตั้งแต่เริ่มทำงานปีแรก

icon-access-time Posted On 21 สิงหาคม 2557
By Krungsri Guru
มนุษย์เงินเดือน รวยได้ไม่ยากหากบริหารเงินเป็น! เราคงจะเคยได้ยินคำถามในเชิงตัดพ้อประมาณว่า “เมื่อไหร่เราจะรวย?” เพราะการใช้เงินเดือนชนเดือน ชักหน้าไม่ถึงหลัง ไร้เงินเก็บในบัญชี รายจ่ายยังยาวเป็นหางว่าว ทั้งค่าบ้าน ค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ ค่าบัตรเครดิต นี่ยังไม่นับรวมไลฟ์สไตล์ตามเทรนด์แบบคนเมือง ที่ใครเขาเห่ออะไรใหม่ก็ขอมีด้วยคน กินข้าวมื้อหรู กาแฟแก้วละเกือบ 200 บาท หนังโรงเรื่องเด็ดไม่เคยพลาด ไหนจะค่าทำหน้า ทำผม ทำผิวอีกสารพัด สุดท้ายก็ตกอับ นั่งซดมาม่าไปพลาง ๆ ก่อนสิ้นเดือน
 
"คนที่เพิ่งจะเริ่มต้นเข้าทำงานใหม่ หรือที่ทำงานมาสักระยะควรจัดระบบความคิดทั้งหมดใหม่ ... ให้ความสำคัญมากที่สุดกับการใช้ช่วงเวลาและเงินออมในช่วงที่ยังมีเรี่ยวมีแรงทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด"
ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเอง ด้วยการบริหารเงินเดือนอย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะคนที่เพิ่งจะเริ่มต้นเข้าทำงานใหม่ หรือที่ทำงานมาสักระยะ คุณควรจัดระบบความคิดทั้งหมดใหม่ และให้ความสำคัญมากที่สุดกับสิ่งที่สำคัญที่สุดจริงๆ ซึ่งก็คือการใช้ช่วงเวลาและเงินออมในช่วงที่ยังมีเรี่ยวมีแรงทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เวลาที่เหมาะสมที่สุดที่เราจะต้องเริ่มก็คือวันนี้และเดี๋ยวนี้

แล้วเราควรจะบริหารเงินเดือนจากการทำงานปีแรกอย่างไรจึงจะถูกต้อง?
สิ่งสำคัญพื้นฐานของการบริหารเงินที่หลายคนมักละเลย คือการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย โดยเราจะต้องจดสิ่งที่เราซื้อทุกอย่างลงไป เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนจนถึงวันที่ 7 และให้นับเป็น "รอบที่ 1" จนครบเดือนแล้วค่อยมาสรุปว่าเราใช้จ่ายไปมากน้อยเท่าไหร่ ใช้มากเกิน หรือยังพอเหลือเก็บ เทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ คือให้คำนวณรายจ่ายตายตัวในแต่ละเดือนไปเลย เช่น ค่าเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านกับที่ทำงาน ค่าอาหารในแต่ละมื้อ ค่าซื้อของใช้จำเป็น นำมาหารเฉลี่ยรวมกันว่าภายในหนึ่งเดือนควรใช้เท่าไหร่
ทำปฏิทินหนี้สิน หากต้องผ่อนชำระสินค้าต่าง ๆ อย่าลืมทำตารางกำหนดวันจ่ายค่างวด หรือดอกเบี้ยเอาไว้ด้วย โดยอาจจะจดไว้ที่ปฏิทิน บันทึกไว้ในโทรศัพท์มือถือ หรือจดเพิ่มเติมไว้ในสมุดบันทึกรายรับ-รายจ่ายด้วยเลยก็ได้ ช่วยกันลืม และกันเงินไว้จ่ายให้ตรงตามกำหนด เพื่อกันการเสียดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้นโดยไม่จําเป็นเพราะจ่ายไม่ตรงเวลานั่นเอง
เริ่มต้น "ออมเงิน" หลักการบริหารเงินแบบง่าย ๆ ที่หลายคนทราบกันดี (แต่ทำไม่ค่อยจะได้) คือต้อง "ออมก่อนใช้" มีการบริหารเงินเดือนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งเงินออมไว้อย่างน้อย 10% ของรายได้ เช่น เงินเดือน 15,000 บาท ให้กันเงินออมออกมาทันที 1,500 บาท ใครกลัวจะอดใจไม่ไหว พอเงินเดือนออกปุ๊บ แนะนำให้ตัดบัญชีอัตโนมัติเข้าบัญชีเงินฝากประจำไปเลย หรือใช้เทคนิคสำหรับหนุ่ม-สาวออฟฟิศป้ายแดงที่อดใจได้ยากยิ่ง คือออมเงินวันละ 20 บาท หยอดใส่กระปุกทุกวัน เมื่อครบหนึ่งเดือนก็นำไปฝากธนาคาร ภายในเวลาหนึ่งปีเราจะมีเงินเก็บ 7,200 บาท และหากเราออมแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบ 15 ปี เราจะมีเงินเก็บเพิ่มเป็น 108,000 บาท
ทำให้เงิน "งอกเงย" เราคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า "ทำงานอย่างเดียว ไม่ลงทุน ไม่มีวันรวย" กันบ้างไหม คนหนุ่ม-สาววัยเริ่มต้นทำงานจึงต้องเริ่มวางแผนให้เงินทำงานแทนให้เร็วที่สุด เพื่อต่อยอดจากเงินที่ออม โดยบริหารเงินส่วนหนึ่งมาใช้ในการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น กองทุน ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ หรือพันธบัตร เพื่อทำให้เงินงอกเงย ซึ่งก็คือดอกเบี้ย และเงินปันผล หากเพิ่งเริ่มลงทุนและไม่อยากเสี่ยงก็อาจเลือกเพียงฝากประจำปลอดภาษี กองทุนตลาดเงิน หรือซื้อพันธบัตรและสลากออมสิน หากเราผ่านจุดเสี่ยงน้อยมาแล้วอยากอัพสกิลก็ลองกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ หรือกองทุนทองคำ สุดท้ายเมื่อมีความชำนาญในเรื่องการลงทุนต่าง ๆ และต้องการให้เงินงอกเงยเยอะ ๆ (แต่ก็เสี่ยงสูงมาก) ต้องกระโดดไปเล่นหุ้น กองทุนรวมระยะยาว หรือกองทุนเปิดต่าง ๆ กับสถาบันทางการเงินที่เชื่อถือได้ เป็นต้น แต่อย่าลืมว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง เพราะฉะนั้น ต้องศึกษารายละเอียดให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และถี่ถ้วนที่สุด
วางแผนกับภาษี มีรายได้มากขึ้น ภาระภาษีก็ย่อมสูงขึ้นด้วย การบริหารเงินโดยการวางแผนภาษีเป็นวิธีที่จะช่วยให้เราจ่ายภาษีน้อยลงได้ โดยเครื่องมือในการลดหย่อนภาษีที่น่าสนใจมีทั้งกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือประกันชีวิต เตรียมศึกษาข้อมูลให้ดี
บริหารเงินส่วนที่เหลือ หนุ่ม-สาวออฟฟิศทั่วไปมักไปกิน ไปเที่ยว หรือไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าสนอง "need" กันทันทีที่เงินเดือนออก หรือตอนต้น ๆ เดือน แล้วพอปลายเดือนค่อยมานั่งซดมาม่าอย่างเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย วิธีบริหารเงินเดือนที่ถูกคือพอเงินเดือนออกปุ๊บให้เก็บเป็นเงินออมก่อน แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายประจำเดือนก่อน แล้วเหลือเท่าไหร่ ตอนปลายเดือนค่อยเอาไว้กิน-เที่ยว-ชอปปิงเท่านั้น
แจก E-Book รวมสูงเก็บเงิน พร้อมวิธีบริหารเงิน ฟรี
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา