เหตุการณ์ในชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว เช่น
- บริษัทปิดกิจการ ทำให้เราตกงานกะทันหัน
- จากอุบัติเหตุรถชน ทำให้หัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต
- ญาติผู้ใหญ่หกล้มในบ้านกลายเป็นอัมพาตตลอดชีวิต
หลากหลายเรื่องราวที่ทำให้ชีวิตอาจจะต้องสะดุด เกิดอุปสรรคในการดำเนินชีวิต ซึ่งแต่ละรายการล้วนเป็น รายจ่ายแทบทั้งสิ้น หากมีเงินออมสำรองฉุกเฉินเตรียมไว้เราก็จะสามารถพยุงตัวเองผ่านเรื่องวิกฤตต่าง ๆ มาได้อย่างไม่ยากเย็น ในทางตรงกันข้ามหากเราไม่มีเงินสำรองไว้ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะหนี้สินก้อนโตตามมาอีกในไม่ช้า แล้วเราควรเตรียมเงินออมสำรองฉุกเฉินไว้เท่าไหร่?
2 แนวคิดการเตรียมเงินออมสำรองฉุกเฉิน
1. แนวคิดมนุษย์เงินเดือน
มนุษย์เงินเดือนนั้นจะมีรายได้ที่แน่นอน รู้ว่าเงินเดือนของตนเองออกทุกวันที่เท่าไหร่ ทำให้สามารถจัดระบบการออมเงินและระบบรายจ่ายได้ การเก็บเงินออมสำรองฉุกเฉินนั้นมีหลักง่าย ๆ คือ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่าย
ตัวอย่าง ปกติมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 70% ของรายได้ หากเรามีเงินเดือน 20,000 บาท แสดงว่าเรามีค่าใช้จ่าย รายเดือน 14,000 บาท เราควรมีเงินออมสำรองฉุกเฉิน 42,000 - 84,000 บาท สมมติหากตกงานกะทันหัน ก็จะได้มีเงินออมสำรองฉุกเฉินมาใช้จ่ายในช่วงรองานใหม่
2. แนวคิดคนทำงานฟรีแลนซ์
คนที่ทำงานฟรีแลนซ์นั้นมีรายได้ไม่แน่นอน บางเดือนอาจจะมีรายได้เยอะมาก ในขณะที่บางเดือนไม่มีเงินเข้ามาเลย การจัดระบบออมเงินและระบบรายจ่ายนั้นค่อนข้างลำบาก ดังนั้น เงินออมสำรองฉุกเฉิน นั้นควรเก็บในจำนวนที่มากกว่ามนุษย์เงินเดือน โดยนึกถึงกรณีที่เลวร้ายที่สุดไว้ก่อน เช่น หากไม่มีการจ้างงานอย่างยาวนาน
ตัวอย่าง มีค่าใช้จ่ายเดือนละประมาณ 15,000 บาท ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด คือ ไม่มีผู้ว่าจ้างงานนาน 6 เดือนถึง 1 ปี จะต้องเก็บเงินออมสำรองฉุกเฉินไว้ที่ 90,000 - 180,000 บาท
การเก็บเงินออมสำรองฉุกเฉินควรเก็บไว้ที่ที่สามารถถอนเงินออกมาใช้ได้อย่างรวดเร็วและความเสี่ยงต่ำ เช่น
เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น ซึ่งแนวคิดข้างต้นนี้เป็นเพียงแนวทางเท่านั้น ผู้อ่านควรนำมาปรับใช้กับความรู้สึกของตนเองว่าระดับไหนถึงเรียกว่าเราปลอดภัยและอุ่นใจ เช่น มนุษย์เงินเดือนอาจจะเก็บเงินออมสำรองฉุกเฉินไว้ 1 ปีก็ได้