ปัจจุบันโลกออนไลน์ทำให้เราเข้าถึงสินค้าต่าง ๆ ได้หลากหลายและสะดวกรวดเร็ว แค่สไลด์ดูฟีดในโซเชียลก็อาจเจอโฆษณาคั่น จนกลายเป็นโรคทรัพย์จางไปได้ง่าย ๆ ตั้งแต่ต้นเดือน อีกทั้งช่องทางการชำระเงินก็สะดวกสบาย พร้อมจะทำให้เงินในกระเป๋าบินจากเราไปอย่างรวดเร็ว
มีงานวิจัยของ Paypal ระบุว่าในปี 2559 มีนักช้อปคนไทยใช้จ่ายออนไลน์ประมาณ 8 ล้านคน มียอดใช้จ่ายอยู่ที่ 325,614 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วใช้จ่ายตกคนละ 41,215 บาทต่อปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราจึงมีกฏเหล็ก 5 ข้อสำหรับนักช้อปออนไลน์ เพื่อให้เราใช้จ่ายได้อย่างชาญฉลาด และยังเหลือเก็บอีกด้วย
1. ทำบัญชีเงินช้อปให้
“คล่องตัวน้อยลง”
สังเกตไหมครับ การช้อปออนไลน์ในยุคต้นๆ ยังไม่ดูดเงินจากกระเป๋าเราได้มากเท่าตอนนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งที่สำคัญมาจากระบบการชำระเงินและการขนส่งที่พัฒนาขึ้นหลากหลายและรวดเร็วมากขึ้น ผูกกับบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตของเราไปเลย รวมทั้งโมบายแบงก์กิ้งที่โอนง่ายจ่ายไว เพิ่มความสะดวกสบายให้นักช้อปยุคใหม่
สมัยก่อนหากเราจะช้อปสินค้าออนไลน์ ทางร้านก็ต้องรอเราโอนเงินเข้าไป ซึ่งจุดนี้เป็นช่องโหว่ให้ลูกค้ามีการ “ประวิงเวลาตัดสินใจ” อาจเปลี่ยนใจไม่ซื้อได้โดยการไม่โอนเงิน แต่สมัยนี้หลายร้านค้าต่างก็พัฒนาวิธีชำระเงินให้เก็บเงินปลายทางได้ ชำระผ่านบาร์โค้ด/QR CODE ชำระผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส หักบัญชีธนาคาร หรือแม้แต่ผ่อนชำระก็ยังได้ ความสะดวกทำให้กระบวนการประวิงเวลาตัดสินใจนั้นลดลง
วิธีแก้ได้เบื้องต้นสำหรับคนที่อดใจช้อปไม่ไหวจริงๆ คือทำให้บัญชีช้อปปิ้งของเรามีความสะดวกในการจ่ายออกน้อยลง เช่น เป็นบัญชีที่มีแค่บัตรเดบิตที่ไม่ผูกไว้กับการชำระเงินออนไลน์ หรือหากจะใช้บัตรเครดิต ก็ให้ใส่เงินเท่าจำนวนจริงของสิ่งของที่จะซื้อลงไปในบัตรก่อน ไม่เอาเงินในอนาคตมาใช้ เป็นต้น
2. เงินที่ไม่ได้จ่าย = เงินที่ได้
การประวิงเวลาในการตัดสินใจในข้อ 1 จะช่วยให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้น
เอ๊ะ..ยังไงนะ?!
แนวคิดนี้คือ การมองว่า “เงินที่เราไม่ได้จ่าย ไม่ได้ช้อป จริงๆ แล้วก็เท่ากับเงินได้ของเรานี่แหละ” ตัวอย่างเช่น เราอยากได้รองเท้าคอลเลคชั่นใหม่ยี่ห้อหนึ่ง ลดราคา 1,990 บาท น่าสอยมาซะจริง เป็นไอเท็มที่เราแพลนไว้แล้วว่า เสาร์อาทิตย์นี้ต้องไปซื้อให้ได้
แต่หากเราประวิงเวลาตัดสินใจ พอถึงวันเสาร์อาทิตย์ ปรากฏว่าเราไม่ได้ซื้อ
วันต่อๆ ไปก็ไร้วี่แววว่าจะซื้อ
ก็เท่ากับ เราไม่ต้องเสียเงิน 1,990 บาท จากบัญชีนั่นเองครับ เงินส่วนนี้ล่ะคือเงินได้ของเรา
3. “ของมันต้องมี” แต่คิดอีกที...ไม่มีก็ได้นะ
ร้านค้าออนไลน์ในปัจจุบันสามารถเข้าถึงนักช้อปได้เป็นรายคน ออกโปรโมชั่น ทำคอนเทนต์ดึงดูดใจ โฆษณาหนักหน่วงให้เราหวั่นไหว กฏข้อนี้จึงสำคัญที่สุด คือต้องคำนึงถึง “ความจำเป็น” ของสินค้าก่อนที่จะช้อปปิ้ง
สาเหตุที่ทำได้ยาก เพราะมุมมองที่เรามีต่อการซื้อสินค้านั่นเอง ส่วนใหญ่เราจะมองว่าสินค้าที่ซื้อมา เป็นสมบัติที่เราได้ครอบครอง ซึ่งก็จริงนี่...
แต่ในหนังสือ The Richest Man in Babylon สอนแนวคิดนี้ไว้อย่างน่าสนใจอีกแง่มุมหนึ่งว่า สินค้าที่เราซื้อมา ให้มองว่าเป็น “เงินที่เราจ่ายให้กับคนอื่น” เช่น จ่ายให้คนทำรองเท้า จ่ายให้ช่างทำเสื้อผ้า ร้านทำผม คนทำอาหาร ฯลฯ เป็นเงินที่เราหามาแล้วเอาไปให้คนอื่น
The Richest Man in Babylon จึงสอนแนวคิดการ “จ่ายให้กับตัวเอง” คือการเก็บออมเงินที่หามาได้อย่างน้อย 10% ก่อนที่จะเอาเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่น ส่วนทางธนาคารกรุงศรี เองมีนโยบายรณรงค์ให้เก็บออมกันให้ได้ 20% ของรายได้ เพื่อให้มีเงินเก็บไว้ต่อยอดการลงทุน
องเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อการซื้อสินค้าและการใช้จ่ายดู แล้วเราจะพบว่าพฤติกรรมในการช้อปจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปครับ
4. เช็คก่อนช้อป
บางครั้งการซื้อของออนไลน์ก็ทำให้เราผิดหวังกับสินค้าที่ได้มา เพราะนอกจากไซส์จะใส่ไม่ได้แล้ว ของจริงก็อาจไม่ตรงปก สีผิดไปจากภาพโฆษณาหรือที่นางแบบใส่ แม้กระทั่งมีปัญหาระหว่างการจัดส่ง หนักเข้าก็เจอบางร้านที่หลอกให้ชำระเงิน แต่กลับไม่ได้สินค้า หรือส่งสินค้าที่มีปัญหากลับไปนานแล้วยังไม่ได้เงินคืน ฯลฯ
ฉะนั้นนักช้อปต้องเช็ครายละเอียดของร้านค้าให้แน่ใจก่อนช้อป ดูจากคอมเมนท์รีวิวนอกเพจร้านค้าประกอบว่าร้านค้ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ คนที่มารีวิวชมมากไปจนเหมือนเป็นหน้าม้าหรือเปล่า มีประวัติไม่ส่งสินค้าไหม ราคาถูกจนผิดปกติหรือไม่ หากไม่พอใจสามารถคืนสินค้าได้หรือเปล่า หรือหากได้รับของล่าช้าต้องติดต่อใคร ฯลฯ
สุดท้าย อย่าลืมเปรียบเทียบราคากับร้านอื่นก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อให้เจอร้านค้าที่ราคาดีที่สุดครับ
5. แบ่งงบสำหรับช้อป: เรื่องจริงที่ทำกันยาก แต่ฝึกเป็นนิสัยได้
ก่อนจ่ายเงินไปกับค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่า ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ สิ่งแรกที่ต้องทำหลังจากมีเงินรายได้เข้าบัญชี คือการแบ่งงบไว้สำหรับการออม 20%
ส่วนเงินช้อป ควรกำหนดว่าจะตั้งงบให้ส่วนนี้เดือนละเท่าไร (แนะนำให้ไม่เกิน 20-30% ของรายได้) ควร
วางแผนเงินออมและเงินเงินช้อปปิ้งให้ดี เพราะเงินจุกจิกก้อนนี้นี่แหล่ะที่จะกระทบเงินก้อนอื่น ๆ เป็นทอด ๆ
การช้อปปิ้งอาจจะช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลาย แต่หากมากไปจนเพลิน ผ่านไปหลายเดือนหลายปีก็ยังไม่มีเงินเก็บเหมือนเพื่อนๆ เขาสักที มีแต่นำทุกข์มาให้ เพราะฉะนั้นหากเจอของถูกใจอีกเมื่อไร อย่าลืมกฏเหล็ก 5 ข้อนี้นะครับ