โอกาสของประเทศไทย ในสายตานักลงทุนญี่ปุ่น

Knowledge & Trend

เศรษฐกิจโลกในเวลานี้กำลังตกต่ำที่สุดในรอบหลายปี จุดเริ่มนั้นมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน สองยักษ์ใหญ่ที่มีส่วนแบ่ง GDP มากเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก แล้วถูกเร่งจากปัญหาโควิด-19 ส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกทรุดหนักอย่างรวดเร็ว
 
ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีส่วนแบ่ง GDP มากเป็นอันดับ 3 เลยต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อเลี่ยงลูกหลงจากไฟสงครามการค้า และเตรียมรับคลื่นสึนามิทางเศรษฐกิจ ที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง จนเศรษฐกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงักในช่วงที่ผ่านมา
 
ซึ่งการขยับตัวของประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ อาจหมายถึงโอกาสครั้งใหม่ของประเทศไทยเพราะที่ผ่านมาญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย ในปี 2562 มีมูลค่าการค้ารวม 57,780 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการส่งออก 24,558 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ และผลิตภัณฑ์พลาสติกและมีการนำเข้าจากญี่ปุ่น 33,222 ล้านเหรียญสหรัฐ จากสินค้าพวกเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็กกล้า ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
 
ในด้านการลงทุน เมื่อปีที่แล้วประเทศญี่ปุ่นมีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมจาก BOI ถึง 227 โครงการ มากเป็นอันดับ 1 และมีมูลค่าการลงทุนรองจากประเทศจีนเท่านั้น

ซึ่งหลังจากการเกิดโควิด-19 นักลงทุนญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะขยายหรือย้ายฐานการผลิตจากจีนมาประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากการระบาดครั้งนี้ ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานเกิดภาวะชะงักงัน (Supply Chain Disruption) โดยเฉพาะโรงงานผลิตรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่นหลายแห่ง ต้องปิดชั่วคราวเพราะขาดชิ้นส่วนสำคัญจากโรงงานผู้ผลิตในประเทศจีน
 
โดยทางรัฐบาลญี่ปุ่นยังได้เตรียมออกโครงการให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทผู้ผลิตของญี่ปุ่น งบประมาณ 23,500 ล้านเยน หรือราว 7,050 ล้านบาท ในการย้ายฐานการผลิตเพื่อกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานที่พึ่งพาจีนอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
การลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, กิจการผลิตผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนโลหะ, กิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและสำนักงานสนับสนุนการค้าและการลงทุน, กิจการกำจัดของเสียและรีไซเคิล, กิจการผลิตเคมีภัณฑ์และพลาสติก โดยที่ตั้งของโครงการส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
 
ปัจจัยหลักที่ทำให้ญี่ปุ่นสนใจมาลงทุนในประเทศไทยก็คือ
  1. ต้นทุนการผลิตในจีนที่เพิ่มสูงขึ้น
  2. มีความมั่นใจในการขยายธุรกิจในไทย มีความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภคต่างๆ มีการพัฒนาแรงงานฝีมือรองรับ รวมถึงการจัดการแก้ปัญหาโควิด-19 ที่ดีมาก สร้างความเชื่อมั่นแก่นักธุรกิจญี่ปุ่นที่ต้องการนำครอบครัวเข้ามาพำนักในไทย
Mr. Takahiro Sekido, Chief Japan Strategist, Global JPY Strategy Research ของ MUFG Bank มีมุมมองว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มดีขึ้น แต่สิ่งที่จะคงอยู่คือความไม่แน่นอน ดูได้จากแรงกระเพื่อมของตลาดเงินและตลาดทุน ทำให้ภาคเอกชนญี่ปุ่น ยังต้องการมาลงทุนในต่างประเทศในบางอุตสาหกรรม เพื่อกระจายความเสี่ยงที่มาจากห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งประเทศไทยมีความน่าสนใจในการมาลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์
 
ทางด้าน ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน TDRI ก็มีความเห็นตรงกันว่าญี่ปุ่นมองว่าประเทศไทยเหมาะสำหรับเป็นฐานการผลิตยานยนต์ อย่างล่าสุด นิสสัน มอเตอร์ ประกาศปิดโรงงานที่สเปน และอินโดนีเซีย แล้วให้ไทยเป็นฐานผลิตเดียวในอาเซียน ผลกระทบระยะกลาง-ระยะยาวนี้ ถือเป็นข่าวดีกับนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย ที่จะมีเงินลงทุนไหลเข้ามามากขึ้น ซึ่งไตรมาสแรกของปีนี้ ญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 1 มูลค่า รวม 7,402 ล้านบาท คิดเป็น 27% ของเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมจาก BOI
 
ส่วนการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ช่วงสามเดือนแรก มีมูลค่า 13,903 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออก 6,061 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 7,842 ล้านเหรียญสหรัฐ
 
นอกจากนี้ สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจากความตกลง FTA ที่ประเทศไทยทำกับญี่ปุ่น 2 ฉบับ คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ที่จะขยายการค้าระหว่างกันโดยการปรับลดภาษีให้ต่ำลง และเป็นศูนย์ เพื่อเกิดการค้าอย่างเสรี เป็นอีกข้อหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยน่าสนใจในสายตาของนักลงทุนญี่ปุ่น
 
แต่สุดท้ายโอกาสของประเทศไทย ยังขึ้นกับอีกหลายปัจจัยทั้ง การแข็งค่าของเงินบาท ความผันผวนการเมือง การอำนวยความสะดวกในการมาลงทุน การจัดการกับปัญหาภัยธรรมชาติ ซึ่งอยู่ที่พวกเราจะช่วยกันสร้างความได้เปรียบ เพื่อคว้าโอกาสครั้งนี้ได้มากน้อยแค่ไหน
 
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://www.worldometers.info/gdp/gdp-by-country/
https://www.dtn.go.th/th/news/5ea64a4fef4140dd0b03d59d…
https://www.mreport.co.th/…/econ…/005-Economy-FTA-Thai-Japan
https://www.dft.go.th/…/Detail-dft-serv…/ArticleId/5069/5069
Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา