ในโลกยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิต พฤติกรรมของผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไปในหลายๆ ด้าน อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม นั่นคือ การทำธุรกรรมที่เข้าสู่
“สังคมไร้เงินสด” หรือ
“Cashless Society” ที่ผู้บริโภคจะไม่ใช้เงินสดในการซื้อขายสินค้าและบริการกันอีกต่อไป แต่จะเปลี่ยนมาใช้การจ่ายเงินด้วยระบบ Payment ในรูปแบบอื่นๆ แทน วันนี้ Krungsri Business Empowerment ขอชวนผู้ประกอบการไปเรียนรู้การปรับตัวของธุรกิจ ด้วยการทำธุรกรรมทางการเงินรูปแบบ Digital Payment หรือการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
จากสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย มีการระบุว่าพฤติกรรมการชำระเงินของคนไทย มีปริมาณธุรกรรมรูปแบบ e-Payment รวมไปถึง Internet & Mobile Banking, บัตรเครดิตและบัตรเดบิต และ E-wallet เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเฉลี่ย 135 ครั้งต่อคนต่อปีในเดือนธันวาคม 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 202 ครั้งต่อคนต่อปี ในเดือนธันวาคม 2563 หรือคิดเป็นการเติบโตถึง 50% โดยธุรกรรมออนไลน์เพิ่มขึ้นทุกช่องทาง โดยเฉพาะช่องทาง Internet และ Mobile Banking
ความสามารถในการรับชำระเงินแบบ Digital Payment จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการได้หลายๆ ด้าน ได้แก่ ให้ความสะดวกรวดเร็วในการรับเงิน เพิ่มโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น ช่วยลดความผิดพลาดจากการนับเงิน ทอนเงิน และป้องกันการยักยอกที่อาจเกิดขึ้นจากพนักงานได้ ช่วยให้การตรวจสอบยอดขายเป็นไปได้อย่างสะดวกมากขึ้น และมีข้อมูลในการบริหารจัดการร้านค้า อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลการทำธุรกรรมไปใช้วิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าเพื่อต่อยอดธุรกิจของคุณได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดการสัมผัสเงินสด โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ผู้คนยังกังวลกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบัน
สิ่งสำคัญในวันนี้คือ คุณสามารถนำเสนอรูปแบบการรับชำระเงินแบบ Cashless ให้กับลูกค้าของคุณได้อย่างหลากหลายวิธี โดยสามารถเลือกแบบที่เหมาะสมกับธุรกิจได้ ดังนี้
- สำหรับธุรกิจที่มีหน้าร้าน เช่น ร้านอาหาร ภัตตาคาร มินิมาร์ท ซุปเปอร์มาร์เก็ต สถาบันการศึกษา สถานเสริมความงาม และอื่นๆ ที่มีลูกค้าที่ต้องการใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ก็สามารถใช้เครื่องรูดบัตร หรือ EDC ได้ โดยเครื่องรูดยังสามารถให้บริการการผ่อนชำระ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าหรือบริการอีกด้วย (รายละเอียดเพิ่มเติม)
นอกจากนี้ เครื่องรูดบัตรในปัจจุบันได้พัฒนารูปแบบไปเป็น
Smart EDC คือนอกจากการรับชำระด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตตามปกติแล้ว เครื่องยังสามารถรองรับการชำระเงินด้วย QR Code และให้ลูกค้าเลือกชำระผ่าน Mobile Banking ได้ หรือหากลูกค้ามีความต้องการใช้ e-Wallet เครื่อง EDC แบบใหม่ก็ยังสามารถรองรับ e-Wallet อย่าง Alipay และ WeChat Pay ได้อีกด้วย
- การทำธุรกิจที่มีหน้าร้าน แต่ไม่ได้รับบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ก็สามารถเลือกใช้บริการเป็นแอปพลิเคชันรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยการสแกน QR Code โดยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของธนาคาร และสามารถสร้าง QR Code เพื่อให้ลูกค้าสแกน เพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการ ผ่าน Mobile Banking ได้ทุกธนาคาร หรือสามารถเลือกตัดจากบัตรเครดิต หรือ e-Wallet ที่ผูกไว้ใน Mobile Banking บัญชีนั้นๆได้ (รายละเอียดเพิ่มเติม)
- การทำธุรกิจแบบ e-Commerce ที่มีหน้าร้านออนไลน์แบบมีเว็บไซต์ของร้านค้า หรือมีแอปพลิเคชันของธุรกิจเอง โดยธุรกรรมส่วนใหญ่เป็นการรับชำระด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต สามารถเลือกใช้บริการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านทางออนไลน์ที่เชื่อมต่อระบบของร้านค้าเข้ากับระบบการรับชำระเงินของธนาคาร โดยลูกค้าสามารถชำระโดยการตัดบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตจากทุกสถาบันการเงินทั่วโลกได้ตลอด 24 ชั่วโมง (รายละเอียดเพิ่มเติม)
- การทำธุรกิจแบบ e-Commerce ที่มีหน้าร้านออนไลน์ มีเว็บไซต์ของร้านค้า หรือมีแอปพลิเคชันของธุรกิจเอง และไม่รับบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต แต่รับชำระเงินเป็นการโอนเงิน ก็สามารถเลือกใช้บริการรับชำระเงินออนไลน์ผ่าน Mobile Banking โดยเชื่อมต่อเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของร้านค้ากับระบบชำระเงินของธนาคาร และให้ลูกค้าใช้ Mobile Banking ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการได้ (รายละเอียดเพิ่มเติม)
วันนี้เราจะเห็นได้ว่าเทรนด์ของการทำธุรกรรมในปัจจุบันมีเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบในไม่ช้า ดังนั้นผู้ประกอบการทุกท่านจึงต้องสำรวจว่าธุรกิจของเราพร้อมรับมือแค่ไหนและเลือกใช้รูปแบบการทำธุรกรรมที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง รวมทั้งตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจและการแข่งขันด้วย