3 เรื่องพื้นฐาน ที่ช่วยให้ธุรกิจก้าวไปได้ไกลยิ่งขึ้น

Knowledge & Trend

Krungsri Business Empowerment ขอเสนอแนวคิดของ Power of Women ผ่านมุมมองของ คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ผู้ที่นำองค์กร และพนักงานหลายพันคน ผ่านช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ระดับโลกได้ โดยไม่ต้องปลดพนักงานเลยแม้แต่คนเดียว
 
คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ได้ให้ความเห็นว่า การปรับตัวของธุรกิจก่อนจะ Restart เพื่อก้าวจาก Post Covid ไปสู่ Next Normal ได้นั้น จะต้องกลับมาดู 3 เรื่องพื้นฐาน คือ Foundation, Business Model และ Growth Strategy
 
1. Foundation พื้นฐานทางธุรกิจ
ธุรกิจที่เติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นโดยมีพื้นฐานที่ดี และมีความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งพื้นฐานทางธุรกิจแบ่งเป็นมิติต่างๆ ดังนี้
 
People คนในองค์กร ต้องมีทั้ง Mindset ที่พร้อมจะก้าวเดินไปข้างหน้าไปกับการเติบโตของธุรกิจ และมี Skillset หรือทักษะความรู้ ที่เหมาะกับความต้องการของธุรกิจนั้นๆ
 
Process กระบวนการทำงานในยุคเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนต้องมีความคล่องตัว (Agility) ที่ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วตามสถานการณ์
 
Technology ธุรกิจสามารถนำเครื่องมือที่ทันสมัยมาช่วยทั้งในเรื่อง Internal Efficiency ช่วยทำให้การบริหารจัดงานภายในมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการสร้าง Enhance Customer Experience ช่วยให้ธุรกิจนำเสนอประสบการณ์ที่ดีและตรงใจลูกค้ามากขึ้น เพื่อช่วยในเรื่อง Experience Economy อย่างเช่น การนำระบบ e-Payment หรือเมนูอาหารแบบอิเล็กทรอนิกส์ มาบริการแบบ Contactless ให้ลูกค้าสบายใจเวลารับบริการ ซึ่งในเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ ต้องดูเครื่องมือและความพร้อมของแต่ละธุรกิจประกอบด้วย
 
Financial Capability สมรรถนะทางด้านการเงิน เงินทุนเป็นเหมือนน้ำมันเชื้อเพลิงของทุกธุรกิจ ถ้าไม่ได้เตรียม Financial Capability ไว้อย่างเพียงพอ แล้วมาเจอวิกฤตธุรกิจอาจสะดุดหรือหยุดชะงักได้ ธุรกิจจึงควรเตรียมพร้อมสำหรับรับอนาคตที่ไม่แน่นอน ทั้งการสำรองเงินสด หรือการกู้เงินล่วงหน้าเพื่อให้มีสภาพคล่อง
 
2. Business Model
แบบจำลองธุรกิจ เป็นพื้นฐานหนึ่งที่สำคัญสำหรับทุกธุรกิจ ตั้งแต่จะขายอะไร ให้ลูกค้ากลุ่มไหน ด้วยวิธีอย่างไร ไปจนถึงการผลิต และการบริหารรายรับรายจ่าย
 
ในยุคที่ธุรกิจเจอทั้ง Digital Disruption และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จำเป็นต้องมีการปรับแบบจำลองธุรกิจครั้งใหญ่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่อยากได้บริการที่รวดเร็วทันใจ และยังต้องปลอดภัยจากโควิด-19 อีกด้วย
 
แบบจำลองธุรกิจที่ดีนั้น ต้องให้ความสำคัญในเรื่อง ความสะดวกสบาย (Convenience) ให้ลูกค้าได้รับบริการที่รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา นอกจากสะดวกแล้ว ยังต้องเป็นแบบจำลองธุรกิจที่นำเสนอประสบการณ์ใหม่ๆ (Experience) ที่โดนใจ และสร้างความประทับใจให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีกครั้ง ซึ่งสินค้าบริการที่สะดวกสบายแถมได้รับประสบการณ์ที่ดีนี้ ต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่า (Value) ว่าสิ่งที่เขาได้รับนั้นมีมูลค่ามากกว่าเงินที่จ่ายไป
 
โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย ทั้งการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการของลูกค้าเป็นรายบุคคล การนำระบบการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์มาลดการสัมผัส เพื่อทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่โดนใจมากที่สุด ตอบโจทย์ Experience Economy เทรนด์การทำธุรกิจที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน
 
3. Growth Strategy กลยุทธ์การเติบโต
ธุรกิจที่ดีต้องมีการวางแผนสำหรับการเติบโตในอนาคต ซึ่งในยุคที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เข็มทิศทางธุรกิจอาจจะแบ่งเป็น เป้าหมายระยะสั้น (Short Term) และ เป้าหมายระยะยาว (Long Term)
 
โดย Long term เป็นการปักธงเป้าหมายระยะไกลๆ 20-30 ปี เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าธุรกิจในอนาคตจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน แล้วทำการแบ่งเป้าหมาย (Milestone) ออกเป็น Short Term สั้นๆ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นที่พร้อมปรับเปลี่ยนตลอดเวลา
 
นอกจาก 3 เรื่อง ทั้งการมีพื้นฐานที่ดี มีแผนธุรกิจที่รัดกุม และการมีเข็มทิศที่แม่นยำแล้ว อีกหนึ่งที่เป็นความท้าทายของการวางกลยุทธ์ให้ธุรกิจอยู่รอดและยั่งยืนก็คือ การที่แต่ละธุรกิจต้องเข้าใจตัวเองว่า Target Segment ของเราคือใคร มีความต้องการอย่างไร รวมไปถึงความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนไปตาม Customer Behavior ของลูกค้าที่ไม่หยุดนิ่ง โดยไม่ยึดติดโมเดลเดิมซึ่งอาจเคยประสบความสำเร็จมาในอดี
 
อย่างเช่น การมองหาพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อสร้างความร่วมมือให้ครอบคลุมครบวงจร ในธุรกิจส่วนที่เราไม่สามารถไปลงทุนเองได้ทั้งหมด ทั้งการ Collaboration กับ Partner ที่มีเทคโนโลยี Digital Platform ของธุรกิจ SME ที่ต้องการเพิ่มยอดขายโดยที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่มสาขา
 
การที่ธุรกิจโรงแรม ปรับรูปแบบการให้บริการ Event สัมมนา เป็นแบบ Hybrid Format ที่มีการจัดประชุมกลุ่มย่อย และทำการ Live Broadcast ไปในที่อื่นๆ พร้อมกัน
 
สุดท้ายการเพิ่มคุณค่าของสินค้าและบริการ ยังต้องไม่ลืมเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ด้วยการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องทุกวัน แล้วมีการวางแผนโดยการสร้าง Scenario Base ตามความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นแผนสำรองในกรณีที่สถานการณ์นั้นเกิดขึ้นมาจริงๆ
 
ธุรกิจไหนที่มีพื้นฐานทั้ง 3 เรื่องที่ดี สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และมีการเตรียมความพร้อม จนมั่นใจว่ารับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้แล้ว ก็จะมีโอกาสเติบโตแล้วทะยานไปได้ไกลขึ้นอย่างแน่นอน
Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา