“ที่สำคัญสุดเลยคือ ส่งเสริมให้กล้าลองใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ นับแต่เริ่มช่วยงานธุรกิจที่บ้านในสมัยมัธยม เวลามีของออกใหม่คุณพ่อมักให้ลองใช้ เพื่อที่จะสามารถนำเสนอสินค้ากับลูกค้าได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ กล้อง
Smartphone ทำให้รู้สึกว่าไม่มีอะไรยากเกินจะเรียนรู้ ถ้าตั้งใจ อีกอย่างคือ เมื่อสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้เร็ว ก็ทำให้เข้าถึงสื่อการเรียนภาษาอังกฤษได้เร็วกว่าคนอื่น เปรียบเทียบกันในขณะที่คนอื่นเปิดสารานุกรมเป็นเล่ม เรากลับได้เล่นสารานุกรมอินเตอร์แอคทีฟ ขยับได้ ส่งเสียงได้ ถือว่าเป็นการเปิดหู เปิดตา เปิดโลก ให้กับเด็กคนหนึ่งมาก”
การใช้ชีวิตต่างแดนในแต่ละช่วงวัยต่างกันอย่างไร
“สมัยไปอเมริกาอายุยังน้อย ประสบการณ์ในการเผชิญโลกก็น้อยตามลงไปด้วย วางตัวในการเข้าสังคมไม่ถูก ประโยชน์ที่ควรจะได้จากการเป็น
นักเรียนแลกเปลี่ยนจึงไม่เต็มประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ได้คือ ความมั่นใจในตัวเองที่มาจากการปรับตัวให้กับความต่างของเมืองนอก มันช่วยพังทลายข้อจำกัด ทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น ยกเว้นเรื่องภาษา ตอนนั้นยังโดนล้อว่าพูดภาษาอังกฤษสำเนียงไทย ทั้ง ๆ ที่ไปอยู่อเมริกาเป็นปี ก็เก็บมาเป็นแรงผลักดันว่าจะต้องพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นให้ได้ อีกครั้งตอนไปใช้ชีวิตเป็นนักเรียนที่ปักกิ่ง เป็นช่วงที่เริ่มทำงานประจำ ครั้งนี้อายุมากขึ้นจึงเข้าสังคมได้ดีขึ้น มีเพื่อนมากขึ้น แต่ไม่ได้ประสบการณ์ชีวิตมากเท่าตอนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน อาจเพราะไม่ได้ต่อสู้ปรับตัวมากเหมือนเก่า เป็นชีวิตนักเรียนประจำทั่วไปที่มีจุดประสงค์คือการไปเรียนภาษาจีนเพียงอย่างเดียว เพราะยุคนี้ภาษาอังกฤษภาษาเดียวไม่เพียงพอ”
สาเหตุที่ทำให้คนติดตามการวิเคราะห์เทคโนโลยีจากคุณ ทั้งที่ในวงการตอนนี้มีนักวิเคราะห์หน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย
“คงไม่สามารถพูดแทนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเพราะอะไร และเชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ติดตามคนอื่น แต่คิดว่าการรายงานสามารถหาอ่านที่ไหนก็ได้ ความต่างของเรา คือการใส่ความคิดเห็นและบทวิเคราะห์เข้าไปทำให้เกิดการสนทนาต่อยอดไปได้ อีกอย่างคือจุดยืนที่ไม่อดทนต่อความไม่ถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่การไม่พูดอะไรก็จะไม่กระทบต่อหน่วยงานหรือสปอนเซอร์ที่เป็นแหล่งรายได้ แต่การทำเป็นเฉยจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง อย่างเช่นกรณีของระบบความปลอดภัยที่หละหลวมจนทำให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวของประชาชน เมื่อภาครัฐนิ่งเฉยไม่ดำเนินการ ก็ต้องช่วยเป็นอีกแรงที่ส่งเสียงบอกว่าแบบนี้ไม่ถูกต้อง”
จัดอันดับ 3 gadgets ที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันนี้
“อย่างแรกคือ Smartphone อย่างที่สองคือ E-reader อย่างที่สามคือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก”
มีคนบอกว่าสมัยนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก คุณคิดว่าสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนผ่านเร็วไปหรืออยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสม
“นับตั้งแต่ยุคโฮโม เซเปียนส์ มนุษย์เรียนรู้วิธีการใช้เครื่องมือ การใช้ไอน้ำ พลังงานไฟฟ้า ใช้เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาและทำให้ชีวิตง่ายขึ้น มาจนถึงยุค
ดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงเป็นไปในอัตราที่รวดเร็วกว่าเดิมหลายเท่า ข่าวดีก็คือไม่ว่าเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วแค่ไหนมนุษย์ก็ปรับตัวได้เสมอ แต่ข่าวร้ายคือ หากเมื่อไหร่เริ่มไปเร็วจนเหนือการควบคุมก็ไม่สามารถกดปุ่มหยุดมันได้อยู่ดี ไม่มีใครรู้ว่าปุ่มอยู่ตรงไหน และไม่มีใครรู้ด้วยว่าจะต้องกดอย่างไร ดังนั้นหากจะคุยกันว่ามันเร็วเกินไปหรือไม่ ก็อาจจะไม่มีประโยชน์ เพราะเราเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ สิ่งที่ควรต้องทำคือปรับตัวเองให้เป็นคนที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า”
เทคโนโลยีด้านไหนที่คุณสนใจเป็นพิเศษ
“สนใจเรื่องปัญญาประดิษฐ์ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่แง่มุมของ
เทคโนโลยี แต่มีแง่มุมทางสังคมเข้ามาเกี่ยว หลัก ๆ คือ แม้ว่ามนุษย์จะสามารถพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้เก่งกาจได้ แต่ผลกระทบทางสังคมก็ทำให้ต้องคิดคำนึงและดึงรั้งให้เดินไปอย่างช้า ๆ มีหลายเรื่องที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะทำได้ และมันก็เกิดขึ้นจริง เช่น แข่งหมากล้อมกับมนุษย์ ช่วยหาคู่ครอง หรือดีไม่ดีอาจจะเป็นคู่รักให้เราเองได้ด้วยซ้ำ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้การติดตามเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นเรื่องสนุก ถึงแม้ว่าจะมองเรื่องนี้ไปในด้านบวก แต่ก็ต้องยอมรับว่า การพัฒนาอาจนำมาซึ่งสิ่งที่เราไม่คาดคิด ต่อไปเมื่อปัญญาประดิษฐ์ฉลาดกว่าเรา มนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์จะมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร”
คิดว่าเทคโนโลยีในอนาคตจะมีบทบาทและเปลี่ยนแปลงชีวิตเราอย่างไรบ้าง
“รายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปในทางไหนคงยากจะคาดเดา สิบกว่าปีก่อนคงไม่คาดคิดว่าทุกวันนี้จะมีอุปกรณ์สี่เหลี่ยมที่ทำได้ทุกอย่างและต้องมีมันติดตัวไว้ตลอดเวลาแบบ Smartphone และคงไม่คาดคิดว่ารถยนต์จะสามารถขับตัวเองได้ หรือเราจะสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมในจินตนาการให้ปรากฏตรงหน้าได้ด้วย Virtual Reality แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร ในรูปแบบไหน หน้าที่ของมันคือต้องทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตแต่ละวันให้สูงขึ้น เพราะนี่คือสาเหตุที่มนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาตั้งแต่แรก”
หากนำเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบันไปแก้ไขปัญหาในสมัยเด็กได้ จะเลือกอะไร
“เลือกอินเทอร์เน็ตและ Smartphone เพราะสองอย่างนี้ช่วยให้การเรียนรู้ทำได้ง่ายมาก สมัยก่อนตอนฝึกภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง ต้องไปห้องสมุดโรงเรียนทุกวัน หยิบหนังสือภาษาอังกฤษสำหรับเด็กมาอ่านวันละเล่ม กลับถึงบ้านมานั่งอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษคนเดียว พออยากจะพัฒนาไปอ่านหนังสือภาษาอังกฤษก็ไม่มีให้อ่าน ต้องใช้วิธีไปหานิตยสารภาษาอังกฤษเก่าตามร้านขายหนังสือมือสอง หรือให้น้องสาวที่อเมริกาอัดวิดีโอเทป VHS รายการภาษาอังกฤษส่งมาให้ดู ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่อินเทอร์เน็ตเป็นของที่อยู่ใกล้เสียจนลืมเห็นค่า คลิปยูทูปมีให้เรียนทุกภาษา ไม่จำกัดแค่ภาษาอังกฤษ ถ้าตอนนั้นมีเครื่องมือที่เข้าถึงความรู้มหาศาลแบบอินเทอร์เน็ตและ Smartphone ก็คงจะเก่งกว่านี้”
ถ้าหากไม่ได้เริ่มงานด้านผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ คิดว่าคุณจะเลือกทำงานสายไหน
“คิดว่าเป็นอะไรที่เกี่ยวกับสื่อสารมวลชนอยู่ดี สมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย สิ่งที่ทำควบคู่ไปกับการเรียนก็คือการจัดรายการวิทยุภาษาอังกฤษและการแปลหนังสือ เป็นความชอบส่วนตัวมาโดยตลอด อันที่จริงในตอนเลือกสายงานครั้งแรกก็เลือกระหว่างการทำงานนิตยสารกับการทำงานโทรทัศน์ ดังนั้นถ้าหากไม่ใช่ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ ก็อาจจะไปทำงานเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เบื้องหลัง เป็นบรรณาธิการ คอลัมนิสต์ หรือคนเขียนหนังสือ”
ประสบการณ์ในการทำงานที่รักและภาคภูมิใจที่สุด
“ภูมิใจทุกครั้งที่ทำงานที่เคยกลัวได้สำเร็จ ถึงแม้จะเป็นพิธีกรมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เจอโจทย์ยากมาเยอะ แต่ยังมีหลายงานที่ทำให้เรารู้สึกประหม่า ตื่นกลัว หัวใจเต้นแรงอยู่ดี ทุกครั้งที่ทำงานที่กลัวได้สำเร็จก็จะภาคภูมิใจ แต่ถ้าจะให้เลือกโมเมนต์ที่ชอบที่สุด น่าจะเป็นการได้สัมภาษณ์เอริก ชมิดต์ ที่ในตอนนั้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารใหญ่ของกูเกิล บนเวทีที่มีผู้ชมและถ่ายทอดสดออกไปด้วย ซึ่งนับว่าเป็นช่วงแรกของการเริ่มทำงานด้านสื่อมวลชน เป็นประสบการณ์ที่คิดขึ้นมาก็ยังรู้สึกดีอยู่ทุกครั้ง นอนไม่หลับไปเป็นสัปดาห์”
เว็บไซต์ / บล็อก / หนังสือ / เพจ อะไรมีประโยชน์ที่สุดในการอัพเดทข่าวสารสำหรับคุณ
“App โปรดที่ใช้ติดตามข่าวสารคือ Flipboard ซึ่งเป็นการนำเอาข่าวและบทความตามหัวข้อที่เราสนใจมารวมกันแล้วนำเสนอในรูปแบบนิตยสารสวยงาม ทำให้ติดตามข่าวได้หลากหลายกว่าการตามข่าวจากที่เห็นบนหน้าฟีด Facebook ใช้มานานหลายปีแล้วก็ยังเหนียวแน่นกับ App นี้เหมือนเดิม”
ทำงานกับสายเทคโนโลยีที่ต้องเจอกับความเครียดมากมาย จัดการอย่างไร
“บอกตามตรงว่าบางครั้งก็จัดการไม่ไหวเหมือนกัน และไม่อาจจะอ้างได้ว่าตัวเองมีสุขภาพจิตที่ดีพอจะรับมือทุกปัญหา บางครั้งความเครียดที่เจอ ไม่ได้มาจากเรื่องงานโดยตรง แต่มาจากความคาดหวังส่วนตัวจนทำให้กดดันมากเกินไป สิ่งที่ทำให้ดีขึ้นคือ พยายามหาอะไรอย่างอื่นที่เป็นเป้าหมายระยะสั้นมาแทน เช่น การอ่านหนังสือเล่มที่อยากอ่าน แทนเล่มที่ควรอ่าน ออกไปสปา นวด แช่ออนเซ็น รอเวลาให้ความเครียดมันหายไป เมื่อไหร่ที่ความเครียดเริ่มเบาบางลง ก็ฉวยโอกาสลุกขึ้นมาทำงานสักชิ้นเพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กลับคืนมา บางทีต้องไม่สู้กับความเครียดให้ยิ่งเครียดกว่าเดิม เปิดรับให้มันทำหน้าที่ของมัน และรอเวลาให้จากไปด้วยตัวเองก็พอ”
ในโลกยุคที่หุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ เราเพียงกดปุ่มสั่งงาน โลกวิวัฒนาการถึงขนาดสามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขึ้นมาได้ และใช้มันบุกเบิกไปสู่อนาคต แต่เราซึ่งเป็นมนุษย์ไม่ควรน้อยหน้า
หุ่นยนต์แม้ว่าเราจะเป็นผู้สร้าง อย่าลืมหัวใจแห่งการพัฒนา วิวัฒนาการความสามารถตัวเองขึ้นมา เดินนำหน้ามันให้ได้ แล้วโลกนี้จะน่าสนุกมากกว่าที่เคยเป็น