BRANDING STORY นักทำลายขยะที่ชื่อว่า “Rubber Killer”

BRANDING STORY นักทำลายขยะที่ชื่อว่า “Rubber Killer”

By Krungsri Plearn Plearn

ณ วันที่เราได้คุยกัน คือเวลาที่โรคระบาดตัวร้ายที่ชื่อโควิด-19 กำลังเข้าทำลายโลกมนุษย์ ณ เวลานี้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกล้านกว่าคน ผู้เสียชีวิตหลักแสน ในเมืองไทยมีผู้ติดเชื้อตัวเลขทะลุพันคนไปหมาด ๆ เศรษฐกิจเรียกได้ว่าค่อนข้างจะแย่ และร้าน Rubber Killer เองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบ

แรงบันดาลใจและการเริ่มต้น Rubber Killer

ผมเป็นสถาปนิก แต่ชอบออกแบบผลิตภัณฑ์ สมัยเรียนจบใหม่ เคยเอาต้นกล้วยมาทำเป็นกระดาษ แปรรูปเป็นสมุด ใช้ชื่อแบรนด์ว่า Re Leaf Studio ส่งขายตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก จนมาถึงรุ่นหนึ่งที่เอายางในจักรยานมาทำสันสมุด ใช้เป็นช่องเสียบปากกา นั่นคือจุดเริ่มต้น ย้อนไปสิบกว่าปีก่อนยางในจักรยานมันเป็นขยะ ซึ่งเขาแทบจะให้ฟรีด้วยซ้ำ แล้วก็ทำกระเป๋าตังค์ใบแรก ทำกระเป๋าใหญ่ขึ้น เล่นมาเรื่อย แต่ด้วยความที่เราเป็นสถาปนิกมันบ่มเพาะนิสัยความเนี้ยบ ความใส่ใจในรายละเอียด พอทำไปได้สักระยะก็ให้เพื่อนดู เพื่อนส่วนใหญ่เป็นนักออกแบบเป็นดีไซเนอร์ สถาปนิก เขาค่อนข้างชอบ เลยทำแจก จนวันหนึ่งรู้สึกว่าถ้าเพื่อนชอบ คนอื่นก็น่าจะชอบด้วย ก็เลยเริ่มต้นขายผ่านโซเชียลมีเดีย ผลตอบรับดีขึ้นเรื่อย ๆ จนพยายามเซ็ทอัพขึ้นมาเป็นธุรกิจในที่สุด

ตอนนี้มีโปรดักส์กี่ตัวแล้ว

ถ้านับตั้งแต่ต้น รวมกับที่ทำขายต่างประเทศแล้วไม่ได้ขายในเมืองไทย ทั้งหมดกว่าสี่สิบแบบแล้ว

เริ่มต้นที่ต้นกล้วย ต่อที่ยางในรถจักรยาน แล้วมีวัสดุไหนอีก

ยางในรถจักรยานเป็นวัสดุที่รู้สึกสนใจมาก แต่ด้วยความที่เส้นเล็ก เลยต้องเอามาคลี่ออก แล้วเย็บต่อกัน ถึงจะกลายเป็นแผ่นใหญ่ รู้สึกว่ามันไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ เลยขยับมาเล่นกับยางในรถสิบล้อซึ่งมีขนาดใหญ่ ทำให้ทำงานกับมันได้ง่ายกว่า
BRANDING STORY นักทำลายขยะที่ชื่อว่า Rubber Killer

Rubber Killer กลายมาเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เมื่อไหร่

เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่แรกแล้ว ตั้งแต่ก่อนมี Rubber Killer ด้วยซ้ำ เราชอบเล่นกับตัววัสดุที่เหลือใช้ แบรนด์แรกที่เอาต้นกล้วยมาทำกระดาษอันนั้นก็คือเศษวัสดุ ปกติเวลาที่กล้วยออกลูกแล้วมันจะยืนต้นตาย โปรดักซ์ที่ทำจากต้นกล้วยคืออีโค่เฟรนลี่โปรดักส์อยู่แล้ว มาเป็น Rubber Killer ก็ยังคงคอนเซ็ปเดิมคือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อก่อนตอนแรกเราขับรถไปซื้อยางตามอู่รถสิบล้อเอง ตามอู่รถเมล์เชียงใหม่ ลำปาง มันเป็นอีโค่เฟรนลี่โปรดักส์ที่แข็งแรงและชัดเจนมาตั้งแต่แรกแล้ว

อะไรทำให้คุณสนใจในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม

เราโตมาในบ้านของคุณพ่อที่อยู่บนดอย ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม ตอนเป็นเด็กบริเวณโดยรอบมีแต่ป่า แต่แค่สิบกว่าปีมันเปลี่ยนไปมาก เมื่อก่อนเรามีตาน้ำซับไหลตลอดทั้งปีในบริเวณบ้าน เดี๋ยวนี้ช่วงหน้าแล้งสามถึงสี่เดือนจะไม่มีน้ำไหลเหมือนเดิม หรือแม้กระทั่งเวลาที่ขับรถผ่านทางป่าที่เคยเขียว เดี๋ยวนี้ก็โดนคนบุกรุกไปตัดไปถางหมดแล้ว อุณหภูมิหน้าร้อนเมื่อก่อนไม่ได้ร้อนแผดเผาขนาดนี้ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่องสิ่งแวดล้อมค่อนข้างเยอะ แล้วมันมาในความรับผิดชอบของมนุษย์ทุกคน มันส่งผลกระทบต่อเราทุกคน จึงคิดอยากทำอะไรบ้างในฐานะนักออกแบบ อีโค่เฟรนลี่โปรดักส์ เป็นเรื่องที่เราควรจะทำ และสำหรับเรามันก็เป็นเรื่องที่น่าสนุกมากกว่าการออกแบบชิ้นงานธรรมดาอย่างเดียว

ทำตลาดอย่างไรบ้าง

ร้านของเราอยู่ที่เชียงใหม่ ฝากขายที่กรุงเทพฯประมาณสามสี่ร้าน เราก็มีดิวกับตัวแทนจำหน่ายอยู่ที่ต่างประเทศ
BRANDING STORY นักทำลายขยะที่ชื่อว่า Rubber Killer

โคโรน่าไวรัส กับเรื่องเศรษฐกิจ

ณ วันที่เรานั่งสัมภาษณ์กันอยู่นี่มันแพร่กระจายรุนแรงขึ้น มีการหยุดให้บริการธุรกิจหลายประเภท ก่อนหน้านี้บริเวณร้านของเรามีนักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ ทำให้ยอดขายเยอะตามไปด้วย เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นทำให้ไม่มีใครเดินเที่ยว ยอดขายก็ตกลง เรียกได้ว่าไม่มียอดจากหน้าร้านเข้ามา เรื่องนี้มันส่งผลกับเราโดยตรง ต้องมาทำออนไลน์ ซึ่งการขายออนไลน์ก็เป็นยอดขายหลักของ Rubber Killer อยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่แค่เป็นหลัก แต่มันเป็นช่องทางเดียว (หัวเราะ) ร้านค้าที่รับฝากขายตามห้างในกรุงเทพฯ ก็ถูกปิดไปแล้ว ทางออกก็เป็นออนไลน์ก็เหมือนกับธุรกิจของคนอื่น โชคดีที่ว่าเราทำมันมานานแล้ว ก็เลยไม่ต้องปรับตัวมาก อาจเพิ่มเติมที่แคมเปญ โปรโมชั่นต่าง ๆ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว

สัดส่วนลูกค้าระหว่างคนไทยกับชาวต่างชาติ

ในช่วงสามปีแรกยอดขายจากต่างประเทศมากกว่า ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวด เพราะเราต้องไปทำการตลาดที่ต่างประเทศก่อน ถึงจะได้รับการยอมรับในประเทศไทย (หัวเราะ) ช่วงแรกขายที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก แล้วก็มีตลาดทางยุโรป มีตลาดในเอเชียประเทศอื่น เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์

Rubber Killer เป็นสิ่งชี้วัดได้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วคนก็มองเห็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน

ผมคิดว่าลูกค้าไม่ได้ซื้อสินค้าด้วยความรักในสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าคอนเซ็ปแบรนด์มันคือ อีโค่เฟรนลี่
โปรดักส์ แต่พยายามทำให้มันเป็นไลฟ์สไตล์โปรดักส์ คุณจะซื้อกระเป๋าแบรนด์อะไรก็ได้ แต่ถ้าคุณใช้ Rubber Killer นอกจากความสวยงาม ฟังก์ชั่น ความทนทานแล้ว คุณยังจะได้ใช้สินค้าที่มันอีโค่เฟรนลี่
โปรดักส์อีกต่างหาก เราไม่ได้อยากพูดว่าซื้อฉันเถอะพอใช้กระเป๋าของฉันแล้วคุณจะกลายเป็นคนที่รักษ์โลก ไม่ได้ขายตัวเองแบบนั้น แต่พยายามทำให้มันกลายเป็นดีเอ็นเอของแบรนด์ ว่าใช้วัสดุเหลือใช้มาทำกระเป๋า มาทำเป็นสินค้าขาย มากไปกว่านั้นที่อยากนำเสนอคือคุณจะได้ใช้ของดี ที่มีคุณภาพ กล้าพูดว่าการตัดเย็บของ Rubber Killer มีคุณภาพมาก วัสดุใช้ผ้าคอนดูร่า ซื้อจากผู้ผลิตโดยตรงมันเป็นผ้าที่ดีที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง อะไหล่ใช้เกรดของประเทศญี่ปุ่นทั้งหมดเลย เราไม่ได้พรีเซนต์ตัวเองว่าเป็นแบรนด์ที่ทำอีโค่เฟรนลี่โปรดักส์ แต่เราเป็นแบรนด์ที่ทำกระเป๋าที่ดี สินค้าที่มีคุณภาพ คุ้มราคา

ช่วยเล่าขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นจนออกโปรดักส์แต่ละชิ้น

เริ่มต้นด้วยการประชุมทีมก่อนว่าตอนนี้อยากจะทำสินค้าอะไร อย่างอินเนอร์เราเป็นคนชอบขี่มอเตอร์ไซค์ ก็อยากทำกระเป๋าไว้ใส่ของตอนขี่รถมอเตอร์ไซค์ ไปต่อเรื่องแบบ เรื่องวิธีการติดตั้งเป็นยังไง โชคดีที่มีโรงงานของตัวเอง มีช่างขึ้นแบบกระเป๋า ทำตัวทดลองมาลองใช้ก่อน ขยับนู่นขยับนี่ลองผิดลองถูกกันพอสมควร บางใบทดสอบกันประมาณห้าครั้งก็จบ บางใบใช้เวลาปรับยี่สิบครั้งก็มี อย่างตอนนี้กระเป๋าที่ทำแบบมานานแล้วแต่ยังไม่ได้ขายสักทีคือกระเป๋ากล้อง เราเองก็ชอบถ่ายภาพ มีเพื่อนเป็นช่างภาพหลายคน กระเป๋ากล้องเป็นเรื่องที่เซนซิทีฟมาก เพราะกล้องเป็นของที่มีราคา แค่เลนส์ตัวหนึ่งราคาห้าหกหมื่นบาท มันต้องเป็นกระเป๋าที่ชัวร์แล้วว่าโอเคจริง ๆ จึงจะปล่อยขาย
BRANDING STORY นักทำลายขยะที่ชื่อว่า Rubber Killer

บุกตลาดต่างประเทศได้อย่างไร

เริ่มต้นจากดิสทริบิวเตอร์ (ตัวแทนจำหน่ายเจอ) Rubber Killer จากการแนะนำของบล็อกเกอร์คนหนึ่ง แล้วเขาชอบมาก ก็เลยอีเมลมาหาเรา คุยกันแล้วเขาก็บินมาหาเราที่เชียงใหม่พอตกลงเป็นพาร์ทเนอร์กัน เขาเอาสินค้าไปขาย ทำการบ้านค่อนข้างดีมีแผนการตลาดที่ดี ที่มีช่องทางในการขายที่ดี มีคอนเน็คชั่นที่ดี ถ้าคุณไปเจอดิสทริบิวเตอร์ ที่ไม่ดี ต่อให้ของดี เขาขายไม่เป็น มันก็ขายไม่ได้ แต่ดิสทริบิวเตอร์ที่ทำธุรกิจเป็น เขาจะเลือกสินค้า และรู้ว่าต้องโปรโมทยังไง ทำ PR ยังไง เลยประสบความสำเร็จ

อะไรคือส่วนที่ยากที่สุดในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เราไม่เคยมองว่าอะไรคือเรื่องยากที่สุด แค่คิดว่าปัญหามีก็ค่อย ๆ แก้ไป การทำธุรกิจต้องมีปัญหาอยู่แล้ว เหมือนกับที่ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตามมันก็ต้องเจอกับปัญหาอยู่แล้ว ก็ค่อย ๆ แก้ไป อย่างเช่น Rubber Killer ในช่วงแรกจะไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค ปีแรกมีแต่คนบอกว่าเอายางในมาทำมันจะสกปรกไหม มันจะหนักไหม มันจะทนไหม เจอแบบนี้ยิ่งท้อไม่ได้ ต้องคอยปรับมุมมอง คอยให้ข้อมูล มันก็จะได้ค่อย ๆ ได้รับการยอมรับตามมา
BRANDING STORY นักทำลายขยะที่ชื่อว่า Rubber Killer

อะไรที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำ

หลายอย่าง (หัวเราะ) อยากทำเฟอร์นิเจอร์ ชอบเก้าอี้ ชอบโคมไฟ เลยอยากทําเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ของตัวเอง แต่ถ้าในแง่ของ Rubber Killer ส่วนนี้ค่อย ๆ โตไปในทางวิถีทางของมัน ก็อยากเพิ่มประเทศที่จำหน่าย แต่นี้ช่วงนี้เศรษฐกิจโลกไม่ดีเลยแต่เราก็คิดแก้ไขปัญหากันต่อไป เมื่อเดือนมกราคมเราก็ได้คอลแลปกับแบรนด์แฟชั่นเกาหลี ซึ่งเป็นแบรนด์ที่โอเคมาก ๆ แล้วก็ไปเดินที่ลอนดอนแฟชั่นวีค แล้วก็มีโชว์อีกที่ปารีสดีไซน์วีค ซึ่งเราคิดว่ามันเจ๋งมาก ๆ ต่อจากนั้นไม่นานไวรัสโคโรน่าก็ถล่มโลก (หัวเราะ) ตอนนี้เลยคาดเดาอะไรไม่ได้ ก็แก้ปัญหากันไป

อยากฝากอะไรถึงคนที่กำลังทำธุรกิจแล้วอาจจะท้อด้วยปัญหา

ก็คงจะบอกว่าเป็นกำลังใจให้ครับ (หัวเราะ) แก้ปัญหากันไป ทุกวิกฤติมันจะต้องมีผู้รอดเสมอ เราเชื่อแบบนั้น แต่จะทำยังไงให้เราเป็นผู้รอดในวิกฤติ (หัวเราะ) ทางเดียวคือต้องสู้ ต้องห้ามท้อ เอาเวลาที่จะบ่นจะท้อมาแก้ปัญหาดีกว่า
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow