MRR คืออะไร และอัตราดอกเบี้ยลอยตัว สำคัญอย่างไรในการกู้บ้าน
รอบรู้เรื่องบ้าน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

MRR คืออะไร และอัตราดอกเบี้ยลอยตัว สำคัญอย่างไรในการกู้บ้าน

icon-access-time Posted On 02 พฤษภาคม 2565
by Krungsri The COACH

รู้จักกับ MRR

MRR (Minimum Retail Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยรูปแบบลอยตัว (Floating Rate) ที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ส่วนใหญ่จะใช้คำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยอัตราดอกเบี้ยชนิดนี้มักเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น นโยบายการบริหารทรัพย์สินและหนี้สินของธนาคาร การแข่งขันของตลาด เป็นต้น
 
กู้ด้วยดอกเบี้ย mrr สำหรับสินเชื่อบ้าน

นั่นเป็นสาเหตุว่า ทำไมบางคนที่ยื่นขอสินเชื่อบ้านอาจพบว่าธนาคารมีการกำหนดอัตรา MRR -0.25% บ้าง -0.50% บ้าง หรืออาจเป็นตัวเลขที่ต่างกันออกไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงก็จะขึ้นอยู่กับนโยบายของธนาคารในช่วงนั้น ๆ

ท่านสามารถอ่านรายละเอียด เกี่ยวกับการปรับอัตราดอกเบี้ยบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงอัตราดอกเบี้ย MRR ล่าสุดในปัจจุบันของธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ที่อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เพื่อนำไปพิจารณาคำนวณสินเชื่อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคล ประกอบการตัดสินใจตามความสามารถในการผ่อนชำระของเรา
 

ข้อแตกต่างของ MRR และดอกเบี้ยชนิดอื่น

เนื่องจากชื่อของดอกเบี้ยลอยตัวมีความคล้ายคลึงกันค่อนข้างมาก ทำให้คนจำนวนไม่น้อยสับสนและคำนวณดอกเบี้ยผิดพลาด Plan You Money จึงได้รวบรวมข้อมูลและจำแนกความแตกต่างของดอกเบี้ยแต่ละประเภทให้คุณได้เข้าใจแบบง่าย ๆ ดังนี้

 
ข้อแตกต่างของ MRR และดอกเบี้ยชนิดอื่นๆ
ดอกเบี้ย MRR
(Minimum Retail Rate)
ดอกเบี้ย MLR
(Minimum Loan Rate)
ดอกเบี้ย MOR
(Minimum Overdraft Rate)
อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี มักใช้กับสินเชื่อส่วนบุคคลและและสินเชื่อบ้านที่เวลาชำระไม่ตายตัวมากนัก อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี มีประวัติการเงินดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มักใช้กับการกู้ระยะยาวที่มีกำหนดเวลาแน่นอน อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี ทำให้ธนาคารต้องเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณายิ่งขึ้น

การคำนวณเงินกู้ด้วยดอกเบี้ย MRR สำหรับสินเชื่อบ้านเบื้องต้น

ตัวอย่าง การคิดดอกเบี้ย MRR สำหรับคำนวณค่างวดบ้าน

คุณ ก. ต้องการขอสินเชื่อบ้านในวงเงินกู้ 2,000,000 บาท MRR 7% โดยธนาคารมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ว่าปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5% ต่อปี ปีที่ 2 MRR-0.25%

การคำนวณดอกเบี้ยกู้บ้านสำหรับปีที่ 1 เป็นอัตราคงที่ 5% สามารถคำนวณตรง ๆ ได้ทันที
ดอกเบี้ยสำหรับปีที่ 1 = 2,000,000 x 5% = 100,000 บาท

การคำนวณดอกเบี้ยกู้บ้านสำหรับปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย MRR -0.25%
ให้นำ MRR 7% - 0.25% = 6.75%
ดอกเบี้ยสำหรับปีที่ 2 = 2,000,000 x 6.75% = 135,000 บาท

จากตัวอย่างการคำนวณสินเชื่อกู้บ้านด้านบนจะเห็นได้ชัดว่า ความแตกต่างของการคิดดอกเบี้ยทั้งสองแบบสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อดอกเบี้ยได้หลักหมื่นบาทเลยทีเดียว และยิ่งเวลาผ่านไปนานก็มีโอกาสที่ดอกเบี้ยบ้านจะเพิ่มขึ้นตามกลไกทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านในยุคนี้ควรติดตามสถานการณ์อัตราดอกเบี้ย เพื่อใช้คำนวณเงินผ่อนบ้านเป็นระยะ ๆ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งการคำนวณดอกเบี้ยสำหรับซื้อบ้านมือหนึ่ง และดอกเบี้ยบ้านมือสอง รวมถึงพิจารณาเรื่องของการรีไฟแนนซ์เพื่อให้ได้อัตราเงินกู้ใหม่ที่ดีกว่าเดิม ลดภาระหนี้ในระยะยาว ผนวกกับการวางแผนการเงินระยะยาวเพื่อให้การบริหารจัดการเงินเกี่ยวกับบ้านและชีวิตประจำวันของคุณสามารถผสานเข้าด้วยกันได้ดีไม่มีสะดุด

สรุป ดอกเบี้ย MRR หรืออัตราดอกเบี้ยรูปแบบลอยตัว
เห็นได้ชัดเลยว่า ความรู้พื้นฐานด้านการคำนวณสินเชื่อผ่อนบ้าน ทั้งสินเชื่อและดอกเบี้ยนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้น ผู้ที่ต้องการกู้ยืมควรศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าวให้เข้าใจก่อนดำเนินการธุรกรรม หรือใช้เครื่องมือในการคำนวณสินเชื่อในการขอสินเชื่อกู้ยืมเงินเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับคุณและคนในครอบครัว

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา