การซื้อรถสักคันหนึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่น้อยเลย เพราะจะต้องใช้เงินก้อนใหญ่ถ้าหากเลือกซื้อด้วยเงินสด ทำให้หลาย ๆ คนหันมาสนใจการผ่อนจ่ายรายเดือน ที่ถือได้ว่ายังคงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนโดยส่วนมาก แต่ทว่า ก่อนที่จะเริ่มผ่อนรถยนต์จะต้องเตรียมตัวรับมือกับค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ถ้าผ่อนรถไม่ไหวจะทำไงดี? ดอกเบี้ยผ่อนรถแพงไหม และไหนจะผ่อนรถกี่งวดถึงจะรีไฟแนนซ์ได้ วันนี้เรารวมทุกประเด็นร้อน ที่หลายคนสงสัยมาไว้ให้แล้ว… แบบฉบับอ่านจบปุ๊บพร้อมออกรถได้ทันทีเลย
5 ข้อควรรู้ อยากผ่อนรถยนต์แบบชิว ๆ เริ่มยังไงดี?
1. ก่อนผ่อนรถยนต์ ถ้าติด (แบล็กลิสต์) ต้องปิดก่อนนะ
สำหรับใครที่อยากเริ่มผ่อนรถยนต์ ก่อนจะเช็กสเปกรถที่ชอบ ต้องเริ่มเช็กประวัติตัวเราเองก่อน ว่ามีประวัติเสียหรือเปล่า ติดเครดิตบูโรที่ไหนไว้ไหม ตัวอย่างเช่น เคยผิดชำระหนี้บัตรเครดิตผิดชำระ O/D ผิดชำระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล และอื่น ๆ ถ้ามีจะต้องทำเรื่องปิดให้เรียบร้อยก่อน มากไปกว่านั้นคือ ต้องทิ้งระยะเวลาให้นานเกิน 2 ปี ขึ้นไป ถึงจะเริ่มผ่อนรถได้ หากว่าอยากซื้อเลยต้องนำใบปิดไปยื่นกับไฟแนนซ์ จากนั้นวางวงเงินดาวน์ประมาณ 40% ขึ้นไป ซึ่งไฟแนนซ์จะพิจารณาเป็นกรณีไปขึ้นอยู่กับตัวบุคคล
2. เตรียมเอกสารการออกรถยนต์
กรณีไม่มีประวัติเสีย หรือปิดเรียบร้อย ก็สามารถเริ่มเตรียมเอกสารสำคัญได้เลย โดยที่ขอแยกชุดเอกสารไป จะเป็นสำหรับพนักงานประจำ อาชีพอิสระ ดังต่อไปนี้
พนักงานประจำ
- สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน อย่างละ 3 ใบ
- สลิปเงินเดือน (สลิปคาร์บอน) ย้อนหลัง 6 เดือน ถ้าหากไม่มีให้ใช้ใบรับรองเงินเดือน
- สมุดบัญชีเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน เพื่อที่จะดูความสามารถในการชำระหนี้
หากไม่ค่อยได้อัปเดตสมุดบัญชี สามารถใช้ Statement (ย้อนหลัง 6 เดือน) ที่ขอจากธนาคารได้
อาชีพอิสระ (เช่น ค้าขาย)
- สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน อย่างละ 3 ใบ (เหมือนกับพนักงานประจำ)
- ใบเสร็จ ใบส่งของ หลักฐานการซื้อขายทุกรายการ เพื่อเก็บไว้ยื่นไฟแนนซ์ เอกสารยิ่งครบ ยิ่งผ่านง่ายนะบอกเลย
- รูปถ่ายหน้าร้าน พร้อมใบเสร็จค่าเช่าที่ หรือภาพเพจ Facebook, IG หากขายของทางออนไลน์
- Statement หรือรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 1 ปี เพื่อแสดงฐานรายได้ที่มั่นคง
ทริค! ควรที่จะมีรายรับก้อนใหญ่เข้าในทุก ๆ เดือน และมีรายได้เสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ แต่ข้อควรระวังคือ เมื่อใดที่มีเงินเข้าอย่าเพิ่งใจร้อนถอนออกจนหมดนะ ให้ทยอยถอนใช้ทีละนิดในวันอื่น ๆ ด้วย และเหลือเงินคงค้างติดบัญชีไว้ประมาณ 10% จะเพิ่มความน่าเชื่อถือขึ้นได้อีก
3. ยอดดาวน์ (ยิ่งเยอะ ยิ่งดี)
ก่อนอื่นเลยมารู้จักเงินดาวน์กันก่อน เงินดาวน์ คือ เงินสดที่เรานำไปวางตอนซื้อรถ ซึ่งจะเป็นเงินส่วนแรกในการชำระค่ารถนั้น เมื่อหักลบกลบหนี้จากค่ารถแล้ว เหลือเท่าไหร่ไฟแนนซ์จะนำยอดเงินที่เหลือมาคูณเป็นเปอร์เซ็นต์ดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อนำมาคิดยอด
ผ่อนชำระที่เราจะต้องจ่ายต่อเดือน ซึ่งนั่นแปลว่า เงินดาวน์ยิ่งเยอะเท่าไหร่ ภาระในการผ่อนชำระในแต่ละเดือนยิ่งต่ำลง หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ “ดาวน์สูง – ผ่อนต่ำ แต่ถ้า ดาวน์ต่ำ – ผ่อนสูง”
ทริค! ถ้าหากเรามีเงินสดเป็นก้อนใหญ่มาวางดาวน์ให้สูงไว้ตั้งแต่ต้นจะยิ่งเป็นผลดี เนื่องจากดอกเบี้ยรถยนต์เป็นดอกเบี้ยตายตัว แต่ถ้าหากทำการปิดบัญชีแบบจ่ายค่างวดคงค้างทั้งหมด จะได้ส่วนลดดอกเบี้ยคงค้างแบบขั้นบันได โดยที่ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องลดดอกเบี้ยให้ผู้เช่าซื้อไม่น้อยกว่า 60% กรณีชำระค่างวดเกินกว่า 1 ใน 3 แต่ไม่เกิน 2 ใน 3 ของค่างวดทั้งหมด ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องลดดอกเบี้ยให้ผู้เช่าซื้อไม่น้อยกว่า 70% และกรณีชำระค่างวดเกินกว่า 2 ใน 3 ของค่างวดทั้งหมด ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องลดดอกเบี้ยให้ผู้เช่าซื้อทั้ง 100% หรือไม่คิดดอกเบี้ย
ซึ่งจะต่างออกไปจากการผ่อนบ้านที่สามารถโปะให้ดอกเบี้ยลดลงได้ แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่นะ! ถ้าเลือกดาวน์น้อยกว่า 20% ของราคารถจำเป็นที่จะต้องมีคนค้ำประกัน หรืออีกกรณีหนึ่ง หากรายได้ไม่ถึง 2 เท่าของค่างวดรถจะต้องมีคนซื้อร่วมด้วย 1 คน ถึงจะผ่านไฟแนนซ์แบบง่ายขึ้น
ถ้าหากสนใจที่จะซื้อรถยนต์สักคันแต่อยากผ่อนรถยนต์แบบสบายใจไม่สะดุดระหว่างทาง ลองมาดูทริคดี ๆ ได้ในคลิปนี้
Krungsri The COACH Ep.45 ผ่อนรถยังไงให้ชีวิตไม่สะดุด รับรองได้ความรู้แน่นปึ๊ก คลิกเลย
4. เวลาผ่อนชำระ (ยิ่งน้อย ยิ่งส่งผลดี)
นอกเหนือไปจากจำนวนเงินดาวน์ อีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อจากการคิดดอกเบี้ย คือ จำนวนงวดผ่อนชำระ เมื่อยิ่งเราผ่อนนาน ดอกเบี้ยจะยิ่งสูง ซึ่งส่วนมากจำนวนงวดที่นิยมกันจะอยู่ที่ประมาณ 48 เดือน (ราว ๆ 4 ปี) หรือ 60 เดือน (ราว ๆ 5 ปี) ซึ่งถ้านานกว่านี้ดอกเบี้ยจะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ต้องจ่ายเกินกว่าราคาจริงมากไปโดยใช่เหตุ
ทริค! ถ้ายิ่งผ่อนหมดเร็ว ดอกเบี้ยยิ่งต่ำ ซึ่งถ้าเลือกที่จะผ่อนชำระ 48 เดือน การผ่อน 1-4 ปี ใช้อัตราดอกเบี้ยเดียวกัน ซึ่งชัดเจนอยู่แล้วว่า 4 ปี เป็นระยะเวลาที่ผ่อนชำระได้สบายที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องถามตัวเองด้วยว่า จำนวนเงินที่ผ่อนในแต่ละเดือนไหวหรือเปล่า เกินกำลังไปไหม
5. ประกันรถยนต์ (ภาคสมัครใจ ชั้น 1-5)
ถึงแม้กฎหมายจะไม่ได้บังคับให้รถยนต์ต้องมีประกันภัยภาคสมัครใจ เหมือนกับประกันภัยภาคบังคับ (พรบ.) แต่การทำ
สินเชื่อรถยนต์ทั้งใหม่และเก่า ไฟแนนซ์จะให้ลูกค้าทำประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ โดยพิจารณาจากอายุรถยนต์เป็นสำคัญ เช่น ถ้าทำสินเชื่อรถยนต์ใหม่ ในปีแรก ก็จะแจ้งให้ทำประกันรถยนต์ภาคสมัครใจประเภท 1 ถึงจะสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ออกรถทุกคน เนื่องจากความคุ้มครองของประกันรถยนต์ภาคสมัครใจจะมีความคุ้มครองรถยนต์ของผู้เอาประกัน กรณีเสียหาย สูญหาย หรือไฟไหม้ ตามประเภทของประกันภาคสมัครใจที่สมัครไป ซึ่งความคุ้มครองนี้ไม่มีอยู่ใน พรบ.
ทริค! เมื่อไหร่ที่ออกรถครบ 1 ปี เราสามารถเลือกเปลี่ยนบริษัทประกันได้เองเลย หรือจะให้ทางกรุงศรีออโต้โบรคเกอร์นำเสนอบริษัทประกันที่ตรงใจ เราก็มีเจ้าหน้าที่ที่สามารถเสนอบริษัทประกันภัย สามารถอธิบายเข้าใจง่าย ๆ ตอบสนองความต้องการ ณ เวลานั้นมากที่สุด รวดเร็วกว่า ในราคาสบายกระเป๋า เหมือนมีที่ปรึกษาเรื่อง
ประกันภัยอยู่ด้วยตลอดเวลา รับรองว่าหมดห่วงเรื่องบนท้องถนนได้เลย
เรามาดูกันแบบเห็นภาพชัด ๆ กันเลยว่าออกรถยนต์ 1 คัน มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?
จากภาพที่แสดงไปข้างต้นจะเห็นได้เลยว่าการซื้อรถยนต์สักคันหนึ่งเนี่ย มีค่าใช้จ่ายอีกมากมายเกินความคาดหมายไปเยอะเลย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีค่าใช้จ่ายระยะยาวตามมาอีกด้วย ดังนั้นเมื่อตัดสินใจจะซื้อรถแล้วเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ๆ เลยที่จะต้องวางแผนทางการเงินให้ดี และรอบคอบเพื่อที่เราจะได้ใช้รถยนต์สุดรักได้อย่างสบายใจ อีกทั้งยังผ่อนสบายแบบไม่สะดุดระหว่างทางด้วย