บทความ

Share FACEBOOK TWITTER LINE

สินทรัพย์นอกตลาด (Private Assets) คืออะไร ทำไมจึงได้รับความนิยมจากนักลงทุนชั้นนำทั่วโลก

บทความ

สินทรัพย์นอกตลาด (Private Assets) คืออะไร ทำไมจึงได้รับความนิยมจากนักลงทุนชั้นนำทั่วโลก์

26 กรกฎาคม 2565
โดย วิน พรหมแพทย์, CFA
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้า​ไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)


สินทรัพย์นอกตลาด (Private Assets) คือ การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยอาจแบ่งได้เป็น อสังหาริมทรัพย์นอกตลาด (Private Real Estate) หุ้นนอกตลาด (Private Equity) ตราสารหนี้นอกตลาด (Private Debt) โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Unlisted Infrastructure) และ เฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) ทั้งนี้ โปรดสังเกตว่า สินทรัพย์เหล่านี้ (ยกเว้น Hedge Fund) ล้วนมี “คู่เทียบ” เป็นสินทรัพย์แบบเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น คู่เทียบของ Private Equity คือ Public Equity หรือ หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นั่นเอง
 
Private Assets


เราอาจนับได้ว่า สินทรัพย์นอกตลาด เป็นส่วนหนึ่งของ สินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Assets) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก ทั้งนี้ สินทรัพย์ทางเลือกอื่นที่ไม่ได้จัดให้เป็น Private Assets ได้แก่ สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) และ Crypto Assets เนื่องจากสินทรัพย์ทั้ง 2 กลุ่ม มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เช่น การซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์ราคาน้ำมัน และ การซื้อขายเหรียญบิทคอยน์ เป็นต้น เราจึงจัดให้ สินค้าโภคภัณฑ์ และ Crypto Assets เป็นสินทรัพย์ทางเลือกในกลุ่ม Public Assets

ในอดีต การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดแต่ละครั้งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ต้องการความชำนาญในการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน และต้องการระยะเวลาลงทุนนานหลายปี จึงถูกจำกัดวงเฉพาะนักลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนบำนาญ หรือ กองทุนเพื่อความมั่งคั่ง เท่านั้น แต่ในระยะหลัง นักลงทุนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่ม Ultra-High Net Worth (U-HNW) หรือกลุ่มลูกค้า Private Banking สามารถเข้าถึงการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดได้ ทั้งการลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวม และการลงทุนโดยตรง
 

ประเภทของการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด

  1. อสังหาริมทรัพย์นอกตลาด (Private Real Estate) คือ การลงทุนในกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อาทิ อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า คลังสินค้า โรงแรม ฯลฯ โดยมักแบ่งตามระดับความเสี่ยงจากน้อยไปมาก ได้แก่ Core, Core Plus, Value Added และ Opportunistic
  2. หุ้นนอกตลาด (Private Equity) คือ การลงทุนในหุ้นของกิจการที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ แบ่งเป็น 3 ระยะตามการเติบโตของธุรกิจที่ลงทุน ได้แก่ Venture Capital, Growth Capital และ Leveraged Buyouts
  3. ตราสารหนี้นอกตลาด (Private Debt) คือ การให้เงินกู้กับบริษัทเอกชน เช่น การให้กู้ยืมโดยตรง (Direct Lending) การลงทุนในหนี้ที่มีปัญหา (Distressed Debt) การลงทุนในตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Mezzanine Debt) เป็นต้น
  4. โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Unlisted Infrastructure) คือ การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้า ประปา ทางด่วน สนามบิน รถใต้ดิน ท่าเรือน้ำลึก เสาโทรคมนาคม รถไฟฟ้า เป็นต้น
  5. เฮดจ์ฟันด์ (Hedge Funds) เป็นกองทุนประเภทหนึ่งที่สามารถลงทุนได้หลากหลาย ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และ ตราสารอนุพันธ์ สามารถทำได้ทั้ง Long (ซื้อหลักทรัพย์ราคาถูกเพื่อหวังขายทำกำไรเมื่อราคาสูงขึ้น) และ Short (ยืมหลักทรัพย์มาขายราคาแพงเพื่อหวังทำกำไรด้วยการซื้อคืนในราคาที่ต่ำลง) และสามารถกู้ยืมเงินเพื่อมาลงทุน หรือ Leverage ได้มาก โดยเป็นกองทุนที่มักจะไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เข้มงวดของหน่วยงานกำกับดูแล


สัดส่วนการลงทุนแนะนำสำหรับนักลงทุนบุคคล

ในรายงาน World Wealth Report 2022 โดย Capgemini พบว่า นักลงทุนกลุ่ม High Net Worth (HNW) ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกรวมกันประมาณ 25 – 35% โดยแบ่งเป็น Real Estate ประมาณ 15 – 20% และลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอื่นอีก 10 – 15%
 
Asset Allocation of Private Wealth Clients


สำหรับ นักลงทุนบุคคล แนะนำให้มีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก 5 – 25% ของพอร์ต โดยในระยะแรก แนะนำให้เริ่มจากการลงทุนใน หุ้นนอกตลาด (Private Equity) และ อสังหาริมทรัพย์นอกตลาด (Private Real Estate) เพราะเป็นการลงทุนที่จับต้องได้และเข้าใจง่ายที่สุด และเป็นสินทรัพย์นอกตลาดที่ได้รับความนิยมสูงสุดทั้งในกลุ่มนักลงทุนบุคคลและสถาบัน เมื่อมีความชำนาญมากขึ้น จึงค่อยขยับไปลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มอื่นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ตราสารหนี้นอกตลาด (Private Debt) โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Unlisted Infrastructure) และ เฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund)
 

สัดส่วนการลงทุนแนะนำสำหรับนักลงทุนสถาบัน

ในรายงาน Alternative Investments โดย UBS Asset Management พบว่า นักลงทุนสถาบัน ได้แก่ กองทุนบำนาญ (Pension Funds) กองทุนเพื่อความมั่งคั่ง (Sovereign Wealth Funds) และ เงินกองทุนของมหาวิทยาลัย (University Endowment Funds) ส่วนใหญ่มีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก 15 - 40% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทุนประเภท Endowment Fund หลายกองทุน มีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกมากกว่า 70% โดยมีข้อมูลดังนี้
  • CalPERS (ย่อมาจาก California Public Employees' Retirement System) เป็นกองทุนเพื่อการเกษียณของเจ้าหน้าที่ของรัฐ California มีสมาชิกกว่า 1.5 ล้านคน และบริหารสินทรัพย์กว่า $469 พันล้าน (Source: CalPERS, data as of 30 Jun 2021) กองทุน CalPERS มีสัดส่วนการลงทุนใน Private Equity 8% และใน Real Estate 13%
  • GIC (ย่อมาจาก Government of Singapore Investment Corporation) เป็นกองทุนเพื่อความมั่งคั่งที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารเงินทุนสำรองของสิงคโปร์ มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารมากกว่า $744 พันล้าน (Source: Wikipedia, data as of 30 Jun 2021) โดย GIC สัดส่วนการลงทุนใน Private Equity 13% และใน Real Estate 7%
  • Yale Endowment เป็นกองทุนที่บริหารสินทรัพย์ของมหาวิทยาลัยเยล และนับเป็นกองทุน Endowment Fund ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก (รองจาก Harvard University Endowment) โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารมากกว่า $42 พันล้าน (Source: Wikipedia, data as of 30 Jun 2021) กองทุน Yale Endowment นับเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการลงทุนทางเลือก โดยมีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกรวมกันมากถึง 76% ได้แก่ Private Equity 38%, Real Estate 10%, Hedge Funds 23% และอื่นๆ 6%
  • Global Family Office เป็นกองทุนที่บริหารความมั่งคั่งให้กับครอบครัว ซึ่งนับเป็นนักลงทุนสถาบันกลุ่มที่ค่อนข้างใหม่และมีสินทรัพย์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในรายงานของ UBS เป็นการสำรวจข้อมูลของ Family Office จำนวน 121 กองทุน พบว่า มีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกรวมกันโดยเฉลี่ยประมาณ 41% ประกอบด้วย Private Equity 16%, Real Estate 14%, Hedge Funds 5% และอื่นๆ 6%
 
Alternative Allocations by Sample Institutional Investors

คำเตือน : ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนทำการลงทุน
Share FACEBOOK TWITTER LINE