บทความ

Share FACEBOOK TWITTER LINE

ทำความรู้จัก Private Credit น่าสนใจลงทุนอย่างไร

บทความ

ทำความรู้จัก Private Credit น่าสนใจลงทุนอย่างไร์

15 กรกฎาคม 2567
เมื่อกล่าวถึงการลงทุนตราสารหนี้ นักลงทุนคงคุ้นเคยกับการลงทุนตราสารหนี้โดยตรง ด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน หรือการลงทุนโดยอ้อมผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนตราสารหนี้ ทั้งนี้ ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งในการลงทุนตราสารหนี้ นั่นคือ การลงทุนตราสารหนี้นอกตลาด (Private Credit) ซึ่งตราสารหนี้นอกตลาดคืออะไร น่าสนใจลงทุนอย่างไร และทำไมควรมีตราสารหนี้นอกตลาดอยู่ในพอร์ตการลงทุน บทความนี้มีคำตอบ

ทำความรู้จักตราสารหนี้นอกตลาด (Private Credit)
ตราสารหนี้นอกตลาด (Private Credit) คือ แหล่งเงินทุนทางเลือกนอกตลาด โดย “ผู้ให้เงินทุน” คือนักลงทุนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ซึ่งแตกต่างจากแหล่งเงินทุนแบบดั้งเดิมที่ “ผู้ต้องการเงินทุน” มักกู้เงินผ่านธนาคาร หรือการออกหุ้นกู้

ปัจจุบันตราสารหนี้นอกตลาด (Private Credit) ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจาก
  • ความยืดหยุ่น : ผู้กู้และผู้ปล่อยกู้สามารถเจรจาเพื่อกำหนดรูปแบบการกู้ยืมที่ตอบโจทย์ทั้งสองฝ่ายได้ดีที่สุดไม่ว่าจะเป็นระยะเวลา สินทรัพย์ค้ำประกัน รูปแบบการจ่ายเงิน เป็นต้น
  • แหล่งเงินทุนทางเลือก : ปัจจุบันการปล่อยกู้ในตลาดมักเอื้อต่อบริษัทที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ทำให้ผู้กู้เริ่มมองหาแหล่งเงินทุนทางเลือกที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
  • ข้อจำกัดในภาคธนาคาร : การปล่อยกู้ของภาคธนาคารมีความเข้มงวดมากขึ้น และมีเงินทุนอย่างจำกัด จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ปล่อยกู้อื่นๆ นอกจากธนาคาร ในการเข้าถึงตลาด หรือผู้กู้ ที่มีศักยภาพเติบโต

กลยุทธ์การลงทุนตราสารหนี้นอกตลาด (Private Credit)
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนตราสารหนี้นอกตลาด (Private Credit) มีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน ตัวอย่างเช่น
  • Direct Lending คือ การปล่อยกู้โดยตรงให้กับผู้กู้ ส่วนใหญ่มักมีสิทธิเรียกร้องในลำดับต้น
  • Mezzanine คือ ตราสารหนี้กึ่งทุน เป็นการปล่อยกู้ที่ผู้กู้มีสิทธิที่จะเปลี่ยนหนี้เป็นทุนในอนาคต
  • Opportunistic คือ การปล่อยกู้ให้กับบริษัทที่กำลังเผชิญปัญหาหรือข้อจำกัดทางการเงิน
  • Distressed คือ การลงทุนตราสารหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้หรือด้อยคุณภาพ

ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุน Direct Lending เป็นการลงทุนตราสารหนี้นอกตลาด (Private Credit) ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน สิทธิเรียกร้องการชำระหนี้อยู่ลำดับต้นๆ รวมถึงมีข้อกำหนดด้านการเงินที่ต้องดำรง โดยปกติกลยุทธ์การลงทุน Direct Lending มักเป็นการปล่อยกู้ให้กับบริษัทขนาดกลาง-เล็ก ซึ่งมีมูลค่ากิจการประมาณ 100 – 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับความน่าสนใจของกลยุทธ์การลงทุน Direct Lending มีดังนี้
  • อัตราผิดนัดชำระหนี้ต่ำ : กลยุทธ์การลงทุน Direct Lending มีอัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำกว่า และอัตราการได้รับชำระคืนหนี้เมื่อเกิดการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับ Bank Loans และหุ้นกู้ High Yield เป็นผลจากอำนาจในการต่อรองและความยืดหยุ่นของโครงสร้างการกู้ยืม
  • กระจายความเสี่ยง : ช่วงที่ตลาดการลงทุนมีความผันผวน ไม่ว่าจะเป็นช่วงอัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น หรือช่วงเกิดวิกฤตต่างๆ กลยุทธ์การลงทุน Direct Lending ยังมีความแข็งแกร่งและมักได้รับผลกระทบต่ำกว่า Bank Loans และหุ้นกู้ High Yield ซึ่งช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนได้
  • โอกาสรับผลตอบแทนสูง : นักลงทุนมีโอกาสรับผลตอบแทน (Yield) จากกลยุทธ์การลงทุน Direct Lending ที่สูงกว่าตลาด Public Credit จากส่วนชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญ กลยุทธ์การลงทุน Direct Lending ยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นในระยะยาว

การลงทุน Private Credit เป็นแนวทางหนึ่งในการลงทุนตราสารหนี้ ช่วยกระจายความเสี่ยง ลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน และช่วยให้นักลงทุนมีโอกาสรับผลตอบแทนที่สูง อย่างไรก็ตาม การลงทุน Private Credit อาจมีความเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ที่ทำให้นักลงทุนได้รับเงินคืนมากหรือน้อยกว่าเงินลงทุนแรกเริ่มได้ หรือความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ซึ่งนักลงทุนอาจไม่สามารถขายคืนหรือได้รับเงินตามที่จำนวนที่ต้องการเมื่อต้องการขายกองทุน ดังนั้น นักลงทุนควรรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้สูง

สนใจการลงทุนใน Private Credit https://www.krungsri.com
Share FACEBOOK TWITTER LINE