ส่องโอกาสและความท้าทาย “Urbanization” การขยายตัวจากชนบทสู่สังคมเมืองใหม่

โดย สิรภัทร เกาฏีระ CFP® นักวางแผนการเงิน
15 กุมภาพันธ์ 2566
ส่องโอกาสและความท้าทาย “Urbanization” การขยายตัวจากชนบทสู่สังคมเมืองใหม่
Urbanization จากชนบทสู่สังคมเมืองใหม่ กรุงเทพฯ ถูกเรียกว่าเป็นเมืองโตเดี่ยว เพราะเป็นศูนย์กลางทุกด้านของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งรวมอำนาจ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงโอกาสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนดี ๆ โรงพยาบาลดี ๆ ธุรกิจใหญ่ ๆ ตลาดแรงงานที่สำคัญ และสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายล้วนมักจะรวมกันอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยที่อยู่นอกเมืองต่างพากันย้ายมาเรียน มาทำงานกันที่นี่ เพราะบ้านเกิดตัวเองอาจจะไม่เอื้ออำนวยด้วยหลาย ๆ ปัจจัย จึงทำให้คนส่วนใหญ่นั้นไปกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดที่มีการพัฒนานั่นเอง
 

Urbanization แนวโน้มในประเทศไทย

Urbanization แนวโน้มในประเทศไทย

จากข้อมูลการเก็บจำนวนประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2016 พบว่า เมืองขนาดใหญ่ยังมีแค่กรุงเทพฯ แห่งเดียว แต่เมืองขนาดกลางนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และเมืองขนาดเล็กที่มีประชากรไม่ถึง 5 แสนคนเหลือเพียงแค่ 21 จังหวัด จากทั้งหมด 77 จังหวัด ซึ่งการขยายตัวเป็นสังคมเมืองนั้น มีผลมาจากการเพิ่มจำนวนของประชากร

กระแส Urbanization เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 1960 และคาดว่าในปี 2050 ประชากรไทยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 11 ล้านคน โดย 73% จะกลายเป็นสังคมเมือง โดยการ Urbanization แบบมีทิศทาง คือ การที่เมืองที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มที่จะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ก็มีเมืองขนาดกลางอีกหลายแห่งที่มีศักยภาพสามารถขยายตัวได้อีกมาก อย่าง นครราชสีมา อุบลราชธานี เชียงใหม่ และขอนแก่น โดยการส่งเสริมให้เกิด Urbanization จึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้
 
โอกาส Urbanization
 

Urbanization คือโอกาสและความท้าทาย

แม้ว่าอดีตการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศจะได้ผล แต่ว่าปัจจุบันการใช้โครงสร้างรูปแบบเดิมอาจมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้น ที่เห็นได้ชัด คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ฯลฯ ทำให้เกิดความท้าทายที่ต้องปรับตัวจากการเป็น Urbanization เพื่อแข่งขันกับทั่วโลกในอนาคตดังนี้
 

1. Urbanization จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่

ในยุคศตวรรที่ 21 นี้การขยายตัวของความเป็นสังคมเมืองมีขนาดใหญ่และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจึงเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโดยตรง
 

2. Urbanization จะเป็นตัวเร่งการด้านเศรษฐกิจและสังคมในมิติต่าง ๆ

  • ด้านประสิทธิภาพการผลิต เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรกรรมในชนบทสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการในสังคมเมือง ทำให้จำนวนประชากรที่มากกว่าจะมีประสิทธิภาพการผลิตมากกว่าด้วย
  • ด้านความเท่าเทียม การขยายตัวของความเป็นสังคมเมืองช่วยสร้างความเท่าเทียม ผ่านการจ้างงานและการลงทุน เพื่อให้มีงานใหม่ ๆ และมีค่าตอบแทนที่สูงขึ้น
  • ด้านความยืดหยุ่น ส่งผลสำคัญทางเศรษฐกิจโดยช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนคนวัยทำงานจากการเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยให้ความสำคัญของแรงงานผู้หญิงและแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในสังคมเมืองมากขึ้น ช่วยให้มีการบริโภคมากขึ้นตามจำนวนประชากรในสังคมเมืองที่มีมากขึ้น
  • ด้านนวัตกรรมและผู้ประกอบการ การขยายตัวของความเป็นสังคมเมืองจะเป็นแหล่งรวมผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดและมีความหลากหลาย มีความรู้เทคโนโลยี และคนที่เก่ง ๆ มีความสามารถสูงเข้ามาอยู่ด้วยกัน
  • ด้านการเชื่อมต่อเศรษฐกิจโลก เชื่อมต่อการค้า การลงทุน และเทคโนโลยีระหว่างประเทศกับประเทศ นอกจากนี้ก็ยังเชื่อมต่อระหว่างเมืองกับเมืองด้วย
 

3. Urbanization จะเป็นโอกาสให้เกิดการสร้างพื้นที่ทางการเมืองและวัฒนธรรมใหม่ ๆ

  • สังคมเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
  • สังคมเมืองที่นับรวมทุกคน เป็นการออกแบบโดยคำนึงถึงคนทุกระดับ ส่งผลต่อศักยภาพ คุณภาพชีวิตของคนในเมือง
  • สังคมเมืองที่ฉลาด จะมีการวางแผนจัดการการ Urbanization อย่างชาญฉลาด เช่น ในตลาดคอนโดมิเนียม ต้องดูทิศทางความต้องการซื้อขาย การกำหนดปัจจัยต่างๆที่มีผลสืบเนื่องกัน เป็นต้น
 
แนวทางและโอกาสทางธุรกิจ
 

แนวทางและโอกาสทางธุรกิจจากการ Urbanization

Urbanization นำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายในการประกอบอาชีพและธุรกิจด้วยกัน 5 มิติ เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมเมือง ดังนี้
 

1. พลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระยะยาว

  • กระบวนการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมและบริการที่มีค่าจ้างสูงกว่า เป็นตัวช่วยในการดึงดูดให้แรงงานภาคเกษตรกรรมที่มีค่าจ้างถูกกว่าให้ย้ายเข้ามาทำงานในสังคมเมืองมากขึ้น
  • ความทันสมัยของสังคมเมือง ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณูปโภค การศึกษา เทคโนโลยี ทำให้เป็นแรงจูงใจให้คนย้ายจากชนบทเข้ามาในเมืองมากขึ้น
 

2. ปัจจัยเร่งระยะสั้น

  • การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครบครัน ไม่ว่าจะเป็น น้ำประปา ไฟฟ้า การสื่อสาร
  • การเชื่อมต่อแบบไร้สาย การส่งข้อมูลรวดเร็ว เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กเติบโตและเชื่อมโยงกับตลาดขนาดใหญ่ขึ้น
  • เป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีล้ำสมัยและดึงศักยภาพออกมาใช้ประโยชน์มากที่สุด ช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในโลกยุคใหม่
  • เป็นฐานการลงทุนหลักของบรรษัทข้ามชาติ โดยต้องมีการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้สังคมเมืองด้านต่าง ๆ ด้วย
  • มีชนชั้นกลางใหม่มากขึ้น โดยปรับวิถีชีวิตให้เป็นสไตล์สังคมเมือง
  • เมืองขนาดกลางขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมืองชายแดนที่มีศักยภาพ
  • เทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยให้นำไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และมีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง
  • การคมนาคมขนส่งมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วในโลก ประเทศไทยยังมีขนส่งระบบรางน้อย แต่ในอนาคตประเทศไทยจะสามารถลงทุนในระบบรางเพื่อลดต้นทุนในการขนส่งได้
 
สังคมเมืองใหม่
 

3. ความต้องการพื้นฐานที่ตอบโจทย์ชีวิตสังคมเมือง

  • ที่อยู่อาศัย แนวโน้มขนาดครอบครัวจะเล็กลง ทำให้ที่อยู่อาศัยของคนเมืองยุคใหม่ไม่เน้นขนาด แต่เน้นทำเลที่ตั้งที่สามารถเดินทางสะดวกและคล่องตัว
  • การคมนาคมที่หลีกเลี่ยงปัญหาการจราจร โดยทำให้มีทางเลือกที่หลากหลาย ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมเมือง
  • สุขภาพแข็งแรง สังคมเมืองจะหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
  • สังคมเมืองสร้างสรรค์ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญามาช่วยสนับสนุนและดึงดูดคนให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
  • ประสบการณ์ใหม่ ๆ สังคมเมืองจะให้ความสนใจอะไรที่มีความรวดเร็ว แปลกใหม่ มีคุณภาพและมีความพิเศษ
  • วิถีชีวิตใหม่ ๆ สังคมเมืองมีลักษณะเปิดกว้าง ยอมรับความหลากหลายมากขึ้น เป็นตัวของตัวเองและแสวงหาความเป็นอิสระ
 

4. โอกาสตลาดและผู้บริโภคเกิดใหม่

  • ชนชั้นกลางใหม่ โดยสินค้ากลุ่มแรก ๆ ที่คนกลุ่มนี้จะซื้อ คือ โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ ลำดับต่อมาคือสิ่งอำนวยความสะดวกหรือสิ่งที่ใช้แสดงสถานะของตนเอง
  • ตลาดคนโสด จากค่านิยมเรื่องการแต่งงานและการมีลูกที่เปลี่ยนไป ทำให้สังคมเมืองมีแนวโน้มจะอยู่ครองโสดมากขึ้น สินค้าที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ จะเป็นพวกคอนโดขนาดเล็ก ร้านอาหารบุฟเฟต์ที่ปรับตัวให้สามารถเข้าไปนั่งกินคนเดียวได้ เป็นต้น
  • ตลาดแรงงานต่างด้าว เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและกำลังซื้อกลุุ่มใหม่ หากธุรกิจสามารถเข้าใจ ตอบสนองและเข้าถึงความต้องการของคนกลุ่มนี้ได้ จะช่วยเปิดตลาดที่มีฐานผู้บริโภคได้มาก
  • คนเมืองเสมือนในโลกของเทคโนโลยีดิจิทัลมีการเชื่อมต่อผ่านออนไลน์กันมากขึ้น ทำให้มีการส่งผ่านวิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ระหว่างชนบทและสังคมเมืองได้อย่างง่ายดาย ทำให้คนชนบทมีรูปแบบการบริโภคเหมือนคนเมืองมากขึ้น
  • ตลาดคน Gen Y (Millennial Generation) และ Gen Z (Generation Z) กลุ่มคนทั้ง 2 Gen นี้ เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี หรือยุคที่เป็นระบบดิจิทัล ทำให้มีความสามารถและทักษะต่าง ๆ มากมาย จึงมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าอยู่เสมอ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านความมั่นคงในชีวิต บ้าน รถ สิ่งของที่ตรงกับความชอบ และรสนิยม
  • ตลาด LGBT (กลุ่มเพศทางเลือก) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพสูง เพราะมีรายได้สูงและไม่มีภาระด้านครอบครัว โดยภาคธุรกิจต้องนำเสนอด้านความเสมอภาคเพื่อสื่อสารให้โดนใจคนกลุ่มนี้
 

5. ตัวอย่างไอเดียธุรกิจสร้างสรรค์

  • ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางในเมือง เช่น ธุรกิจรถเช่า และบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน
  • ธุรกิจด้านแหล่งเรียนรู้และสาธารณูปโภคทางปัญญา เช่น Co-Working Space
  • ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพจิต ผ่อนคลายความเครียด เช่น ธุรกิจ Cafe & Workshop
  • ธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ ความสะดวกสบายและคุณภาพ เช่น บริการบัตรเครดิตใบเดียวรวมทุกบัตรไว้ด้วยกัน
  • ธุรกิจที่ตอบสนองความหลากหลายของกลุ่มคนในสังคมเมือง เช่น ธุรกิจสำหรับกลุ่มแรงงานต่างด้าว และกลุ่ม LGBT

ส่วนตัวอย่างอาชีพที่เป็นที่ต้องการเมื่อมีการ Urbanization ได้แก่ สถาปนิกผังเมือง นักออกแบบสามมิติ,นักพัฒนาแอปพลิเคชัน นักปลูกผักออร์แกนิค และนักวิเคราะห์ความปลอดภัยของข้อมูล เป็นต้น สามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการทำธุรกิจใหม่ ๆ และการลงทุนเพิ่มเติมได้

จะเห็นได้ว่า แนวโน้มการ Urbanization เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น อย่าง คาเฟ่เปิด 24 ชั่วโมง หรือ food truck รถขายอาหารแบบเคลื่อนที่ เป็นต้น เพื่อตอบโจทย์กับกระแส Urbanization ซึ่งปัจจุบันวิถีสังคมเมืองของคนไทย ที่ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ หรือเมืองขนาดกลาง ก็มีความใกล้เคียงกันมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะไม่ได้มีแค่กรุงเทพฯที่เป็นเมืองพัฒนาเชิงเดี่ยวอีกต่อไป แต่จังหวัดที่เป็นเมืองขนาดกลางรองลงมานั้นจะมีความเจริญเพิ่มมากขึ้น ทำให้ชนบทกลายเป็นสังคมเมืองใหม่ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสใหม่สำหรับการทำธุรกิจ และการลงทุนในกระแส Urbanization นี้ หากแนวทางที่นำเสนอไปแล้วยังไม่สามารถช่วยให้คุณตัดสินใจได้ ทางธนาคารกรุงศรีมีที่ปรึกษาเฉพาะทางที่สามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมด้านการทำธุรกิจ การเงินและการลงทุน โดยสามารถขอคำปรึกษาทางการเงินจาก KRUNGRI PRIME เพื่อช่วยวางแผนการทำธุรกิจและการลงทุนที่เหมาะกับคุณโดยเฉพาะ
สนใจร่วมเป็นลูกค้า ด้วยการเลือก KRUNGSRI PRIME ต่อยอดเงินให้เติบโต​
KRUNGSRI PRIME ช่วยพาคุณไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น พร้อมเพิ่มความมั่งคั่งทางการเงิน และต่อยอดเงินล้านของคุณให้เติบโตสู่ล้านถัดๆไป นอกจากนี้ KRUNGSRI PRIME ยังมอบความพิเศษด้วยสิทธิ์ต่างๆทั้งด้านการเงินและไลฟ์สไตล์ที่ถูกคัดสรรมาให้แก่ลูกค้าคนพิเศษเช่นคุณ