“ลมเปลี่ยนทิศ” คือคำที่เหมาะที่สุดกับสถานการณ์ของโลกในตอนนี้
ไม่ใช่เพียงแค่ข่าวคราวของวัคซีนต่อสู้โรคโควิด-19 ที่สัมฤทธิผลและมีแนวโน้มดีวันดีคืนเท่านั้นที่คลายความกังวลของคนทั้งโลกไปเปลาะหนึ่ง แต่การกลับทิศกลับทางของบรรยากาศการค้าและเศรษฐกิจจากการคว้าชัยของว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตต่างหากที่เป็นตัวเปลี่ยนเกมสำคัญให้ผู้ประกอบการทุกคนต้องหันกลับไปดูดินฟ้าอากาศอีกครั้ง
หลังจากแผ่นดินสั่นสะเทือนต่อเนื่องจากความผันผวน ไม่แน่นอน คาดเดาได้ยากทั้งอารมณ์และทิศทางนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์มาเป็นเวลา 4 ปี ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักต่างก็มองว่าจากนี้อะไรต่ออะไรก็จะคาดเดาได้มากขึ้น ด้วยท่าทีที่ประนีประนอมกว่าของไบเดน ความสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจด้วยกันรวมทั้งมาตรการด้านการค้าน่าจะเข้ารูปเข้ารอย ‘สไตล์อเมริกัน’ มากขึ้น
กระนั้น จะคิดไม่ได้เลยว่าสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีนได้สิ้นสุดลงแล้ว เปล่าเลย มันยังดำเนินต่อไป เพียงแต่ไม่โฉ่งฉ่างและต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเหมือนเดิม
สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือห่วงโซ่อุปทานที่เคยร้อยเรียงทั้งโลกเข้าด้วยกันในยุคโลกาภิวัฒน์ได้แตกแยกออกจากกัน (Decoupling) แม้ไบเดนจะไม่ได้ชูคำว่า “America First (อเมริกามาก่อน)” เหมือนกับทรัมป์ แต่ก็ใช้คำว่า “Buy American (ซื้อของอเมริกัน)” แทน ซึ่งตีความได้ชัดเจนเรื่องการสนับสนุนการผลิตและการจ้างงานภายในประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับอเมริกันชน สิ่งที่น่าจะเห็นต่อไปคือการทยอยย้ายฐานการผลิตของบริษัทชาติตะวันตกออกจากประเทศจีนเพื่อกระจายความเสี่ยงจากความตึงเครียดทางการค้า วงของห่วงโซ่อุปทานใหม่จะก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจนทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก สิ่งที่สำคัญสำหรับประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย คือ การรักษาสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติยักษ์ใหญ่ เพราะคงไม่ใช่การดีถ้าจะต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่งซึ่งจะทำให้เสียโอกาสและประโยชน์ทางการค้าไปอย่างไม่น่าให้อภัย
คำถามที่ต้องหาคำตอบคือ บริษัทข้ามชาติทั้งหลายจะย้ายไปตั้งโรงงานใหม่กันที่ไหน?
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนคือคำตอบที่ชัดเจน ด้วยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดจุดหนึ่งของโลก ขนาดประชากรเกือบพันล้านคน การขยายตัวของชนชั้นกลาง รวมทั้งผู้บริโภคที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวเป็นปัจจัยที่ทำให้ชาติตะวันตกรวมทั้งจีนเองปักหมุดขยายธุรกิจมาในพื้นที่นี้อย่างเข้มข้น ในยุคก่อนโควิด-19 และสงครามการค้าเมื่อพูดถึงกลุ่มประเทศเกิดใหม่หรือ Emerging Market ก็จะมีผู้เล่นจากอาเซียนเป็นดาวเด่นอยู่หลายราย ทั้งอินโดนีเซียที่เศรษฐกิจขยายตัวได้มากกว่า 5% และเวียดนามที่เติบโตอย่างร้อนแรงที่ระดับ 7% นอกจากนี้ยังมีประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขงอื่นทั้งสปป.ลาว เมียนมาและกัมพูชาที่กำลังซื้อของผู้บริโภคเติบโตอย่างร้อนแรงอีกด้วย
ตั้งแต่ปี 2018 ที่สงครามการค้าเริ่มต้นขึ้น แบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่เคยไปตั้งฐานการผลิตในจีน ซึ่งถือเป็น “โรงงานโลก” ตลอดช่วงที่ผ่านมา เริ่มเจอปัญหาการกีดกันทางการค้าของอมริกา จึงหันไปลงทุนสร้างโรงงงานในเวียดนามแทน เนื่องจากมีค่าแรงที่ถูกรวมทั้งแรงงานส่วนใหญ่เองก็เป็นคนวัยหนุ่มสาวด้วย ตราปั๊ม “Made in Vietnam” จึงเป็นการลักไก่ได้ชั่วคราวเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจเอาไว้ แม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะหมายหัวเวียดนามและบางประเทศในอเมริกาใต้ว่าเป็นฐานการส่งออกสินค้าจีน ขู่จะเล่นงานอยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้ออกมาตรการแตกหักอะไรออกมาอย่างชัดเจนเหมือนกับที่ฟาดฟันกับจีน
การช่วงชิงเงินลงทุนจากต่างประเทศน่าจะดุเดือดมากขึ้นอีกในอนาคต แม้ว่าประเทศไทยจะพยายามชูจุดขายของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC สปริงบอร์ดทางเศรษฐกิจที่รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต พร้อมโปรโมชั่นล่อตาล่อใจสำหรับนักลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่ใจถึงกว่าทั้งมาตรการด้านภาษีตลอดจนกระบวนการด้านวีซ่าที่สะดวกสบาย ถือว่าเรายังเป็นรองและต้องเร่งทำการบ้านให้มากขึ้นเร็วขึ้น ก่อนที่โอกาสจะหลุดลอยไป
ไม่เพียงแต่ภาคการผลิตเท่านั้น ภาคการบริการก็ด้วย
อย่างสิงคโปร์ที่เศรษฐกิจพึ่งพาภาคบริการสูง บอบช้ำจากผลกระทบของโรคโควิด-19 รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ความง่ายของการทำธุรกิจในแดนลอดช่องเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก กระทั่งสตาร์ทอัพหรือบริษัทขนาดใหญ่ของไทยหลายรายก็ยังเลือกมาจดทะเบียนที่นี่ เพื่อเลี่ยงข้อจำกัดและกฎหมายที่ยุ่งยาก ล่าสุด รัฐบาลสิงคโปร์ไฟเขียวให้วีซ่าชนิดพิเศษกับผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีหรือสตาร์ทอัพเข้ามาทำงาน ลงทุน จ้างงานหรือกระทั่งเป็นโค้ชให้กับผู้ประกอบการในสิงคโปร์ได้ โดยมีข้อกำหนดที่ชัดเจนทั้งขนาดของบริษัทที่เคยบริหารงานหรือความสำเร็จของแพลตฟอร์มที่พัฒนา มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการดึงคนเก่ง ไม่ว่าจะเป็นชาติไหนก็ตาม เข้ามาสร้างชาติสิงคโปร์ให้แข็งแกร่งอีกครั้งและทำให้แรงงานในประเทศพัฒนาตามไปด้วย
นักการเงินทั้งหลายทราบดีกว่าเราจะอยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำนี้ไปอีกนาน เนื่องจากการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่ออัดฉีดปริมาณเงินเข้าไปในระบบรวมทั้งลดต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการลง ความผันผวนในตลาดทุนจะยังเกิดขึ้นในอนาคต แน่นอนการรักษาเสถียรภาพของสกุลเงินตัวเองก็ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายของทุกประเทศเพื่อรักษาความสามารถด้านการแข่งขันของภาคการส่งออกต่อไป เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI จึงเป็นประเด็นที่น่าจับตามาก ซึ่งคลื่นทุนมหึมานี้สามารถไหลไปได้ทั้งภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงและภาคการเงิน ขึ้นกับความน่าสนใจของตลาดนั้นๆ
นอกจากการย้ายฐานการผลิตแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือการเจรจาการค้าเสรีโดยเฉพาะรูปแบบทวิภาคี ประเทศคุยกับประเทศ จับคู่กันตามสะดวกและผลประโยชน์ที่ลงตัว การรวมกลุ่มทั้งหลายจะยังคงมีอยู่เพียงแต่การเลือกปฏิบัติกับประเทศพันธมิตรจะตรงไปตรงมา ไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนเหมือนแต่ก่อน เพราะทุกคนต้องปรับตัว จะมารอคนอื่นไม่ได้อีกต่อไปเพราะไม่รู้ว่าจะเกิดปัจจัยท้าทายใหม่อะไรขึ้นอีกในอนาคต
หลังจากที่ 10 ชาติอาเซียนและ 5 ชาติพันธมิตรทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้เห็นชอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ไปเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมาโดยไร้เงาของอินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำสำคัญตั้งแต่เริ่มเจรจาเมื่อปี 2556 ภาพของการค้าโลกก็ดูจะแบ่งข้างชัดเจนมากยิ่งขึ้น นักวิเคราะห์ทั้งหลายกลับมาประเมินความเป็นไปได้ที่ไบเดนจะฟื้นข้อตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่อย่างความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-Pacific Partnership) อีกครั้ง อย่างไรเสียอเมริกาจะไม่ยอมเสียพื้นที่อาเซียนให้กับจีนไปแม้แต่กระเบียดนิ้วเดียว เพียงแต่ว่ารูปแบบการเจรจาจะยังเป็น CPTPP หรือแปลงร่างเป็นชื่อใหม่ ความตกลงใหม่หรือเปล่าเท่านั้น
กลยุทธ์
“อินโดแปซิฟิก” อาจจะถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงเสียงดังอีกครั้งก็เป็นได้ เพราะเป็นการออกตัวที่ชัดเจนของอินเดียและชาติพันธมิตรในเอเชียใต้ในการจับมือกระชับความสัมพันธ์กับอเมริกา ทั้งความบาดหมางบริเวณชายแดนแคชเมียร์ระหว่างจีนกับอินเดียและเมื่อ RCEP ไม่มีชื่อของแดนภารตะด้วยแล้ว ยิ่งตอกย้ำรอยร้าวที่เกิดขึ้นและสร้างแรงกดดันต่อนโยบายการค้าของประเทศในเอเชียมากขึ้นอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง
การเตรียมความพร้อมของภาครัฐและผู้ประกอบการสำหรับการรับมือกับคลื่นสินค้าขนาดใหญ่ที่ทะลักออกมาจากจีนและกลุ่มประเทศที่ตกลงทำการค้าเสรีกันเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก มองเป็นโอกาสในการทำตลาดกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่ก็ได้หรือจะมองเป็นความเสี่ยงที่มีต่อความเป็นไปของธุรกิจภายในประเทศโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กก็ได้เช่นเดียวกันธุรกิจที่มีความพร้อมทั้งนวัตกรรม โมเดลธุรกิจที่ยืดหยุ่นรวมทั้งประสบการณ์การค้าในเวทีโลกก็จะได้เปรียบกว่าธุรกิจที่ไม่เคยออกไปนอกบ้านเลย
ความท้าทายของประเทศในภูมิภาคเอเชียจะยังคาดเดาได้ยากต่อไป แม้ดูเหมือนจะเดาทิศทางของสหรัฐอเมริกาได้ง่ายขึ้นกว่ายุคที่ผ่านมา ความตึงเครียดทางการค้าที่ยกระดับไปเป็นเรื่องความมั่นคงได้ทำให้ความไว้วางใจที่มีต่อกันเปลี่ยนรูปโฉมไปอย่างสิ้นเชิง
คนที่พร้อมเปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้เร็วเท่านั้นที่จะอยู่รอด ไม่มีคำตอบอื่นอีกต่อไป
เข้าใจอาเซียน เข้าใจโลก
โอกาสทางธุรกิจอยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด เรียนรู้เรื่องราวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนทั้งเสาหลักด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เพื่อเข้าใจตลาดผู้บริโภคขนาด 700 ล้านคนนี้ รวมทั้งติดตามข้อตกลงที่สำคัญ ความคืบหน้าของ RCEP และอีกสารพัดมุมของอาเซียนได้จากเว็บไซต์
www.asean.org แล้วคุณจะเข้าใจว่าทำไมโลกถึงจับจ้องมาที่อาเซียนเป็นสายตาเดียวกัน