Perfect Storm วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ต้องรับมือ

โดย สิรภัทร เกาฏีระ CFP® นักวางแผนการเงิน
14 กรกฎาคม 2565
Perfect Storm วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ต้องรับมือ

รับมือมรสุมเศรษฐกิจลูกใหม่อย่างไร เมื่อ Perfect Storm กำลังมา


คงจะปฎิเสธไม่ได้เลยว่าที่ผ่านมาพวกเราทุกคนได้เผชิญหน้า ฝ่าฟันมันเพื่อเอาตัวรอดกับวายร้ายตัวฉกาจอย่างโรคระบาด Covid-19 และในขณะนี้ดูเหมือนว่าเจ้าวายร้ายตัวฉกาจกำลังจะจากพวกเราไปแล้ว แต่ทว่าพวกเราสบายใจได้ไม่นานก็พบว่าวายร้ายตัวใหม่นั้นมีชื่อว่า “Perfect Storm” หรือมรสุมเศรษฐกิจลูกใหม่ ซึ่งกำลังนำพวกเราไปสู่วิกฤติในหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็น ราคาพลังงาน วิกฤติอาหาร ความผันผวนของตลาดการเงิน และเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งวายร้ายเหล่านี้สร้างความปั่นป่วนให้เศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่อย่างมหาศาล
 
Perfect Storm วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ต้องรับมือ
 

เรียนรู้วิกฤติเศรษฐกิจจาก 3 ทวีปสู่ Perfect Storm

 

วิกฤติในทวีปทวีปอเมริกา

วิกฤติเศรษฐกิจเกิดจากการคาดการณ์ที่คลาดเคลื่อนของ FED ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบจาก Covid-19 ด้วยวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าที่ควร ผ่านมาตรการ QE Infinity ทั้งในเรื่องดอกเบี้ย และสภาพคล่อง ซึ่งผลลัพธ์จะนำมาซึ่งปัญหาเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ตลาดการเงินโลกเกิดความผันผวน ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ผันผวนรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นราคาหลักทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาล ค่าเงิน รวมถึงราคาของ Crypto Currency สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนในวงกว้าง

จากการที่ FED ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ก็นำมาซึ่งโอกาสที่จะเกิด ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในสหรัฐฯ และส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งปัญหาเงินเฟ้อยืดเยื้อนานเท่าใด FED ก็จะต้องต้องขึ้นดอกเบี้ยมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
 
Perfect Storm วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ต้องรับมือ
 

วิกฤติทวีปยุโรป

ในส่วนของวิกฤติทวีปยุโรปก็มีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จนมาเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน นำไปสู่การที่ประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ได้ประกาศจะหยุดนำเข้าน้ำมันของรัสเซียเพื่อประท้วงสงครามในยูเครน ทำให้เกิดวิกฤตราคาพลังงาน ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปัจจุบันอยู่ที่ 100-120 ดอลลาร์/บาเรล และในไทยราคาน้ำมันเข้าใกล้ 50 บาท/ลิตรแล้ว

แม้กระทั่งวัตถุดิบในการเกษตรอย่างปุ๋ยเคมีก็ขาดแคลน จนก่อให้เกิดผลกระทบกับภาคการเกษตร ต้นทุนสินค้าเกษตรแพงขึ้นจนอาจจะนำไปสู่วิกฤตอาหารโลกได้อีกด้วย จากภาวะสงครามที่ยืดเยื้อก็เป็นตัวเร่งทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อที่เดิมก็สูงขึ้นอยู่แล้ว ยิ่งเกิดขึ้นรวดเร็ว และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
 
Perfect Storm วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ต้องรับมือ
 

วิกฤตในทวีปเอเชีย

สำหรับวิกฤตในทวีปเอเชียเกิดจากการที่จีนมีปัญหาความเปราะบางจากภาวะฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สะสมมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปีและเริ่มประสบปัญหาตั้งแต่ปลายปี 2021 เนื่องมาจากควบคุมการปล่อยสินเชื่อภาครัฐที่เข้มงวดขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาฟองสบู่แตก ร่วมกับปัญหา Covid-19 ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนชะลอตัว จนนำมาซึ่งปัญหาการเงินของบริษัท Evergrande ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่อันดับ 2 ของจีน (อันดับที่ 122 ของโลก) และบริษัทอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ในจีน ซึ่งประสบปัญหายอดขายที่ลดลง นำมาซึ่งกระแสเงินสดมีไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ จากปัญหานี้ทำให้เศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมาก (การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก) ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะลุกลามบานปลาย กลายเป็นวิกฤตเต็มรูปแบบได้หากจีนบริหารจัดการไม่ดีพอ นอกจากนี้การจัดการกับ Covid-19 ของจีนนั้น ใช้นโยบาย Zero-Covid ที่เข้มงวด มีการทยอยปิดเมืองสำคัญต่างๆ ก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการนำเข้า การส่งออก และห่วงโซ่การผลิตของโลก อย่างมีนัยยะสำคัญ
 
Perfect Storm วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ต้องรับมือ

จากวิกฤตเศษฐกิจทั้ง 3 ทวีป อาจจะอันนำมาสู่ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างภาวะ Stagflation ซึ่งคือภาวะเงินเฟ้อสูง อัตราการว่างงานสูง และภาวะเศรษฐกิจถดถอย เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

ซึ่งในอดีตนั้นเคยมีเหตุการณ์ Stagflation เกิดขึ้นแล้วในปี 1980 ถึงปี 1983 โดยเหตุการณ์เริ่มต้นในปี 1971 สหรัฐฯ ได้มีการยกเลิกระบบ Bretton wood หรือเรียกว่ามาตรการการผูกเงินดอลลาร์ไว้กับทองคำ โดยเป็นจุดเริ่มต้นของการพิมพ์เงินได้ไม่จำกัดจนถึงปัจจุบัน และนั่นเองทำให้ปัญหาเงินเฟ้อค่อยๆ ก่อตัวขึ้นและสั่งสมมาเรื่อยๆ

ต่อมาในปี 1973 ก็ได้เกิดสงครามที่มีชื่อว่า Yom Kippur War หรือสงครามอาหรับ-อิสราเอล โดยที่อียิปต์ และซีเรีย ได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอลในวันที่ 6 ต.ค.1973 ซึ่งการที่อิสราเอล หันไปหาสหรัฐฯและชาติพันธมิตรตะวันตก เพื่อขอการสนับสนุนยุทธภัณฑ์ แม้ว่าสงครามจะจบลงด้วยชัยชนะของอิสราเอล แต่ก็ทำให้ชาติ OPEC เกิดความไม่พอใจ และร่วมกันคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันไปยังสหรัฐฯและชาติพันธมิตรตะวันตก ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกเพิ่มขึ้นจาก 3 ดอลลาร์/บาเรล ในปี 1970 มาอยู่ที่เกือบ 35 ดอลลาร์/บาเรล ในปี 1980

น้ำมันจึงกลายเป็นของหายาก สถานีบริการน้ำมันไม่มีน้ำมันขายจนต้องปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัทหลายแห่งที่แบกรับต้นทุนการผลิตไม่ไหว บางแห่งต้องลดพนักงาน ประชาชนก็ต้องพบกับความยากลำบากในการจับจ่ายเพราะสินค้ามีราคาแพงขึ้น การปรับตัวขึ้นของภาวะเงินเฟ้อสูงทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (โดย Paul Volcker) ตัดสินใจที่จะต้องใช้นโยบายที่เข้มงวดอย่างมากเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยการขึ้นดอกเบี้ยเรื่อยๆ จนแตะระดับที่สูงสุดถึง 20% จนกระทั่งสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ในที่สุด แต่ก็ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง และเป็นการเข้าสู่ภาวะ Stagflation อย่างเต็มรูปแบบ จนกระทั่งสถานการณ์เริ่มดีขึ้นในปี 1988
 

Perfect Storm ในอดีตและปัจจุบันที่(ยัง)ไม่เกิด

หากพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต จะพบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความคล้ายคลึงกันกับช่วงปี 1970 คือ ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น จนก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง ผลกระทบกับห่วงโซ่การผลิตของโลก ประกอบกับการเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

จากเหตุการณ์ในอดีตก็ยังถือว่าเรายังคงโชคดีอยู่เพราะว่ามีบทเรียนในอดีต ทำให้ปัจจุบัน FED ได้ให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อเป็นอันดับแรกๆ และมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยที่เราจะเห็นได้จากการประกาศขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่หลายๆ ประเทศทยอยกลับมาเปิดเมืองก็น่าจะช่วยให้กำลังผลิตต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ก็น่าจะทำให้กระบวนการผลิตสินค้า และราคาสินค้าต่างๆ กลับมาอยู่ในภาวะปกติได้เร็วขึ้น เป็นปัจจัยที่คอยช่วยชะลอปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามระดับเงินเฟ้อ และการรับมือของ FED รวมถึงสงครามรัสเซียกับยูเครน และสถานการณ์ที่เปราะบางของจีน ยังคงเป็นสิ่งที่เราจะต้องคอยติดตามสถานการณ์เป็นระยะๆ เพราะหากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งถูกจัดการได้ไม่ดีพอ ก็จะทำให้มีโอกาสที่จะกระตุ้นเกิดภาวะ Stagflation ได้
 

แนะนำ 3 กลุ่มอาชีพ รับมืออย่างไรกับความสาหัสของพายุ Perfect Storm

แล้วเราจะรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น และอาจจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคตได้อย่างไรบ้าง เราจะแบ่งการรับมือออกเป็น 3 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ มนุษย์เงินเดือน เจ้าของกิจการ และนักลงทุน
 

มนุษย์เงินเดือน

หากเราเป็นมนุษย์เงินเดือน สิ่งที่ควรจะรีบดำเนินการคือการหาแหล่งรายได้สำรองแหล่งที่ 2 หรือแหล่งที่ 3 เนื่องจากเศรษฐกิจที่หดตัวลง จะส่งผลกระทบต่อนายจ้างของเราซึ่งนายจ้างอาจจะต้องลดค่าใช้จ่ายลงเพื่อให้กิจการอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นการไม่ปรับขึ้นเงินเดือน หรือรุนแรงที่สุดคือการปรับลดจำนวนพนักงาน ดังนั้นการที่เรามีรายได้สำรองอื่นๆ จะช่วยให้เราสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างไม่เดือดร้อน ในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝันเกี่ยวกับอาชีพหลักของเราในส่วนของค่าใช้จ่ายก็ต้องประหยัดมากขึ้นกว่าภาวะปกติ เพราะค่าใช้จ่ายจำเป็นจะสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือค่าอาหาร และสำหรับเงินออมที่เราเก็บสะสมไว้อยู่แล้วก็อาจจะมีจำนวนไม่เพียงพอกรณีมีค่าใช้จ่ายฉุกเฉินเกิดขึ้นอีกด้วย
 

เจ้าของกิจการ

เจ้าของกิจการ สิ่งที่ควรรีบดำเนินการคือการจัดเตรียมสภาพคล่อง หรือแหล่งเงินทุนสำรองให้รองรับกับภาวะที่ธุรกิจมีรายได้ที่ลดลง และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับแผนงานให้เหมาะสม ตัวอย่างเช่น การจัดโปรโมชั่นเพื่อลดจำนวนสินค้าคงค้าง ลดค่าใช้จ่ายการตลาดลงในช่วงที่ผู้คนลดการจับจ่าย ปรับเวลาเปิด-ปิด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
 

นักลงทุน

หากคุณเป็นนักลงทุนจะมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อซึ่งส่งผลต่อการบริหารการเงินของตัวเอง จากข้อมูลในอดีตจะพบว่า สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนไปในทิศทางเดียวกันกับเงินเฟ้อคือสินทรัพย์ทางเลือก ได้แก่ ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ และอสังหาริมทรัพย์ เป็นการลงทุนที่เป็นที่นิยมอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังรวมถึงการลงทุนทางเลือกอื่นๆ ที่อยู่ในรูปสินทรัพย์ที่ไม่ด้อยมูลค่า อาทิ สัญญาลิขสิทธิ์ สินค้าแบรนด์เนม วัตถุโบราณ และงานศิลปะ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปคือ วายร้ายตัวใหม่ที่ชื่อว่า Perfect Storm กำลังจะถือกำเนิดจากวิกฤตการณ์ทั่วโลกนี้ ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยเหตุการณ์ยังไม่รุนแรงขนาดภาวะ Stagflation เหมือนในอดีตที่เคยเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเราจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และเพื่อความไม่ประมาทเราควรวางแผนการเงินให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจาก KRUNGSRI PRIME ติดต่อกลับ

สนใจร่วมเป็นลูกค้า ด้วยการเลือก KRUNGSRI PRIME ต่อยอดเงินให้เติบโต​
KRUNGSRI PRIME ช่วยพาคุณไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น พร้อมเพิ่มความมั่งคั่งทางการเงิน และต่อยอดเงินล้านของคุณให้เติบโตสู่ล้านถัดๆไป นอกจากนี้ KRUNGSRI PRIME ยังมอบความพิเศษด้วยสิทธิ์ต่างๆทั้งด้านการเงินและไลฟ์สไตล์ที่ถูกคัดสรรมาให้แก่ลูกค้าคนพิเศษเช่นคุณ