“อยากได้ลูกเสือต้องเข้าถ้ำเสือฉันใด อยากได้ผลตอบแทนจากการลงทุนต้องกล้าที่จะเริ่มลงทุนฉันนั้น” คำกล่าวนี้คงเหมาะสมที่สุด สำหรับนักลงทุนอย่างเรา หมายถึงการกระทำสิ่งใด โดยไม่กลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้น ผลสุดท้ายก็จะได้รับผลตอบแทนตามที่ต้องการ
แต่ก่อนที่จะเข้าถ้ำเสือเพื่อออกล่าในตลาดการลงทุนแห่งนี้ จะผลีผลามไปล่าลูกเสือมือเปล่าก็กระไรอยู่ เพราะนักล่าที่ดีต้องรู้จัก เข้าใจ และมีแผนการที่ดีเสียก่อน เราจึงต้องเรียนรู้เรื่องการล่าในแบบฉบับของการลงทุน ยอมรับความเสี่ยงของการลงทุน การใช้กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุนนั่น บทความนี้จะพาทุกท่านออกล่าลูกเสือ หรือลงทุนจับลูกเสือในถ้ำเสืออย่างไรให้ปลอดภัยและได้รับผลตอบแทนที่สอดคล้องกับความต้องการของตัวเองมากที่สุด
“การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง” เรารู้จักความเสี่ยงดีแค่ไหน?
ยิ่งในปัจจุบันทางเลือกในการลงทุนมีหลากหลายมากขึ้น และเมื่อเราตัดสินใจเข้าสู่โลกของการลงทุนก็ย่อมมีความคาดหวังในเรื่องของ “ผลตอบแทน” และสิ่งที่ต้องยอมรับอีกข้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือ “ความเสี่ยง” แม้ว่าการลงทุนมีความเสี่ยง แต่คุณก็สามารถจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นได้ ถ้าคุณเข้าใจความเสี่ยงนั้นมากพอ ซึ่งเราสามารถแบ่งความเสี่ยงได้ 6 ประเภท ดังนี้
ความเสี่ยงจากตลาด (Market Risk)
ความเสี่ยงจากตลาด เป็นความเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสที่จะสูญเสียเงินลงทุน เนื่องมาจากความผันผวน การเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันของราคาตลาดโดยรวม ซึ่งเป็นไปตามอุปสงค์และอุปทานของตลาด แต่ความเสี่ยงนี้สามารถลดลงได้ ถ้ามีการกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์หลายๆ ตัว ยกตัวอย่างเช่น ตลาดเจลล้างมือ ในช่วงปี 2562 ที่ยังไม่มีการระบาดของโรค Covid-19 ราคาและจำนวนการผลิตเจลล้างมือออกมาขายพอดีกับปริมาณที่ผู้บริโภคต้องการซื้อ แต่เมื่อปี 2563 เกิดการระบาดหนักของ Covid-19 ไปทั่วโลก ใครๆ ก็ต้องการเจลล้างมือ จำนวนคนที่ต้องการซื้อเจลล้างมือเพิ่มขึ้น แต่คนขายที่มีอยู่ในตลาดยังคงเท่าเดิม ส่งผลให้กำลังผลิตปรับตัวไม่ทัน เจลล้างมือจึงกลายเป็นของหายาก และราคาแพงขึ้น
ความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Risk)
ความเสี่ยงทางธุรกิจ เป็นความเสี่ยงของความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือรายได้ที่ลดลง ส่งผลให้กำไรหรือผลประกอบการที่คาดว่าจะได้รับของการลงทุนในธุรกิจนั้นไม่เป็นไปตามคาดหมาย ซึ่งปัจจัยที่มากระทบต่อการดำเนินธุรกิจของกิจการอาจเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ภาวะเงินเฟ้อ ค่าแรงงาน ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนผลิตสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนมีโอกาสที่ต้องสูญเสียรายได้หรือเงินลงทุนนั้น
ความเสี่ยงจากสภาพคล่อง (Liquidity Risk)
ความเสี่ยงจากสภาพคล่อง เป็นความเสี่ยงที่เราจะไม่สามารถทำตามความต้องการทางการเงินได้ ทั้งการแปลงหลักทรัพย์ หรือการขายสินทรัพย์ ซึ่งอาจขายไม่ได้ในเวลาที่ต้องการ หรือขายไม่ได้ ณ ราคาที่ต้องการ หรือราคาขายจริงต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นนั่นเอง
ความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rates Risk)
ความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ย เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาด อัตราดอกเบี้ยที่ผันผวนขึ้น ๆ ลง ๆ ส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์บางประเภท และกระทบต่อระดับอัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการด้วย
ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Risk)
ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ เป็นความเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเกิดจาก “อุปสงค์” และ “อุปทาน” ที่เปลี่ยนแปลงไป พูดให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นก็คือเป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งระดับ “เงินเฟ้อสูง” ก็จะส่งผลกระทบให้ค่าของเงินลดลง จะซื้อของแต่ละชิ้นก็ต้องใช้เงินมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากตลาดมีความต้องการซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อรายได้ปรับเพิ่มขึ้นทำให้คนมีเงินในมือมากขึ้น ส่งผลทำให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น และถ้าความต้องการขายและต้นทุนปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าและบริการแพงขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน
ความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง
ความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง มักส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทางสังคม ภาวะสงคราม กฎระเบียบต่างๆ ภัยธรรมชาติ หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้สินค้าบางอย่างต้องออกไปจากตลาดหรือหมดความนิยมไป
“ลดความเสี่ยง” ในการลงทุนทำได้อย่างไร
ทุกคนนั้นย่อมที่จะอยากจะ
ลงทุนเสี่ยงน้อยแต่ได้มาก หรือ “Low Risk, High Return” แต่แน่นอนว่าในการลงทุนที่ “Low Risk” ส่วนมากมักจะ “Low Return” หรือในบางกรณี อาจจะเป็น “Low Risk, No Return” เสียด้วยซ้ำไป แน่นอนว่าถ้าอยากได้ ผลตอบแทนมากขึ้น ก็ต้องเสี่ยงมากขึ้น ดั่งคำว่า “High Risk, High Return”
แต่ทุกการลงทุนนั้นมีความเสี่ยง ถึงแม้เราจะไม่สามารถกำจัดความเสี่ยงออกไปได้หมด แต่เราสามารถจำกัดความเสี่ยงได้ แนะนำ 5 เทคนิคการลงทุน ที่จะเสี่ยงอย่างไร ให้เหมาะกับตัวเรา
1. ลงทุนในสิ่งที่รู้จักและเข้าใจ
สิ่งสำคัญของผู้ลงทุนก่อนตัดสินใจนำเงินไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ใด ๆ ไม่ควรมองข้ามการใช้เวลาศึกษาหาความรู้และทำความเข้าใจการลงทุนนั้นๆ เพื่อให้เราสามารถตัดสินใจเลือกลงทุนและสามารถซื้อขายได้เหมาะสมที่สุด มี
การลงทุนทางเลือก (Alternative Investment) อีกหลากหลายรูปแบบ ที่เราอาจคิดไม่ถึง
2. ลงทุนด้วยจำนวนเงินที่น้อย
ลงทุนแบบความเสี่ยงต่ำ ต้นทุนน้อย หากเกิดเหตุที่ไม่คาดฝัน ก็ยังไม่ขาดทุนหรือสูญเสียเงินลงทุนมากจนเกินไป และเมื่อใดที่คุณสามารถยอมรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น เมื่อนั้นคุณค่อยขยับเงินลงทุนไปลงทุนในความเสี่ยงที่สูง จึงจะสามารถเพิ่มโอกาสและได้รับผลตอบแทนที่สูงในอนาคตได้เช่นกัน
3. ลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง
ลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ไม่ลงทุนเพียงสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยเลือกแบ่งเงินลงทุนทั้งหุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำหรือเงินสด เป็นต้น สามารถพิจารณาจากอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากสินทรัพย์นั้นๆ เพื่อกำหนดสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับความสามารถในการรับความเสี่ยง และระยะเวลาที่ต้องการลงทุน
4. ลงทุนระยะยาว
หากอยากเริ่มต้นและประสบความสำเร็จในการลงทุน ควรมีแผนการลงทุนที่เหมาะกับตัวเราและสอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ การลงทุนในระยะยาวทำให้เราไม่ตื่นตระหนกกับสถานการณ์การผันผวนของตลาด และยังเหมาะกับผู้ที่ไม่มีเวลาติดตามข้อมูลการลงทุนเป็นรายวัน การจัดสรรเงินลงทุนให้ครอบคลุมทุกสินทรัพย์ทั่วโลก เช่น หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ไทย ตราสารหนี้ต่างประเทศ จึงเป็นอีกวิธีลงทุนที่น่าสนใจ
5. ลงทุนที่ผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อถูกยกให้เป็นความเสี่ยงสำคัญสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์แทบจะทุกประเภท นักลงทุนหลายคนจึงมองหาการลงทุนที่อัตราผลตอบแทน “ขั้นต่ำ” มากกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งตามหลักการแล้วในช่วงอัตราเงินเฟ้อขยับขึ้น การลงทุนทองคำ เป็นสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อได้ดี แต่ก็มีบางนักลงทุนมองว่าการลงทุนกับทองคำเป็นการลงทุนที่ซื้อง่าย แต่ขายไม่สะดวก เก็บรักษายาก จึงเลือกไปลงทุนกับหุ้นและอสังหาริมทรัพย์แทน เพราะเป็นสินทรัพย์ไม่ขึ้นกับความผันผวนของภาคอุตสาหกรรมและตลาดหุ้น นักลงทุนยังสามารถแบ่งเงินมาลงทุน ย่อมช่วยลดความเสี่ยงและได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นด้วย
เข้าใจตัวเอง เข้าใจการลงทุน
นักลงทุนได้รู้จักกับความเสี่ยง และประเมินความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ก่อนตัดสินใจลงทุนกันไปแล้ว เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำกำไรจากการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น สิ่งที่สำคัญไม่มากก็น้อยไปกว่ากัน นั่นก็คือการวางแผนที่ดี ตั้งเป้าหมาย ปรับสัดส่วนการลงทุน แล้วต้องวางแผนอย่างไรเพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของคุณมากที่สุด มีคำตอบมาฝากกัน
รู้จักตัวเอง
นักลงทุนรวบรวมข้อมูลส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ ครอบครัว สถานะ ภาระทางการเงิน ค่าใช้จ่ายต่อเดือน ภาระหนี้สินติดค้าง รวมไปถึงรายรับที่สามารถสร้างรายได้ได้ มีผลตอบแทนเท่าไร อย่างไร เพื่อที่จะได้รู้สถานะทางการเงินที่แท้จริงก่อนลงทุน โดยยิ่งเก็บข้อมูลมากเท่าไรก็จะสามารถวางแผนบรรลุตามเป้าหมายมากขึ้นเท่านั้น
กำหนดเป้าหมายการลงทุน
ณ ปัจจุบันมีเงินเท่าไร สามารถลงทุนเริ่มต้นเท่าไร สามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ระยะเวลาที่จะลงทุนต่อเนื่องกี่ปี ที่อัตราผลตอบแทนคาดหวังเท่าไร สามารถแบ่งออกเป็นแผนระยะสั้น แผนระยะกลาง แผนระยะยาวได้
บันทึกการซื้อขายสม่ำเสมอ
นักลงทุนอย่าลืมว่าสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การบันทึกการซื้อขายการลงทุนเป็นประจำ จะทำให้เราเห็นสไตล์การลงทุนที่ผ่านมา สามารถมองเห็นข้อผิดพลาดต่างๆ และเรียนรู้นำไปใช้เพื่อวางแผนการลงทุนในได้ครั้งถัดไป
สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญในการลงทุนก็คือการยอมรับความเสี่ยง “อย่ากลัวที่จะเสี่ยงจนเกินไป” หากเราเข้าใจและบริหารความเสี่ยงได้อย่างชาญฉลาด สามารถวางแผนรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ก็จะช่วยลดโอกาสขาดทุน และทำให้เราสามารถลงทุนได้อย่างมีความสุข นักลงทุนทุกท่านจงอย่าอย่าลืมว่า “อยากได้ลูกเสือต้องเข้าถ้ำเสือฉันใด อยากได้ผลตอบแทนจากการลงทุนต้องกล้าที่จะเริ่มลงทุนฉันนั้น” หากคุณต้องการปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมในด้านวางแผนความเสี่ยงและการลงทุน ทางธนาคารกรุงศรีก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้ที่
ปรึกษาทางด้านการเงินจาก KRUNGSRI PRIME ติดต่อกลับ