ลงทุนเงินเย็นอะไรดีให้ตอบโจทย์
“ฉันมีเงินสดเหลือในบัญชี จะเอาเงินเย็นส่วนนี้ไปลงทุนอะไรดีนะ?” หรือ “ มีเงินเย็น ตอนนี้ควรลงทุนอะไรดี ที่มีความเสี่ยงน้อย?” อาจจะเป็นการเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงของคำว่า “เงินเย็น” นะครับ
ซึ่งก่อนที่เราจะบอกได้ว่าเงินที่เรามีอยู่นั้นเป็นเงินเย็นหรือไม่ เราควรจะเข้าใจก่อนว่าเงินเก็บที่เรามี ต้องมีส่วนหนึ่งแบ่งไว้สำหรับเหตุฉุกเฉินที่เราไม่คาดคิดเสมอ ไม่ใช่ว่าเงินเก็บทั้งหมดนั้นคือเงินเย็น แต่ส่วนที่เราไม่ต้องนำมาใช้ในยามฉุกเฉิน และไม่เดือดร้อนถ้าจะเสียเงินส่วนนั้นไปทั้งก้อนต่างหากที่เรียกว่าเงินเย็น เมื่อเราเข้าใจเกี่ยวกับเงินเย็นแล้วจะต้องระมัดระวังไม่นำเงินฉุกเฉินมาเป็นเงินเย็นนะครับ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง ในบางกรณีเราไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนได้ว่าเราจะได้รับเงินทุน หรือผลตอบแทนกลับมาเมื่อไหร่ และเราอาจจะขาดทุนก็เป็นได้ เพื่อไม่ให้เดือดร้อน เราจึงควรใช้เงินเย็นในการลงทุนเสมอ
มีเงินเย็นลงทุนเพื่ออะไร
ในปัจจุบันถ้าเรามีเงินเย็นควรจะลงทุนอะไรดี เพราะในโลกเรามีสินทรัพย์มากมายหลายชนิดที่สามารถลงทุนได้ ซึ่งก่อนจะไปลงทุนเราควรตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าจะไปลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งวัตถุประสงค์การลงทุนโดยส่วนใหญ่จะแบ่งได้ตามความต้องการและสภาวะแวดล้อมของนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็น วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอำนาจซื้อของเงินลดลงจากเงินเฟ้อ เพื่อวางแผนภาษี เพื่อสร้างกำไรจากราคาสินทรัพย์ เพื่อมีรายได้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างรายได้ในวัยเกษียณอายุ หรือเพื่อสร้างมรดกไว้ให้ลูกหลาน
ทำไมเราต้องเอาเงินเย็นไปลงทุน
เมื่อเราสามารถระบุวัตถุประสงค์ของเราได้แล้ว ก็จะทำการเลือกวิธีการลงทุนให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และข้อจำกัดต่างๆ ของเรานั่นเอง เราอาจจะแบ่งได้คร่าวๆ 6 ข้อ ดังนี้
ลงทุนเพื่อป้องกันอำนาจซื้อของเงินลดลงจากเงินเฟ้อ
ทำไมเราต้องคำนึงถึงเงินเฟ้อด้วย ผมมีเหตุการณ์หนึ่งให้เราลองคิดดูกันครับ เรื่องมีอยู่ว่า
ก๋วยเตี๋ยวเป็ดร้านอาแปะในวันนี้ ราคาชามละ 50 บาท แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปหลายปีก่อน ก๋วยเตี๋ยวเป็ดร้านอาแปะราคาแค่ชามละ 30 บาทเอง ทั้งๆ ที่ปริมาณก็เท่ากัน กินแล้วอิ่มพอๆ กัน นั่นก็เพราะว่าสินค้ามีราคาที่เพิ่มขึ้น หรือเรียกว่าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ถ้าในอดีตเรามีเงิน 90 บาท เราสามารถซื้อก๋วยเตี๋ยวเป็ดได้ถึง 3 ชาม แต่ในวันนี้อำนาจในการซื้อของเงิน 90 บาทมันลดลง เราสามารถซื้อก๋วยเตี๋ยวเป็ดได้อย่างมากก็แค่ 2 ชามเท่านั้น (ต้องเป็นลูกค้าประจำ และอาแปะใจดีลดให้ด้วยนะครับ)
เมื่อเรารู้เช่นนี้แล้วเราไม่สามารถเก็บเงินเย็นไว้เฉยๆ ได้อีกแล้ว เพราะแค่เก็บไว้เฉยๆ มูลค่าก็หายไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างน้อยก็มากกว่าเงินเฟ้อ จึงจะแก้ปัญหานี้ได้นั่นเอง ซึ่งการลงทุนรูปแบบนี้จะเน้นที่ความเสี่ยงไม่สูงมากและได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ ได้แก่ พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ หุ้นกู้ เป็นต้น
ลงทุนเพื่อการวางแผนภาษี
สำหรับผู้ที่มีรายได้ในระบบภาษีนั้น จะต้องมีการ
วางแผนเรื่องภาษีให้ดีเสียก่อน เนื่องจากจะเสียภาษีตามฐานภาษีเป็นขั้นบันได โดยยิ่งมีรายได้ที่สูงก็ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังตารางด้านล่าง
สำหรับผู้ที่มีเงินได้สุทธิเกิน 500,000 บาทต่อปี (รายได้ 660,000 บาทขึ้นไป หักค่าใช้จ่าย 100,000 หักลดหย่อน 60,000) และมีเงินเย็นเหลืออยู่ก็ควรเลือกลงทุนเพื่อลดรายจ่ายภาษีในส่วนนี้ลง เปรียบเสมือนรับส่วนลดในการลงทุนนั่นเอง ตัวอย่างเช่น
เรามีเงินได้สุทธิจำนวน 600,000 บาทต่อปี ถ้า
ลงทุนกับกองทุนรวม SSF เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท เมื่อยื่นภาษีเราจะสามารถนำยอดเงิน 100,000 บาท* ไปหักลดหย่อนได้ตามกฎหมาย
ซึ่งยอดเงิน 100,000 บาทของเรา จะทำให้เสียภาษีน้อยลง 100,000 x 15% = 15,000 บาท เปรียบเสมือนกับเราใช้เงินลงทุน 85,000 ลงทุนในกองทุนที่มีมูลค่า 100,000 บาท เท่ากับว่าได้กำไรทันที 15,000 ÷ 85,000 = 17.65% นั่นเอง
อย่างไรก็ตามเงื่อนไขของ
กองทุน SSF หากจะต้องลงทุนในระยะเวลา 10 ปี ถ้าเราวางแผนว่าจะไม่ขายกองทุนนี้ก่อน 10 ปีอย่างแน่นอน ก็เหมือนกับการลงทุนในกองทุนตามปกติแถมส่วนลดให้นั่นเอง ซึ่งการลงทุนเพื่อการวางแผนภาษีนั้นจะต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเงื่อนไขเหมาะสมกับผู้ลงทุน เพราะจะมีข้อกำหนดในระยะเวลาการถือครอง และจำกัดจำนวนเงินสูงสุดในการลงทุนด้วย โดยจะมีสินค้าให้เราเลือกลงทุน ได้แก่ กองทุน SSF กองทุน RMF และแบบประกันบางประเภทที่กฎหมายกำหนด
*กองทุน SSF สามารถนำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และไม่เกิน 200,000 บาท ในส่วนกองทุน RMF สามารถนำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อทั้งสองกองทุนรวมกับค่าลดหย่อนการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ แล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ลงทุนเพื่อสร้างกำไรจากราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง
การลงทุนเพื่อสร้างกำไรจากราคาที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง หรือทั่วๆ ไปเรียกว่าส่วนต่างราคา การลงทุนแบบนี้เป็นการเลือกสินทรัพย์ที่นักลงทุนมีความเชี่ยวชาญ และทำการคาดการณ์ราคาในอนาคตของสินทรัพย์นั้น ทั้งในระยะสั้นหรือในระยะยาว ถ้าหากคาดการณ์ได้ถูกต้อง ก็จะได้รับกำไรจากส่วนต่างของราคานั่นเอง สำหรับสินทรัพย์ที่เหมาะกับนักลงทุนประเภทนี้มีหลากหลาย (หรือทุกสินทรัพย์ที่นักลงทุนมีความเชี่ยวชาญ) ตัวอย่างสินทรัพย์ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน เช่น
- สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น กองทุน Gold Online ฯลฯ
- สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ เช่น ทองคำแท่ง อสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย สินค้าแบรนด์เนม ฯลฯ
ลงทุนเพื่อให้มีรายได้อย่างสม่ำเสมอ
การที่เราจะมีรายได้สม่ำเสมอ นอกจากการทำงานนั้น เราไม่สามารถทำงานหาเงินได้เกินวันละ 24 ชม. อย่างแน่นอน ดังนั้นเราจึงต้องให้เงินเย็นของเราช่วยทำงานโดยการสร้างรายได้ให้เราเรื่อยๆ โดยที่เราไม่ต้องทำงาน (Passive Income) ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้เราจะต้องเลือกสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่อยู่ในรูปของกระแสเงินสด (Cash flow) ที่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เช่น การฝากเงินแล้วได้ดอกเบี้ย หุ้นกู้ที่มีการให้ดอกเบี้ย หุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ อสังหาริมทรัพย์ปล่อยเช่าที่ให้ค่าเช่า เป็นต้น
ลงทุนเพื่อสร้างรายได้ในวัยเกษียณอายุ
สำหรับการลงทุนให้มีรายได้หลังเกษียณนั้นจะคล้ายกับการลงทุนเพื่อให้มีรายได้อย่างสม่ำเสมอ เพราะต้องการรายได้เหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันที่ความเสี่ยงที่รับได้จะต้องอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เพราะเมื่อเราอยู่ในวัยเกษียณ เราจะไม่มีรายได้จากการทำงานแล้ว แต่ยังคงมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตอยู่ ดังนั้นนักลงทุนควรคำนวณรายได้ในวัยเกษียณออกมาเป็นจำนวนเงิน รวมถึงผลกระทบเงินเฟ้อในอนาคตด้วย (
ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนการเงินประกอบการพิจารณา)
จากนั้นก็ต้องเริ่มลงทุน หรือสะสมเงินลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ปล่อยเช่า หุ้นปันผลที่มีความผันผวนต่ำ กองทุนรวมเพื่อการเกษียณ และประกันประเภทบำนาญ ให้สามารถสร้างรายได้ในวัยเกษียณอย่างเพียงพอนั่นเอง
ลงทุนเพื่อสร้างกองมรดกไว้ให้ลูกหลาน
สำหรับนักลงทุนที่ไม่มีลูกหลาน หรือบุคคลที่อยากให้มรดกก็ให้ข้ามข้อนี้ไปได้เลยนะครับ
แต่ถ้าหากนักลงทุนอยากมีกอง
มรดกไว้ให้ลูกหลาน นักลงทุนควรจัดวางเงินลงทุนในด้านอื่นๆ ให้ครบถ้วนเสียก่อน จากนั้นเงินส่วนที่เหลือนักลงทุนจึงค่อยมาคิดถึงมรดกให้ลูกหลาน เพราะว่าลูกหลานนั้นจะได้รับทรัพย์สินทั้งหมดที่เหลืออยู่ของนักลงทุนอยู่แล้ว
สำหรับนักลงทุนที่มีทรัพย์สินจำนวนมากก็ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง หากมีทรัพย์สินมากกว่าตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป ก็ต้องระมัดระวังเรื่องภาษีมรดกด้วย แต่สำหรับนักลงทุนที่มีภาระหนี้สิน มากกว่าทรัพย์สินนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้มรดกที่มีอยู่ (ทรัพย์สินที่มีอยู่) นั้นลดลงไป หรือกลับกลายมาเป็นภาระให้กับลูกหลานไปผ่อนต่อ นักลงทุนควรแบ่งเงินลงทุนมา
ลงทุนในประกันชีวิตให้ครอบคลุมกับภาระหนี้สินที่มีอยู่ด้วย
ก่อนที่จะจากกันในบทความนี้ อย่าลืมว่า แค่มีเงินเย็นอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องมีเป้าหมายในการลงทุนที่ชัดเจนด้วยนะครับ ถึงจะตอบได้ว่าการลงทุนอะไรดี และเหมาะสมกับเรา ถ้าเรามีเป้าหมาย และต้องการความมั่นใจที่มากขึ้น แนะนำให้ปรึกษานักวางแผนการเงินร่วมด้วยนะครับ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนที่เลือกนะครับ
หากคุณต้องการปรึกษาเกี่ยวกับการวางแผนการเงินหรือมีคำถามเกี่ยวกับการเงินและการลงทุนทั้งหลาย สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้
ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรี ติดต่อกลับ