ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นคำที่เราได้ยินกันอย่างหนาหูในหมู่นักลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยที่ภาวะเงินเฟ้อก็เป็น 1 ในสาเหตุสำคัญส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะซึ่งจะมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยคืออะไร?
ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ “Economic Recession” คือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยคิดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ของประเทศนั้น หาก GDP ลดลงติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 ไตรมาส จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในทางเทคนิคแล้วซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ ราคาสินค้า การจ้างงานลดลง เกิดอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น และความสามารถในการซื้อขายของผู้บริโภคลดลง
ในทางเศรษฐศาสตร์จะมีการประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจกินเวลา 2-3 เดือนหรือประมาณ 1 ไตรมาส แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือระยะฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่อาจใช้เวลาหลายปี ถึงแม้ประเทศไทยจะมีความเสี่ยงไม่มากเท่ากับประเทศอื่น แต่การที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา จีน และทวีปยุโรปที่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งหมดถือเป็นตลาดการนำเข้าและส่งออกที่สำคัญของไทยเราจึงได้รับผลกระทบแบบเลี่ยงไม่ได้
ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีอยู่หลายประการ ภายหลังจากเกิดภาวะโควิด19 ที่ระบาดหนักทั่วโลกจนผู้คนต้องปรับวิถีชีวิตจาก New normal เป็น
Next Normal ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น การจ้างงานต่ำลง ธนาคารกลางหลายประเทศต้องมีนโยบายอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อพยุงเศรษฐกิจจนเงินในระบบมีมากเกินไปกลายเป็นภาวะเงินเฟ้อ
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู้กับภาวะเงินเฟ้อ
หนึ่งในประเทศมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกาต้องปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นทุกครั้งที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีการประชุม และสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ธนาคารกลางสหรัฐมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยที่อัตรา 0.75 เปอร์เซ็นต์ เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ติดต่อกันในรอบ 1 ปี ทำให้อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐพุ่งสูงถึงระดับ 3.75-4.00 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี เพื่อสู้กับ
ภาวะเงินเฟ้อที่ยังพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง
สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก คือความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน การทำสงครามระหว่าง 2 ประเทศ ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ยูเครนที่ถูกหนุนหลังโดยองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่มีทั้งสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปเป็นสมาชิก ก็ประกาศมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียทันทีที่บุกโจมตียูเครน แม้ 2 ประเทศนี้จะไม่ใช่ประเทศที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากนักแต่การคว่ำบาตรรัสเซียก็ส่งผลเสียต่อฝั่ง NATO เองด้วย
รัสเซียมีอัตราการส่งออกปุ๋ยเคมี แร่พาลาเดียมและก๊าซนีออนเป็นอันดับ 1 ของโลก ส่งออกน้ำมันดิบเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกสินค้าทางการเกษตรเป็นอันดับต้น ๆ อีกหลายรายการ อาทิ ข้าวสาลี ข้าวโพด การประกาศคว่ำบาตรรัสเซียของ NATO ส่งผลให้สินค้าราคาพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบที่ยุโรปต้องนำเข้าจากรัสเซียกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อไปเรื่อย ๆ โอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็จะมากตามไปด้วย
มาตรการ Zero Covid ของจีน
อีก 1 มหาอำนาจโลกอย่างจีนที่สามารถกำจัดโควิด19 หมดไปจากประเทศได้แล้วในช่วงก่อนหน้า กลับพบผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง จีนจึงประกาศใช้มาตรการ Zero-Covid หรือปิดเมืองในเมืองใหญ่ทั้งหมด อาทิ เซียงไฮ้ เสินเจิ้น ส่งผลให้การใช้ชีวิตรวมถึงการดำเนินธุรกิจกับต่างประเทศนั้นต้องหยุดชะงักลงในทันที จากการประกาศมาตรการ Zero-Covid นี้ นักเศรษฐศาสตร์ได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจนั้นสูงกว่าการระบาดรอบแรกที่อู่ฮั่นเสียอีก จีนจึงเป็นอีก 1 ประเทศที่ได้รับผลกระทบ และ GDP ชะลอตัว จากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สงครามระหว่างรัสเซีย ยูเครน และ NATO มาตรการ Zero-Covid ของจีน และการปรับดอกเบี้ยสู้ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐจึงส่งผลต่อ GDP ทั่วทั้งโลก
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศไทย
GDP ของสหรัฐอเมริกา จีนและยุโรป คิดเป็น 2 ใน 3 ของ GDP โลก ปัจจัยทั้งหมดก่อนหน้านี้จึงทำให้ไทยเสี่ยงต่อการเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามไปด้วย แม้ว่าในทางเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไม่มากเท่ากับประเทศอื่น แต่การที่คู่ค้าหลักอย่างสหรัฐหรือจีนและความไม่แน่นอนของสงครามรัสเซียยูเครนก็ส่งผลต่อประเทศของเราเช่นกัน บวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ปัญหาค่าครองชีพ หนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจทำให้วิกฤติทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้
ดอกเบี้ยขาขึ้นสู้ภาวะเงินเฟ้อ
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นจาก 0.25 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็น 0.75 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หลังจากที่คงไว้ 0.25 เปอร์เซ็นต์ กว่า 2 ปี หลังคาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานนั้นจะกลับไปใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด19 ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนในไทยที่กังวลว่าอาจเกิด
วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เหมือนวิกฤติต้มยำกุ้งในอดีต ปัญหาค่าครองชีพ ทำให้แม้แต่มนุษย์เงินเดือน เจ้าของกิจการ ต่างหาวิธีการลงทุนเพื่อให้มูลค่าเงินนั้นเติบโตทันอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง
ดอกเบี้ยขาขึ้นและภาวะเงินเฟ้อควรจัดการกับเงินในมืออย่างไร
หลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยจาก 0.25 เป็น 0.75 เปอร์เซ็นต์ 1 ในสาเหตุหลักคือการสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยธนาคารให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อให้คนนั้นถือเงินสดลดลงและนำมาฝากธนาคารมากขึ้นเป็นการดึงเงินออกจากระบบเพื่อให้ค่าเงินนั้นไม่เฟ้อจนเกินไป ในอีกมุมมองหนึ่งผู้คนบางกลุ่มที่มองว่าช่วงเศรษฐกิจชะลอนี้ ทำให้อยู่ในสถานการณ์ Cash is King หรือเงินสดคือพระเจ้า นักลงทุนกลุ่มนี้จะสำรองกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นในช่วงที่ตลาดมีความเสี่ยง เพื่อหาจังหวะในการเข้าลงทุนในกองทุน ตลาดหุ้น ทองคำหรือตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่ หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วอยู่ในจุดที่น่าเข้าไปลงทุน การมีเงินสดไว้กับตัวก็จะสามารถสร้างโอกาสในการทำกำไรได้ในอนาคต แต่จะมีกลุ่มคนอีกประเภทหนึ่งที่มองภาพช่วงภาวะเงินเฟ้อให้อยู่ในสถานการณ์ Cash is Trash หรือเงินสดคือขยะ กลุ่มนี้คือกลุ่มที่ประเมิณสถานการณ์ตรงข้ามกับกลุ่ม Cash is King เขาจะมองว่าการถือกระแสเงินสดเพียงแค่พอใช้จ่ายหรือสำรองต่อการเกิดความเสี่ยงฉุกเฉินนั้นก็เพียงพอแล้ว การที่ถือเงินสดมากจนเกินไปทำให้มูลค่าของเงินนั้นลดลงเรื่อย ๆ จนเปรียบเสมือนขยะนั่นเอง
Cash is King or Cash is Trash?
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงแต่อาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือเรียกว่าภาวะ “Stagflation” สถานการณ์เช่นนี้เราควรมีเงินสดหรือถือสินทรัพย์อื่นดีกว่ากัน อาจไม่มีคำตอบไหนที่ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะการประเมินนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าเราควรจัดการสินทรัพย์แบบไหน?
Cash is King คืออะไร
Cash is king เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ สถานการณ์ในอนาคตเราไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าภาวะเงินเฟ้อ หรือช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นนี้จะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าไหร่ การถือ “เงินสด” ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงสุดก็อาจจะเป็นเซฟโซนที่ปลอดภัย เพราะถึงจะมีมูลค่าที่ลดลงในอนาคตแต่ยังเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินก็สามารถหยิบจับมาใช้ได้ทันที หรือหากมีช่องทางการลงทุนที่เหมาะสม เช่น ตลาดหุ้นลงไปอยู่ในจุดที่ราคาต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ หรือสิ่งของที่จำเป็นต่อธุรกิจของคุณราคาตกลงกว่าที่เคยเป็น ก็เป็นโอกาสในการเข้าทำกำไรได้ คำว่า Cash is King หรือเงินสดคือพระเจ้าก็อาจไม่ใช่คำที่เกินจริงเท่าไหร่นัก
Cash is Trash เหมาะกับใคร
Cash is trash เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงสูงได้ เพราะการถือเงินสดเกินจำเป็นก็มีแต่รอวันที่มูลค่าของมันจะลดลงไปเรื่อย ๆ จากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การถือเงินสดเพียงแค่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือพอใช้จ่ายได้ประมาณ 6 เดือนก็ถือว่าเพียงพอแล้ว การแบ่งเงินไปลงในสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น กองทุนรวม ตลาดหุ้น หุ้นกู้ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ จะให้ผลตอบแทนได้ดีกว่า เพราะช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นไม่ได้ขึ้นแต่เฉพาะเงินฝากเท่านั้น ในส่วนของดอกเบี้ยเงินผ่อนก็ปรับขึ้นตามไปด้วยภาระรายจ่ายต่อเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นทีละช้า ๆ เป็นเหตุผลที่คุณควรหา
Passive income ในการให้เงินทำงานให้คุณ
แต่ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าคุณจะถือเงินสดไว้หรือลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่าง ๆ คุณควรจะมีการวางแผนทางการเงินตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงในอนาคต เพราะสินทรัพย์เสี่ยงถึงจะให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าการถือเงินสด แต่อย่างไรมันก็คือสินทรัพย์ “เสี่ยง” หากต้องการเข้ามาเล่นในตลาดที่เสี่ยง ก็ต้องทำความรู้จักสินทรัพย์นั้นให้ดีก่อนที่จะทำการลงทุน เพราะถึงวันที่มีความรู้มากพอที่จะชนะตลาดนั้นได้ ผลตอบแทนความเสี่ยงที่จะได้กลับมา มันจะคุ้มค่าอย่างแน่นอน
หากคุณต้องการปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมในด้านวางแผนทางการเงิน ทางธนาคารกรุงศรีมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะ ที่สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้ที่
ปรึกษาทางด้านการเงินจาก KRUNGSRI PRIME ติดต่อกลับ