กลับมาอีกครั้งกับโครงการดี ๆ จากภาครัฐ ที่จะทำให้การชอปปิงของทุกคนประหยัดภาษีลงไปได้ ผ่านโครงการใหม่ล่าสุด คือ Easy e-Receipt โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สามารถใช้ใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ผ่านการซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค และการใช้บริการต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่ต้องรีบนำเข้าไปอยู่ในการการวางแผนภาษีประจำปี 2567 แต่ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจเงื่อนไขสำคัญต่าง ๆ ก่อน เพราะโครงการนี้มีบางจุดที่แตกต่างจากโครงการเดิมอย่างชอปดีมีคืนอยู่พอสมควร
Easy e-Receipt คืออะไร ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่
Easy e-Receipt คือ โครงการลดหย่อนภาษีประจำปี 2567 ที่กรมสรรพากรกำหนดให้ผู้มีเงินบุคคลธรรมดา สามารถนำใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันว่า e-Tax Invoice และ e-Receipt ของการซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่จดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2567 โดยจำนวนเงินสูงสุดที่สามารถนำมาลดหย่อนได้คือ 50,000 บาท จะไม่สามารถใช้ใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษได้
ส่วนสำหรับการซื้อหนังสือ อีบุ๊ก และสินค้า OTOP ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะให้ใช้ใบรับอิเล็กทรอนิกส์แทนใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้
ผู้มีสิทธิ์ใช้ Easy e-Receipt สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ช่วงไหนบ้าง
ช่วงเวลาที่สามารถใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2567 ตามที่กรมสรรพากรกำหนด คือ การซื้อสินค้าหรือบริการนั้น ๆ จะต้องอยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 เท่านั้น ทั้งนี้หากเป็นค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งมีระยะเวลาเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนได้
เข้าใจก่อน สินค้าประเภทใดใช้สิทธิ์ Easy e-Receipt ได้ และไม่ได้
สิ่งสำคัญที่ผู้ที่สนใจใช้สิทธิ์ Easy e-Receipt จะต้องทำความเข้าใจก็คือ สินค้าและบริการประเภทใดบ้าง ที่สามารถใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีปี 2567 ได้ โดยเงื่อนไขสำคัญอันดับแรกคือ สินค้าหรือบริการนั้น ๆ จะต้องถูกซื้อหรือใช้บริการในราชอาณาจักรไทยเท่านั้น ส่วนเงื่อนไขอื่น ๆ มีดังนี้
- สินค้าหรือบริการ ที่ผู้ขาย หรือผู้ให้บริการ เป็นผู้ประกอบการที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มถูกต้อง และสามารถออกใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ e-Tax Invoice และ e-Receipt ของกรมสรรพากรให้กับผู้ซื้อหรือผู้ใช้บริการ เพื่อนำ e-Tax Invoice ลดหย่อนภาษี
- สินค้าหรือบริการบางประเภท ที่ผู้ซื้อจ่ายให้กับผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูป ได้แก่ ค่าซื้อหนังสือประเภทต่าง ๆ ทั้งแบบรูปเล่มและอีบุ๊ก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือทั่วไป หนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร เป็นต้น ซึ่งจะออกเป็นใบรับอิเล็กทรอนิกส์ให้แทน
- สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (สินค้า OTOP) ที่ผู้ซื้อจ่ายให้กับผู้ประกอบการที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนเรียบร้อยถูกต้องแล้ว โดยจะออกเป็นใบรับอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดหย่อนให้
ตัวอย่าง ผู้ประกอบการที่สามารถออกใบกำกับภาษี ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
- ห้างสรรพสินค้า Central, Central App, The mall, Emsphere, ICONSIAM, Robinson
- 7-Eleven, Tops Supermarket, Lotus, Makro, Big C
- Homepro, Powerbuy, IKEA Online, Index Living Mall, ไทวัสดุ
- IT City, Advice, Banana, Studio 7
- Sizzler, Starbucks, Swensen’s, KFC, Pizza Company, Shabushi
- B2S, Se-ed, นายอินทร์
หรือสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการเข้าระบบ
e-Tax Invoice & e-Receipt ได้ที่นี่
ส่วนสินค้าที่นำมาลดหย่อนไม่ได้ ประกอบด้วย
- สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ
- ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ
- ค่าซื้อยานพาหนะประเภทต่าง ๆ คือ รถจักรยานยนต์ รถยนต์ และเรือ
- ค่าสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
- ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งมีระยะเวลาเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
ทราบหรือไม่ ใครบ้างที่มีสิทธิ์ใช้ Easy e-Receipt
สำหรับผู้ที่มีสิทธิ์ใช้ Easy e-Receipt คือ ผู้มีเงินได้ ที่เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น ทั้งนี้การใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีนั้น ไม่ใช่การนำยอดซื้อทั้งหมดไปลดหย่อนภาษี แต่จะเป็นการลดหย่อนจากจำนวนเงินได้พึงประเมินสุทธิ ที่ต้องนำไปคำนวณร่วมกับฐานภาษีแบบขั้นบันได โดยอัตราลดหย่อนสูงสุดของแต่ละขั้นบันไดฐานภาษี สามารถดูได้จากรายละเอียดตามตารางด้านล่างนี้
ทั้งนี้ จากข้อมูลในตารางจะเห็นได้ว่า จำนวนภาษีที่ลดลงจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแต่ละขั้น ผู้ที่ต้องเสียภาษีในฐานภาษีสูง ๆ ก็จะสามารถลดหย่อนภาษีได้จำนวนเงินสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตามนอกจากประโยชน์ในเรื่องของการลดหย่อนภาษีแล้ว หากจะใช้จ่ายอะไรก็ควรคำนึงถึงความจำเป็นของสินค้าหรือบริการนั้น ๆ เป็นสำคัญร่วมด้วย
จะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้ประกอบการรายใดออก e-Tax Invoice & e-Receipt ให้คุณได้บ้าง
e-Tax Invoice & e-Receipt คือ ระบบการออกใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยกรมสรรพากร เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างถูกต้อง ทำให้สามารถออกใบกำกับภาษีและใบรับอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ช่วยลดปัญหาโลกร้อนด้วยการประหยัดกระดาษ ประหยัดหมึกพิมพ์ อีกทั้งยังประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการจัดส่งเอกสาร
สำหรับ เอกสาร e-Tax Invoice & e-Receipt ที่ผู้ประกอบการออกให้นั้นจะต้องมีคำว่า “เอกสารนี้ได้จัดทำและส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์” บนเอกสารร่วมด้วย
นอกจากนี้ใครอยากเช็กเบื้องต้นว่า ผู้ประกอบการรายใดที่สามารถออก e-Receipt หรือ e-Tax ลดหย่อนภาษีนี้ได้บ้าง จะได้วางแผนเพื่อซื้อสินค้าและบริการได้ สามารถตรวจสอบได้จากรายชื่อผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยนำเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรไปค้นหาผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร โดยแยกตามประเภทการออกเอกสารคือ ค้นหาผ่านระบบ
e-Tax Invoice หรือค้นหาผ่านระบบ
e-Tax Invoice by Email
ลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น เมื่อซื้อกองทุน RMF, SSF และ ThaiESG เพิ่มเติม
นอกจากช่องทางการลดหย่อนภาษีผ่านโครงการ Easy e-Receipt แล้ว อีกทางเลือกที่จะสามารถช่วยให้ลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นก็คือ การซื้อกองทุนรวม RMF, SSF และ ThaiESG เพิ่มเติมนั่นเอง โดยแต่ละกองทุนเป็นกองทุนรวมที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาล ผู้ลงทุนสามารถนำเงินที่ลงทุนไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนเงินที่ลงทุนจริง โดยแต่ละกองทุนมีรายละเอียดที่อัปเดตล่าสุด ดังนี้
1. กองทุน RMF (Retirement Mutual Fund)
กองทุน RMF หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ มีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนเก็บออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ
เงื่อนไขที่สำคัญของ RMF คือ*
- สามารถซื้อ RMF ได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี และต้องไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ
- จะต้องลงทุนอย่างน้อยแบบปีเว้นปี และต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี แบบวันชนวัน
- จะต้องถือครองหน่วยลงทุนจนครบอายุ 55 ปี จึงจะขายคืนหน่วยลงทุนได้
- สามารถลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภทได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายกองทุนรวมนั้น ๆ
- ไม่มีระยะเวลาสิ้นสุดเงื่อนไขการลดหย่อนภาษี
2. กองทุน SSF (Super Savings Fund)
กองทุน SSF หรือกองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว เป็นกองทุนที่จัดตั้งเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวให้กับประชาชน
เงื่อนไขที่สำคัญของ SSF คือ*
- สามารถซื้อ SSF ได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี และต้องไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ
- ไม่มีเงื่อนไขบังคับให้ต้องซื้อทุกปี
- จะต้องถือครองหน่วยลงทุนจนครบ 10 ปี แบบวันชนวัน จึงจะขายคืนหน่วยลงทุนได้
- สามารถลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภทได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายกองทุนรวมนั้น ๆ
- สามารถซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีได้จนถึงเดือนธันวาคม 2567
3. กองทุน ThaiESG (Thailand ESG Fund)
กองทุน ThaiESG หรือกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน เป็น
กองทุนลดหย่อนภาษีน้องใหม่ป้ายแดง มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยในช่วง 10 ปีภาษี โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีการกำกับดูแลที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ โดย ESG ย่อมาจาก Environment (สิ่งแวดล้อม), Social (สังคม), และ Governance (การกำกับดูแล)
เงื่อนไขที่สำคัญของ ThaiESG คือ*
- สามารถซื้อ ThaiESG ได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
- ไม่มีเงื่อนไขบังคับให้ต้องซื้อทุกปี
- จะต้องถือครองหน่วยลงทุนจนครบ 8 ปี แบบวันชนวัน จึงจะขายคืนหน่วยลงทุนได้
- สามารถลงทุนในลงทุนในหุ้นของธุรกิจ ESG และตราสารหนี้ ESG ภายในประเทศไทยเท่านั้น
- สามารถซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีได้จนถึงเดือนธันวาคม 2575
*ข้อมูลอัปเดต ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2566
นอกจากประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีแล้ว การซื้อกองทุนเหล่านี้ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการออมเงินเพื่ออนาคต หรือสำหรับไว้ใช้ในวัยเกษียณ และช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการทั้งวางแผนภาษีและแผนเกษียณในคราวเดียวกัน ทั้งนี้ผู้ลงทุนที่สนใจซื้อกองทุนรวม RMF, SSF หรือ ThaiESG เพิ่มเติม ควรเปรียบเทียบกองทุนที่สนใจจากหลาย ๆ กองทุน และพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ประกอบการตัดสินใจลงทุน เช่น นโยบายการลงทุน ความเสี่ยง ผลการดำเนินงาน ค่าใช้จ่าย เป็นต้น เพื่อให้สามารถตัดสินใจลงทุนในกองทุนที่เหมาะสมกับตนเอง และได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนอย่างสูงสุด
จะเห็นได้ว่า หากหมั่นติดตามอัปเดตข่าวสารการเงิน การลงทุน แม้แต่การชอปปิงผ่านโครงการ Easy e-Receipt ก็เป็นการวางแผนภาษีไปในตัวได้ ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับภาษีได้มากขึ้น และเงินที่สามารถประหยัดได้นี้ ก็สามารถนำไปสร้างประโยชน์ สร้างความสุขให้กับคุณและคนรอบข้างได้เพิ่มมากขึ้น หรือจะนำไปต่อยอดการลงทุน หรือวางแผนเกษียณสุขก็ได้ เพราะเรื่องเงินเป็นเรื่องใกล้ตัว ยิ่งใส่ใจ ยิ่งวางแผนไว ยิ่งมีอนาคตที่ดี และสำหรับผู้ที่ต้องการคำปรึกษาด้านการเงิน การลงทุนเพิ่มเติม สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านการเงินและการลงทุนจาก KRUNGSRI PRIME ได้ที่เบอร์ 02-296-5959 หรือ
ฝากข้อมูล เพื่อให้ทีมผู้เชี่ยวชาญติดต่อกลับก็ได้เช่นกัน
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุน ก่อนตัดสินใจลงทุน
- ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
- SSF เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออม ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน
- RMF เป็นการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน
- กองทุน Thai ESG เป็นกองทุนที่ส่งเสริมการออมระยะยาว และสนับสนุนการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย