ในต้นปีนี้หลายคนก็คงกำลังวางแผนการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมจากโครงการ Easy E-Reciept 2567 ที่นำมาแทนโครงการช็อปดีมีคืน 2567 โครงการนี้เราสามารถซื้อสินค้าและบริการในประเทศไทย แล้วนำหลักฐานใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice และ e-Receipt) เพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ ส่วนรายละเอียดเป็นอย่างไร ซื้อแล้วลดหย่อนภาษีได้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญ ช็อปแล้วคุ้มค่าจริง ๆ ไหม ประเด็นนี้ Krungsri The COACH จะขอสรุปให้ทุกคนอ่านกัน
สรุปลิสต์สินค้าและบริการที่เข้าร่วม/ไม่เข้าร่วม ในโครงการ Easy e-Receipt 2567
สินค้าและบริการที่เราสามารถนำไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ มีดังนี้
- สินค้าทั่วไปที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่สามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น ค่าอุปกรณ์ IT และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่น ของใช้ในบ้าน หนังสือ นิตยสาร
- สินค้าที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร รวมไปถึงอีบุ๊กและหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
- สินค้าโอท็อป (OTOP) ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
สินค้าและบริการที่นำไปใช้ในการลดหย่อนภาษีไม่ได้ มีดังนี้
- ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
- ค่าซื้อยาสูบ
- ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณ อินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าว นอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนด (วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567) เช่น ค่าสมาชิกต่าง ๆ
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
เงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการ Easy e-Receipt 2567
จะต้องเป็นการซื้อสินค้าหรือบริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 เท่านั้น โดยนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง เป็นราคาที่รวม VAT แล้ว ใช้สิทธิในการลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับผู้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการลดหย่อนภาษีนี้ได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น แน่นอนว่าบุคคลธรรมดาที่เป็นมนุษย์เงินเดือนและคนทำอาชีพฟรีแลนซ์สามารถใช้สิทธินี้ได้
หลักฐานในการใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษี
เราจะต้องเตรียมหลักฐานเป็น ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์จากระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร
- ใบกำกับภาษีที่มีข้อความระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
ในส่วนของค่าสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร รวมไปถึง อีบุ๊กและหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสินค้าโอท็อป (OTOP) ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ต้องมีหลักฐานใบรับในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์จากระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร
ซึ่งมีรายการอย่างน้อยตาม มาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลข ประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย
วิธีการตรวจสอบร้านค้าที่เข้าร่วม e-Tax Invoice
ก่อนที่เราจะช็อปปิง อย่าลืมตรวจสอบร้านค้าที่เข้าโครงการ e-Tax Invoice และ e-Receipt กันก่อน ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบกิจการได้ที่
ระบบ e-Tax Invoice / e-Receipt (rd.go.th)
อย่างไรก็ตามรายชื่อในฐานข้อมูลนี้จะเป็นผู้ประกอบการทั้งหมด ค่าสินค้าและบริการของผู้ประกอบการบางรายในฐานข้อมูลนี้ อาจจะไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้ Krungsri The COACH แนะนำว่าเราควรต้องเช็กสิทธิการลดหย่อนตามมาตรการ "Easy E-Receipt" ในวันที่ 1 มกราคม 2567 - 15 กุมภาพันธ์ 2567 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกรมสรรพากร
รายได้ในแต่ละฐานภาษี ลดหย่อนได้กันเท่าไหร่บ้าง
Krungsri The COACH ได้ทำตารางสรุปมาให้ดูกันว่า หากเราใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกับโครงการ Easy e-Receipt 2567 โดยซื้อของกันแบบเต็มสิทธิ 50,000 บาท จะลดภาษีได้มากน้อยแค่ไหน รายละเอียดตามตารางข้างล่าง
จากตารางเราจะเห็นได้ว่า ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากสิทธิในการลดหย่อนภาษีด้วย E-Receipt นั้น จะเป็นผู้ที่ต้องจ่ายภาษีบุคคลธรรมดาในอัตราที่สูง ในขณะที่ผู้ที่มีเงินได้สุทธิน้อยจะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้น้อย
สรุปโครงการ Easy E-Receipt 2567 ช็อปแล้วคุ้มค่าจริง ๆ ใช่ไหม?
หากเรามีแผนที่จะซื้อของอยู่แล้ว การซื้อกับผู้ประกอบการในโครงการ Easy E-Receipt 2567 ก็จะได้ความคุ้มค่าเป็นอย่างมาก เพราะเราจะได้ทั้งของที่ต้องการและได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย
โครงการนี้จึงเหมาะกับผู้มีเงินได้สุทธิมากกว่า 150,000 บาทขึ้นไปเพราะสามารถใช้ลดหย่อนภาษีตามฐานภาษีของตัวเอง ส่วนผู้ที่มีเงินได้สุทธิน้อยกว่า 150,000 บาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษี จึงเป็นกลุ่มที่ไม่เหมาะในการเข้าร่วมโครงการนี้
โครงการนี้จะมีประโยชน์กับเรามาก หากเรามองว่าเราได้ซื้อสินค้าที่ต้องการและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นของแถม และเราไม่ควรโฟกัสไปการซื้อของให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ได้รับประโยชน์ทางภาษีสูงสุด เพราะอาจจะทำให้หลาย ๆ คนเกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจากการใช้เงินเกินตัว ต้องมานั่งหาทางแก้ปัญหาในภายหลังอีกด้วย
ดังนั้น ก่อนใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี อย่าลืมคำนวณดี ๆ ก่อนว่า เงินที่เราจะใช้ช็อปปิงนั้นมีจำนวนเงินเท่าไหร่ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อย่างคุ้มค่าหรือไม่ และเมื่อเราใช้เงินจำนวนนี้ไปแล้ว จะกระทบสภาพคล่องทางการเงินของเราไหม
หากวางแผนการเงินให้ดี ก็จะสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้