โครงการสร้างฝายชะลอน้ำ ดอยตุง

การพัฒนาที่ยั่งยืน

โครงการสร้างฝายชะลอน้ำ ดอยตุง

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อนหน้านี้ พื้นที่ดอยตุง จังหวัดเชียงราย ถือเป็นพื้นที่ทุรกันดาร สภาพป่าเขาบนดอยมีความเสื่อมโทรม เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า การปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย จนทำให้ดอยตุงกลายเป็นเขาหัวโล้น พื้นดินแห้งแล้งขาดความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนทั้ง 6 ชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดอยตุงมีความยากจนและขัดสนอย่างยิ่ง

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2531 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงริเริ่ม “โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ขึ้นมา ซึ่งถือเป็นโครงการพัฒนาโครงการแรกของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่น้อมนำศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาเป็นหลักในการพัฒนาฟื้นฟูสภาพป่าเขาที่เสื่อมโทรม ควบคู่ไปกับการสร้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนบนพื้นที่ดอยตุงให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน กรุงศรีจึงได้ริเริ่ม “โครงการสร้างฝายชะลอน้ำ ดอยตุง” ในปี พ.ศ. 2552 เพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ของธรรมชาติและแหล่งน้ำบนดอยตุง ซึ่งเปรียบเสมือนต้นน้ำที่สำคัญสำหรับชุมชนท้องถิ่นเพื่อการดำรงชีวิตและการเกษตร โดยฝายชะลอน้ำจะช่วยชะลอการไหลของน้ำในฤดูน้ำหลาก และช่วยเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดินอันเป็นประโยชน์ต่อการทำประปาหมู่บ้าน รวมทั้งช่วยรักษาความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์แก่ผืนป่า ตลอดจนยังเป็นแนวป้องกันธรรมชาติจากไฟป่าอีกด้วย

โครงการสร้างฝายชะลอน้ำ ดอยตุง อาศัยความร่วมมือร่วมใจของเหล่าอาสาสมัครพนักงานกรุงศรีและบริษัทในเครือ พันธมิตรทางธุรกิจ และชุมชนท้องถิ่น ในการรักษาสมดุลย์ของสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และสังคม เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากจะบรรลุตามวัตถุประสงค์ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 6: การบริหารจัดการน้ำและการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 15: การส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน และเป้าหมายที่ 17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกด้วย

ผลการดำเนินงาน
ปี พื้นที่การดำเนินงาน จำนวนฝายที่สร้าง
2566 บ้านผาบือ ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดเชียงราย 32
2565 บ้านแม่เปิน ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดเชียงราย 8
2564 - -
2563 - -
2562 บ้านป่าซางนาเงิน 32
2561 บ้านแม่เปิน 43
2560 บ้านห้วยปูใหม่ 34
2559 บ้านป่าซางแสนสุดแดน 45
2558 บ้านป่ายางอาข่า 20
2557 บ้านสามัคคีเก่า 18
2556 บ้านลาหู่ป่ากล้วย 16
2555 บ้านห้วยปูใหม่ 14
2554 บ้านลิเช/ จะลอ 13
2553 กม. 7 ถนนสายใหม่ดอยตุง 10
2552 บ้านลาบา 17
โครงการสร้างฝายชะลอน้ำ ดอยตุง
โครงการสร้างฝายชะลอน้ำ ดอยตุง
โครงการสร้างฝายชะลอน้ำ ดอยตุง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา