Google Bard ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ตัวใหม่ที่ทำหน้าที่เป็น Chatbot จาก Google เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากการเปิดตัวก็มีกระแสข่าวว่า Google พัฒนาระบบนี้ขึ้นมาเพราะต้องการแข่งกับ ChatGPT ถึงแม้ AI Chatbot ทั้ง 2 โปรแกรมนี้จะเหมือนว่าถูกพัฒนาขึ้นมาแข่งกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้ง 2 โปรแกรมถูกควบคุมด้วยระบบที่แตกต่างกัน โดย Google Bard ทำงานบนโมเดล LaMDA ส่วน ChatGPT เวอร์ชันฟรีจะทำงานบนโมเดล GPT 3.5
ในมุมธุรกิจ ทั้ง 2 โปรแกรมนี้จะแข่งขันกันจริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานเป็นผู้ตัดสินว่าจะเลือกใช้
AI Chatbot จากค่ายใด ซึ่งในบทความนี้เราจะพาคุณมาทำความรู้จักกับโปรแกรมน้องใหม่ที่เพิ่งแจ้งเกิดในวงการ AI Chatbot ได้ไม่นาน อย่าง Google Bard
รู้จักกับน้องใหม่ในวงการ AI Chatbot กับ Google Bard น้องเล็กที่มีพี่ตัวใหญ่
Google Bard AI มีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า “Bard” เปิดตัวครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ต่อมาในเดือนมีนาคม 2566 ได้มีการอัปเดตครั้งใหญ่อีกหนึ่งครั้ง โดย Bard เป็น AI Chatbot น้องใหม่ในวงการที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาจากพี่ใหญ่อย่าง Google ซึ่งในครั้งแรกของการเปิดตัว ผู้ใช้งานพบว่า Bard ยังให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อหุ้นของ Google เป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของการอัปเดตครั้งใหญ่ในเดือนมีนาคมดังที่ได้กล่าวไป
Bard AI ได้ขยายการเรียนรู้ไปสู่ภาษาอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ ในประเทศไทยเอง คนไทยก็สามารถใช้ภาษาไทยพูดคุยกับ Bard ได้ ทั้งผ่านการแชท และการสนทนาผ่านเสียงพูด ที่สำคัญทาง Google ยังประกาศว่า จะขยายการรองรับไปอีก 40 ภาษาที่ได้รับความนิยม และอีก 180 ภาษาทั่วโลก
ประโยชน์ของ Google Bard ผู้ช่วยส่วนตัว ที่ย่อโลกให้เล็กลง
ตั้งแต่ Bard Google ได้รับการพัฒนาและเปิดตัวมา ก็มีการอัปเดตเพื่อขยายความรู้ความสามารถให้เพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด ตั้งแต่ความสามารถในเรื่องเล็ก ๆ อย่างเรื่องการให้ข้อมูลด้วยความระมัดระวัง และการตอบคำถามที่ผู้ใช้งานมักจะถามแปลก ๆ เพื่อความสนุกสนาน ไปจนถึงเรื่องที่ใช้ความสามารถมากขึ้น Bard ก็สามารถเป็นผู้ช่วยได้ดี เช่น
1. สามารถช่วยทำงานผ่าน Google Workspace
ดังที่ได้กล่าวไปว่า ตั้งแต่เปิดตัว Bard มา โปรแกรมนี้ก็ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง โดยล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2566 Bard AI ได้รับการอัปเดตอีกรอบ โดยครั้งนี้เพิ่มการเรียนรู้ให้ Bard สามารถช่วยคุณค้นหาข้อมูล, ทำงานวิจัย, คิดค้นไอเดียใหม่ ๆ, และมีระบบช่วยบริหารจัดการธุรกิจ โดยผู้ใช้งานสามารถ Login ผ่านบัญชี Google Workspace ได้
2. สามารถแชร์เนื้อหาไปยัง Google Docs และ Gmail
หลังจากการอัปเดตใหม่ Bard ก็เพิ่มการเรียนรู้ใหม่อีกครั้ง นับได้เพียง 5 วันหลังจากการเรียนรู้การทำงานผ่าน Google Workspace โดยตัวเลือกใหม่นี้ช่วยให้คุณสามารถส่งออก หรือแชร์เนื้อหาที่ให้ Bard ช่วยค้นหาไปยัง Gmail และ Google Docs ได้ นอกจากนี้ Bard ยังเข้าถึง Google Map, Google Drive, Google Sheets, Google Slides, Google Meet และสามารถทำงานร่วมกับ Google Search ได้ด้วย
3. สามารถตอบกลับคำถามด้วยรูปภาพได้
นักออกแบบและพัฒนาโปรแกรมของ Bard Google ได้เพิ่มการเรียนรู้ให้ Bard สามารถตอบกลับคำถามด้วยรูปภาพได้หากผู้ใช้งานมีความต้องการ หรือหากต้องการให้ Bard แสดงทั้งข้อมูลพร้อมรูปภาพประกอบ ก็ทำได้เช่นกัน
4. ผู้ใช้งานจะได้ข้อมูลที่สดใหม่อยู่เสมอ
คำถามที่ผู้ใช้งานต้องการให้ Bard ค้นหาคำตอบ จะเป็นข้อมูลที่สดใหม่แบบเรียลไทม์ เนื่องจากตัวโมเดล LaMDA จะทำการตรวจสอบการค้นหา ก่อนจะดึงข้อมูลออกมานำเสนอต่อผู้ใช้งาน จึงสามารถมั่นใจได้ว่า ข้อมูลที่มาจาก Bard จะไม่เป็นข้อมูลที่ผิดพลาด อีกทั้งสำนวนภาษาที่ใช้อย่างมีความเป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับภาษามนุษย์อีกด้วย
5. ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ได้ดี
Google จับมือกับ Adobe Firefly เพื่อนำ Google Bard AI เข้าไปใส่ไว้ในแอปพลิเคชัน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างภาพกราฟิกด้วยการบรรยายผ่าน Bard และให้สร้างออกมาเป็นผลงานภาพ สำหรับการนำไปใช้งานตามความต้องการ
เรียนรู้การอยู่กับ AI ใช้ Google Bard อย่างไรให้ถูกวิธี
Google Bard เป็น AI Chatbot ที่สามารถสรุปข้อมูลและตอบคำถามที่มีความซับซ้อนได้ อีกทั้งยังสามารถเข้าใจบริบทของคำถาม จึงสามารถให้ข้อมูลที่มีเนื้อหาเฉพาะได้ด้วย แต่การพัฒนา Bard ขึ้นมาไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการแทนที่การค้นหาบนพื้นฐานแบบเดิม แต่จะใช้เป็นตัวช่วยสำหรับการทำงานบางส่วนเท่านั้น
ดังนั้นการอยู่ร่วมกับ AI ในโลกปัจจุบันจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอย่างที่หลายคนคาดการณ์ เพราะยังมีความละเอียดอ่อนอีกหลายเรื่องที่ AI ไม่สามารถทำแทนเราได้ แต่ในเมื่อเทคโนโลยีได้หล่อหลอมให้เราและสังคมไม่อาจแยกตัวออกมาจากเทคโนโลยีได้ การอยู่ร่วมกันและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีคือสิ่งที่เราควรทำ
โดยการใช้งาน Bard อย่างถูกวิธีจะช่วยให้เราเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีความชาญฉลาด ก่อนอื่นคุณต้องทราบก่อนว่า Bard สามารถทำงานบน Window 10, Window 11, MacOS, Linux หรือแม้แต่บนระบบของ Android และ iOS ได้ อีกทั้งคุณยังสามารถใช้งาน Bard บนเบราว์เซอร์ Microsoft Edge หรือ Firefox ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็น Chrome เพียงอย่างเดียว และจากนั้นให้คุณทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
- เข้าเว็บไซต์ Bard และ Login ด้วยบัญชี Gmail หรือ Google Workspace ของคุณ จากนั้นให้กดไปที่ Try Bard หรือ Sign In
- เมื่อพบการแจ้งเตือนนโยบาย ให้อ่านและกดยอมรับ I Agree ท้ายนโยบาย
- จากนั้นจะพบกับคำแนะนำสำหรับการเริ่มต้นใช้งาน ให้กดไปที่ Continue
- เริ่มต้นพูดคุยกับ Google Bard ได้เลย โดยที่คุณไม่ต้องประดิษฐ์คำพูดอะไร เพราะ Bard สามารถเข้าใจภาษาที่เป็นธรรมชาติได้
เราสามารถใช้ Google Bard เพื่อช่วยวิเคราะห์การลงทุนได้หรือไม่
ตอบคำถามที่ว่า เราสามารถใช้ Bard เพื่อวิเคราะห์การลงทุนได้หรือไม่ เราได้ถามคำถามนี้กับ Bard มาให้แล้ว คำตอบที่ได้คือ “ไม่สามารถทำได้” เนื่องจากการวิเคราะห์การลงทุนมีความซับซ้อน และเป็นเทคนิคเฉพาะบุคคล ที่ต้องใช้การวิเคราะห์โดยอ้างอิงจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่ Bard อาจวิเคราะห์ข้อมูลผิดพลาดได้
สรุปได้ว่า Google Bard มีประโยชน์ที่ช่วยให้ชีวิตของเราง่ายขึ้นจริง แต่ในโลกของการลงทุน Bard ยังไม่สามารถทำหน้าที่แทนผู้จัดการกองทุน หรือเครื่องมือช่วยเทรดต่าง ๆ ได้ ดังที่กล่าวไปว่า AI ยังไม่สามารถทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้ทั้งหมด ยังมีเรื่องละเอียดอ่อนอีกหลายเรื่องที่ AI ไม่สามารถช่วยเหลือได้ ดังนั้นนักลงทุนยังคงต้องหมั่นใส่ใจในข้อมูลข่าวสาร และอัปเดตเทรนด์อยู่ตลอดเวลาเหมือนเดิม โดยถ้าหากคุณต้องการผู้ช่วยวางแผนการลงทุน หรือวางแผนการเงิน ทางเลือกที่ดีกว่า Bard ที่เราอยากนำเสนอคือ ติดต่อไปที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพื่อพูดคุยและขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะ ที่ช่องทางฮอตไลน์ 02-296-5959 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือ
ฝากข้อมูล เพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจาก KRUNGSRI PRIME ติดต่อกลับก็ได้เช่นกัน