เคล็ดลับทำงานให้คนญี่ปุ่นประทับใจ
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เคล็ดลับทำงานให้คนญี่ปุ่นประทับใจ

icon-access-time Posted On 22 มิถุนายน 2558
By เกตุวดี Marumura
อดีตประธานบริษัท Proctor & Gamble เคยกล่าวไว้ว่า หากเราชนะตลาดญี่ปุ่นได้ เราจะชนะตลาดโลกได้ เขามองว่า ตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดที่เจาะยากที่สุด เพราะคนญี่ปุ่นมีความละเอียดอ่อน ชาตินิยม และมีความต้องการที่เฉพาะเจาะจงมาก
หากท่านมีลูกค้าเป็นคนญี่ปุ่น หรือต้องทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่น จะทำอย่างไรให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่น และพึงพอใจกันทั้ง 2 ฝ่าย ครั้งนี้ดิฉันมี 3 เคล็ดลับการทำงานมานำเสนอค่ะ

1. จงเป็นริตะ-ซัง

 
ดิฉันมีคนญี่ปุ่น 2 คนอยากแนะนำให้คุณผู้อ่านรู้จักค่ะ เธอชื่อ “ริโกะ-ซัง” กับ “ริตะ-ซัง”
 
ริโกะ (利己)แปลว่า การคิดถึงผลประโยชน์ตัวเองก่อนผู้อื่น
ริตะ (利他)แปลว่า การคิดถึงผลประโยชน์ผู้อื่นก่อนตัวเอง
“ริโกะซัง” เอาเงินไปซื้อโมจิมา 1 ก้อนแล้วเก็บไว้กินคนเดียว ส่วน “ริตะซัง” เห็นเพื่อนคนหนึ่งอยากทานโมจิเหมือนกัน เธอจึงเอาเงินไปซื้อโมจิมาก้อนหนึ่ง แบ่งกันกินคนละครึ่ง ถามว่า ในระยะยาวใครจะอิ่มท้องหรือเป็นที่รักมากกว่ากัน?
คนญี่ปุ่นสอนให้เราเป็นริตะ-ซัง ไม่ใช่ริโกะ-ซัง คำว่า “ผู้อื่น” ในที่นี้ อาจหมายถึง หัวหน้า ลูกค้า ซัพพลายเออร์ ผู้ถือหุ้น คนในสังคม หรือประเทศชาติก็ได้ คนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวเรา หากเราทำให้ผู้อื่นได้ดีมีความสุขแล้ว ผลประโยชน์ก็จะกลับมาที่ตัวเราในท้ายสุดค่ะ
คนญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จมากๆ ทุกคน จะมีริตะ-ซังอยู่ในใจ ท่านประธาน Kazuo Inamori ผู้ก่อตั้งบริษัท Kyocera และ KDDI กล่าวถึงตอนริเริ่มทำธุรกิจโทรคมนาคมไว้ว่า ...
“ตอนนั้น ผมเห็นว่า บริษัท NTT ผูกขาดระบบโทรคมนาคมญี่ปุ่น ผมจึงอยากเข้าไปทำธุรกิจนี้เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ค่าโทรฯ จะได้ถูกลง ซึ่งเป็นผลดีต่อประชาชน แต่ผมนอนคิดทุกคืน...คิดทุกคืนจริงๆ ว่า การตัดสินใจเข้าไปลงทุนธุรกิจนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากผมเห็นแก่ประโยชน์ประชาชนจริงหรือเปล่า หรือเพราะผมเห็นกำไร เห็นผลประโยชน์ส่วนตัว หรือเพราะผมแค่อยากดูเท่ในสายตาคนอื่น
ในที่สุด เมื่อเวลาผ่านไปครึ่งปี ผมเห็นว่า ผมตั้งใจทำเพื่อชาวญี่ปุ่นจริงๆ ผมจึงตัดสินใจตั้งบริษัท KDDI”
ระยะเวลานานถึง 6 เดือนที่คุณ Inamori ใช้ ไม่ใช่การคำนวณคิด Feasibility หรืองบขาดทุน-กำไร แต่ใช้ถามและยืนยันความรู้สึกตัวเองว่า “ตนเองมุ่งมั่นที่จะทำธุรกิจเพื่อผู้อื่นจริงๆ”
เพราะฉะนั้น เมื่อทำงานกับคนญี่ปุ่น เราต้องใส่ใจ “ริตะซัง” เป็นพิเศษค่ะ เราจะตั้งใจผลิตสินค้าให้ลูกค้า เราจะมุ่งมั่นดีไซน์ผลิตภัณฑ์อย่างเต็มที่ ไม่ส่งงานไปแบบชุ่ยๆ เราจะพยายามส่งของให้ทันกำหนดการลูกค้า เราจะไม่กดราคาซัพพลายเออร์มากจนเกินไป เราจะแบ่งปันผลประโยชน์ให้พนักงานและผู้ถือหุ้นอย่างยุติธรรม... ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้หากเรามี “ริตะซัง” ... การคิดถึงผลประโยชน์ผู้อื่นอยู่ในใจ

2. จงพยายามให้ถึงที่สุด

 
การพยายามจนถึงที่สุด จะทำให้เราได้สัมผัสถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของตัวเรา ที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน
โค้ชทีมฟุตบอลญี่ปุ่นชื่อดังเคยเล่าให้ดิฉันฟังว่า “สมัยผมเป็นนักกีฬา โค้ชบอกให้พวกเราวิ่งรอบสนามไปเรื่อยๆ ห้ามหยุด ห้ามพัก บางคนวิ่งจนสลบ เพื่อนที่เหลือก็ต้องลากเพื่อนไปวิ่งไป เวลาพวกเราหิวน้ำมากๆ ก็แอบก้มดื่มน้ำจากแอ่งน้ำในสนามหญ้า หรือไม่ก็ถอดเสื้อมาบิดเหงื่อแล้วดื่มเหงื่อแทน ตอนนั้นเหนื่อยแทบขาดใจจริงๆ”
การฝึกดังกล่าวดูเหมือนไร้สาระและบ้าดีเดือดสิ้นดี แต่การฝึกเหล่านี้ทำให้จิตใจคนแข็งแกร่ง รู้จักอดทน ไม่ย่อท้อ การฝึกแบบเหนื่อยแทบขาดใจเหล่านี้ มิได้จำกัดอยู่แค่วงการกีฬาเท่านั้น ทุกชมรมในโรงเรียนญี่ปุ่น หรือแม้แต่บริษัทญี่ปุ่น ก็ฝึกคนให้หนักด้วยแบบฝึกหัดโหดหินระดับที่คนทั่วไปเห็นแล้วต้องคิดว่า “จะทำได้อย่างไรกันนี่” บริษัทโฆษณารายหนึ่งส่งพนักงานใหม่ทุกคนให้เดินขึ้นภูเขาไฟฟูจิ แต่สุดท้าย เมื่อทุกคนผ่านพ้นมาได้ พวกเขาจะค้นพบกับศักยภาพตัวเองที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน และแปลงเป็นความมั่นใจ ทำให้พวกเขาอดทน ไม่ย่อท้อ
คนญี่ปุ่นจะไม่รีบบอกคำว่า “ทำไม่ได้หรอก” แต่จะลองกลับไปทำดูจนถึงที่สุด คำว่าที่สุด คือ ไม่ได้หลับไม่ได้นอน ทุ่มเทกายใจลองคิดลองทำ หรือถ้ารับปากว่าทำ ก็ทำให้ออกมาให้ดีที่สุด
 
"อย่าทำงานในระดับเพียงพอผ่านไป แต่ต้องทุ่มเทกายใจให้งานออกมาดีที่สุด"
เพราะฉะนั้น เมื่อทำงานกับคนญี่ปุ่น เราต้องเข้าใจ “ระดับความพยายาม” ของคนญี่ปุ่น และพยายามให้เท่าเขา หรืออย่างน้อยที่สุด ใกล้เคียงกับเขา อย่ารีบปฏิเสธงานที่ได้รับมอบหมายว่า “ทำไม่ได้หรอก” อย่าทำงานในระดับเพียงพอผ่านไป แต่ต้องทุ่มเทกายใจให้งานออกมาดีที่สุด

3. จงสื่อสารแบบคนญี่ปุ่น

 
คนญี่ปุ่นเป็นชาติที่ไม่ชอบความไม่แน่นอน ไม่ชอบการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทุกอย่างต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ รถไฟญี่ปุ่นถึงตรงเวลาที่สุดในโลก พยากรณ์อากาศแม่นยำมาก พยากรณ์ได้แม้แต่ซากุระจะบานเต็มที่เมื่อไรหรือแผ่นดินไหวที่ใด ทุกอย่างต้องคาดการณ์ได้ วางแผนได้
ดังนั้นการสื่อสารกับคนญี่ปุ่นต้องทำให้ทุกอย่างชัดเจน มีกำหนดการตารางเวลาที่แน่นอน และไม่ทำให้คนญี่ปุ่นกังวล ลองดูตัวอย่างสถานการณ์ต่อไปนี้ค่ะ
 
สถานการณ์ สิ่งที่คนญี่ปุ่นคิด สิ่งที่ควรทำ
คนญี่ปุ่นส่งอีเมลหรือพัสดุไปให้
กังวลว่า เขาจะได้รับหรือไม่
กล่าวขอบคุณหรือตอบรับทราบ
เกิดปัญหาขึ้นในการผลิต แต่เราไม่กล้าบอก
มารู้เอาวินาทีสุดท้าย ทำไมไม่บอกเราก่อน ทำอย่างไรดี แก้ปัญหาไม่ทันแน่ๆ ไม่อยากทำงานกับคนๆ นี้แล้ว
รีบแจ้งปัญหาให้คนญี่ปุ่นทราบโดยเร็วที่สุด ไม่ต้องเกรงใจหรือเกรงกลัว
รถติดมาก ไปไม่ทันที่นัดแน่ๆ
ทำไมป่านนี้ เขายังไม่มา เกิดอะไรขึ้น ฉันควรรอต่อไปหรือไม่
หากทราบว่าไปสายแน่ รีบโทรแจ้งคนญี่ปุ่นล่วงหน้า โดยบอกว่าอีกประมาณกี่นาทีจะถึง เขาจะได้กะได้ว่าต้องรออีกนานเท่าไร
คนญี่ปุ่นพาไปเลี้ยงข้าว
กังวลว่า เขาจะชอบอาหารเมื่อคืนไหมนะ เขาจะแฮปปี้กับเราหรือเปล่า
อีเมลหรือเขียนจดหมายไปขอบคุณ
หากเรามีริตะซัง (ในข้อ 1.) นึกถึงคนอื่นก่อนตน และเป็นความตั้งใจที่มุ่งมั่นทำเพื่อผู้อื่นที่แท้จริง เราจะมีพลังในการทำงานสูงมาก ทำให้เราสามารถพยายามทุ่มเทเพื่องานนั้นได้ถึงที่สุด (ในข้อ 2.) ผลลัพธ์ คือ คนญี่ปุ่นจะเห็นศักยภาพตัวเรา เห็นผลงานเรา เกิดเป็นความเชื่อใจ และความสัมพันธ์ที่ดีอันยาวนาน ยิ่งเราสามารถสื่อสารกับคนญี่ปุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ในข้อ 3.) แล้ว ดิฉันเชื่อมั่นว่า จะยิ่งทำให้เรากับคนญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และดำเนินธุรกิจหรือทำงานร่วมกันไปได้ด้วยดีตลอดค่ะ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา