“ที่ญี่ปุ่น หากคุณมีเงิน 1 ล้านเยนแล้วเอาไปฝากธนาคาร เวลาผ่านไป 10 ปี ดอกเบี้ยทบต้นที่คุณหวังไว้คิดคำนวณแล้ว จะได้รวมทั้งสิ้น 100 เยน”
เท่ากับว่า “เงิน 1,000,000 เยนของคุณ จะกลายเป็น 1,000,100 เยน เมื่อฝากไว้ในธนาคาร 10 ปี”
ฝากตั้งนาน ได้ผลตอบแทนแค่นี้ แล้วทำไมคนญี่ปุ่นยังเลือกถือเงินสด และฝากเงินในธนาคารในสัดส่วนที่สูงมากถึง 54.2% มากกว่าการลงทุนสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น การลงทุนในหุ้น พันธบัตร กองทุนรวม ประกัน เงินบำนาญ สงสัยมั้ย..ไปหาคำตอบกันครับ
ทำไมคนญี่ปุ่นไม่ชอบลงทุน?
สัดส่วนสินทรัพย์ครัวเรือนของประเทศญี่ปุ่น ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศโซนยุโรป, มีนาคม 2020
กราฟด้านบนนี้คือสัดส่วนสินทรัพย์ครัวเรือนของประเทศญี่ปุ่น ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในโซนยุโรปเมื่อเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งทำให้เห็นความแตกต่างของวิธีคิดและวิธีการบริหารจัดการเงินของประชากรในแต่ละประเทศ
ประเทศญี่ปุ่น (จากมูลค่าสินทรัพย์ 1,845 ล้านล้านเยน)
เงินสดและบัญชีเงินฝาก = 54.2%
ตราสารหนี้ = 1.4%
กองทุนรวม = 3.4%
หุ้น = 9.6%
ประกัน บำนาญ ฯลฯ = 28.4%
ประเทศสหรัฐอเมริกา (จากมูลค่าสินทรัพย์ 87 ล้านล้านดอลลาร์)
เงินสดและบัญชีเงินฝาก = 13.7%
ตราสารหนี้ = 6%
กองทุนรวม = 12.3%
หุ้น = 32.5%
ประกัน บำนาญ ฯลฯ = 32.6%
จากข้อมูลนี้พอจะสรุปได้ว่า คนญี่ปุ่นมากกว่าครึ่งชอบถือเงินสด หรือเก็บเงินไว้ในธนาคาร ในขณะที่สัดส่วนในการลงทุนตราสารหนี้ หุ้นและกองทุนรวมยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก รวม ๆ แล้วมีเพียงแค่ 14.4% เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ประชากรส่วนใหญ่จะนำเงินไปบริหารจัดการในการลงทุนต่าง ๆ โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นและกองทุนรวม
แล้วทำไมคนญี่ปุ่นถึงไม่ค่อยลงทุนล่ะ..?
เพราะวิธีคิดเรื่องการลงทุนเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จึงต้องทำความเข้าใจวิธีคิดเกี่ยวกับการเงินในอดีตของคนญี่ปุ่น
1. ในสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603-1808) มีคำกล่าวเกี่ยวกับวิธีการใช้เงินของคนยุคนั้นว่า
江戸っ子は宵越しの銭を持たない
“คนในยุคเอโดะหาเงินมาได้เท่าไหร่ ก็จะใช้ให้หมดภายในวัน การออมเงินเอาไว้ใช้ในวันต่อไปถือเป็นความคิดที่น่าอับอายขายหน้า”
การที่มีคำกล่าวเช่นนี้ เพราะว่ายุคเอโดะมีสภาพสังคมแบบหนึ่ง ซึ่งมีความแตกต่างจากยุคอื่น ๆ คนในยุคเอโดะจะถูกแบ่งออกเป็นสี่ชนชั้นประกอบด้วย ชนชั้นซามูไร ชนชั้นชาวนา ชนชั้นช่างฝีมือ และชนชั้นพ่อค้า แต่ละชนชั้นจะมีบทบาทและหน้าที่ของตนเองชัดเจนเคร่งครัด แม้ไม่ได้ออมเงินไว้สำหรับวันข้างหน้า เพียงแค่ทำงานตรงหน้าให้ดี ก็จะได้รับเงินทุกวัน มีเงินใช้ทุกวันนั่นเอง อีกอย่างคือ ยุคนั้นเกิดไฟไหม้ค่อนข้างบ่อย ถึงเก็บเงินไว้มาก ๆ ไฟไหม้ครั้งเดียวความพยายามที่ผ่านมาก็จะสูญเปล่าทั้งหมด ฉะนั้น คนญี่ปุ่นในยุคนั้นหาเงินมาได้ก็จะมีนิสัยใช้เงินให้หมดภายในวันนั่นเองครับ
2. หลังญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศผู้พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐต้องการเงินจำนวนมากในการฟื้นฟูประเทศ จึงออกแคมเปญรณรงค์ให้ประชาชนออมเงินโดยการฝากเงินในธนาคารเพื่อช่วยเหลือประเทศ
บนเวทีมีตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นขนาดใหญ่เขียนเชิญชวนประชาชนว่า “ให้นำเงินสดมาฝากธนาคารกัน!” ตั้งแต่ยุคนั้นมาคนญี่ปุ่นจึงมีแนวคิดนำเงินที่มีฝากไว้ในธนาคาร
3. ในยุคต่อมาคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยได้รับประสบการณ์เลวร้าย “ความล้มเหลวจากการลงทุน”
ในยุครุ่งเรืองของเศรษฐกิจญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันว่ายุคฟองสบู่ของชาวญี่ปุ่นช่วงปี 1986-1991 จะสังเกตเห็นว่า คนญี่ปุ่นมีการเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น และกองทุนรวมมากขึ้น (ในภาพของพื้นที่สีฟ้าจะมีพื้นที่มากขึ้นในช่วงปี 1989) ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินฝากในธนาคาร มีแนวโน้มลดลง (ในภาพคือพื้นที่สีดำ จะมีพื้นที่น้อยลงช่วงปี 1989)
หลังมีความสุขได้ไม่นานนัก รัฐบาลเริ่มตระหนักเห็นถึงผลเสียหายที่อาจตามมาจากการปล่อยให้ฟองสบู่ลอยตัว จึงตัดสินใจใช้นโยบายการคลังแบบรัดตัว ทำให้ดัชนี Nikkei ของประเทศญี่ปุ่นที่เคยขึ้นไปสูงสุดเกือบ 40,000 จุด เมื่อปี 1991 ดิ่งลงถึง 50% เหลือ 20,000 จุดภายในระยะเวลา 1 ปี และเหลือ 15,000 จุดในเวลาต่อมา นั่นทำให้คนที่เข้าไปลงทุนจำนวนไม่น้อย มีประสบการณ์ล้มเหลวจากการลงทุน จากความหวังอันยิ่งใหญ่ กลายเป็นความรู้สึกขยาดการลงทุนไปเลย มีความคิดฝังใจว่าการลงทุนคือเรื่องอันตราย แล้วยังปลูกฝังความคิดนี้ไปยังรุ่นลูก รุ่นหลานอีกด้วย
แม้ผมจะมีโอกาสไปศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ก็ไม่อาจเข้าใจระบบการศึกษาที่นั่นได้ดีเท่าคนญี่ปุ่น จึงได้สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับ “ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงินของคนญี่ปุ่น” อ่านทัศนะความคิดเห็นต่าง ๆ ของนักการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ที่ให้ทัศนะเอาไว้ตามสื่อออนไลน์ รวมไปถึงติดตาม Youtuber ผู้มีชื่อเสียงในญี่ปุ่นหลายท่าน ส่วนใหญ่จะพูดคล้าย ๆ กันว่า “ที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยสอนเรื่องการเงินในโรงเรียน” นี่น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุน ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในการลงทุน บางคนยังมีภาพลักษณ์เกี่ยวกับการลงทุนว่า เป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องอันตราย ควรหลีกเลี่ยงตามที่ได้รับการสั่งสอนมาจากพ่อแม่
ในหน้าข่าวออนไลน์ของ NIKKEI SHIMBUN วันที่ 12 พฤศจิกายน 2019 ลงข่าวไว้ว่า เดือนเมษายน 2022 ที่จะถึงนี้ โรงเรียนมัธยมปลายที่ญี่ปุ่นจะเริ่มต้นการเรียนการสอนเกี่ยวกับการลงทุนในวิชาคหกรรม ที่ผ่านมาในวิชาคหกรรมจะมีการสอนเกี่ยวกับการเงินค่อนข้างผิวเผิน เป็นประเด็นเกี่ยวกับ “การไม่ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย” “ทำยังไงไม่ให้ถูกหลอก” เน้นไปในมุมมองของการใช้เงินเป็นหลัก
แต่ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นกำลังวางแผนที่จะสอนนักเรียนเกี่ยวกับ “การบริหารจัดการในเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ” “ข้อดีและข้อเสียของผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ” “การวางแผนการเงินสำหรับอนาคต” ซึ่งเป็นมุมมองของนักลงทุนมากขึ้น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะทำให้เด็กญี่ปุ่นมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงินและการลงทุนมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
คิดแทนคนญี่ปุ่นนะครับ ในเมื่อในโรงเรียนไม่ค่อยสอนเรื่องการลงทุน ทำให้ไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุน
พ่อแม่เอาแต่บอกว่า อย่าลงทุนเลยลูก การลงทุนมันเสี่ยงนะ เดี๋ยวจะเป็นเหมือนพวกเขาที่ล้มเหลวเรื่องการลงทุนมาแล้วสมัยฟองสบู่แตก ทำให้เรากลัวการลงทุนมากขึ้น บางครอบครัวก็แทบไม่คุยเรื่องการเงินกับลูกเลย
ตลาดหุ้นที่เค้าบอกว่าดี ลงทุนไว้ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว 20 ปีผ่านไป ตลาดยังไม่ไปไหนเลย ดัชนี Nikkei ยังคงอยู่ที่ 20,000 กว่าจุดเหมือนเดิม
“งั้นเอาเงินฝากธนาคารนี่แหละ ปลอดภัย อย่างน้อยเงินต้นก็ยังอยู่” “ฝากเงิน 1,000,000 เยนไว้ 10 ปีเหมือนที่เล่าตอนแรกสุด เงินต้นก็ยังไม่หายไปไหนนะ ยังมีเงินอยู่ให้สบายใจ ไม่ต้องไปลุ้นในสินทรัพย์เสี่ยง”
ความคิดเหล่านี้อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนมากตัดสินใจถือเงินสด หรือฝากเงินไว้ธนาคารอย่างเสมอต้นเสมอปลายก็ได้ครับ
แล้วทำไมถึงมีคนญี่ปุ่นอีกกลุ่มหนึ่งที่เลือกการลงทุนหรือเก็งกำไรในตลาดที่มีความเสี่ยงสูงอย่างตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ (Forex ; FX) หรือในตลาด Cryptocurrency อย่าง bitcoin
ถ้าเราคอยสังเกตความเคลื่อนไหวด้านการเงินการลงทุนในญี่ปุ่น ช่วงที่มีการบูมของตลาด Cryptocurrency เช่น Bitcoin คนญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ตัวนี้ค่อนข้างเยอะ หน่วยงานกำกับการให้บริการทางการเงินของญี่ปุ่น (FSA) ได้รายงานสถานการณ์การซ์ื้อขาย Cryptocurrency ในประเทศญี่ปุ่นไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2018 จะเห็นว่าในการลงทุน bitcoin มีสกุลเงินเยน (Japanese Yen) ซึ่งเป็นสกุลเงินของประเทศญี่ปุ่นสูงถึง 57.71% ของมูลค่าการลงทุน bitcoin ทั้งโลก นั่นหมายความว่า ผู้ลงทุน Bitcoin อันดับหนึ่งของโลกคือคนญี่ปุ่นนั่นเองครับ
ในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ที่รู้จักในนามว่าตลาด Forex ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงสูง ก็มีนักลงทุนชาวญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก ถึงขั้นที่นักข่าวต่างประเทศตั้งสมญานามคนญี่ปุ่นที่เข้าไปลงทุนในตลาด Forex ว่า Mrs.Watanabe ซึ่งเป็นชื่อเรียกเหล่าแม่บ้าน และมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นที่เข้าไปลงทุนและเก็งกำไรในตลาดนี้ คนกลุ่มนี้จะมีวิธีคิดว่า เอาเงินฝากไว้ในธนาคาร หรือลงทุนในตลาดหุ้นไม่ค่อยได้กำไร สู้เอาเงินมาเก็งกำไรในตลาด Forex หรือ Cryptocurrency ดีกว่า เสี่ยงสูง มีโอกาสขาดทุนได้ แต่ก็มีโอกาสได้กำไรมากเช่นกัน
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นได้ว่า คนญี่ปุ่นมีวิธีคิดการลงทุนสุดโต่งจริงๆ “คนกลุ่มหนึ่งชอบถือเงินสด เก็บเงินไว้ในธนาคาร” “คนอีกกลุ่มหนึ่งชอบการลงทุนความเสี่ยงสูงรถไฟเหาะโรลเลอร์โคสเตอร์อย่าง Forex และ Cryptocurrency”
อ่านบทความนี้จบแล้วย้อนกลับมาถามตัวเองบ้าง ถ้าเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกันกับคนญี่ปุ่นเราจะเลือกเป็นคนกลุ่มไหน เพราะอะไรครับ?
อยากให้ลองตอบคำถามนี้ดู เพราะสิ่งที่คุณเลือกนั้น อาจจะกำหนดอนาคตทางการเงินของคุณไปตลอดชีวิต
อ้างอิงข้อมูลจาก