เมื่อโควิด (อาจจะ) ทำให้สไตล์การทำงานของคนญี่ปุ่นเปลี่ยนไป 180 องศา

เมื่อโควิด (อาจจะ) ทำให้สไตล์การทำงานของคนญี่ปุ่นเปลี่ยนไป 180 องศา

By Japan salaryman
หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ทำให้คนญี่ปุ่นได้กลับมาตระหนักในเรื่องของวัฒนธรรมการทำงานกันอีกครั้ง ที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นจะค่อนข้างขึ้นชื่อเรื่องการทำงาน ซึ่งเป็นผลของการที่จริงจังในเรื่องการทำงานมาก ๆ ทำให้เกิดคำศัพท์เกี่ยวกับการทำงานขึ้นมาหลากหลายมีทั้งคำที่มีความหมายเชิงบวก และคำที่มีความหมายเชิงลบ
เพื่อให้เพื่อน ๆ เข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นมากขึ้น ผมขออธิบายคำศัพท์ที่มีความหมายเชิงบวก และคำศัพท์ที่มีความหมายในเชิงลบที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นดังต่อไปนี้

คำที่มีความหมายเชิงบวก

終身雇用 การจ้างงานตลอดชีวิต (Lifetime Employment)
เป็นระบบการทำงานที่ฝังรากลึกอยู่ในองค์กรญี่ปุ่นจำนวนมาก พนักงานจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ได้รับค่าตอบแทนทั้งเงินเดือน โบนัส และสวัสดิการที่เหมาะสม แลกกับการมอบเวลาทั้งชีวิตให้กับบริษัทเช่นกัน

คำที่มีความหมายเชิงลบ

過労死 การตายจากการทำงานหนัก (Karoshi)
การตายชนิดนี้ถือเป็นประเด็นปัญหาทางสังคมในญี่ปุ่น มีการฟ้องร้องบริษัทเป็นข่าวใหญ่โตอยู่หลายกรณีเลยครับ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการทำงานหนักอย่างต่อเนื่องโดยที่ร่างกายไม่ได้หยุดพักผ่อน ทำให้เกิดภาวะต่าง ๆ ทางร่างกาย เกิดโรคหัวใจวายและเส้นเลือดในสมองตีบตันจนถึงแก่ความตาย หรือบางคนมีความเครียด เจอสภาพความกดดันอย่างหนัก รู้สึกไร้ค่า จนจบปัญหาด้วยการฆ่าตัวตายก็มี
การทำงานหนักและจริงจังถือเป็นภาพจำของคนต่างชาติเมื่อมองเรื่องวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่น ผมเองมีประสบการณ์ทำงานในองค์กรญี่ปุ่นเข้าปีที่ 10 แล้ว ทุกครั้งที่เพื่อน ๆ เจอหน้าจะถามผมทุกครั้งว่า “คนญี่ปุ่นทำงานหนักจริงหรือไม่” ส่วนตัวผมไม่เคยประสบปัญหานี้กับตัวเอง แต่จากที่ได้ตามข่าวเป็นจำนวนมากในประเทศญี่ปุ่น เห็นว่าญี่ปุ่นมีปัญหานี้จริง ๆ ทางการก็พยายามแก้ไขอยู่ตลอดครับ
แต่ไม่ว่าจะมีคำศัพท์เกี่ยวกับการทำงานของญี่ปุ่นออกมามากมายเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปว่า “คนญี่ปุ่นทำงานหนัก” อยู่ดี และถ้าถามถึงเรื่อง Work-Life Balance (สมดุลชีวิตและการทำงาน) ผมรู้สึกว่าชาวญี่ปุ่นมักจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มคนที่ยังห่างไกลจากคำ ๆ นี้นะ แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศกลุ่มแรก ๆ ที่รับรู้ว่า ประเทศของตนเกิดภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แม้เวลาผ่านไปภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะน้อยลงไปบ้าง
แต่ก็ได้ทำให้ภาคธุรกิจ เจ้าของกิจการ พนักงานต้องครุ่นคิดและปรับวิธีการทำงานเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์อันไม่ปกตินี้ ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง NEW NORMAL ของวงการการทำงานในญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นหลังวิกฤติโควิด-19 ดังต่อไปนี้

1. มีคนชอบรูปแบบการทำงาน Remote Working หรือการทำงานระยะไกลมากขึ้น

การทำงานแบบ Remote Working มีข้อโดดเด่นคือ ไม่ต้องเจอหน้ากัน ไม่ต้องเข้า Office ก็สามารถทำงานร่วมกันได้ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการรับส่งงาน ติดต่อสื่อสารกัน จากการสำรวจของบริษัท PERSOL Research and Consulting เกี่ยวกับการทำงานแบบ Remote Working ของบริษัทต่าง ๆ ในช่วงโควิด-19 พบว่า บริษัทที่ใช้ระบบ Remote Working จำนวนมากพอใจกับวิธีการทำงานแบบนี้ และยังคงอยากใช้ระบบนี้ต่อไป เพราะการทำงานแบบ Remote Working ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางไปทำงาน ลดความเครียดของการโดยสารรถไฟที่มีความแออัด การประชุมก็กระชับ ทำให้ภาพรวมทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเหมือนแต่ก่อน สุดท้ายพนักงานก็จะมีเวลาส่วนตัว และเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น

2. ระบบการประเมินพนักงานของบริษัทอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง

แต่เดิมเมื่อคนญี่ปุ่นเข้าไปเป็นพนักงานบริษัทใดบริษัทหนึ่งแล้ว จะมีความรู้สึกว่า ได้เข้าไปอยู่ในระบบ “การจ้างงานตลอดชีพ” ทำให้รู้สึกปลอดภัย บริษัทจะกำหนดรูปแบบการทำงานและเป้าหมายการทำงานให้กับพนักงาน ทำให้การประเมินพนักงานส่วนใหญ่จะเป็นแบบระบบอาวุโส (年功序列 : the Seniority System) ยิ่งอายุการทำงานมากยิ่งได้รับผลตอบแทนสูง
แต่พอเกิดการทำงานแบบ Remote Working มากขึ้น บริษัทจะเห็นฝีมือของพนักงานก็ต่อเมื่อพนักงานสร้างผลลัพธ์การทำงานให้เห็นเป็นรูปธรรม ฉะนั้น ระบบการประเมินพนักงานอาจจะเปลี่ยนไปตามผลลัพธ์ของการทำงาน (Performance base-system) อย่างที่นิยมใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศในโซนยุโรป
คนที่มีตำแหน่ง หน้าที่รับผิดชอบ และผลงานในบริษัทมาก อาจจะได้รายได้และผลตอบแทนมากกว่า

3. บริบทของคนทำงานเก่งอาจจะเปลี่ยนไปตามวิธีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเข้าบริษัท และต้องเข้าการประชุม การที่เราไม่ได้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุมนั้นถือเป็นเรื่องปกติ แต่ในทางกลับกัน ระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทจำเป็นต้องใช้การประชุมแบบ Remote Working ผ่านโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ ถ้าเราไม่เอ่ยปากพูดหรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ หน้าจอเราอาจไม่ได้รับการแสดงผล (Display) อาจจะทำให้เรากลายเป็นคนไร้ตัวตนในการประชุมนั้น ๆ ก็ได้ เมื่อเป็นอย่างนี้นาน ๆ เข้า ภาพจำของเราก็อาจจะหายไปจากเพื่อนร่วมงาน และอาจถูกมองว่าเราไม่ตั้งใจทำงานก็ได้

4. การวางตัวในการทำงานก็อาจจะเปลี่ยนไป

ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19
  • ผู้บริหารญี่ปุ่นมักจะใช้วิธีสอนลูกน้องด้วยการเป็นตัวอย่างให้ดู แล้วให้ลูกน้องทำตาม
  • พนักงานญี่ปุ่นจะโชว์สปิริตว่ามอบกายมอบใจให้กับบริษัทด้วยการใช้เวลาอยู่ที่บริษัทให้นานที่สุด ฉันทำงานจริงนะ
  • พนักงานญี่ปุ่นจะปฏิบัติตามคำสั่งที่เจ้านายสั่งอย่างเคร่งครัด
หลังเกิดวิกฤติโควิด-19
  • ผู้บริหารญี่ปุ่นจะต้องสั่งงานให้ชัดเจน
  • พนักงานญี่ปุ่นจะโชว์สปิริตแบบเดิมไม่ได้แล้ว ทำอะไรไปบ้าง ต้องรีบรายงานเจ้านายทันที
  • พนักงานญี่ปุ่นจะมัวแต่รอคำสั่งเจ้านายไม่ได้ แต่ต้องหัดคิดให้ได้ว่า ต้องทำงานอย่างไรถึงจะเกิดความก้าวหน้าในการทำงาน และได้รับความเชื่อใจจากเจ้านาย

5. รูปแบบงานมีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น อาจมีการใช้ Robot มากขึ้นในบางอุตสาหกรรม

อย่างที่เห็นชัดในครั้งนี้คือ วงการแพทย์ในญี่ปุ่นเปิดช่องทางให้สามารถวินิจฉัยโรคผ่านทางออนไลน์แล้ว โดยที่คุณหมอและคนไข้ไม่ต้องเจอตัวกัน คอร์สกวดวิชา มหาวิทยาลัยก็ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สามารถเรียนทางออนไลน์ได้มากขึ้น
ไม่แน่เหมือนกันครับว่า อุตสาหกรรมที่เรากำลังทำอยู่นั้น ทางทีมผู้บริหารอาจจะให้ความสนใจเรื่องดิจิทัล หรือ Robot มากขึ้น อนาคตการทำงานของเราอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ ฉะนั้นเราต้องพร้อมที่จะยอมรับและปรับตัวเสมอ

6. วัฒนธรรมหลายอย่างในบริษัทอาจจะเปลี่ยนแปลงไป

ช่วงวิกฤติโควิดครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานบางอย่างของคนญี่ปุ่นไป เช่น ปกติคนญี่ปุ่นจะใช้ตราประทับแทนการเซ็นชื่อ (คนญี่ปุ่นเรียกตราประทับว่า ฮังโกะ หรืออินคัง) เพื่อรับรองเอกสารต่าง ๆ แต่ในภาวะที่ไม่ปกตินี้การที่จะต้องแต่งตัวออกจากบ้านเพื่อไปประทับตราที่บริษัทอาจจะเป็นเรื่องลำบากเกินไป ฉะนั้น บริษัทหลายแห่งได้มีการปรับเปลี่ยนไปใช้ตราประทับแบบดิจิทัลกันมากขึ้น ทำงานอยู่ที่บ้านก็เซ็นชื่อได้ด้วยตราประทับแบบดิจิทัลครับ
นอกจากนี้วัฒนธรรมอื่น ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น การออกกำลังกายยามเช้า การประชุมตอนเช้าเพื่อแจ้งข่าวสาร การเดินทางไปประชุมที่ต่างจังหวัด การกินเลี้ยงลูกค้า ถ้าไม่มีความจำเป็น หรือช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ อนาคตอาจจะมีน้อยลง แต่จะเป็นอย่างไรนั้นต้องคอยติดตามกันครับ
นี่เป็นเพียงแค่ 6 ตัวอย่างวัฒนธรรมการทำงานที่อาจเปลี่ยนไปของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นขึ้นชื่อในเรื่องวัฒนธรรมการทำงานที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนชาติอื่น แต่มรสุมครั้งนี้ไม่ใช่ภัยธรรมชาติ อย่างพายุ แผ่นดินไหวที่คนญี่ปุ่นคุ้นชินและเตรียมพร้อมรับมือเอาไว้แล้ว แต่โควิด-19 คือมรสุมลูกใหม่ลูกนี้ที่คนญี่ปุ่นไม่เคยเผชิญมาก่อน ก็ต้องคอยลุ้นเอาว่า คนญี่ปุ่นจะรับมือกันอย่างไร และจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานที่สะสมกันมาเป็นระยะเวลานานได้หรือไม่ คอยติดตามกันครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow