เจาะเบื้องหลัง! ตำรวจญี่ปุ่นจัดการ แก๊งค์คอลเซนเตอร์ ได้ยังไง?

เจาะเบื้องหลัง! ตำรวจญี่ปุ่นจัดการ แก๊งค์คอลเซนเตอร์ ได้ยังไง?

By Japan salaryman
หลายเดือนที่ผ่านมานี้ในประเทศไทยเรามักได้ยินข่าวเกี่ยวกับมิจฉาชีพแก๊งคอลเซนเตอร์หลอกคนโอนเงิน หรือใช้วิธีหลอกเอาเงินหลายรูปแบบ จากการรายงานข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยบอกไว้ว่า แค่ปี 2564 ปีเดียว คนไทยถูกแก๊งคอลเซนเตอร์โทรหามากกว่า 6.4 ล้านครั้ง มูลค่าความเสียหายที่รายงานโดยสถาบันทางการเงินมีมากเกือบ 1,600 ล้านบาท ยิ่งปี 2565 จนถึงปัจจุบันทุกคนคงรู้สึกเหมือนกันว่า สถานการณ์ยิ่งร้ายแรงขึ้น หลายคนเคยมีประสบการณ์รับสายโทรศัพท์จากมิจฉาชีพ แล้วทุกวันนี้รูปแบบการหลอกลวงก็ถูกปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกกังวลมากที่อาจจะตกเป็นเหยื่อ เรียกได้ว่าเป็นเรื่องน่าปวดหัวที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับคนไทยในปัจจุบัน

สำหรับญี่ปุ่นแล้ว จากประสบการณ์ที่ผมเคยเรียน และทำงานอยู่ที่นั่นจะรู้สึกได้ว่า ภัยคุกคามเรื่องแก๊งมิจฉาชีพหลอกเงินนั้นมักจะพุ่งเป้าหมายไปที่ “ผู้สูงอายุ” ผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ พยายามออกมาให้ความรู้เรื่องนี้อย่างแข็งขันเพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้ เค้าทำอะไรบ้าง จัดการกับเรื่องนี้ด้วยวิธีใด อยากเอามาเล่าในบทความนี้ครับ

ว่าด้วยแก๊งคอลเซนเตอร์ในญี่ปุ่น

สำหรับมิจฉาชีพที่หลอกลวงคนในญี่ปุ่นมีหลายประเภท ตามรูปแบบ และวิธีการหลอกลวงที่แตกต่างกันไป แต่จะมีการหลอกลวงประเภทหนึ่งที่ญี่ปุ่นเรียกว่า 特殊詐欺 (Tokushu Sagi) หรือการฉ้อโกงหลอกลวงรูปแบบพิเศษ (Specialized Fraud) คือ มิจฉาชีพจะหลอกล่อให้เหยื่อรู้สึกไว้วางใจโดยที่ไม่ต้องเจอหน้ากัน จนเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินไปให้ ตัวอย่างการฉ้อโกงหลอกลวงรูปแบบพิเศษ (Specialized Fraud) ที่พบบ่อยในญี่ปุ่น มีดังนี้

1. オレオレ詐欺 (Ore Ore Sagi)

มิจฉาชีพสมอ้างเป็นคนในครอบครัวโทรศัพท์หลอกผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุโดนหลอก
โดยมิจฉาชีพจะโทรเข้าโทรศัพท์บ้านไปหาผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว โดยคำว่า Ore Ore มีความหมายว่า “นี่ผมเองนะ” ซึ่งผู้สูงอายุอาจเข้าใจไปว่าเป็นครอบครัวของตัวเองโทรมา ก็จะเออ ออเห็นด้วย อยากช่วยเหลือปลายสายที่โทรเข้ามาหา ซึ่งส่วนใหญ่มิจฉาชีพจะสมอ้างว่า ตัวเองคือลูกชาย หรือลูกหลานที่กำลังลำบากมาก ต้องการความช่วยเหลือ เมื่อผู้สูงอายุรู้ว่าครอบครัวตัวเองลำบาก ก็จะอยากโอนเงินช่วยเหลือ ซึ่งรู้ตัวอีกทีก็สายไปแล้ว

2. 預貯金詐欺 (Yochokin Sagi)

มิจฉาชีพหลอกเอาเงินจากบัญชีเงินฝาก โดยจะใช้วิธีอ้างตัวเป็นข้าราชการของพื้นที่นั้น ๆ หรือเจ้าพนักงานกรมสรรพากร แล้วหลอกให้เหยื่อตายใจว่า “มีเงินสนับสนุนจากภาครัฐนะ” “จะมีเงินคืนภาษีนะ” แต่ต้องขอเช็กรายละเอียดบัตรกดเงินสดให้ครบถ้วนก่อน จากนั้นจึงเดินทางเข้าไปเอาบัตรกดเงินสดจากเหยื่อ หลอกถามรหัสบัตรกดเงินสดเพื่อเอาไปดำเนินการแทน เป็นต้น

3. キャッシュカード詐欺盗 (Cash Card Sagitou)

มิจฉาชีพขโมยบัตรกดเงินสด โดยมิจฉาชีพจะอ้างว่าตัวเองเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วโทรศัพท์เข้ามาหลอกเหยื่อว่า “บัญชีธนาคารของคุณ (หรือบัตรกดเงินสด) ถูกใช้ทำเรื่องผิดกฎหมาย” “เพื่อปกป้องเงินฝากของคุณ ต้องทำเรื่องขออายัดบัญชีเงินฝาก” แล้วจึงปลอมตัวเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ หรือเจ้าหน้าที่ธนาคาร นัดพบเหยื่อ ขอให้แสดงบัตรกดเงินสด จากนั้นมิจฉาชีพจึงเอาบัตรกดเงินสดใบปลอมมาสลับกับบัตรกดเงินสดใบจริง ในขณะที่เหยื่อไม่ทันสังเกต แล้วเอาไปถอนเงินออกจากธนาคารภายหลัง

4. 架空料金請求詐欺 (Kaku Ryokin Seikyu Sagi)

มิจฉาชีพแสร้งเรียกเก็บเงินค่าบริการสาธารณูปโภค เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต โดยมิจฉาชีพจะอ้างตัวเองว่าเป็นผู้ให้บริการเครือข่าย แล้วกำลังติดตามค่าบริการที่ยังค้างชำระด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การส่งข้อความ SMS แจ้งเตือน หรือส่งหมายศาลปลอมไปที่บ้าน ทำให้เหยื่อรู้สึกหวาดกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี จึงหลงจ่ายค่าบริการนั้น ๆ

5. มิจฉาชีพประเภทอื่นๆ

มิจฉาชีพ
Photo credit: https://www.npa.go.jp
เช่น 金融商品詐欺 (Kinyu Shohin Sagi) มิจฉาชีพหลอกให้ซื้อหรือลงทุนสินทรัพย์ทางการเงิน, 交際あっせん詐欺 (Kousai Assen Sagi) มิจฉาชีพหลอกว่าเป็นบริษัทผู้ให้บริการหาคู่ให้ แล้วเรียกเก็บค่าสมาชิกหรือค่าบริการเกินควร เป็นต้น

คนญี่ปุ่นโดนมิจฉาชีพหลอกเยอะไหม!? เค้าจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร?

มิจฉาชีพหลอกขอสมุดธนาคาร)
สำนักงานตำรวจแห่งชาติประเทศญี่ปุ่น (National Police Agency) รายงานว่า มีเคสการฉ้อโกงหลอกลวงรูปแบบพิเศษ (Specialize Fraud) ในญี่ปุ่นมากถึง 17,520 เคสในปี 2022 (เฉพาะที่ได้รับการแจ้งแล้วมีการเก็บสถิติจริง) รวมเป็นมูลค่าความเสียหาย 36,140,445,000 เยน (ประมาณ 9,400 ล้านบาท) โดยรัฐบาลญี่ปุ่นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหานี้ที่มักจะสร้างความเสียหายกับกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีแนวโน้มว่ามีเงินก้อนใหญ่สำหรับชีวิตบั้นปลาย แล้วมักจะกลายเป็นเหยื่อ ดังต่อไปนี้
การหลอกหลวง
  1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น จะทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน และจับกุมผู้กระทำผิด พร้อมวางมาตรการให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากการฉ้อโกงหลอกลวงรูปแบบพิเศษนี้
  2. กรมคุ้มครองผู้บริโภคญี่ปุ่น จะทำหน้าที่รณรงค์ให้ความรู้ที่ถูกต้อง กลวิธีของการฉ้อโกงหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมตั้งศูนย์บริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการฉ้อโกงหลอกลวงรูปแบบพิเศษไว้โดยเฉพาะ
  3. กระทรวงกิจการภายในประเทศและสื่อสารประเทศญี่ปุ่น จะใช้อำนาจตามที่กฎหมายกำหนดในการควบคุม ยับยั้ง ขอความร่วมมือผู้ให้บริการเครือข่ายไม่ให้มีการใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือเพื่อการฉ้อโกงหลอกลวง
  4. กองกำลังป้องกันตัวเองญี่ปุ่น จะให้การสนับสนุน เข้าช่วยเหลือและยับยั้งการฉ้อโกงหลอกลวงรูปแบบพิเศษ โดยเฉพาะภัยที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ พร้อมให้ความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้การสืบสวนสอบสวนเป็นไปอย่างสมบูรณ์
นอกจากหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละฝ่ายที่อธิบายไว้ข้างต้นแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับปัญหานี้มาก จึงจัดตั้งโครงการรับมือกับปัญหาการฉ้อโกงหลอกลวงรูปแบบพิเศษที่มีชื่อว่า “SOS47” โดยมีดารารุ่นเดอะอย่าง Sugi Ryotaro, ดาราตลก, ดารานักแสดง, นักร้องเข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวและรับรู้ข่าวสารนี้อย่างทั่วถึง โดยมีกลุ่มไอดอลญี่ปุ่นอย่าง AKB48, SKE48, NMB48, HKT48, STU48 เข้าร่วมโครงการนี้อย่างเป็นทางการด้วย
SOS47
เท่าที่ผมได้สังเกตกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องนี้ จะเห็นได้เลยว่าเหล่าดารานักแสดง นักร้อง กลุ่มไอดอลจะผลัดเปลี่ยนกันเดินสายรณรงค์ตามที่ต่าง ๆ ตลอดทั้งปี เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพ ซึ่งถือเป็นรูปแบบการรณรงค์เชิงรุกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่น่าสนใจมาก
 
ช่องทางการปรึกษา
แล้วที่ขาดไม่ได้คือ ช่องทางการปรึกษาที่มีครบถ้วนมาก ทางโทรศัพท์ มีเบอร์ #9110 ซึ่งเป็นเบอร์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นตั้งขึ้นมาให้ประชาชนโทรปรึกษาโดยเฉพาะ หรือเบอร์ 188 Hotine สายด่วนผู้บริโภค เป็นต้น

หรือจะเป็นเว็บไซต์ให้ความรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งเว็บไซต์ของตำรวจในแต่ละพื้นที่จะมีหน้าเว็บไซต์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ ประชาชนในแต่ละพื้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูล เช่น ตำรวจฮอกไกโดก็มีหน้าเพจสำหรับประชาชนคนฮอกไกโด, ตำรวจจังหวัดชิบะก็มีหน้าเพจสำหรับประชาชนที่อยู่อาศัยในจังหวัดชิบะ, เว็บไซต์ให้ความรู้จากกรมคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Affairs Agency), เว็บไซต์ให้ความรู้จากหน่วยงานกำกับดูแลด้านความมั่นคงระบบการเงินประเทศญี่ปุ่น (Financial Services Agency) เป็นต้น

ทุกวันนี้มิจฉาชีพปรับเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงอยู่ตลอด ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่ประชาชนจะรู้เท่าทันตลอด ฉะนั้น หน่วยงานภาครัฐ และผู้เกี่ยวข้องจึงมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหา และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ โดยเราจะเห็นว่าที่ญี่ปุ่นเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มากเพื่อไม่ให้ประชาชนของเขาเป็นเหยื่อของการหลอกลวง และลดมูลค่าความเสียหายจากการฉ้อโกงหลอกลวงรูปแบบพิเศษให้มากที่สุด แม้ว่ามาตรการทั้งหมดยังไม่สามารถป้องกันกลโกงจากมิจฉาชีพได้ 100% แต่ผมชอบที่หน่วยงานภาครัฐญี่ปุ่นแบ่งหน้าที่ในการรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างชัดเจน มีรูปธรรม แล้วมุ่งมั่นตั้งใจรณรงค์ให้ประชาชนของเขาได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เรื่องอะไรดี ๆ ก็น่าเอามาปรับใช้ในบ้านเราบ้างนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow