ผ่านวิกฤติด้วยวิธีคิดแบบ KINTSUGI ความงามของบาดแผลในชีวิต

ผ่านวิกฤติด้วยวิธีคิดแบบ KINTSUGI ความงามของบาดแผลในชีวิต

By Japan salaryman

ยิ่งมีบาดแผลมากเท่าไหร่ ยิ่งมีความเป็นออริจินัลเป็นของตัวเอง
วิธีคิดแบบ KINTSUGI (คินสึงิ) ความงดงามนั้นเกิดจากบาดแผลในชีวิต


หลายปีมาก่อนผมเคยมีโอกาสอ่านบทความหนึ่งใน BuzzFeed News เว็บข่าวไวรัลในญี่ปุ่น รู้สึกสะดุดตาตั้งแต่การพาดหัวข่าวที่เขียนไว้ว่า “คุณเห็นอะไรในแก้วเซรามิกใบนี้หรือเปล่า” บทเรียนชีวิตมากมายแฝงอยู่ในแก้วเซรามิกใบนี้นะ
ผ่านวิกฤติด้วยวิธีคิดแบบ KINTSUGI ความงามของบาดแผลในชีวิต
บทความนั้นเล่าไว้ว่า แก้วใบที่เห็นอยู่นั้น คือแก้วเซรามิกใบหนึ่งของคุณ Phil Libin ผู้ก่อตั้งและอดีต CEO ของบริษัทสตาร์ทอัพเจ้าของแอปฯ จดบันทึกชื่อดังระดับโลกที่ชื่อว่า Evernote แก้วเซรามิกใบนี้คือแก้วโปรดของเขา สังเกตเห็นมั้ยว่ามีอะไรแปลกไปบนแก้วใบนี้
ผ่านวิกฤติด้วยวิธีคิดแบบ KINTSUGI ความงามของบาดแผลในชีวิต
แก้วสตาร์วอร์สของคุณ Phil Libin มีสีทองอยู่ ถูกประสานด้วยเทคนิคอะไรบางอย่าง
Photo credit : Official Account ของ Phil Libin www.twitter.com/plibin/
มันเป็นแก้วลายสตาร์วอร์สเขาซื้อมันในปี 2010 ซึ่งเป็นวันที่ตัดสินใจว่าจะขยายบริษัทที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จากบริษัทที่ตอนนั้นมีพนักงาน 50 คนไปสู่บริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากขึ้นอีก 10 เท่า เขาพกแก้วใบนี้ไปไหนต่อไหนตลอดเวลา เวลาประชุม เวลาให้สัมภาษณ์สื่อ คนก็จะเห็นแก้วใบนี้ เวลาผ่านไปมีคนใช้งานสมาร์ทโฟนมากขึ้น ด้วยความนิยมของการใช้งานสมาร์ทโฟนทำให้บริษัทของเขาเติบโตค่อนข้างมาก
แต่ในทางกลับกันแม้บริษัท Evernote ตอนนั้นจะเติบโตมาก แต่ไม่สามารถสร้างรายได้ตามที่หวังเอาไว้ ในปี 2015 Libin จึงได้ตัดสินใจลงจากตำแหน่ง CEO เขาได้ย้ายไปอยู่ในแมนชั่นหลังใหม่ ขณะที่กำลังขยับกล่องใบหนึ่งก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด แก้วเซรามิกลายสตาร์วอร์สใบโปรดของเขาตกลงมาแตกเป็นเสี่ยง ๆ ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาใกล้ ๆ กับที่เขาตัดสินใจลงจากตำแหน่ง CEO ของ Evernote เหมือนกัน
1 ปีถัดไปเขาได้มีโอกาสเดินทางไปที่จังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ที่นั่นเขาได้รู้จักกับเทคนิคที่เรียกว่า Kintsugi หรือเทคนิคในการผนึกเครื่องปั้นดินเผาที่แตกหักไปแล้วด้วยทองคำ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการซ่อมแซมของใช้ที่แตกหักอย่าง จาน ชาม ถ้วย แจกันที่ทำจากเซรามิกได้ด้วย
เขาจึงเกิดความสนใจในเทคนิค Kintsugi ประกอบกับได้ฟังเรื่องราวเพิ่มเติมจากเพื่อนของเขาว่า การฟื้นฟูเมืองฟุกุชิมะหลังจากประสบภัยพิบัติในปี 2011 ก็นำหลักการของ Kintsugi มาใช้ด้วย คือ ไม่ซ่อนบาดแผลความเสียหายที่เกิดขึ้นไปแล้ว แต่ให้ความสำคัญกับร่องรอยความเสียหายนั้น ๆ จะทำให้ร่องรอยนั้นดูโดดเด่นขึ้น ช่วยให้เมืองมีเอกลักษณ์ มีเรื่องราว และมีเสน่ห์มากขึ้นด้วย ซึ่งเรื่องนี้ตราตรึงใจคุณ Libin มาก ๆ เมื่อกลับไปที่บ้านจึงตัดสินใจเอาแก้วสตาร์วอร์สใบโปรดส่งไปซ่อมกับช่างฝีมือชาวจังหวัดฟุกุชิมะที่ใช้เทคนิค Kintsugi ในการผนึกประสานแก้ว
หลังจากนั้น 6 เดือนเมื่อเขามีโอกาสกลับไปที่เมืองฟุกุชิมะอีกครั้ง เขาก็ไปรับแก้วสตาร์วอร์สใบโปรดของเขากลับมา เขารู้สึกว่าแก้วใบที่เคยแตกเป็นชิ้น ๆ สวยและมีเสน่ห์มากกว่าเดิม สีทองที่เชื่อมระหว่างรอยแตกดูมีประกายมาก ๆ เค้าบอกเลยว่า Kintsugi ช่วยให้แก้วของเขาสวยขึ้นกว่าเดิม แล้วมีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นของตัวเองด้วย
ผ่านวิกฤติด้วยวิธีคิดแบบ KINTSUGI ความงามของบาดแผลในชีวิต
สามเรื่องที่คุณ Libin เรียนรู้จากวิธีคิดแบบ Kintsugi แล้วผมคิดว่ามีความหมายคมคายน่าเอามาปรับใช้กับวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ด้วย มีดังต่อไปนี้
  1. Generational Improvement เราจะเติบโตขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป สิ่งของที่แตกเสียหายก็ซ่อมได้ จิตใจมนุษย์ก็เช่นกัน แก้วเซรามิกลวดลายสตาร์วอร์สใบโปรดของคุณ Libin ที่แตกไปแล้ว ก็ซ่อมกลับมาใช้ใหม่ได้ แถมแก้วที่ซ่อมมาใหม่มีเอกลักษณ์โดดเด่นยิ่งกว่าแก้วใบเดิมด้วย เปรียบได้กับชีวิตคนเราที่มักกลัวไปเสียทุกเรื่อง กลัวที่จะเริ่มต้นสิ่งใหม่ กลัวล้มเหลวแล้วอาจเกิดเป็นบาดแผล (เหมือนแก้วแตก) จนสุดท้ายไม่กล้าที่จะเริ่มต้นทำอะไรเลย แต่ Kintsugi สอนให้รู้ว่า แก้วที่แตกไปแล้วยังซ่อมกลับมาใช้ใหม่ได้ แถมสวยงามมากกว่าเดิม ชีวิตคนเราเช่นกัน ยิ่งล้มเหลว ยิ่งเรียนรู้ คนสำเร็จมากมายมีทุกวันนี้ได้เพราะเผชิญหน้ากับความล้มเหลวในอดีต ยิ่งบาดแผลมาก ยิ่งเห็นหลักฐานของการลงมือทำ
  2. Failure as fundamental learning ความล้มเหลวคือพื้นฐานของการเรียนรู้ เราเรียนรู้อะไรบางอย่างได้เสมอจากความล้มเหลว เมื่อล้มเหลวผิดพลาด คนส่วนใหญ่จะพยายามที่จะลืมมัน หรือพยายามไม่นึกถึงมัน แต่ในทางกลับกัน คนเราเรียนรู้ได้จากความล้มเหลวและบาดแผลที่เกิดขึ้นเสมอ ถ้าแก้วไม่แตกเราจะไม่รู้เลยว่า แก้วใบเดิมที่ประสานใหม่ด้วยเทคนิค Kintsugi นั้นมีเสน่ห์และสวยงามกว่าเดิม
  3. Anti-Fragility อย่ากลัวกับความเปราะบาง ผู้บริหารทั่วไปจะระแวงแล้วไม่อยากให้องค์กรมีปัญหา จึงมุ่งเน้นแต่เรื่องการสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร ทำงานหนักในเชิงรับ แต่ไม่ค่อยทำงานในเชิงรุก แต่ในทางกลับกันคุณ Libin คิดว่าองค์กรที่ดีควรกล้า ท้าทาย ทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยไม่เกรงกลัวต่อความล้มเหลวผิดพลาด แม้จะล้มเหลวไปบ้าง แต่ความล้มเหลวนั้น ๆ จะสร้างคุณค่าใหม่ ๆ มากขึ้นกว่าเดิม
ผ่านวิกฤติด้วยวิธีคิดแบบ KINTSUGI ความงามของบาดแผลในชีวิต
Photo credit : https://thebridge.jp/
ในยุคที่เราทุกคนกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บางคนตกงาน บางคนสูญเสียรายได้ บางคนพบเจอกับความสูญเสียชนิดที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน แต่ในอีกมุมหนึ่ง บางคนก็ค้นพบพรสวรรค์ของตัวเองในช่วงเวลาเหล่านี้ คนที่ตกงานบางคนดิ้นรนหางานใหม่จนค้นพบว่า เราก็ทำงานได้หลากหลายเหมือนกันนะ ร้านค้าที่เคยคิดว่าตัวเองขายหน้าร้าน (ออฟไลน์) ได้อย่างเดียว ถูกบังคับให้ต้องผันตัวเองเข้าสู่โลกออนไลน์ (E-commerce) แล้วอาจพบว่าร้านก็ขายดีในช่องทางออนไลน์เหมือนกันนะ
วิกฤติครั้งนี้สอนให้รู้ว่า นี่ไม่ใช่วันสิ้นสุดของโลก แก้วแตกไปไม่เป็นไร เพราะไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว ถ้าแก้วไม่แตก คุณ Libin ก็จะไม่มีวันรู้จักวิธีคิดแบบ Kintsugi แล้วคงไม่รู้ว่าแก้วที่ผสานขึ้นมาใหม่สวยได้ยิ่งขึ้นกว่าเดิม ผมจึงอยากส่งท้ายบทความนี้ด้วยประโยคว่า “วันใดที่รู้สึกกลัวที่จะล้มเหลว ให้คิดถึงแก้วลายสตาร์วอร์สสีน้ำเงินของคุณ Libin แม้แก้วจะแตกไป แต่สุดท้ายก็ผนึกผสานให้กลับมาเป็นแก้วได้อีก แถมสวยกว่าเดิมด้วย ยิ่งมีบาดแผลมากเท่าไหร่ ยิ่งดูสวยงามโดดเด่นมากกว่าเดิม”

Reference :
1.“คุณเห็นอะไรในแก้วเซรามิกใบนี้หรือเปล่า” บทเรียนชีวิตมากมายแฝงอยู่ในแก้วเซรามิกใบนี้: BuzzFeed News Japan
https://www.buzzfeed.com/jp/
2. KINTSUGI ศิลปะสำหรับคนรักตัวเอง
https://www.ichi.pro/
3. เราเรียนรู้อะไรจาก KINTSUGI
https://www.starbucks-kenpo.or.jp/
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow